ภูมิหลัง ของ การบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น_(ค.ศ._1592–98)

เกาหลีและจีนช่วงก่อนสงคราม

พ.ศ. 1935 แม่ทัพเกาหลีนามว่า ลี ซองกเย ประสบความสำเร็จในการก่อรัฐประหารและยึดอำนาจทางการเมืองมาจากพระเจ้าอูแห่งราชวงศ์โครยอ โดยการใช้กำลังทหาร และได้ปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นพระเจ้าแทโจแห่งราชวงศ์โชซ็อน ตามคำเรียกร้องของผู้ติดตามในกองทัพ[12] ในการแสวงหาความชอบธรรมให้กับการปกครองของตนซึ่งปราศจากเชื้อสายกษัตริย์ ราชวงศ์ใหม่จึงต้องการการยอมรับจากจีน โดยยอมส่งเครื่องราชบรรณาการให้และยอมรับเป็นรัฐในอารักขา ภายใต้อรรถอธิบายของมติสวรรค์ (อังกฤษ: Mandate of Heaven, จีน: 天命)[13] ในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 อะชิคางะ โยชิมิสึได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโชกุนแห่งตระกูลอะชิคางะ ก็เลือกยอมที่จะส่งบรรณาการให้จีนยอมรับเป็นรัฐในอารักขาเช่นกัน (จนกระทั่งถูกยกเลิกในปี ค.ศ. 1547)[14][15] ด้วยเหตุนี้ ในระบบรัฐในอารักขาของจีน จีนจึงเป็นเสมือนพี่ใหญ่ เกาหลีเป็นน้องคนกลาง ส่วนญี่ปุ่นเป็นน้องคนเล็ก[16]

สิ่งหนึ่งที่ต่างออกไปจากยุคสมัยราชวงศ์โครยอ กับราชวงศ์อื่น ๆ ของจีนเมื่อพันปีก่อนก็คือ ราชวงศ์โชซ็อน หาได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับทางจีนเลยไม่ อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์หมิงก็มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูตที่ดีต่อราชวงศ์โชซ็อน และพึงพอใจในความสัมพันธ์ทางการค้ากับญี่ปุ่น

ทั้งราชวงศ์หมิงและโจซ็อนมีหลาย ๆ สิ่งที่คล้ายคลึงกัน เช่น ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ต่างก็อยู่ภายใต้การปกครองของมองโกล ใช้แนวคิดของลัทธิขงจื๊อในการดำเนินชีวิตในสังคม และเผชิญหน้าข้าศึกภายนอกร่วมกัน คือ พวกคนเถื่อน "หนวี่เจิน" และสลัดญี่ปุ่น"วะโกะ"[17] สำหรับกิจการภายใน ทั้งสองราชวงศ์ต่างก็มีปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและขั้วทางการเมือง ช่วงชิงินาจ ชิงดีชิงเด่นซึ่งกันและกัน ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการตัดสินใจของเกาหลีในช่วงก่อนสงคราม และของจีนในช่วงระหว่างสงคราม[18][19] ด้วยเหตุผลที่ต้องพึงพิงในการค้าขายระหว่างกันและการเผชิญศัตรูร่วมกันทำให้ทั้งเกาหลีและจีนจึงมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรตลอดมา

ฮิเดะโยะชิและการเตรียมตัว

ช่วงทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 16 โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ ไดเมียวผู้มีชื่อเสียงสามารถรวบรวมญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่นได้อีกครั้ง นับแต่ที่เขาได้ตำแหน่งไทโค (มหาเสนาบดี/พระอาจารย์) มา เขาพยายามเพิ่มพูนอำนาจทางทหารของเขา เพื่อลดการพึ่งพาพระราชอำนาจอันมาจากพระราชวงศ์[20] นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวกันว่า เขาวางแผนการรุกรานจีนในครั้งนี้ เพื่อเป็นสานต่อความฝันของนายเก่าของเขา โอะดะ โนะบุนะงะ[21] และเพื่อกำจัดภัยคุกคามที่เป็นไปได้จากความไม่สงบภายใน และการก่อการกบฏเนื่องจากปรากฏว่ามีจำนวนทหารและซามูไรมากเกินไป[22]แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าแท้จริงแล้ว ฮิเดะโยะชิอาจมุ่งเพียงแต่การยึดครองรัฐเพื่อนบ้านขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียง อย่างเช่น หมู่เกาะริวกิว เกาะลูซอน ไต้หวัน และประเทศเกาหลี ในขณะที่พยายามจะรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัฐที่มีขนาดใหญ่และรัฐที่อยู่ห่างไกล โดยสังเกตได้จากว่าในช่วงระหว่างสงคราม ฮิเดะโยะชิเรียกร้องจีนให้มีการทำสนธิสัญญาการค้าระหว่างจีนกับญี่ปุ่น[20] และเมื่อพิจารณาในระดับระหว่างประเทศแล้ว จากเหตุที่ว่าฮิเดะโยะชิมีไม่มีภูมิหลังอย่างโชกุนเคยมีมา ทำให้เขาต้องการความเหนือกว่าทางทหาร เพื่อแปรสภาพเป็นระบบของญี่ปุ่น และการควบคุมประเทศเพื่อนบ้านให้อยู่ภายใต้อำนาจของญี่ปุ่น[20] นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งนาม "เคนเนทท์ สโวป" ยังได้ตั้งสมมติฐานเอาไว้ว่า แท้จริงแล้วฮิเดะโยะชิเป็นคนจีนที่หนีเงื้อมือกฎหมายจีนไปที่ญี่ปุ่น และพยายามแก้แค้นจีน[23]

การพิชิตฐานของตระกูลโฮโจในโอดะวะระ ใน ค.ศ. 1590[24]นั้น เป็นการรวมญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่นเป็นครั้งที่สอง[25]และฮิเดะโยะชิก็มีแผนสำหรับสงครามครั้งต่อไป เดือนมีนาคม ค.ศ. 1591 ไดเมียวแห่งแคว้นคีวชูเริ่มดำเนินการก่อสร้างปราสาทนาโกยะ (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลซากะ) ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าปราสาทคะระสึ เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมกองทหารเกณฑ์ในการเตรียมกองกำลังรุกราน[26]

สำหรับการเตรียมพร้อมทางทหาร มีการเริ่มต่อเรือรบมากกว่า 2,000 ลำ ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1586[27]และเพื่อเป็นการหยั่งวัดกำลังของเกาหลี ฮิเดะโยะชิส่งเรือโจมตี 26 ลำเข้าหยั่งกำลังของเกาหลี ซึ่งได้ข้อสรุปว่าเกาหลีนั้นไม่สามารถต่อกรกับญี่ปุ่นได้[28] สำหรับฉากหน้าทางทูตนั้น เริ่มสร้างความสัมพันธ์ทางทูตกับจีนมาตั้งแต่ก่อนที่เขาจะรวบรวมญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่นเสียอีก และช่วยป้องกันเส้นทางเดินเรือระหว่างชาติด้วยการปราบโจรสลัด[29]

ปฏิสัมพันธ์ทางทูตระหว่างเกาหลี-ญี่ปุ่น

ภาพเหมือนของโทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ

ค.ศ. 1587 ฮิเดะโยะชิส่งทาจิบานะ ยาสุฮิโร เป็นตัวแทนคนแรกไปเกาหลี[30]ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าซอนโจ[31]เพื่อรื้อพื้นความสัมพันธ์ทางทูต หลังจากที่ขาดความสัมพันธ์กันเพราะโจรสลัดญี่ปุ่นรุกรานเกาหลีใน ค.ศ. 1555[32]ซึ่งฮิเดะโยะชิหวังว่าเกาหลีจะให้ความร่วมมือในการต่อต้านจีน[33]อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ยาสุฮิโรมีพื้นเพเป็นนักรบและมีความคิดดูถูกดูแคลนระเบียบพิธีการและธรรมเนียมของชาวเกาหลีว่าอ่อนนุ่ม ไม่สมชายชาตรี จึงทำให้ภารกิจการทูตของเขาล้มเหลว[34]พฤษภาคม ค.ศ. 1589 ฮิเดะโยะชิส่งคณะทูตชุดที่สอง ประกอบด้วย โช โยชิโทชิ (หรือ โยชิโทโมะ)[35], เก็นโซ และทะสึกิโนบุ ไปเกาหลีเป็นครั้งที่สอง โดยคราวนี้ยื่นข้อเสนอว่าจะยอมส่งตัวกบฏที่ลี้ภัยไปญี่ปุ่นให้แก่เกาหลี[34]แท้จริงแล้ว ฮิเดะโยะชิเคยสั่งให้ โช โยชิโนริ ไดเมียวแห่งทสึชิมะ บิดาของโยชิโทชิไปเจรจาขั้นเด็ดขาดกับทางเกาหลีว่าจะร่วมมือกับญี่ปุ่นรุกรานจีน หรือจะทำสงครามกับญี่ปุ่นตั้งแต่ ค.ศ. 1587 แล้ว แต่โยชิโนรินั้นได้รับผลประโยชน์ทางการค้าพิเศษกับเกาหลี ด้วยการเป็นท่าเทียบเรือเดียวที่เรือสินค้าจากทั่วญี่ปุ่นจะต้องมาจอดในทสึชิมะก่อน ถึงจะเดินทางไปเกาหลีได้ และได้รับอนุญาตให้ค้าขายกับเกาหลีในปริมาณสินค้าเทียบเท่าเรือสินค้าของเกาหลี 50ลำ[36]ดังนั้น ตระกูลโชจึงถ่วงเวลาการเจรจาออกไปนานถึง 2ปี[35]ถึงแม้ว่าฮิเดะโยะชิจะออกคำสั่งซ้ำลงไป โช โยชิโทชิก็แปลงสารลดความรุนแรงลง เพื่อความสัมพันธ์อันดีต่อทั้งสองประเทศ ในช่วงท้าย ๆ ของภารกิจการทูตนี้ เขายังทูลเกล้าถวายมัดขนนกยูงและนกปืน ซึ่งนับเป็นนกปืนรุ่นใหม่ชุดแรกที่เข้ามาในเกาหลี แด่พระเจ้าซอนโจด้วยซ้ำไป[37]รยูซองรยงเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนระดับสูงของราชสำนักโชซ็อนเสนอให้มีการผลิตและนำปืนไฟเข้าประจำการในกองทัพ แต่ถูกปฏิเสธไป[38]ซึ่งการไม่สนใจและประเมินค่าประสิทธิภาพของปืนไฟต่ำเกินไปของราชสำนัก เป็นเหตุให้กองทัพบกเกาหลีประสบความปราชัยในช่วงแรกของสงคราม

ตำแหน่งของทสึชิมะ หมู่เกาะที่คั่นกลางระหว่างสองประเทศ

เมษายน ค.ศ. 1590 เกาหลีส่งคณะราชทูตเดินทางไปญี่ปุ่น อันนำโดย ฮวาง ยูนกิล และคิม ซงลี[39]ไปยังเกียวโต และต้องอยู่รอฮิเดะโยะชิกลับจากการทัพปราบตระกูลโอดาวาระ และโฮโจนานถึง 2เดือน[40]เมื่อฮิเดะโยะชิเดินทางกลับมาถึง ทั้งสองฝ่ายจึงแลกของที่ระลึกให้กันและกัน และส่งพระราชสารในพระเจ้าซอนโจให้แก่ฮิเดะโยะชิ[40]ซึ่งทำให้ฮิเดะโยะชิเข้าใจว่าเกาหลียอมมาสวามิภักดิ์ เป็นรัฐในอารักขาของเขา แต่ทางเกาหลีกลับมองว่าญี่ปุ่นเป็นน้องเล็กเฉกเช่นที่เคยเป็นมานับร้อย ๆ ปี ด้วยเหตุนี้ คณะทูตเกาหลีจึงไม่ได้รับการปฏิบัติตามประเพณีทางทูตเฉกเช่นที่ควรจะเป็น อย่างน้อย พวกเขาต้องเรียกร้องให้ฮิเดะโยะชิเขียนจดหมายตอบพระเจ้าซอนโจ ซึ่งทำให้พวกเขาต้องรออยู่ที่ท่าเรือซาไกอยู่นานถึง 20วัน[41]จดหมายนั้น ได้ถูกเขียนขึ้นใหม่ ปรับปรุงเนื้อหาให้ดีขึ้นโดยคณะทูตเนื่องจากว่าเนื้อหาในต้นฉบับเดิมนั้น เชื้อเชิญเกาหลีให้เข้าร่วมโจมตีจีนร่วมกับญี่ปุ่นอย่างห้วน ๆ และหยาบคาย[37]เมื่อคณะทูตกลับมาถึง ราชสำนักก็ถกเถียงเกี่ยวกับคำเชื้อเชิญนี้อย่างตึงเครียด[42]คำรายงานของคณะทูตกลับแตกเป็นสองฝ่ายโดยฮวาง ยูนกิลรายงานถึงกำลังทหารและความตั้งใจที่จะทำสงครามของญี่ปุ่น และย้ำว่าสงครามจะเกิดในไม่ช้า แต่คิม ซงลีกลับรายงานว่าคำพูดของฮิเดะโยะชิไม่มีค่ามากไปก่าการข่มขู่ ข้าราชสำนักส่วนใหญ่เห็นว่าญี่ปุ่นไม่มีความสามารถที่จะรบกับเกาหลี บางคน รวมทั้งพระเจ้าซอนโจเห็นว่าควรจะรายงานเรื่องนี้ไปยังจีน เพื่อที่จีนจะได้มองเกาหลีเป็นพันธมิตร แต่สุดท้ายกลับได้ข้อสรุปว่าให้รอดูการณ์ไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จักแน่ชัด[43]

ฮิเดะโยะชิเริ่มปฏิบัติทางทูตต่อเกาหลีด้วยสำคัญว่าเกาหลีคือดินแดนใต้การปกครองของทสึชิมะ[44] ในขณะที่เกาหลีมองว่าญี่ปุ่นเป็นรัฐในอารักขาของจีน และคาดว่าการรุกรานของญี่ปุ่น ก็คงไม่ต่างอะไรกับการปล้นสะดมของสลัดญี่ปุ่นทั่วไป[44]ราชสำนักโชซ็อนให้การต้อนรับเก็นโซ และไทราโนะ คณะทูตที่สามของฮิเดะโยะชิ ซึ่งพระเจ้าซอนโจทรงส่งพระราชสารย้ำเตือนฮิเดะโยะชิว่าการกระทำของเขาเป็นการท้าทายต่อระบบรัฐในอารักขาของจีน ซึ่งฮิเดะโยะชิก็เขียนจดหมายตอบอย่างไม่ไว้หน้าพระเจ้าซอนโจ แต่เนื่องด้วยจดหมายฉบับนี้ไม่ได้ส่งมาโดยคณะทูตตามประเพณี ราชสำนักโชซ็อนจึงปฏิเสธที่จะรับเอาไว้[45]หลังถูกปฏิเสธเป็นครั้งที่สอง ฮิเดะโยะชิจึงได้ออกคำสั่งโจมตีเกาหลี ซึ่งการรุกรานเกาหลีนี้ มีผู้ไม่เห็นด้วยในรัฐบาลญี่ปุ่นเช่นกัน อันประกอบด้วย โทะกุงะวะ อิเอะยะสึ, โคะนิชิ ยุกินะงะ และโซ โยะชิโทะชิ

แสนยานุภาพของแต่ละฝ่าย

ฮวาชา เครื่องยิงธนูของเกาหลีที่สามารถยิงธนูได้ถึง 200 ดอกในคราวเดียวปราสาทหลาย ๆ แห่งในเกาหลี ก็ถูกสร้างเฉกป้อมนามฮันอันแข็งแกร่งนี้ แต่ทว่า ป้อมหินอื่น ๆ นั้น กลับถูกสร้างอย่างไร้คุณภาพทั้งเชิงโครงสร้างและวัสดุ

ภัยคุกคามด้านความมั่นคงของทั้งจีนและเกาหลีในยุคนั้นคือพวกหนู่เจิ้นที่คอยรุกเข้าปล้นสะดมตามแนวชายแดน และพวกโจรสลัดญี่ปุ่น วะโคที่มักเข้าปล้นหมู่บ้านชายฝั่งและเรือสินค้าในทะเล[46][47]ด้วยเหตุนี้ เกาหลีจึงได้พัฒนานาวิกานุภาพของตัวเอง, สร้างแนวป้อมปราการตามแนวแม่น้ำทูมันและการยึดเกาะทสึชิมะ[48]เนื่องด้วยสภาวะสันติภาพนี้ ทำให้เกาหลีพัฒนาเพียงอำนาจยิงของปืนใหญ่ประจำป้อมและเรือรบ การเข้ามาของดินปืนในช่วงราชวงศ์โครยอทำให้เกาหลีพัฒนาปืนใหญ่ อันใช้ได้ดียิ่งในทะเล ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นต้นธารของเทคโนโลยีของเอเชียในยุคนั้น แต่เกาหลีเองก็มีศักยภาพที่จะผลิตปืนใหญ่และเรือชั้นยอดได้เอง[49]

สำหรับญี่ปุ่นนั้นเป็นไปในทางตรงข้าม ญี่ปุ่นนั้นผ่านช่วงสงครามกลางเมืองมานานนับร้อยปี ทางญี่ปุ่นได้รับเอาปืนไฟจากโปรตุเกสมาใช้ ดังนั้นกลยุทธ์ในการพัฒนาแสนยานุภาพของทั้งสองชาติจึงแตกต่างกันออกไป โดยญี่ปุ่นจะเน้นไปที่การรบทางบก ในขณะที่เกาหลีเน้นไปที่ทางนาวี[50].

เนื่องจากญี่ปุ่นมีสงครามกลางเมืองมาตั้งแต่กลางคริสตวรรตที่ 15 ฮิเดะโยะชิจึงมีทหารชาญศึกอยู่ในควบคุมถึงครึ่งล้านนาย[51]เพื่อตั้งเป็นกองทัพที่เก่งกาจที่สุดในเอเชีย[52]และด้วยความวุ่นวายทางการเมืองภายในของญี่ปุ่น ทำให้เกาหลีไม่เคยมองญี่ปุ่นในฐานะภัยคุกคามทางทหารเลย[53]เนื่องด้วยความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเหล่ากลุ่มการเมืองในญี่ปุ่น กปอรด้วยคำสั่ง"ล่าดาบ" (ญี่ปุ่น: 刀狩, อังกฤษ: Sword Hunt) อันเป็นคำสั่งยึดอาวุธจากประชาชนสามัญ ทำให้การเมืองภายในญี่ปุ่นเกิดเสถียรภาพ[54]ซึ่งส่งผลให้เกิดการลดจำนวนโจรสลัดอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการบังคับมิให้เหล่าไดเมียวให้การสนับสนุนโจรสลัดในดินแดนของตัว[54]เป็นเรื่องน่าขันยิ่งที่เกาหลีเชื่อว่าการรุกรานของฮิเดะโยะชินี้ เป็นเพียงการขยายวงการปล้นสะดมของโจรสลัดญี่ปุ่นเฉกเช่นครั้งก่อนหน้าเท่านั้น[55]สำหรับสถานการณ์ทางทหารของเกาหลีนั้น รยูซองรยงราชบัณฑิตของเกาหลีพบว่า "ไม่มีแม่ทัพสักคนที่รู้วิธีฝึกทหาร"[56]การเลื่อนตำแหน่งในกองทัพนั้น ขึ้นอยู่กับเส้นสายมากกว่าความรู้ทางทหาร[57]กองทัพเกาหลีนั้นก็ไม่ได้รับการจัดการอย่างเป็นองค์กร ทหารขาดการฝึกฝนและอาวุธ[58]งบประมาณทางทหารส่วนมากหมดไปกับการก่อสร้าง โดยเฉพาะกำแพงปราสาท[59]

ปัญหาเชิงนโยบายการป้องกันประเทศ

ปืนคาบศิลาของญี่ปุ่นในช่วงยุคเอโดะ ซึ่งเป็นปืนไฟชนิดเดียวกับที่ใช้ในการรุกรานครั้งนี้

มีความผิดพลาดในองค์กรกองทัพเกาหลีมากมาย[60] ตัวอย่างแรกคือนายทหารในพื้นที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจรับมือกับผู้รุกรานต่างชาติได้เลย ต้องรอจนกว่าจะนายพลที่ได้รับพระบรมราชโองการจะเดินทางมาถึงพื้นที่พร้อมกำลังเสริม[60] สิ่งเดียวที่พวกทหารประจำด่านจะกระทำได้คืออยู่ในที่ตั้ง รอเวลาที่นายพลผู้มีอำนาจตัดสินใจเดินทางมาถึงพื้นที่และสั่งการ[60] ซึ่งเป็นระบบการสั่งการที่ไร้ประสิทธิภาพยิ่ง ประการที่สอง นายพลที่ถูกส่งมาจากราชสำนัก มักจะมาจากนอกพื้นที่ ไม่ค่อยคุ้นเคยกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และไม่ทราบถึงอาวุธและกำลังพลที่ประจำการในพื้นที่นั้น ๆ[60] และสุดท้าย ทหารส่วนใหญ่ในกองทัพนั้นคือทหารที่อ่อนซ้อม, ถูกเกณฑ์มาใหม่ และกองทัพก็ไม่เคยได้ใส่ใจต่อการฝึกทหารเลย[60] ราชสำนักเคยพยายามปรับปรุงกองทัพ แต่ก็ยังคงมีปัญหาอยู่ ตัวอย่างเช่น ค.ศ. 1589 มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกทหารในคยองซัง แต่ทหารที่ถูกเกณฑ์เข้ามานั้น ล้วนเด็กเกินไป หรือแก่เกินไป เนื่องด้วยชายฉกรรณ์ที่อายุเหมาะสมนั้น มีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าต้องทำ เช่นทำเกษตรกรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ และปัญหาการเพิ่มขึ้นของเหล่าลูกผู้ดีที่ชอบการพเนจรและทาสที่ขายอิสรภาพของตัวเอง[60]

ลักษณะของป้อมปราการในเกาหลีนั้นคือ "ป้อมภูเขา" (อังกฤษ: Sanseong,เกาหลี: 산성,ไทย: ซานซอง)[61]อันประกอบขึ้นจากแนวกำแพงหินที่ทอดยาวคดเคี้ยวรอบภูเขา[52] แนวกำแพงเหล่านี้ได้รับการออกแบบที่ไม่ดีนัก มีการสร้างหอคอยและแนวยิงต่อต้านน้อย (ต่างจากของยุโรป) และโดยมากก็ไม่ได้สูงมากนัก[52] มีนโยบายอัยการศึกที่ว่า เมื่อมีสงคราม ประชาชนสามารถลี้ภัยเข้าไปในป้อมที่อยู่ใกล้ตัวได้ และสำหรับผู้ที่ไม่สามารถลี้ภัยเข้าไปในป้อมได้ ก็จะถูกเข้าใจว่าแปรพักตร์ไปร่วมมือกับข้าศึก แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ไม่เคยได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพเลยเนื่องจากป้อนนั้นตั้งอยู่ไกลเกินไปสำหรับผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่[52]

ความแข็งแกร่งของกำลังพล

ฮิเดะโยะชิเคลื่อนพลไปที่ปราสาทนะโงะยะในคิวชู ที่ถูกสร้างเพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการหน้าสำหรับกำลังพลรุกรานและกำลังพลสำรอง[62]กองทัพรุกรานประกอบด้วยเก้ากองพล รวมเป็นจำนวน 158,800 นาย และ อีกสองกองพลจำนวน 21,500 นายประจำการเป็นกำลังหนุนที่ ทสึชิมา และอีกิตามลำดับ[63]

ในทางกลับกัน โชซ็อนกลับมีหน่วยทหารน้อยนิด และไม่มีกองทัพภาคสนาม การป้องกันประเทศนั้น ขึ้นอยู่กับการระดมพลเรือนมาขึ้นทะเบียนทหารเพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน[59] ในช่วงระหว่างการรุกรานครั้งแรก โชซ็อนระดมทหารประจำการเข้ามารบ 84,500 นาย และทหารอาสาที่ถูกเกณฑ์เข้ามา 22,000 นาย[64]การเข้ามาแทรกแทรงสงครามนี้ของจีนไม่ได้ช่วยสร้างให้เกิดความได้เปรียบมากนัก ในเชิงกำลังพล เนื่องจากจีนไม่เคยส่งทหารไปร่วมรบในเกาหลีมากกว่า60,000 นายเลย[65] ในขณะที่ญี่ปุ่นใช้ทหารในสงครามนี้ 500,000 นายตลอดการรุกราน[51]

ช่วงต้น ค.ศ. 1582 นักปราชญ์นามกระเดื่อง ลี อี แนะนำให้ราชสำนักเพิ่มกำลังทหารเป็น 100,000 นาย รวมทั้งการเกณฑ์เอาทาสและลูกโสเภณีมาเป็นทหารในกองทัพ หลังจากกองทัพภาคเหนือไม่สามารถต่อต้านพวกหนู่เจิ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ[56]อย่างไรก็ตาม ลีอี เป็นขุนนางฝ่ายตะวันตก ซึ่งเป็นคู่แข่งของกลุ่มขุนนางฝ่ายตะวันออก (นำโดย รยูซองรยง) ที่เป็นกลุ่มใหญ่มีอำนาจ ดังนั้น ข้อเสนอของเขาจึงถูกปฏิเสธ[56] และเหตุการณ์เดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นใน ค.ศ. 2131 เมื่อข้อเสนอโครงการเสริมกำลังบนเกาะสิบสองเกาะ ตลอดแนวชายฝั่งทางใต้ของคาบสมุทรเกาหลี และการปฏิเสธการสร้างป้อมเพื่อป้องกันเมืองปูซานในปี ค.ศ. 1590[56] ถึงแม้ว่าโอกาสที่ญี่ปุ่นจะรุกรานเกาหลีนั้นมีมากขึ้น และรยูซองรยงย้ายข้างมาสนับสนุนแนวคิดเพิ่มกำลังทหารป้องกันญี่ปุ่น[56]ภายใต้สถานการณ์แบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่ชัดเจนของราชสำนักในขณะนั้น การกระทำของรยูซองรยงไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากผู้สนับสนุนแนวคิดขยายกำลังทหารเลย แต่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชาติล้วน ๆ[56] อย่างไรก็ตาม ค.ศ. 1592 เกาหลีก็ยังไม่มีกำลังพลเพียงพอ

ปืนใหญ่ของโชซ็อนในลักษณะนี้เป็นปืนที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในกองทัพเรือโชซ็อน

อาวุธยุทโธปกรณ์

ปืนใหญ่ของจีนที่ถูกนำเข้ามาโดยชาวโปรตุเกสในรัชกาลของพระจักรพรรดิเทียนฉีช่วง ค.ศ. 1620-1627

นับแต่พ่อค้าชาวโปรตุเกสนำปืนคาบศิลาเข้ามาสู้ญี่ปุ่นบนเกาะทะนีกะชิมะ ที่อยู่ทางตอนใต้ของคีวชู ใน ค.ศ. 2086[66]ปืนคาบศิลาก็ได้ถูกใช้อย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น[67]ทั้งฝ่ายจีนและเกาหลีเองก็ใช้ปืนคาบศิลาโปรตุเกศทั้งคู่แต่ใช้รุ่นที่เก่ากว่า อาวุธรุ่นเก่าเหล่านี้ ต่างก็ถูกใช้อย่างผิด ๆ ในเกาหลี อีกทั้งเกาหลีให้ความสำคัญกับอาวุธดินปืนที่ใช้ในหน่วยปืนใหญ่และหน่วยพลธนูในระดับพื้นฐานเท่านั้น[68]เมื่อปืนคาบศิลารุ่นใหม่ได้ถูกนำเสนอในราชสำนักโชซ็อนโดยทูตญี่ปุ่น ยู ซองลยองสนับสนุนให้มีการนำปืนไฟเหล่านี้เข้าประจำการในกองทัพ แต่ล้มเหลวเนื่องจากราชสำนักไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของอาวุธใหม่[40]

ในทางกลับกัน ฝั่งญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมากกับปืนไฟ และใช้คู่กับธนู[69]

ธนูไม้หัวเหล็กที่ให้ยิงออกมาจากปืนใหญ่ของเกาหลี


ทหารราบเกาหลีหนึ่งนายอาจจะมีดาบ (แบบเกาหลี), หอก, สามง่าม หรือธนูเป็นอาวุธประจำกายอย่างน้อยหนึ่งอย่าง[49] สำหรับธนูของเกาหลีนั้น ถือได้ว่าเป็นธนูที่มีความยอดเยี่ยมมากในเอเชีย[50]นั้นเป็นธนูไม้เนื้อผสม แบบ Reflex ที่เกิดจากการนำวัสดุหลาย ๆ ชนิดมาทำให้เป็นแผ่น ๆ แล้วซ้อน ๆ กัน (ขึ้นกับการเลือกชนิดของวัสดุตามที่ได้รับการออกแบบไว้) และถูกทำให้โค้งเข้า (Reflex bow) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงสุด

ธนูเกาหลี (กุงโด) มีระยะยิงสูงสุด 457.20 เมตร ในขณะที่ธนูญี่ปุ่นมีระยะยิงเพียง 320.04 เมตรเท่านั้น[70]อย่างไรก็ตามการฝึกฝนพลธนูให้มีประสิทธิภาพนั้นใช้ทั้งยากลำบากและกินเวลา ต่างจากปืนไฟ ส่วนทหารราบจีนนั้นใช้อาวุธหลายหลายรูปแบบ ขึ้นกับสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ที่พวกเขาประจำการ รวมถึงธนูและหน้าไม้[70] และดาบ ที่ใช้ทั้งในทหารราบและทหารม้า[71][72] อีกทั้งยังมาปืนไฟ, ระเบิดควัน และระเบิดมือ[50]

ธนูรีเฟล็กซ์ภาพแสดงอาวุธยิงแบบหนึ่งของจีนที่บรรจุกระสุนในกระบอกแล้วอัดดินปืน ใช้ยิงแบบปืนลูกซอง

ในช่วงระยะต้นของสงคราม ญี่ปุ่นได้เปรียบจากระยะยิงของปืนไฟ 548.64 เมตรที่ไกลกว่า[73]ส่งเสียงกึกก้องกัมปนาทฟังดูน่าเกรงขามกว่า[74]ซึ่งสามารถใช้งานได้ในลักษณะการยิงประสานแบบรวมจุดเพื่อทดแทดความไม่แม่นยำ ทั้งในระยะประชิดและระยะยาว อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายของสงคราม เกาหลีและจีนต่างก็นำปืนไฟของญี่ปุ่นเข้ามาใช้เองเป็นจำนวนมาก[40][75]และยังกล่าวกันว่าจีนคิดค้นชุดเกราะกันกระสุนขึ้นมาใช้ในช่วงการรุกรานครั้งที่สองด้วย[76]

เกาหลีกระตือรือล้นที่จะพัฒนากองทหารม้าเพื่อใช้ในราชการสงคราม แต่ผลลัพธ์กลับส่งผลเสียอย่างรุนแรง เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของเกาหลีนั้นเป็นพื้นที่ภูเขา ไม่มีพื้นที่ราบมากพอที่จะให้ทหารม้าเข้าประชิด และไม่มีหญ้าเพียงพอที่จะเป็นอาหารม้า และญี่ปุ่นก็ใช้ปืนไฟในการยิงระยะไกลเพื่อสกัดกั้นกองทหารม้าอย่างได้ผลยิ่งนัก[72]

ทหารม้าเกาหลีมีตุ้มโซ่และหอกเป็นอาวุธประจำกาย เพื่อการรบระยะประชิด และธนูเพื่อการยิงจากระยะไกล[77]โดยมากแล้ว การเข้ารบทหารม้าเกาหลีถูกใช้มากในยุทธการแห่งชุงจู ซึ่งต้องรบกับทหารราบญี่ปุ่นที่มีจำนวนมากกว่า ก่อนที่จะถูกกวาดล้าง[77]ทหารม้าญี่ปุ่นนั้น บางครั้งก็ใช้ปืนไฟ ที่ถูกออกแบบให้เล็กกว่าเพื่อการใช้บนหลังม้าโดยเฉพาะ แต่โดยมากแล้วจะใช้หอกญี่ปุ่นที่เรียกว่า "ยาริ" เป็นอาวุธประจำกายทหารม้า การนำทหารม้ามาใช้ของญี่ปุ่นนั้นได้ลดลงไปจากประสบการณ์ของญี่ปุ่นในสงครามกลางเมืองที่ว่า กองทหารม้ามิอาจจะต้านทานอำนาจการยิงประสานของปืนไฟได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากยุทธการนะงะชิโนะ ที่โอะดะ โนะบุนะงะใช้ปืนไฟของเขาปราบปรามกองพลทหารม้าของทะเคดะ คะสึโยริ เสียราบคาบ

ภาพวาดเรือพานโอกซอน

นาวิกานุภาพ

ในขณะที่กองทัพบกเกาหลีเป็นรองญี่ปุ่น แต่กองทัพเรือกลับเป็นไปในทางกลับกัน กองทัพเรือเกาหลีนั้นจัดได้ว่ายอดเยี่ยมมาก ความเป็นเลิศในทักษะการสร้างธนูและการต่อเรือของเกาหลี ทำให้กองทัพเรือเกาหลีได้เปรียบญี่ปุ่นอย่างมหาศาล ด้วยประวัติศาสตร์เกาหลีล้วนเกี่ยวพันต่อความมั่นคงทางทะเล และความจำเป็นในการต่อต้านโจรสลัดญี่ปุ่น การพัฒนาเชิงนาวีได้รับการพัฒนาอย่างมากตั้งแต่ราชวงศ์โครยอ จนกลายมาเป็นผู้นำเชิงนาวีในราชวงศ์โชซ็อน ในช่วงที่ญี่ปุ่นรุกรานครั้งนี้ กองทัพเรือเกาหลีใช้เรือรบ"พานอกซอน" เป็นเรือรบหลักของกองทัพ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่มีปืนใหญ่เข้าประจำการบนเรือรบญี่ปุ่นในการรุกรานครั้งแรก[49]ทำให้กองทัพเรือเกาหลีสามารถยิงถล่มกองเรือญี่ปุ่นจากนอกระยะยิงของปืนไฟ, ธนู และเครื่องยิงหินของญี่ปุ่นได้[49]และถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะพยายามเพิ่มปืนใหญ่เข้าประจำการ[78]แต่เรือรบของญี่ปุ่นไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อบรรทุกน้ำหนักจำนวนมาก กลายเป็นข้อจำกัดให้ญี่ปุ่นไม่สามารถบรรทุกปืนใหญ่ได้มากเท่ากับฝ่ายตรงข้าม[79]

ความไม่สมบูรณ์แบบของเรือรบญี่ปุ่นในระดับรากฐานนั้นมีดังนี้ ประการแรก เรือรบส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นคือเรือสินค้าที่ถูกนำมาดัดแปลงใช้เป็นเรือลำเลียงพล[49] (แต่ก็สังเกตได้เช่นกันว่าเรือประมงก็ถูกใช้ในกองทัพเรือเกาหลี[80])ประการที่สอง เรือญี่ปุ่นนั้นมีเพียงใบเรือผืนสี่เหลี่ยมจตุรัสเพียงใบเดียว ซึ่งใช้งานได้ดีในภาวะลมดีเท่านั้น ในขณะที่เกาหลีใช้ทั้งกำลังฝีพายและใบเรือ ประการที่สาม ท้องเรือของญี่ปุ่นนั้นเป็นทรงแหลม หรือทรงตัวV (เช่นเดียวกับจีน) ซึ่งทำให้มีความเร็วสูงแต่การบังคับเลี้ยวยากเมื่อเทียบกับเรือพานโอกซอนที่เป็นเรือท้องแบน และประการสุดท้าย เรือรบญี่ปุ่นนั้นใช้ตะปูเหล็กในการตอกยึดแผ่นไม้เรือเข้าด้วยกันในขณะที่เกาหลีใช้ร่องไม้ในการยึดเรือเข้าด้วยกัน การใช้ตะปูโลหะในทะเลนั้นจะทำให้ตะปูนั้นสึกกร่อนและทำให้โครงสร้างเรือนั้นอ่อนแออลง ในขณะที่ร่องไม้นั้นกลับยึดแน่นแข็งแกร่งกว่า

นอกจากนี้ความสำเร็จในการป้องกันประเทศครั้งนี้ ผู้ที่สมควรจะได้รับการยกย่องเชิดชูที่สุดคือ แม่ทัพอี ซุน-ชิน ชายผู้มีความเป็นผู้นำและมีกลยุทธ์ วางแผนการรบเพื่อที่จะนำหายนะมาสู่เส้นทางลำเลียงของญี่ปุ่น

อีกประการหนึ่งที่ควรจะกล่าวถึงก็คือ ฮิเดะโยะชิเคยพยายามจ้างเรือรบโปรตุเกสเข้าร่วมรบด้วยแต่กลับประสบความล้มเหลว[81]

ใกล้เคียง

การบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น (ค.ศ. 1592–98) การบุกครองโปแลนด์ การบุกยึดท่าอากาศยานในประเทศไทย พ.ศ. 2551 การบุกครองนอร์ม็องดี การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียง การบุกขึ้นเหนือของเกียงอุย การบุกครองโปแลนด์ของสหภาพโซเวียต การบุกเข้าอาคารรัฐสภาสหรัฐ พ.ศ. 2564 การบุกเข้าปราซาดุสเตรสโปเดริส พ.ศ. 2566 การบุกครองยูโกสลาเวีย

แหล่งที่มา

WikiPedia: การบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น_(ค.ศ._1592–98) http://www.britannica.com/eb/article-9070532/Suwon http://www.donga.com/fbin/output?n=200702200055 http://www.e-sunshin.com/e-sunshin/life/yimjin_04.... http://users.erols.com/mwhite28/warstat0.htm#Total http://find.galegroup.com/itx/infomark.do?&content... http://www.geocities.com/odamachi2/nihongi2.htm http://books.google.com/books?id=rnNnOxvm3ZwC&pg=P... http://www.google.com/url?sa=t&ct=res&cd=15&url=ht... http://times.hankooki.com/lpage/biz/200607/kt20060... http://www.japan-101.com/history/toyotomi_hideyosh...