การปกครอง ของ การเมืองเบลเยียม

ฝ่ายบริหาร

ประมุขแห่งรัฐ

สมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิป กษัตริย์พระองค์ที่ 7 แห่งชาวเบลเยียม

พระมหากษัตริย์แห่งชาวเบลเยียม เป็นประมุขแห่งรัฐของราชอาณาจักรเบลเยียมตามรัฐธรรมนูญ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งตลอดพระชนม์ชีพ บทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์นั้นระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเบลเยียม

ในฐานะประมุขแห่งรัฐ พระมหากษัตริย์เบลเยียมมีหน้าที่เชิงสัญลักษณ์และประเพณีของประเทศ โดยบทบาทหลักทางการเมืองได้แก่การที่ทรงแต่งตั้งผู้นำพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งคณะรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง หรือการลาออกของคณะรัฐมนตรี ในเงื่อนไขที่มีการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลจะต้องลาออกทั้งคณะ และสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อพระมหากษัตริย์[2] นอกจากนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ยังมีบทบาทเป็นศูนย์รวมของประเทศ และความเป็นประเทศเบลเยียม

สมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิป ได้รับราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 หลังจากทรงสละราชสมบัติ

รัฐบาลกลาง

ดูบทความหลักที่: รัฐบาลกลางเบลเยียม

อำนาจบริหารนั้นถูกใช้โดยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีซึ่งรวมกันเป็นคณะรัฐมนตรี (Council of Ministers) ซึ่งยังไม่รวมถึงรัฐมนตรีช่วยฯ (Secretaries of state) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลกลาง แต่ไม่ได้รวมอยู่ในคณะรัฐมนตรี[3]

สมาชิกรัฐบาลกลางจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการ โดยมีที่มาจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยรัฐบาลกลางจะต้องได้รับเสียงข้างมากจากสภาผู้แทนราษฎร

จำนวนรัฐมนตรี (ไม่รวมนายกรัฐมนตรี) นั้นจำกัดที่ไม่เกิน 15 คน และจะต้องมีจำนวนผู้พูดภาษาดัตช์และผู้พูดภาษาฝรั่งเศสจำนวนเท่า ๆ กัน (ไม่รวมถึงนายกรัฐมนตรี)[4]

รัฐบาลแคว้นและประชาคม

ในหน่วยการปกครองระดับแคว้นและประชาคมนั้นมีสภา และรัฐบาลซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภค นโยบายเกี่ยวกับน้ำ วัฒนธรรม การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย การจัดการผังเมือง และนโยบายด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยงบประมาณนั้นได้แบ่งมาจากส่วนของรัฐบาลกลาง โดยสภาแคว้นสามารถเรียกเก็บภาษีได้เพียงบางอย่าง และรายได้จากการให้กู้ยืม นอกจากนี้ประชาคมและแคว้นมีอำนาจในการทำสนธิสัญญาต่าง ๆ ในด้านที่อยู่ในหน้าที่รับผิดชอบได้

จากรายจ่ายสาธารณะทั้งหมด (ไม่รวมดอกเบี้ยเงินกู้) เกินกว่าร้อยละ 30 นั้นมาจากส่วนของแคว้น และประชาคมต่าง ๆ ถึงแม้ว่างบประมาณส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 นั้นมาจากงบประมาณที่จัดสรรมากจากรัฐบาลกลาง นอกจากนี้รัฐบาลกลางยังควบคุมประกันสังคม และกำกับดูแลนโยบายภาษีต่าง ๆ

ตั้งแต่ ค.ศ. 1993 เป็นต้นมา ในมาตราที่ 35 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการจัดทำรายการอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของรัฐบาลกลาง เพิ่มเติมจากส่วนของแคว้นและประชาคม แต่รายการนี้ไม่เคยถูกทำขึ้นอย่างเป็นทางการ จึงทำให้รัฐบาลกลางนั้นใช้อำนาจหน้าที่กำกับดูแลงานด้านอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในบทบาทหน้าที่ของแคว้นและประชาคม[5]

ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม ค.ศ.​ 2019 ผู้นำฝ่ายบริหารของแคว้นและประชาคมในเบลเยียม ได้แก่

รัฐบาลจังหวัดและท้องถิ่น

แคว้นหลักทั้งสองแคว้นของเบลเยียม ได้แก่ แคว้นเฟลมิช (ฟลานเดอส์) และแคว้นวอลลูน (วอลโลเนีย) แบ่งการปกครองย่อยออกเป็นแคว้นละห้าจังหวัด ส่วนแคว้นนครหลวงบรัสเซลส์นั้นแบ่งเป็นเขตเทศบาลอีก 19 เขต โดยทั้งประเทศแบ่งเป็น 589 เขตเทศบาล รัฐบาลจังหวัดและรัฐบาลท้องถิ่นต่าง ๆ นั้นมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในแคว้นหรือเขตที่รับผิดชอบ

ภายในแคว้นนครหลวงบรัสเซลส์นั้นมีการปกครองอีกรูปแบบหนึ่ง คือโดยองค์กรที่มาจากประชาคมหลักทั้งสองประชาคม ได้แก่ COCOF สำหรับผู้พูดภาษาฝรั่งเศส และ VGC สำหรับผู้พูดภาษาดัตช์ทั้งสององค์กรมีหน้าที่คล้ายกัน เว้นแต่ COCOF นั้นมีอำนาจนิติบัญญัติที่สนับสนุนโดยสภาประชาคมฝรั่งเศส สำหรับประชาคมในบรัสเซลส์นั้นมีคณะกรรมาธิการประชาคมร่วม (Common Community Commission) ที่มีอำนาจดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองประชาคม

ฝ่ายนิติบัญญัติ

ดูบทความหลักที่: รัฐสภากลางเบลเยียม

อำนาจนิติบัญญัติของเบลเยียมนั้นแบ่งแยกกันในระดับประเทศ ระดับแคว้น และระดับประชาคม

รัฐสภากลางนั้นประกอบด้วยวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมี 150 ที่นั่ง มีที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงผ่านระบบสัดส่วน ส่วนสมาชิกวุฒิสภามี 60 ที่นั่ง โดย 50 ที่นั่งมาจากการแต่งตั้งโดยสภาแคว้น และสภาประชาคมต่าง ๆ และอีก 10 ที่นั่งมาจากการเลือกโดยสมาชิกวุฒิสภาที่เหลือ

ฝ่ายตุลาการ

ดูบทความหลักที่: ระบบศาลยุติธรรมเบลเยียม

ระบบศาลของเบลเยียมนั้นเป็นแบบซีวิลลอว์ซึ่งมีที่มาจากประมวลกฎหมายนโปเลียน โดยอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยมีศาลอุทธรณ์เป็นศาลระดับที่ต่ำกว่าศาลฎีกาหนึ่งระดับ และศาลฎีกานั้นใช้หลักการเดียวกันกับศาลฎีกาฝรั่งเศส ศาลฎีกาเบลเยียมนั้นถือเป็นศาลสำคัญสูงสุด โดยมีผู้พิพากษามาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์และมีวาระตลอดชีพ

ใกล้เคียง

การเมืองไทย การเมือง การเมืองกัมพูชา การเมืองเบลเยียม การเมืองสเปน การเมืองฝ่ายขวา การเมืองเนเธอร์แลนด์ การเมืองฝ่ายซ้าย–ฝ่ายขวา การเมืองลิทัวเนีย การเมาเหตุเคลื่อนไหว