ความเชื่อของชาวเบิ้ง ของ ไทโคราช

มีความเชื่อทั้ง 2 ประเภท แต่ในสมัยก่อนมีความเชื่อต่างจากในปัจจุบัน ทุกหมู่บ้านจะมีความเชื่อในเรื่องต่างๆ คล้ายๆ กัน ความเชื่อสำคัญมีดังนี้ ความเชื่อเรื่องผี ชาวไทยเบิ้งที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ยังมีความเชื่อเรื่องผีอยู่ ดังนี้

ผีบ้านผีเรือนหรือผีปู่ย่าตายาย ชาวไทยเบิ้งไม่นิยมตั้งศาลบูชาผีบ้านผีเรือนผีปู่ย่าตายาย หรือศาลเจ้าที่ แต่เชื่อว่ามีผีประจำอยู่ ในบ้านเรือน ผีปอบ ชาวไทยเบิ้ง มีความเชื่อว่าปอบมีจริง ชาวบ้านบางคนเคยเห็น และผีปอบเคยสิงคนในหมู่บ้าน คนที่ถูกผีเข้าบางคนยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คนที่ถูกสิงจะมีอาการแปลกๆ เช่นอย่างกินของคาว บางคนเดินแก้ผ้าไม่อายใคร ผีนางไม้ ส่วนใหญ่เชื่อเรื่องผีนางตะเคียนมากที่สุด และต่างเชื่อกันว่าตามต้นไม้ ใหญ่จะมีผีประจำอยู่ใครไปทำอะไรไม่ดีจะถูกลงโทษ ผีกระสือ ชาวไทยเบิ้ง เล่าว่าเคยเห็นผีกระสือเข้ามาในหมู่บ้านจะมาตอนค่ำๆ หรือตอนกลางคืน มองเห็นเป็นดวงไฟแวบๆ ลอยมาวนเวียนใต้ถุนบ้าน บางทีก็ดูดกินตับไตไส้พุงของสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในใต้ถุนบ้านจนตายก็มี ผีพราย หรือผีเงือก ผีพรายหรือผีน้ำหรือผีเงือกจะเหมือนๆ กัน เชื่อว่าผีเงือกอยู่ประจำวังน้ำ เวลาใครไปหาปลา ลงเล่นน้ำหรือถ่ายปฏิกูลลงน้ำ อาจจะถูกผีเงือกหลอกได้ ผีปะกำหรือผีประกำ ชาวบ้านสมัยโบราณเชื่อว่าผีชนิดนี้เพราะมีอาชีพเกี่ยวกับการคล้องช้าง เชื่อว่าก่อนจะออกไปคล้องช้างจะต้องทำพิธีเซ่นสรวงบูชาผีปะกำก่อนจึงจะเกิดผลดีต่อการไปคล้องช้าง ผีโรงหรือผีโลง ผีโรงเป็นผีของบรรพบุรุษ ของแต่ละบ้านนั้นเองผีพวกนี้จะไม่ทำร้ายใคร แต่ต้องกราบไหว้บูชา ผีตายโหง มีความเชื่อว่าคนที่ตายไม่ดี จะเป็นผีตายโหง ผีเหล่านี้จะมาหลอกหลอนคนอื่นไม่ค่อยยอมไปผุดไปเกิดง่าย ๆ ผีตะมอย ชาวบ้านบางหมู่บ้านเชื่อเรื่องผีตะมอย ชาวบ้านบอกไม่แน่ชัดว่าผีตะมอยมีรูปร่างอย่างไร แต่เป็นผีขี้ขโมย ชอบมาขโมย มาลักกินข้าวของชาวบ้าน

สิ่งศักดิ์สิทธิ์

ความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ชาวไทยเบิ้งมีความเชื่อเหมือนกับคนทั่วๆ ไปจะอธิบายดังนี้

  • พระพุทธรูปและพระเครื่องต่างๆ ชาวไทยเบิ้งล้วนเป็นชาวพุทธ จึงมีความเชื่อในพระพุทธเจ้ากราบไหว้บูชาพระพุทธรูป และนิยมพระเครื่องต่างๆ แต่ละบ้านจะจัดโต๊ะหมู่บูชาหรือหิ้งสำหรับกราบไหว้
  • ความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าและเทวดา คนไทยเบิ้ง ไม่ค่อยเชื่อในเรื่องเทพเจ้าและเทวดามากนักรู้จักเพียงชื่อว่ามีหลายคน เช่น พระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์ เป็นต้น ส่วนเทวดาที่คนในชุมชน นับถือกราบไหว้บูชามากที่สุดคือ พระแม่โพสพ เพราะเป็นเทวดาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ และชีวิตความเป็นอยู่ของพวกตนโดยตรง ส่วนเทวดาองค์อื่นๆ บอกเล่ากันว่ามี แต่ก็ไม่มีพิธีบูชาแต่อย่างใด
  • ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดและนรกสวรรค์ ไทยเบิ้งทุกคนเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดตามคติในพระพุทธศาสนาส่วนความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์นั้นบางคนก็เชื่อบางคนก็ไม่เชื่อเพราะพิสูจน์ไม่ได้
  • ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ชาวไทยเบิ้ง จำนวนหนึ่งมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์แตกต่างกันไป เช่น เชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถาอาคม ซึ่งมีใช้ทั้งในทางเลวร้าย และทางดี เครื่องรางของขลัง ผู้ชายไทยเบิ้งบางคน นิยมเสาะหาเครื่องรางของขลังไว้สวมใส่ หรือมีไว้ การเสกเป่าและรดน้ำมนต์ วิธีหนึ่งที่อาจช่วยแก้ปัญหาได้ ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาโดยการไปรดน้ำมนต์ การสัก ซึ่งนิยมสักตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น แขน ขา นิยมสักหลังจากบวชเรียนแล้ว เพื่อให้อยู่ยงคงกระพัน สักเพื่อแสดงว่า บวชเรียนมาแล้ว ฯลฯ
  • ความเชื่อในเรื่องอาหารการกินบางชนิด มีความเชื่อแตกต่างกันไปบ้าง เช่น เชื่อว่าผู้ชายที่เล่นของเล่นไสยศาสตร์ ห้ามกินปลาไหล มะขามป้อม ลูกสมอและมะเฟือง กินแล้วของจะเสื่อม เชื่อว่าชายที่เป็นโรคผู้หญิง (กามโรค) ห้ามกินปลากระเบนจะทำให้โรคกำเริบ เป็นต้น
  • ความเชื่อเรื่องการขอฝน เนื่องด้วยชาวไทยเบิ้ง มีอาชีพเกษตรกรรม จึงต้องอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติเพื่อให้พืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงามจึงมีวิธีการขอฝน ตัวอย่างวิธีขอฝนคือ
  • การแห่นางแมวขอฝน มักทำในเดือน 9 เดือน 10 หลังจากดำนาหรือหว่านข้าวแล้ว ชาวบ้านจะนำแมวใส่กรงขังไว้แล้วเดินแห่แมวไปยังหมู่บ้าน ขณะแห่จะร้องเพลงแห่นางแมว เนื้อร้องจะมีคำร้องเป็นการขอเรียกฝน การทำให้ฝนตกโดยวิธีการท่องคาถาขอฝน มี 2 คาถา คือ สวด หรือท่องคาถาหัวใจร้อยแปด จะแก้เหตุร้ายภัยพิบัติรวมทั้งฝนแล้งได้ด้วย คาถาที่ 2 สวดคาถาปลาช่อน ก่อนสวดปลาช่อนต้องทำบุญตักบาตร 3 วัน การพายเรือบนบก เป็นการทำต่อเนื่องคาถาปลาช่อน และสุดท้ายการปั้นไอ้เมฆ คือการปั้นหุ่นดินเหนียว เพศหญิงชาย แล้ววางทั้งไว้ที่ทาง 3 แพร่ง ขอเรียนฝน
  • ความเชื่อเกี่ยวกับสวัสดิมงคลในการดำเนินชีวิต เป็นความเชื่อเกี่ยวเนื่องกับอาชีพเกษตรกรรมเป็นสำคัญ เช่น ห้ามสวมรองเท้าเดินลุยผ่านลานข้าว จะทำให้พระแม่โพสพโกรธ หรือการเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ใช้งาน ไม่นิยมเลี้ยงวัว 5 ม้า 6 ตัว ตามลำดับ ถือว่าอัปมงคล ให้นำไปปล่อย
  • เครื่องมือดำรงชีวิตประกอบอาชีพและพิธีกรรม เครื่องมือดำรงชีวิต และประกอบอาชีพซึ่งบางชิ้นจัดเป็นงานศิลปหัตถกรรมได้คือ ในสังคมเกษตรกรรมแบบพึ่งพาธรรมชาติ หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จจะมีเวลาพักในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ชาวบ้านมีเวลาที่จะทำงานหัตถกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพหรือใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อการคมนาคมสะดวก ความเจริญทางวัตถุเพิ่มมากขึ้น ชาว บ้านเริ่มแสวงหาวัตถุอื่นๆ มาใช้แทนงานหัตถกรรมแบบดั้งเดิม หรือชาวบ้านมีโอกาสเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากแหล่งอื่นบ้าง ทำให้เกิดความหลากหลาย ในอดีต ชาวบ้านมักทำของขึ้นใช้เองภายในครัวเรือน
  • ของใช้ในชีวิตประจำวันบางอย่างชาวบ้านเลิกใช้ไปแล้ว เนื่องจากมีสิ่งอื่นเข้ามาแทนที่ เช่นไถ คราด เกวียน โดยชาวบ้านนิยมใช้รถไถนาไถไร่ รถเกี่ยวข้าว เครื่องนวดข้าว และเครื่องจักรกลต่างๆ ทำงานแทนแรงงานจากคน เครื่องสีข้าว ครกตำข้าว ทุกหมู่บ้านลดบทบาทลงจนถึงกับเกือบเลิกใช้ หรือถูกเปลี่ยนหน้าที่ใหม่เมื่อชาวบ้านหันมาซื้อข้าวสาร จากโรงสี หรือซื้อข้าวสารจากร้านค้าแทนการสีข้าว ตำข้าวด้วยตนเองดังแต่ก่อน แต่ผลิตภัณฑ์บางอย่างยังคงใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่นกระบุง ตะกร้า เครื่องจักสานต่างๆ หรือเครื่องมือจับสัตว์น้ำถึงแม้ว่าจะลดจำนวนการใช้ลงบ้างแต่ก็ยังมีกิจกรรมต้อง ใช้เครื่องมือเหล่านี้อยู่
  • งานหัตถกรรมบางอย่าง มีคุณค่าทางความงาม และแสดงเทคโนโลยีพื้นบ้าน เช่น เครื่องมือดักจับสัตว์ ชนิดต่างๆ ที่ใช้กลไกแบบง่ายๆ โดยศึกษาพฤติกรรมการดำรงชีวิตของสัตว์แล้วสร้างกลไกเพื่อดักจับสัตว์เหล่านั้นได้ ผลิตภัณฑ์บางอย่างยังมีการออกแบบได้อย่างเหมาะสมกับการใช้สอย เช่นมีดจักตอก ชาวบ้านจะทำด้ามมีดให้ยาวโค้งงอ กระชับแนบกับลำตัวเวลาใช้มีดเหลาตอกจะสามารถบังคับมีดได้ดียิ่งขึ้น ช่างชาวบ้านผู้มีฝีมือในการจักสานหรือประดิษฐ์ภาชนะสิ่งของต่างๆ เริ่มหายาก ส่วนใหญ่ผู้มีความรู้ความชำนาญจะ มีอายุมาก คนรุ่นหลังไม่ค่อนสนใจที่จะเรียนรู้สืบทอดวิธีการต่อ จากผู้ใหญ่ทำให้งานหัตถกรรมที่มีคุณค่าหายากขึ้น อีกทั้งของเก่าที่มีอยู่แล้วก็ชำรุด หรือบางทีก็ถูกเก็บอย่างไม่รู้คุณค่า
  • งานหัตถกรรมประเภทเครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้าน ที่พบในพื้นที่สำรวจ ส่วนใหญ่มีรูปแบบและลักษณะการใช้สอยคล้ายกับที่พบในภูมิภาคอื่น แต่มีงานหัตถกรรมบางอย่างที่มีความโดดเด่น ในด้านความงาม ความประณีต ได้แก่ งานจักสาน กระบุง ตะกร้า งานดังกล่าวถือได้ว่าเป็นงานศิลปหัตถกรรมของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ควรแก่การยกย่อง งานจักสานกระบุง ตะกร้า ที่ช่างพื้นบ้านทำขึ้นเพื่อใช้ในครัวเรือนมีความประณีต สวยงาม แข็งแรงและคงทน โดยสามารถเห็นได้ชัดในเรื่องรูปแบบลักษณะของผลงาน
  • อาหาร ชาวไทยเบิ้งใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติปรุงอาหาร การประกอบอาหารเป็นวิธีที่จัดว่าทำง่ายและกินอาหารที่สดใหม่หากต้องการเก็บอาหารไว้กินนานหลายวันใช้วิธีการถนอมอาหารแบบธรรมชาติเช่นการตากแห้ง การทำเค็มหรือการดองเปรี้ยว ไม่มีการใช้สารมีไขมันต่ำ กินปลาเป็นส่วนใหญ่ และกินผักกินข้าวเป็นประจำทุกมื้อ อาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยเบิ้ง คือ แกงหัวลาน แกงไก่สามสิบ และแกงบุก แกงส้มหัวลานมีการแกงน้อยมากเพราะหาต้นลานยาก ส่วนแกงไก่สามสิบ และแกงบุกยังมีให้เห็นบ้าง
  • สังคมของชาวไทยเบิ้ง เป็นครอบครัวเกษตรกรรม จึงมีลูกหลายคนเพราะต้องการแรงงานในการทำมาหากิน ดังนั้นพ่อแม่จะต้องอบรมสั่งสอนให้ลูกรักกัน สามารถทำงานแทนพ่อแม่ได้ ช่วยเลี้ยงน้อง น้องต้องเชื่อฟังพี่และการปฏิบัติตัวของพ่อแม่ คือ ถ้าพ่อแม่มีความยุติธรรม ลูกก็จะมีความรักใคร่สามัคคีกัน
  • ความสัมพันธ์ระหว่างปู่ย่า ตายาย และหลาน ปู่ย่า ตายาย คือผู้ใหญ่ในบ้านช่วยเลี้ยงดูหลานเมื่อพ่อแม่ต้องออกทำมาหากิน เด็กบางคนอาจเรียกว่า แม่ใหญ่ พ่อใหญ่ การที่เด็กสนิทกับปู่ย่า ตายาย ทำให้ได้มีโอกาสติดตามไปที่ต่างๆ เช่น วัด งานบวช งานแต่งงาน งานศพ ทำให้เด็กได้รู้วัฒนธรรมของท้องถิ่น


เพลงโคราช เป็นศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้านของจังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช ซึ่งได้สืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน โดยเพลงโคราชนั้นมีเอกลักษณ์การร้องรำเป็นภาษาโคราช ซึ่งมีความไพเราะ ทำให้เกิดความเพลิดเพลินและสนุกสนาน

แต่ปัจจุบันเพลงโคราชค่อยๆ ได้รับความนิยมและความสนใจน้อยลง พวกเราจึงควรที่จะช่วยกันอนุรักษ์ และสืบสานศิลปวัฒนธรรมอันดีงามนี้ไว้ เพื่อให้ลูกหลานของเราได้สัมผัส ได้รับชมและรับความสนุกสนานเพลิดเพลินดีกว่าการเล่าขานเป็นตำนาน .


ประวัติเพลงโคราช


ประวัติของเพลงโคราชนั้นมีการเล่าขานกันมาว่า มีนายพรานคนหนึ่งชื่อ เพชรน้อย ออกไปล่าสัตว์ ในเขตหนองบุนนาก บ้านหนองบุนนาก อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา คืนหนึ่งแกไปพบลูกสาวพญานาค ขึ้นมาจากหนองน้ำ มานั่งร้องเพลงคนเดียว พรานเพชรน้อยได้ยินเสียง จึงแอบเข้าไปฟังใกล้ ๆ แกประทับใจ ในความไพเราะ และเนื้อหาของเพลง จึงจำเนื้อและทำนองมาร้องให้คนอื่นฟัง ลักษณะเพลงที่ร้องเป็นเพลงก้อม หรือเพลงคู่สอง



อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า ชาวโคราชได้เพลงโคราชมาจากอินเดีย โดยพระยาเข็มเพชรเป็นผู้นำมาพร้อมๆ กับลิเก และลำตัด โดยให้ลิเกอยู่กรุงเทพฯ ลำตัดอยู่ภาคกลาง และเพลงโคราชอยู่ที่นครราชสีมา เพลงโคราชระยะแรกๆ เป็นแบบเพลงก้อม คนที่เรียนรู้เพลงโคราช จากพระยาเข็มเพชร ชื่อตาจัน บ้านสก อยู่ "ซุมบ้านสก" ติดกับ สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ


ตำนานทั้งสองถึงเม้จะต่างกันในด้านกำเนิดแต่ตรงกันอย่างหนึ่งที่กล่าวว่าเพลงโคราชระยะแรกเล่นแบบเพลงก้อม

ก้อม เป็นภาษาโคราชและภาษาอีสาน แปลว่า สั้น เพลงก้อมหมายถึง เพลงสั้น ๆ ว่าโต้ตอบกล่าวลอย ๆ ทั้งที่มีความหมายลึกซึ้ง หรือไม่มีความหมายเลยก็ได้


เพลงโคราชจะเริ่มเล่นตั้งแต่เมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด หลักฐานจากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมา มีเพียงว่า สมัยท้าวสุรนารี ( คุณย่าโม ) ยังมีชีวิตอยู่ ( พ.ศ. 2313 ถึง 2395 ) ท่านชอบเพลงโคราชมาก เรื่องราวของเพลงโคราชได้ปรากฏหลัดฐานชัดเจน คือในปี พ.ศ. 2456 ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง เสด็จมานครราชสีมาทรงเปิดถนนจอมสุรางค์ยาตร์ และเสด็จไปพิมาย ในโอกาสรับเสด็จครั้งนั้น หมอเพลงชายรุ่นเก่าชื่อเสียงโด่งดังมากชื่อนายหรี่ บ้านสวนข่า ได้มีโอกาสเล่นเพลงโคราชถวาย เพลงที่เล่นใช้เพลงหลัก เช่น กลอนเพลงที่ว่า" ข้าพเจ้านายหรี่อยู่บุรีโคราชเป็นนักเลงเพลงหัด บ่าวพระยากำแหง ฯ เจ้าคุณเทศา ท่านตั้งให้เป็นขุนนาง .....ตำแหน่ง "ความอีกตอนเอ่ยถึงการรับเสด็จว่า" ได้สดับว่าจะรับเสด็จเพื่อเฉลิมพระเดชพระจอมแผ่นดิน โห่สามลา ฮาสามหลั่นเสียงสนั่น....ธานินทร์ "( สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษประจำกรมทหารม้านครราชสีมา จนถึง พ.ศ. 2462 เมื่อเสด็จนครราชสีมา นายหรี่ สวนข่า ก็มีโอกาสเล่นเพลงถวาย ) เพลงโคราชมีโอกาสเล่นถวายหน้าพระที่นั่งในงานชุมนุมลูกเสือครั้งที่ 1 ในนามการแสดงมหรสพของมณฑลนครราชสีมา เกี่ยวกับกำเนิดของเพลงโคราช มีทั้งที่เป็นคำเล่าและตำนานหลักฐานจากคำบอกเล่าของหมอเพลงอีกจำนวนหนึ่งเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ในสมัยรัตนโกสินทร์มีสงครามระหว่างไทยกับเขมร เมื่อไทยชนะสงครามเขมรครั้งไร ชาวบ้านจะมีการเฉลิมฉลองชัยชนะ ด้วยการขับร้องและร่ายรำกันในหมู่สกที่เขาเรียกว่า " ซุมบ้านสก " ใกล้ ๆ กับชุมทางรถไฟ ถนนจิระและเริ่มเล่นเพลงโคราชกันที่หมู่บ้านนี้ ท่าทางการรำรุกรำถอย และการป้องหู มีผู้สันนิษฐานว่าประยุกต์มาจากการเล่นเจรียง ที่เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวสุรินทร์ผสมผสาน กับเพลงทรงเครื่องของภาคกลาง

ประเภทของเพลงโคราช


การแบ่งประเภทของเพลงโคราชนั้น แบ่งได้หลายวิธี พอจะแยกกล่าวได้ดังนี้

1. แบ่งตามโอกาสที่จะเล่น ได้ 2 ประเภท

เพลงอาชีพ ได้แก่ เพลงโคราชที่เล่นเป็นอาชีพ มีการว่าจ้างเป็นเงินตามราคาที่กำหนด เพลงประเภทนี้จะเล่นในงานฉลองหรือสมโภชต่าง ๆ เช่น งานศพ งานบวชนาค ทอดกฐินงานประจำปี หรือเล่นแก้บน ผู้ประกอบอาชีพเพลงโคราชนี้เรียกว่า " หมอเพลง" การเล่นจะเล่นเป็นพิธีการ มีเวที การแต่งกายตามแบบของหมอเพลงและมีการยกครูเป็นต้น เพลงชาวบ้าน เพลงประเภทนี้ เป็นเพลงของชาวบ้านที่ร้องเล่นกันในยามว่างงานเพื่อความสนุกสนาน เช่น ในงานลงแขก ไถนา หรือเกี่ยวข้าว หรือพบปะพูดคุยกันในวงสุราชาวบ้านที่ว่าเพลงได้ จะว่าเพลงโต้ตอบกันเพื่อความสนุกสนาน ไม่มีพิธีรีตอง ไม่ต้องสร้างเวทีหรือ " โรงเพลง " และไม่มีการแต่งกายแบบหมอเพลงอาชีพ

2. แบ่งตามวิวัฒนาการของเพลงโคราช ตั้งแต่ยุคแรกมาจนถึงยุคปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่เพลงสั้น ๆ มาจนถึงเพลงยาว ๆ ที่ใช้เล่นกันในปัจจุบันนี้แบ่งได้ 5 ประเภท คือ


2.1 เพลงขัดอัน เป็นเพลงสั้น ๆ มีสัมผัสอยู่แห่งเดียว คือ ระหว่างวรรคที่ 1 กับวรรคที่ 2 เท่านั้น ส่วนวรรคที่ 3 และ 4 ไม่มีสัมผัส ( สัมผัสที่ใช้เป็นสัมผัสสระ ) เช่น 2.1.1 เอ้อเอ่อ....สะรุสะระ อีแม่กะทะขั่วถั่ว เมิ้ดบุญผัวแล้ว เหมือนไข่ไก่ร่างรัง2.1.2 เอ้อเอ่อ....สะรุสะระ อีแม่กะทะขั่วหมี่รู้ว่ากินไม่เมิ้ด มึงจิขั่วมากทำไม( ในข้อ 2.1.2 นี้ จะเห็นได้ว่ามีการเล่นอักษรเพิ่มเข้ามาแต่ยังไม่บังคับ ลักษณะนี้จะกลายเป็นสัมผัสบังคับในสมัยหลัง ) 2.2 เพลงก้อม เป็นเพลงสั้น ๆ เช่นเดียวกับเพลงขัดอัน แต่เพิ่มสัมผัสในระหว่างวรรคที่ 3 และ 4 ซึ่งไม่มีในในเพลงขัดอัน เช่น ทำกะต้องกะแต้ง อยู่เหมือนกะแต๋งคอกะติก ขอให่พี่ซักหน่อย จะเอาไปฝากถ่วยน่ามพริก

2.3 เพลงหลัก เป็นเพลงที่เพิ่มจำนวนวรรคจาก 4 วรรคในเพลง 2 ประเภทต้นมาเป็น 6 วรรค เพลงประเภทนี้จะเห็นว่าการเริ่มใช้สัมผัสประเภทอักษรเด่นชัดขึ้นเช่น

2.3.1 อันคนเราทุกวัน เปรียบกันกะโคม พอคนโห่ควันโหม ก็ลอยบนเวหา พอเมิ้ดควันโคมคืน ก็ต๊กลงพื้นสุธา...ใหญ่ 2.3.2 เกษาว่าผม แก่แล้วบานผีเมื่อผมดำงามดี ก็ลับมาหายดำ ไม่เป็นผลดีดอกผม จะไม่นิยมมันทำ...ไม

2.4 เพลงสมัยปัจจุบัน คือเพลงที่ใช้ร้องเล่นกันในปัจจุบัน มีขนาดยาวกว่าสมัยก่อน ๆ แต่ถ้าร้องจะร้องช้าบางทีจังหวะไม่สม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับผู้ร้อง ร้องช้าหรือร้องเร็วไม่สม่ำเสมอเช่น

โอ้โอ่...... ประเทศของไทยเราถึงคราวแคบ มันต้องมีคนแอบดอกนาพี่เอย.......คนแฝงเพลงโคราช สมัยเจริญจ้างเป็นเงินมาก็แพง .......เองจะว่ากันยังไงจะถูกใจคนฟังขอให้หนุ่มนำหน้าพอ.......เหนื่อยมาจะนำนอน ถ้าเข่าใจครรไลจร ให้ชี่นิ่วนำทาง.......อุปมาเหมือนยังพระ.....เดินนำเณร (ตบมือ) สมัยวิวัฒน์พัฒนา เขาก้าวหน่ามิใช่น่อยมาฉันจะเดินซ่อนรอย ขอแต่ให้พี่ชายนำ ถ้ายังไม่จรจะนำไปถึงจุ๊ด ฉันคงไม่ยุ๊ดพยายาม จะนำน้องเข่าไปเขาใหญ่ หรือดงพญา....เย็น

2.5 เพลงจังหวะรำ เพลงประเภทนี้ เป็นที่ใช้ร้องกันอยู่ในสมัยปัจจุบันเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในข้อ 2.4 แตกต่างกันที่ตรงจังหวะรำนี้จะเล่นสัมผัสมาก และสม่ำเสมอ สามารถเคาะจังหวะตามได้ และขณะที่ร้อง ผู้ร้องจะรำขย่มตัวไปตามจังหวะเพลงด้วย โดยจะเริ่มรำเมื่อว่าไปแล้วประมาณ 4 วรรค เพราะใน 4 วรรคต้นนี้จังหวะยังไม่กระชั้นหรือคงที่ อาจช้าบ้างเร็วบ้าง จะรำด้วยก็ได้แต่เป็นการรำช้า ๆ ไปรำจังหวะเร็วที่วรรคที่ 5 - 8 เป็นการจบท่อนแรก พร้อมทั้งตบมือ 1 ครั้ง พอขึ้นท่อนที่ 2 จะร้องช้าลงเพื่อเตรียมจบหรือเตรียมลง การรำหลอกล่อกันระหว่างชายและหญิง คือถ้าฝ่ายชายร้อง ฝ่ายหญิงก็จะรำด้วย ถ้าฝ่ายหญิงร้องฝ่ายชายก็จะรำด้วย การรำจึงเป็นการรำทีละคู่


3. แบ่งตามลักษณะกลอน จะได้เป็น 5 ประเภทคือ เพลงคู่สอง เพลงคู่สี่ เพลงคู่แปด และเพลงคู่สิบสอง การแบ่งเช่นนี้ เป็นการกำหนดประเภทคล้ายแบบที่แบ่งตามวิวัฒนาการนั่นเอง คือเพลงคู่สองกับคู่สี่ เป็นเพลงก้อม ส่วนเพลงคู่หก กับคู่แปดเป็นเพลงที่ใช้ร้องกันในปัจจุบัน ซึ่งทั้งสองประเภทนี้ มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ในด้านจำนวนคำในวรรค ส่วนเพลงคู่สิบสองนั้นเป็นเพลงที่ดัดแปลง มาจากเพลงคู่แปด โดยเพิ่มจำนวนคำ ในวรรคมากขึ้น และร้องเร็วมาก จังหวะถี่ยังไม่แพร่หลายนักในปัจจุบัน เพราะหมอเพลงส่วนใหญ่ จะคิดคำไม่ทัน กับที่ต้องว่าเร็ว ๆ จึงปรากฏให้เห็น เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

4. แบ่งตามเนื้อหาของเพลง จะได้หลายชนิด เช่น เพลงเกริ่น เพลงเชิญ เพลงไหว้ครู เพลงถามข่าว เพลงชวน เพลงชมนกชมไม้ เพลงเกี้ยวเพลงเปรียบ เพลงสาบาน เพลงด่า เพลงคร่ำครวญ เพลงสู่ขอ เพลงเกี้ยวแกมจาก เพลงจาก เพลงลา เพลงพาหนี เพลงปลอบ เพลงไหว้พระ เพลงตัวเดียว เพลงเรื่อง ( นิทาน ) เป็นต้น


ชาวไทย
ในประเทศ
แอฟริกา
อเมริกา
เอเชีย
ยุโรป
โอเชียเนีย