การเลือกตั้งและพรรคการเมือง ของ การเมืองเบลเยียม

ระบบเลือกตั้ง

ระบบการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรเบลเยียมนั้นใช้ระบบบัญชีรายชื่อสัดส่วนแบบเปิด (Open list proportional representation) โดยก่อนการเลือกตั้งแต่ละพรรคการเมืองจะส่งรายชื่อผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้ง โดยสามารถส่งได้ไม่จำกัดจำนวนในแต่ละพรรคโดยจะต้องไม่เกินจำนวนที่นั่งของแต่ละเขตเลือกตั้ง ลำดับในรายชื่อของแต่ละเขตนั้นเคยมีความสำคัญมากต่อการได้รับการเลือกโดยประชาชน โดยรายชื่อด้านบนของบัญชีรายชื่อจะได้รับคะแนนเสียงมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามความคิดนี้ได้ถูกลดความสำคัญลงจากการปฏิรูปกฎหมายเลือกตั้งในสมัยหลัง วิธีการคัดเลือกตัวผู้สมัครนั้นเป็นขั้นตอนภายในของแต่ละพรรค

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิในการออกเสียงห้าวิธีดังนี้

  • เลือกผู้แทนของพรรคตามลำดับบัญชีรายชื่อที่พรรคลำดับให้
  • เลือกผู้แทนหนึ่งคนหรือมากกว่าโดยไม่ขึ้นกับลำดับในบัญชีรายชื่อ (ตามลำดับความชอบ) หรือ "Preference vote"
  • เลือกผู้แทนหนึ่งคนหรือมากกว่าในรายชื่อสำรอง
  • เลือกผู้แทนหนึ่งคนหรือมากกว่าจากรายชื่อหลัก และหนึ่งคนหรือมากกว่าจากรายชื่อสำรอง
  • งดออกเสียง

หมายเหตุ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งพึงเลือกผู้สมัครมากกว่าหนึ่งคนได้ แต่จะต้องสังกัดพรรคการเมืองเดียวกันเท่านั้น มิฉะนั้นการลงคะแนนเสียงจะเป็นโมฆะ

การหาเสียงเลือกตั้งในเบลเยียมนั้นมีระยะเวลาค่อนข้างสั้น โดยไม่เกินระยะเวลาหนึ่งเดือนก่อนวันเลือกตั้ง โดยมีข้อบังคับต่าง ๆ เช่น

  • มีข้อจำกัดหลายประการในการใช้ป้ายประกาศหาเสียง
  • กิจกรรมหาเสียงต่าง ๆ พรรคการเมืองจะต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาลและค่าสมาชิกพรรคฯ ที่จ่ายโดยสมาชิกเท่านั้น
  • การใช้จ่ายในการหาเสียงนั้นจำกัดตามกฎหมายเลือกตั้ง

ประเทศเบลเยียมเป็นประเทศที่การเลือกตั้งนั้นผู้มีสิทธิเลือกตั้งถูกบังคับโดยเป็นหน้าที่พลเมืองตามรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตามเบลเยียมเป็นชาติอันดับต้น ๆ ของโลกที่มีจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด[6]

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (รัฐสภากลาง) มีขึ้นทุก 5 ปี ซึ่งจะตรงกับการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป ในอดีตก่อน ค.ศ. 2014 การเลือกตั้งทั่วไปมีขึ้นทุก 4 ปี การเลือกตั้งสมาชิกสภาแคว้น และสภาประชาคมนั้นมีขึ้นทุก 5 ปีเช่นเดียวกัน ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล และสภาจังหวัดมีขึ้นทุก 6 ปี

การเลือกตั้งครั้งล่าสุดคือ ค.ศ. 2012 สำหรับระดับเทศบาลและจังหวัด และ ค.ศ. 2014 สำหรับระดับประเทศและแคว้น

พรรคการเมือง

ในเบลเยียม นอกจากพรรคการเมืองจำนวนน้อยในฝั่งพรรคที่พูดภาษาเยอรมันแล้ว พรรคการเมืองใหญ่ล้วนมาจากฝั่งเฟลมิช (ภาษาดัตช์) หรือพรรคที่พูดภาษาฝรั่งเศส โดยมีพรรคการเมืองเดียวที่ใช้ทวิภาษา ได้แก่ พรรคแรงงานเบลเยียม (PVDA+/PTV)[7] ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายจัดที่ได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกใน ค.ศ. 2014 และในการเลือกตั้ง ค.ศ. 2019 ได้ 3 ที่นั่งในเขตพูดภาษาดัตช์ และ 9 ที่นั่งในบรัสเซลส์และวอลโลเนีย

ลักษณะสำคัญของการเมืองระดับชาติในเบลเยียมนั้นใช้แนวคิดเชิงสหพันธรัฐโดยเฉพาะในการลงคะแนนเสียงในสภา โดยจะต้องใช้คะแนนเสียงข้างมากในระดับประเทศ (2 ใน 3 สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) และเสียงข้างมากของแต่ละกลุ่มภาษาด้วย และในแต่ละประชาคมสามารถที่จะใช้สิทธิที่จะระงับ หรือชะลอการเปลี่ยนแปลงหรือบังคับใช้กฎหมายออกไปได้

ประวัติศาสตร์การเมืองเบลเยียม

ตั้งแต่การมีเอกราชของเบลเยียมใน ค.ศ. 1830 และตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีเพียงพรรคการเมืองหลักเพียงสองพรรคที่โดดเด่นในการเมืองเบลเยียม ได้แก่พรรคคาทอลิก (ซึ่งใช้แนวคิดทางศาสนาในการเมืองและอนุรักษนิยม) และพรรคเสรีนิยม (ต่อต้านการนำศาสนาในการเมืองและพิพัฒนาการนิยม) ต่อมาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 พรรคสังคมนิยมได้เริ่มเข้ามามีบทบาทโดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นแรงงาน โดยพรรคการเมืองทั้งสามกลุ่มนี้ยังคงมีบทบาททางการเมืองในปัจจุบันโดยได้มีการเปลี่ยนแปลงมากมายในแนวคิดของแต่ละพรรคการเมือง

ในช่วงยุคก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น การแบ่งแยกทางภาษาของเบลเยียมได้ทวีความรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในการเมือง ทำให้มีการก่อตั้งพรรคการเมืองในคริสต์ทศวรรษ 1950 และคริสต์ทศวรรษ 1960 ที่แบ่งตามภาษา โดยต่อมาไม่นานพรรคการเมืองแต่ละพรรคได้แบ่งพรรคออกเป็นภาษาฝรั่งเศส และภาษาเฟลมิช

ภายหลังจากการชุมนุม ค.ศ. 1968 กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายจัดทำให้พรรคที่เน้นสิ่งแวดล้อมก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก (ครุนและเอโกโล) ส่วนในฟลานเดอส์นั้นในช่วง ค.ศ. 1980 ได้เริ่มมีกระแสฝ่ายขวาจัดในสังคม ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งพรรคฟลามส์เบอลังซึ่งต่อมากลายเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดพรรคหนึ่งในเบลเยียมในช่วง ค.ศ. 1990

พรรคการเมืองหลัก

พรรคการเมืองหลักฝั่งเฟลมิช

พรรคการเมืองหลักฝั่งภาษาฝรั่งเศส

พรรคการเมืองหลักฝั่งภาษาเยอรมัน

ใกล้เคียง

การเมืองไทย การเมือง การเมืองกัมพูชา การเมืองเบลเยียม การเมืองสเปน การเมืองฝ่ายขวา การเมืองเนเธอร์แลนด์ การเมืองฝ่ายซ้าย–ฝ่ายขวา การเมืองลิทัวเนีย การเมาเหตุเคลื่อนไหว