การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ของ จอร์จ_ดับเบิลยู._บุช

บุช พบปะกับนายมามุด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ และนายกรัฐมนตรีอาเรียล ชารอน แห่งอิสราเอล ระหว่างการประชุมสุดยอด กลุ่มประเทศในแถบทะเลแดง ที่เมืองอากาบา ประเทศจอร์แดน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2546

การดำรงตำแหน่งสมัยแรก

ช่วงหนึ่งร้อยวันแรกหลังจากที่บุชเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ถือว่าเป็นช่วงที่ไม่ได้มีความปรองดองระหว่างสองพรรคใหญ่มากเท่าที่บุชได้อ้างไว้ระหว่างการรณรงค์หาเสียง บุชถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด จากการแต่งตั้งนายจอห์น แอชครอฟต์ เป็นหัวหน้าอัยการ พรรคเดโมแครตต่อต้านแอชครอฟต์เป็นอย่างมาก เนื่องด้วยเขามีหัวอนุรักษนิยมขวาจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการทำแท้งและโทษประหารชีวิต แม้ว่าแอชคอรฟต์จะได้รับการยอมรับในเวลาต่อมาก็ตาม ในวันแรกที่บุชเข้าทำงานในทำเนียบขาว เขาก็ได้ยับยั้งการให้เงินช่วยของรัฐบาลกลางที่ให้แก่กลุ่มองค์กรต่างชาติ ที่ให้คำปรึกษาหรือความช่วยเหลือใดๆแก่สตรีให้มีการทำแท้ง หลายวันต่อมา เขาก็ได้ประกาศพันธกิจที่จะเพิ่มเงินช่วยเหลือของรัฐบาลกลางให้แก่องค์กรที่อ้างอิงความเชื่อทางศาสนา จนทำให้นักวิจารณ์หวั่นเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้ง ต่อการแยกกันเป็นอิสระระหว่างโบสถ์และรัฐ ตามประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมา

พรรครีพับลิกันสูญเสียอำนาจควบคุมวุฒิสภาสหรัฐ ในเดือนมิถุนายน เมื่อวุฒิสมาชิกเจมส์ เจฟฟอร์ด จากรัฐเวอร์มอนต์ ลาออกจากพรรครีพับลิกันเพื่อมาเป็นนักการเมืองอิสระ แต่การลาออกเกิดก่อนหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาของพรรคเดโมแครตห้าคน จะแหกคอกออกมายกมือสนับสนุนโครงการตัดลดภาษีมูลค่า 1.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐของบุช อย่างไรก็ดี อีกไม่ถึงสามเดือนต่อมา หน่วยงานราชการได้ออกร่างงบประมาณที่แสดงให้เห็นว่าเงินคงคลังที่ได้มาจากการเก็บภาษีเงินได้จะลดลงจนไม่เหลือเลยในอีกหลายปีต่อมา

อุดมคติทางการเมือง

ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี พ.ศ. 2543 บุชได้เริ่มใช้ประโยคว่า "นักอนุรักษนิยมผู้มีความเมตตาปราณี" เพื่ออธิบายอุดมคติความเชื่อของเขา นักอนุรักษนิยมบางคนได้ตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับพันธกิจของบุช ที่มีต่ออุดมคติแนวอนุรักษนิยม เนื่องด้วยบุชยินยอมให้เกิดการขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก จากการใช้จ่ายในเรื่องสำคัญๆมากขึ้น สมาชิกพรรคเดโมแครตและสมาชิกอิสระอ้างว่า การใช้คำว่า "อนุรักษนิยม" ตามด้วยคำว่า "เมตตาปราณี" ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงอุดมคติที่แปลกใหม่แต่อย่างใด หากแต่เป็นการทำให้แนวทางอนุรักษนิยมได้รับการยอมรับมากขึ้นจากกลุ่มผู้ลงคะแนนเลือกตั้งอิสระและกลุ่มที่ไม่ได้ปักใจลงคะแนนกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างเด็ดขาด ในการกล่าวปราศรัยในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของบุช เมื่อปี พ.ศ. 2548 บุชได้เน้นถึงวิสัยทัศน์ด้านนโยบายการต่างประเทศของเขา และอ้างถึงแผนการที่จะสนับสนุนการเติบโตของระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก ตามที่ระบุไว้ใน[26]

องค์ประกอบสำคัญในการเป็นประธานาธิบดีของบุช เห็นจะได้แก่การเน้นความสำคัญของอำนาจและสิทธิพิเศษของผู้บริหารระดับสูง ตามความเห็นของบุชและผู้ที่สนับสนุนเขาแล้ว การทำสงครามกับการก่อการร้ายจะเป็นที่จะต้องใช้บริหารระดับสูงที่เข้มแข็ง และมีความสามารถที่จะใช้กลวิธีต่างๆที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อต่อกรกับผู้ก่อการร้าย เป็นต้นว่า ครั้งหนึ่ง บุชได้โต้แย้งซ้ำๆหลายครั้งว่าข้อจำกัดของกฎหมายการเฝ้าระวังการข่าวกรองของต่างชาตินั้น เป็นกรอบที่เข้มงวดจนเกินไปต่อความสามารถในการเฝ้าระแวดระวังผู้ก่อการร้ายผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ และบุชได้ผลักดันให้มีการยกเว้นข้อจำกัดต่างๆเหล่านั้นชั่วคราว รวมทั้งบางส่วนของกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายสหรัฐปี พ.ศ. 2544 (USA PATRIOT ACT ย่อมาจาก Uniting and Strengthening America by Providing Appropriate Tools Required to Intercept and Obstruct Terrorism ACT of 2001 แปลตรงตัวว่า กฎหมายเพื่อการรวมกำลังและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอเมริกา ด้วยการให้เครื่องมือที่เหมาะสมซึ่งจำเป็นต่อการดักจับและขัดขวางการก่อการร้าย บัญญัติเมื่อปี พ.ศ. 2544) คณะผู้บริหารงานแผ่นดินของบุช ได้ข่มขู่ว่าจะวีโต้เอกสารระบุกลวิธีป้องกันประเทศสองฉบับ ที่รวมข้อความที่ถูกแก้ไขโดยวุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคน เพื่อจำกัดอำนาจของผู้บริหารระดับสูงในอันที่จะอนุญาตให้มีการกระทำทารุณกรรมต่อมนุษย์ บุชกับพวกได้โต้แย้งว่า การกระทำรุนแรงต่อผู้ถูกจับกุมและเชื่อว่าเป็นผู้ก่อการร้ายนั้น จำเป็นต่อการได้มาซึ่งข้อมูลสำคัญเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย [27] ทนายความในคณะรัฐบาลของบุช เป็นต้นว่าจอห์น ยู ได้โต้แย้งว่า ประธานาธิบดีมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการนำประเทศเข้าสู่สงครามอยู่แล้วหากเห็นว่าเหมาะสม แม้ว่าจะมีข้อกฎหมายมาจำกัดอำนาจนั้นก็ตาม [28] นายจอห์น จี. โรเบิร์ต ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐ เห็นว่าผู้บริหารระดับสูงควรมีขอบเขตอำนาจกว้างขวางเช่นกัน ในกรณีฮัมแดน ปะทะ รัมสเฟลด์ เขาได้เขียนระบุไว้ว่า มาตราทั่วไปที่ 3 ของสนธิสัญญาเจนีวา ไม่ได้ครอบคลุมถึงผู้ถูกจับกุมตัวจากสงครามการต่อต้านการก่อการร้าย ดังนั้น บุชจึงสามารถเลือกที่จะอนุญาตให้มีการจัดตั้งศาลทหารลับเพื่อพิจารณาคดีผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายได้ หากเขาต้องการ คณะรัฐบาลของบุชได้สั่งให้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริหารระดับสูงที่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะได้ไว้เป็นความลับ และได้ร่างคำสั่งของผู้บริหารระดับสูงขึ้นเพื่อใช้ยับยั้งคำร้องขอข้อมูลที่อ้างอิงกฎหมายอิสรภาพทางสารสนเทศ อีกทั้งให้เก็บรักษาข้อมูลเก่าที่เป็นความลับต่อไปเกินกว่าวันหมดอายุความลับเดิม [29] ผู้วิพากษ์วิจารณ์บุชได้โต้แย้งว่า อำนาจของผู้บริหารระดับสูงที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองนั้นเสี่ยงต่อการล่วงละเมิดวัตถุประสงค์ทางการเมือง และละเมิดต่ออิสรภาพของพลเรือน [30] อีกทั้งยังบอกว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไร้จริยธรรม และมีแนวโน้มก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน ดังที่เคยเกิดกระแสต่อต้านของชาวโลกต่อกรณีการทำทารุณกรรมต่อนักโทษในเรือนจำอาบู กราอิบมาแล้ว [31] ส่วนผู้สนับสนุนบุชได้แย้งว่า ขอบข่ายอำนาจที่กว้างขวางในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายนั้น จำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันการจู่โจมสหรัฐครั้งสำคัญๆ [32] และประธานาธิบดีก็มิได้ใช้อำนาจนั้นเกินความจำเป็นแต่อย่างใด[33]

การบริหารงานแผ่นดิน

บุชได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความจงรักภักดีส่วนบุคคล อันส่งผลให้คณะบริหารงานแผ่นดินของบุชสามารถสื่อสารแนวความคิดทางการเมืองของบุชแก่ประชาชนได้โดยไม่ไขว้เขว เขายังคงรักษารูปแบบการทำงานแบบ วางมือให้ทีมดำเนินการไป เนื่องจากเชื่อว่าจะป้องกันไม่ให้เขาถูกขัดขวางด้วยกระบวนการตัดสินใจอันสลับซับซ้อน บุชกล่าวกับไดแอน ซอวเยอร์ ในรายการของเอบีซี ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546 ว่า "ข้าพเจ้ามั่นใจในรูปแบบการบริหารงานของตน ข้าพเจ้ามีต้วแทนในการดำเนินงานต่างๆเนื่องจากข้าพเจ้าไว้ใจผู้ที่ข้าพเจ้าขอให้มาร่วมทีม ข้าพเจ้ายินดีที่จะแต่งตั้งตัวแทน และนั่นทำให้การเป็นประธานาธิบดีนั้นง่ายขึ้น" อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์ได้กล่าวหาว่าบุชต้องการมองข้ามข้อผิดพลาด [34][35] ที่ผู้ใต้บังคับบัญชาก่อขึ้น และตัวบุชเองก็แวดล้อมไปด้วยพวกประจบสอพลอ[36]

ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของบุชนั้น เป็นช่วงที่มีการปกป้องสิทธิพิเศษของผู้บริหารระดับสูงอยู่มาก นักวิจารณ์หลายคนได้อ้างว่า บุชได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิพิเศษของผู้บริหารระดับสูง เมื่อเขาเสนอชื่อบุคคลสามคนให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในศาลฎีกาสหรัฐ และการเสนอชื่อนายจอห์น อาร์. โบลตัน ดำรงตำแหน่งทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติ

บุชยังได้บริหารงานแผ่นดินในตำแหน่งประธานาธิบดีหลายอย่าง ในขณะที่พำนักในบ้านไร่เมืองครอวฟอร์ด รัฐเท็กซัส ที่ถูกขนานนามว่า "ทำเนียบขาวบ้านไร่" ดังเช่นเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2548 บุชได้ไปเยือนบ้านไร่ถึง 49 ครั้งขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี รวมเป็นเวลาที่เขาจากทำเนียบขาวไปทั้งสิ้น 319 วัน จนเกือบจะเท่ากับสถิติที่โรนัลด์ เรแกน เคยทำไว้ คือ 335 วัน ภายใน 5 ปีครึ่ง คณะผู้บริหารงานแผ่นดินของบุชได้สนับสนุนแนวทางนี้ โดยกล่าวว่าการไปเยือนบ้านไร่ ช่วยให้ประธานาธิบดีได้มีมุมมองที่แตกต่างจากในวงจรการเมืองน้ำเน่าของแวดวงรัฐบาลกลาง ซึ่งแม้จะอยู่บ้านไร่ ประธานาธิบดีก็ยังคงปฏิบัติภารกิจตามปกติ (คณะผู้บริหารงานแผ่นดินได้บันทึกไว้ว่า การเยือนบ้านไร่ครอวฟอร์ด ครั้งที่ยาวนานที่สุดของบุช คือเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 ใช้เวลาพักผ่อนรวมเพียงหนึ่งสัปดาห์ จากระยะเวลาเยือนรวมทั้งสิ้น 5 สัปดาห์)

รายชื่อคณะรัฐมนตรีของบุชได้ถูกรวบรวมไว้ใน หน้าหลักของรายชื่อคณะรัฐบาล ภายใต้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (จากวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ)

นโยบายการต่างประเทศและความมั่นคง

ระหว่างการเยือนยุโรปครั้งแรกของบุชในฐานะประธานาธิบดี ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) ผู้นำชาติยุโรปได้วิพากษ์วิจารณ์บุชเกี่ยวกับการที่เขาปฏิเสธพิธีสารโตเกียว เพื่อลดการเพิ่มอุณหภูมิของโลก ในปี พ.ศ. 2545 บุชได้ปฏิเสธสนธิสัญญาดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าเป็นตัวขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยกล่าวว่า "แนวทางของข้าพเจ้านั้นเห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นทางออก ไม่ใช่ปัญหา"[37]คณะบริหารงานแผ่นดินของบุชยังโต้แย้งเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นที่มาของสนธิสัญญาฉบับนี้ [38] ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2547 รัสเซียได้ลงนามยอมรับสนธิสัญญาดังกล่าว ทำให้มันมีผลบังคับใช้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการลงนามเห็นชอบของสหรัฐอเมริกา

นโยบายต่างประเทศของบุชได้รณรงค์สนับสนุนการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการเมืองกับกลุ่มประเทศในแถบละตินอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็กซิโก และลดการเข้าแทรกแซง "การสร้างชาติ" และการแทรกแซงทางการทหารเล็กๆน้อยๆที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐ อย่างไรก็ดี หลังจากเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 (9/11) กระทรวงการต่างประเทศได้มุ่งเน้นความสำคัญไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

การก่อการร้าย

บุชกล่าวต่อบรรดา เจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ปฏิบัติงานบริเวณ กราวด์ซีโร ในมหานครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) ว่า "กระผมได้ยินเสียงพวกท่าน โลกทั้งใบได้ยินพวกท่าน และผู้ที่ทำตึกเหล่านี้ล้มครืนลงมา จะได้ยินพวกเราทั้งหมดในไม่ช้านี้"

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2544 สหรัฐอเมริกาภายใต้การสนับสนุนจากนานาชาติ ได้ประกาศสงครามกับรัฐบาลตาลีบัน ของอัฟกานิสถาน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าให้ที่พักพิงแก่นายโอซามา บิน ลาเดน ผลพวงของความพยายามสร้างชาติอัฟกันร่วมกับสหประชาชาติ และประธานาธิบดีฮามิด การ์ไซ ส่งผลทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ในปี พ.ศ. 2548 สหรัฐก็ยังหาตัว บิน ลาเดน ไม่พบ การเลือกตั้งประธานาธิบดีอัฟกานิสถานมีขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2547 แม้ว่าผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติจะบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นไปอย่าง "ค่อนข้างเป็นประชาธิปไตย" และ "ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก" ตามที่ศูนย์สำรวจคะแนนนิยมกลางระบุ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 15 จากทั้งหมด 18 คน ก็ถูกข่มขู่ให้ถอนตัว โดยถูกกล่าวหาว่าการลงทะเบียนเป็นมลทิน และไม่มีสภาพเป็นผู้สมัครอย่างถูกต้อง [39]

หลายวันหลังจากที่บุชกลับเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้ประกาศว่า "ผมจะเดินหน้าแผนระบบต่อต้านขีปนาวุธ" [40] และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว บุชได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 ว่าเขาประสงค์จะถอนตัวจากสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธ ของปี พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) และใช้ระบบต่อต้านขีปนาวุธที่สามารถกำบังการจู่โจมจากประเทศที่เป็นภัยคุกคามได้ [41] สมาคมฟิสิกส์แห่งสหรัฐได้วิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งนี้ โดยตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของระบบ [42] บุชได้โต้แย้งว่ามีความสมเหตุสมผลดีแล้ว เนื่องจากสงครามเย็นอันเป็นผลพวงของสนธิสัญญาดังกล่าวได้หมดยุคลงแล้ว เอกสารที่สหรัฐขอถอนตัวจากสนธิสัญญาดังกล่าวอย่างเป็นทางการได้ถูกประกาศเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2544 โดยกล่าวถึงความจะเป็นในการต่อต้านการก่อการร้าย แม้จะเคยมีปรากฏว่าประธานาธิบดีเป็นผู้ขอยกเลิกสนธิสัญญา แต่กรณีส่วนใหญ่แล้วจะมีการขอความเห็นชอบจากสภาคองเกรส [43]

อิรัก

ไม่นานหลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 คณะบริหารงานแผ่นดินของบุชได้เริ่มรณรงค์แผนการตอบโต้เร่งด่วนต่ออิรัก โดยระบุว่าประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนของอิรัก ได้กลับมาใช้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอีกครั้ง แม้ว่าซัดดัมจะอ้างว่าเขาได้ทำลายอาวุธเคมีและชีวภาพที่เขาเคยมีเมื่อก่อนปี พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) ทั้งหมด (ซัดดัมเคยใช้มันสังหารชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของอิรัก เมื่อปี พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) โดยที่โครงการอาวุธดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและอังกฤษ)[ต้องการอ้างอิง] ทฤษฎีที่ว่าซัดดัมได้ทำลายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงได้ถูกประกาศอย่างโจ่งแจ้งโดยนายสก็อต ริตเตอร์ อดีตผู้ตรวจอาวุธ[44] และนายฮานส์ บลิกซ์ อดีตหัวหน้าผู้ตรวจอาวุธของสหประชาชาติ [45] บุชยังกล่าวว่าซัดดัมเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ และทำให้ขาดเสถียรภาพในตะวันออกกลาง ก่อให้เกิดกรณีพิพาทอิสราเอล-ปาเลสไตน์ อีกทั้งได้ให้เงินสนับสนุนผู้ก่อการร้าย รายงานของหน่วยข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐหรือ ซีไอเอ ได้ระบุว่าการที่ซัดดัม ฮุสเซนพยายามจะมีวัตถุนิวเคลียร์ในครอบครองนั้น ไม่ถือว่าเป็นอาวุธเคมี หรืออาวุธชีวภาพที่ฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ และขีปนาวุธของอิรักบางส่วนนั้น มีวิถีไกลเกินกว่าที่มาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติอนุญาต แต่ถ้าจะว่ากันไปแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) เป็นต้นมา ประธานาธิบดีสหรัฐมีนโยบายจะโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน ด้วยการใช้กฎหมายปลดปล่อยอิรัก ที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติ และวุฒิสภา อีกทั้งผ่านการลงนามโดยประธานาธิบดีบิล คลินตัน [46][47]

จากการที่ประกาศออกไปว่าซัดดัม ฮุสเซน สามารถส่งมอบอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงให้แก่ผู้ก่อการร้ายได้ บุชก็ได้เตือนสหประชาชาติให้บังคับใช้อาณัติปลดอาวุธอิรัก โดยอ้างความเร่งด่วนของวิกฤตการณ์ทางการทูต เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ภายใต้ข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ นายฮานส์ บลิกซ์ และนายโมฮัมเม็ด เอลบาราดาย ได้นำคณะผู้ตรวจอาวุธของสหประชาชาติไปยังอิรัก การที่อิรักไม่ให้ความร่วมมือ ได้ก่อให้เกิดการโต้วาทีอย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการตรวจการณ์ ส่งผลให้คณะผู้ตรวจอาวุธได้เดินทางออกจากอิรักภายใต้คำแนะนำของสหรัฐ สี่วันก่อนกำหนดการเดิม [48]

นายโคลิน พาวเวลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้เตือนผู้ร่วมงานในคณะบริหารงานแผ่นดินของประธานาธิบดีบุช ให้หลีกเลี่ยงการก่อสงครามที่ไม่ได้รับความเห็นชอบอย่างเด่นชัดจากสหประชาชาติ คณะบริหารงานแผ่นดินของบุชได้พยายามผลักดันข้อมติอนุมัติการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังทหาร ตามบทบัญญัติที่ 7 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ แต่ก็ต้องเผชิญกับกระแสคัดค้านจากชาติมหาอำนาจหลายชาติ รวมทั้งการข่มขู่ของนานาชาติจากการที่ฝรั่งเศสเสียหน้าในการใช้สิทธิ์ยับยั้ง ทำให้สหประชาชาติไม่อนุมัติ โดยมีเพียงไม่กี่ชาติ ที่ได้รับสมญาว่าเป็น "กลุ่มแนวร่วมฝักใฝ่"เห็นชอบกับสหรัฐ และเตรียมพร้อมเข้าร่วมสงคราม [49]

ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้กล่าวกับนาวิกโยธิน และกับเพื่อนร่วมชาติ จากลานบินบนเรือรบหลวง ยู.เอส.เอส. อับราฮัม ลิงคอล์น นอกชายฝั่งซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) ซึ่งคำประกาศว่า "ภารกิจสำเร็จลุล่วงแล้ว!" เพื่อประกาศชัยชนะ และการสิ้นสุดปฏิบัติการรบสำคัญๆ ในอิรัก ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมา

ปฏิบัติการณ์ทางทหารได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2546 เพื่อพิสูจน์ว่าอิรักมีอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงไว้ในครอบครอง และโค่นอำนาจของซัดดัม การเตรียมพร้อมเข้าสู่ภาวะสงครามของสหรัฐมีขึ้น พร้อมๆกับการที่ซัดดัมยื้อการตรวจอาวุธให้ยืดเยื้อไปอีก การกล่าวหาว่ามีการพยายามลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีจอร์จ เอ็ช. ดับเบิลยู. บุชในปี พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) การฝ่าฝืนสัญญาหยุดยิงในปีนี้ และการฝ่าฝืนข้อมติต่างๆของสหประชาชาติ โดยมีนายโคฟี อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และผู้นำชาติมหาอำนาจหลายประเทศได้ตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับความชอบธรรมของสงครามดังกล่าว และแม้ว่าบุชประกาศจะประกาศชัยชนะไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 แต่ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐยังคงดำเนินต่อไปถึงปี พ.ศ. 2548 อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ไม่สงบในอิรัก แม้ว่าจะสามารถจับกุมตัวซัดดัม ฮุสเซนได้แล้วก็ตาม

เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2547 รายงานผลสุดท้ายของ คณะสำรวจอิรักของสหรัฐ ได้สรุปว่า "คณะผู้ตรวจสอบอาวุธไม่พบหลักฐานว่า ซัดดัม ฮุสเซน มีอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงไว้ในครอบครอง ในปี พ.ศ. 2546 แต่หลักฐานที่พบจากการตรวจสอบ รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้ถูกกักขัง และการตรวจสอบเอกสาร ต่าง»แสดงให้เห็นว่า อาจเป็นไปได้ที่มีอาวุธดังกล่าวอยู่ในอิรัก แม้ว่าจะไม่มีนัยยะสำคัญทางการทหารก็ตาม" [50] รายงานของคณะผู้สอบสวนกรณี 9/11 ก็ไม่พบหลักฐานที่อาจเชื่อถือได้ว่าซัดดัม ฮุสเซน มีอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงไว้ในครอบครอง แม้รายงานจะสรุปว่ารัฐบาลของซัดดัมจะพยายามอย่างหนัก ให้มีเทคโนโลยีที่ทำให้อิรักสามารถผลิตอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงไว้ในครอบครอง ทันทีที่มีการยกเลิกการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ [51] นอกจากนี้ คณะผู้สอบสวนกรณี 9/11 ยังพบว่า แม้อิรักจะมีการติดต่อกับกลุ่มอัลกออิดะห์ ในปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) แต่ก็ "ไม่มีการประสานความร่วมมือกัน" ที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม 9/11 แต่อย่างใด[52]

การอพยพเข้าเมือง

บุชได้เสนอให้แก้ไขกฎหมายผู้อพยพเข้าเมือง ที่จะทำให้เกิดการใช้วีซ่าแรงงานต่างชาติอย่างกว้างขวาง ข้อเสนอของเขาสนองตอบต่อความต้องการของนายจ้าง ที่มีแรงงานต่างชาติทำงานให้ไม่เกินหกปี อย่างไรก็ดี ผู้ใช้แรงงานจะไม่มีสิทธิ์ได้รับบัตรพำนักถาวร (หรือ กรีนการ์ด) หรือแม้กระทั่งสัญชาติสหรัฐ ร่างแก้ไขข้อกฎหมายดังกล่าวถูกคัดค้านโดยวุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตกลุ่มหนึ่ง รวมถึง บาบารา บ็อกเซอร์ และ เท็ด เคเนดี

บุชยังได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ต้องการเพิ่มความเข้มงวดของการรักษาความปลอดภัย ตามแนวพรมแดนสหรัฐ - เม็กซิโก อีกทั้งต้องการเร่งรัดกระบวนการขับผู้อพยพกลับประเทศ การสร้างที่คุมขังเพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม และเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตามแนวชายแดน บุชยังเห็นชอบต่อการ "เพิ่มจำนวนกรีนการ์ดประจำปี ที่จะก่อให้เกิดการขอสัญชาติเพิ่มขึ้น" แต่ก็มิได้สนับสนุนการให้นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่เข้าประเทศโดยผิดกฎหมายอยู่แต่ก่อนแล้ว โดยอ้างว่ามาตรการดังกล่าวมีแต่จะสนับสนุนให้มีการอพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น [53]

การสาธารณสุข

ใน การแถลงนโยบายประจำปี เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) บุชได้กำหนดยุทธวิธีห้าปี เพื่อบรรเทาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ระดับสากล โดยเขาได้เรียกร้องงบประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อการนี้ และข้อเสนอดังกล่าวก็ได้รับการสนับสนุนจากสภาคองเกรส ความพยายามบรรเทาการระบาดของโรคเอดส์อย่างเร่งด่วน มีนายแรนดาล แอล. โทเบียส ผู้ประสานงานโรคเอดส์สากล ประจำสำนักการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าโครงการ โดยในเงินงบประมาณก้อนนี้ ได้มีการจัดสรร 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อโครงการบรรเทาการแพร่ระบาดของเอดส์ใน 15 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเอช.ไอ.วี. มากที่สุด อีก 5 พันล้านดอลลาร์จะนำไปสนับสนุนการบรรเทาการแพร่ระบาดของเอดส์อย่างต่อเนื่อง ในอีก 100 ประเทศที่สหรัฐได้เคยจัดตั้งโครงการควบคู่ไว้แล้ว และอีกหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐจะนำไปสนับสนุนกองทุนรวมเพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย เงินงบประมาณนี้นับเป็นมูลค่ามากกว่าเงินบริจาคเพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์ จากทุกประเทศรวมกันเสียอีก

การพาณิชย์

การที่บุชบังคับใช้อัตราภาษีนำเข้าเหล็ก และไม้เนื้ออ่อนแปรรูปของแคนาดา ทำให้เกิดการถกเถียงในประเด็นที่เขาให้การสนับสนุนนโยบายการค้าเสรี กับสินค้าตัวอื่นๆ และทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งจากเพื่อนแนวร่วมอนุรักษนิยม และจากชาติที่ได้รับผลกระทบ อัตราภาษีเหล็กนำเข้าได้ถูกเพิกถอนในเวลาต่อมาภายใต้แรงกดดันจากองค์กรการค้าโลก กรณีพิพาทไม้เนื้ออ่อนแปรรูประหว่างแคนาดากับสหรัฐ ยังคงดำเนินอยู่

การช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา

สำนักงานการต่างประเทศสหรัฐ และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (หรือ ยูเสด) ได้ตีพิมพ์แผนยุทธวิธีสำหรับช่วงปีพ.ศ. 2547 - พ.ศ. 2552 ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของยุทธวิธีดังกล่าว ได้ยึดเอาแนวทางที่ถูกระบุไว้ในยุทธวิธีเพื่อความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีบุช สามประการด้วยกัน อันได้แก่ การทูต การพัฒนา และการป้องกันประเทศ นโยบายใหม่ของบุชจะทำให้มีการให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 แก่ประเทศที่ช่วยเหลือตัวเองในการพัฒนา "ด้วยการปกครองอย่างถูกต้อง ลงทุนอย่างชาญฉลาดในทรัพยากรมนุษย์ของตน และสนับสนุนให้เกิดอิสรภาพทางเศรษฐกิจ" การช่วยเหลือการพัฒนาจะต้องควบคู่ไปกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ นั่นหมายความว่า ยูเสด จะให้การสนับสนุนเพื่อการพัฒนาแก่ "ประเทศที่ยึดมั่นต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เศรษฐกิจแบบเปิด และมีการลงทุนอย่างชาญฉลาดในด้านการศึกษา การสาธารณสุจ และศักยภาพของประชาชน" [54]

นโยบายภายในประเทศ

แนวคิดริเริ่มที่อิงคติความเชื่อทางศาสนา

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) บุชได้ทำงานร่วมกับพรรครีพับลิกัน และพรรคสังคมอนุรักษนิยมในสภาคองเกรส เพื่อผ่านร่างกฎหมายสำหรับแก้ไขวิธีการที่รัฐบาลกลางใช้ในการกำหนดควบคุม เก็บภาษี และให้เงินทุนสนับสนุนองค์กรการกุศล และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่ดำเนินการโดยองค์กรทางศาสนา แม้ว่าก่อนหน้าที่จะมีร่างกฎหมายดังกล่าว องค์กรเหล่านี้ก็สามารถรับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางได้ แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ได้กำจัดข้อกำหนดที่ระบุว่าองค์กรจะต้องแยกการดำเนินงานเพื่อการกุศล ออกจากการดำเนินงานทางศาสนา บุชยังได้สร้าง "สำนักงานประจำทำเนียบขาว เพื่อโครงการริเริ่มที่อิงความเชื่อทางศาสนาและชุมชน" [55]

องค์การหลายแห่งด้วยกัน เป็นต้นว่า สหภาพเพื่ออิสภาพของพลเรือนอเมริกันได้วิพากษ์วิจารณ์โครงการริเริ่มของบุชที่อิงความเชื่อทางศาสนา โดยโต้แย้งว่า ทำให้รัฐต้องไปพัวพันกับศาสนา และให้การสนับสนุนศาสนา ซึ่งขัดต่อประโยคพื้นฐานในบทบัญญัติแรกของรัฐธรรมนูณของสหรัฐ ที่ว่า "สภาคองเกรสจะต้องไม่บัญญัติกฎหมายที่เอื้อต่อการมีอำนาจทางการเมืองของศาสนจักร"

ความหลากหลายของเชื้อชาติและสิทธิพลเมือง

บุชคัดค้านการยอมรับกฎหมายสมรสระหว่างเพศเดียวกัน แต่สนับสนุนการอยู่ด้วยกันของหญิงชายโดยไม่จดทะเบียนสมรส ("กระผมคิดว่า เราไม่ควรปฏิเสธสิทธิของพลเรือนที่จะอยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส ที่มีการจัดการทางกฎหมายอย่างถูกต้อง" ข่าวจากสถานีโทรทัศน์เอบีซี 16 ตุลาคม พ.ศ. 2547) เขาได้ลงนามรับรองร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสมรสของรัฐบาลกลาง ซึ่งเป็นการเสนอข้อแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญสหรัฐ ที่ให้เพิ่มคำจำกัดความของการสมรสว่า "คือการอยู่ร่วมกันระหว่างหนึ่งหญิงและหนึ่งชาย" บุชได้ตอกย้ำว่าไม่เห็นด้วยกับแม่แบบทางการเมืองของพรรครีพับลิกัน ที่คัดค้านการอยู่ด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส และกล่าวว่าประเด็นดังกล่าวควรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละรัฐ ในการแถลงนโยบายประจำปีวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005) เขาได้ย้ำแนวคิดของเขาที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

บุชเป็นประธานาธิบดีคนแรกจากพรรครีพับลิกันที่ได้แต่งตั้งให้เกย์เป็นหนึ่งในคณะบริหารงานแผ่นดินของเขาอย่างเปิดเผย [56] (สก็อต เอเวิร์ตซ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมนโยบายโรคเอดส์แห่งชาติ) และเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ประสบความสำเร็จจากการแต่งตั้งนายไมเคิล อี. เกสต์ ที่เป็นเกย์ให้เป็นเอคอัครราชทูตสหรัฐประจำโรมาเนียอย่างเปิดเผย บุชอ้างว่าเขาสนับสนุนแนวนโยบายของผู้บริหารระดับสูง ที่ออกบังคับใช้โดยประธานาธิบดีบิล คลินตัน ที่ห้ามการจ้างงานที่คัดสรรบุคคลโดยการเหยียดรสนิยมทางเพศ แต่สก็อต บลอช ผู้ที่บุชได้แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษในปี พ.ศ. 2546 รู้สึกว่าเขาไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการบังคับใช้แนวนโยบายดังกล่าว [57] ระหว่างการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาในปี พ.ศ. 2543 เขาได้พบกับกลุ่มล็อกเคบินของพรรครีพับลิกัน ซึ่งทำให้เขาเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันคนแรกที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับล็อกเคบิน องค์กรนี้ได้สนับสนุนเขาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี พ.ศ. 2543 แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนต่อเนื่องมาถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี พ.ศ. 2547

คะแนนเสียงสนับสนุนบุชจากชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกันคนอื่นๆได้รับในช่วงที่เขารณรงค์หาเสียง แม้ว่าเขาจะได้คะแนนเสียงจากคนผิวดำเพียง 9% ในปี พ.ศ. 2543 แต่ก็กลับเพิ่มขึ้นเป็น 12 % ในปี พ.ศ. 2547 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคะแนนจากคนผิวดำที่เพิ่มขึ้นในรัฐโอไฮโอ ทำให้บุชมีชัยเหนือจอห์น แครี ในที่สุด

แม้ว่าบุชจะแสดงความเห็นชอบต่อการที่ศาลฎีกาสหรัฐสนับสนุนให้สถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา ได้คัดเลือกนักศึกษาเพื่อความหลากหลายทางเชื้อชาติ คณะบริหารราชการแผ่นดินของเขากลับคัดค้านแนวคิดดังกล่าว บุชยังได้กล่าวว่าเขาคัดค้านการแทรกแซงของรัฐที่บังคับโควตานักศึกษาและการลำเอียงเชื้อชาติ แต่เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรให้โอกาสแก่ชนกลุ่มน้อยที่มีความสามารถเพื่อให้เกิดการจ้างงานที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ

รายงานของคณะกรรมาธิการสหรัฐว่าด้วยสิทธิพลเมือง เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2548 ระบุว่า "รัฐบาลล้มเหลวที่จะรักษาความเป็นกลางทางเชื้อชาติอย่างจริงจัง ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ" [58] นายเจอรัลด์ เอ. เรย์โนลด์ ประธานคณะกรรมาธิการ อธิบายว่า "หน่วยงานของรัฐบาลกลางไม่ได้ประเมิน ทำวิจัย เก็บรวบรวมข้อมูล หรือทบทวนโครงการต่างๆอย่างสม่ำเสมอและเป็นเอกเทศ เพื่อที่จะตัดสินว่ายุทธวิธีเป็นกลางทางเชื้อชาติจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับโครงการรณรงค์ให้เกิดความตระหนักทางเชื้อชาติ" กลุ่มรณรงค์สิทธิพลเมืองได้แสดงความห่วงใยว่ารายงานฉบับนี้ เป็นการโจมตีการสนับสนุนให้เกิดความหลากหลายทางเชื้อชาติที่สวนทางกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกาสหรัฐในคดีกรัทเทอร์ ปะทะ โบลลินเจอร์

ในช่วงที่บุชดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยแรก เขาได้แต่งตั้งโคลิน พาวเวลล์ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พาวเวลล์เป็นชาวสหรัฐเชื้อสายอัฟริกาคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ ซึ่งก็ตามมาด้วยดร.คอนโดลีซซา ไรซ์ ที่เป็นสตรีสหรัฐเชื้อสายอัฟริกาคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ ในปี พ.ศ. 2548 เขาได้แต่งตั้งนายอัลแบร์โต กอนซาเลส ให้เป็นอัยการกลางสหรัฐ ทำให้เขาเป็นชาวสหรัฐเชื้อสายสเปนคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ โดยรวมแล้ว บุชได้แต่งตั้งสตรีและชนกลุ่มน้อยให้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง มากกว่าประธาธิบดีสหรัฐทุกคนที่ผ่านมา

เศรษฐกิจ

ระหว่างช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก บุชได้ดำเนินความพยายามและประสบผลสำเร็จในการเรียกร้องให้สภาคองเกรสรับรองการลดภาษีสำคัญๆสามอย่างด้วยกัน อันได้แก่การเก็บภาษีเงินได้ทั่วไปสำหรับคู่สมรสน้อยลง ยกเลิกภาษีมรดก และลดอัตราภาษีหน่วยสุดท้าย การลดอัตราภาษีดังกล่าวกำหนดให้มีอันสิ้นสุดภายหลังบังคับใช้เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งบุชก็ได้ขอให้สภาคองเกรสอนุมัติการลดอัตราภาษีเป็นการถาวร จากรายงานของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ เศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 2000 หรือระหว่างเดือนมีนาคม จนกระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001)

รัฐบาลกลางใช้จ่ายงบประมาณประจำปีเพิ่มขึ้น 26% ตลอดช่วงสี่ปีครึ่งแรกภายใต้การบริหารของบุช อีกทั้งเงินงบประมาณที่ไม่ได้ถูกใช้เพื่อการป้องกันประเทศเพิ่มขึ้น 18% [59]

การลดอัตราภาษี ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการปลดคนงานเพิ่มขึ้น ต่างมีส่วนทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณในช่วงที่บุชดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี การขาดดุลประจำปีเพิ่มสูงขึ้นจาก 374,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2003 เป็น 413,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2004 หนี้สินแห่งชาติ ซึ่งเป็นยอดที่สะสมจากการขาดดุลงบประมาณในแต่ละปี เพิ่มขึ้นจาก 5.7 ล้านล้านดอลลาร์ (58 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) เป็น [60] (68% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ภายใต้การนำของบุช ซึ่งนับว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับหนี้สิน 2.7 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อเรแกนพ้นจากตำแหน่ง หรือเท่ากับ 52% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

จากการคาดคะเน"ข้อมูลฐาน" รายรับรายจ่ายของรัฐบาลกลางโดยสำนักงบประมาณสภาคองเกรส (การคาดคะเนงบประมาณเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2005 [61] ระบุว่า อัตราการขาดดุลงบประมาณจะลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งการขาดดุลจะลดลงเหลือ 368,000,000,000 (ดอลลาร์สหรัฐ) ในปีค.ศ. 2005 เป็น 261,000,000,000 (ดอลลาร์สหรัฐ) ในปีค.ศ. 2007 และ 207,000,000,000 (ดอลลาร์สหรัฐ) ในปีค.ศ. 2009 จนกระทั่งเกินดุลเล็กน้อยในปีค.ศ. 2012 สำนักงานงบประมาณกลางยังระบุด้วยว่า อย่างไรก็ดี "การประมาณการครั้งนี้ไม่ได้คำนึงถึงงบประมาณรายจ่ายจำนวนมหาศาลในปีนั้นๆ สำหรับปฏิบัติการทางทหารในอิรัก และอัฟกานิสถาน และปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายทั่วโลก" ประมาณการดังกล่าวยังยึดข้อมูลที่ว่าการตัดลดอัตราภาษีของบุช "จะไม่มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2010 เป็นต้นไป" และถ้าหากว่ามีการขยายระยะเวลาลดอัตราภาษีต่อไปอีก ตามที่บุชเรียกร้อง ประมาณการงบประมาณสำหรับปีค.ศ. 2015 จะเปลี่ยนจากเกินดุลอยู่ 141,000,000,000 (ดอลลาร์สหรัฐ) ไปเป็นขาดดุล 282,000,000,000 (ดอลลาร์สหรัฐ) ในทันที"

อัตราเงินเฟ้อภายใต้การนำของบุช นับว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหลือเพียงแค่ปีละ 2-3% เท่านั้น เศรษฐกิจถดถอยและราคาสินค้าที่ลดลงนั้น มีผลสืบเนื่องมาจากการชะลอตัวของราคา ตั้งแต่ช่วงกลางปีค.ศ. 2001 ถึง ค.ศ. 2003 เมื่อไม่นานมานี้ ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มของอัตราเงินเฟ้อ

อัตราการว่างงาน ระหว่างปีค.ศ. 2000 – ค.ศ. 2005

การจ้างงานภาคเอกชน (ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล) ได้ลดลงอย่างมากภายใต้การบริหารราชการของบุช จากอัตราจ้างงาน 111,680,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2000 เหลือเพียง 108,250,000 ตำแหน่งในช่วงกลางปีค.ศ. 2003 นับว่าการจ้างงานนั้นได้ลดลงมากเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1981 - ค.ศ. 1983 แต่จากนั้นมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ได้เพิ่มงานในภาคเอกชนตลอดช่วง 25 เดือนต่อมา (ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2003 ถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2005) แต่อัตราการจ้างงานภาคเอกชนยังคงต่ำกว่าอัตราก่อนที่บุชจะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2005 ที่อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 111,828,000 ตำแหน่ง เมื่อเราคำนึงถึงอัตราการเพิ่มของประชากรด้วยแล้ว ก็นับได้ว่า อัตราการจ้างงานได้ลดลงถึง 4.6% ตั้งแต่บุชเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คณะผู้บริหารงานราชการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้แสดงความเห็นว่า อัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในภายหลังนั้น เป็นผลมาจากกฎหมายประนีประนอมการจ้างงานและการลดอัตราภาษี (Jobs and Growth Tax Relief Reconciliation Act - JGTRRA) ที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้ลงนามไว้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 2003 [62]

ไฟล์:US Poverty1973toPresent.jpgอัตราความยากจนในสหรัฐ ตั้งแต่ปีค.ศ. 1973 จนถึงปัจจุบัน

การสำรวจความยากจนทั่วประเทศครั้งล่าสุด (หรือที่เรียกอีกอย่างว่า การสำรวจครัวเรือน) เป็นการวัดร้อยละของประชากรที่มีงานทำกับไม่มีงานทำโดยการสุ่มตัวอย่าง ผลการสำรวจจะถูกคูณด้วยจำนวนประชากรเพื่อหาค่าประมาณการของอัตราการจ้างงาน การสำรวจแบบนี้ได้เปรียบกว่าการสำรวจการจ่ายเงินค่าจ้าง เนื่องจากรวมการจ่ายเงินค่าจ้างให้ตัวเองไว้ด้วย แต่ก็ให้ผลรวมที่แม่นยำน้อยกว่า (เนื่องจากต้องมีการประมาณการจำนวนประชากร) และใช้วิธีสุ่มตัวอย่างประชากรทั่วประเทศจำนวนน้อยมาก (60,000 ครัวเรือน รวมกับอีก 400,000 บริษัทเอกชน) ไม่ว่าจะดีหรือแย่กว่าก็ตาม การสำรวจครัวเรือนนับจำนวนงานหลายๆงานที่ประชากรคนหนึ่งทำว่าเป็นเพียงงานเดียว อันรวมถึงงานในภาครัฐ ภาคเกษตรกรรม การทำงานในครอบครัวที่ไม่ได้รับค่าจ้าง และคนทำงานที่ลาหยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง การสำรวจครัวเรือนระบุว่าอัตราร้อยละของประชากรที่มีงานทำ ลดลงจาก 64.4% ในเดือน ธันวาคม ค.ศ. 2000 และเดือนมกราคม ค.ศ. 2001 เป็น 62.1% ในเดือนสิงหาคม และกันยายน ค.ศ. 2003 และในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2005 ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 62.9% เท่านั้น ตัวเลขต่างๆระบุว่าอัตราการมีงานทำลดลงนั้นสอดคล้องกับตำแหน่งงานที่ลดลง หนึ่งล้านหกแสนตำแหน่ง และได้เพิ่มขึ้นอีก สี่ล้านเจ็ดแสนตำแหน่งภายใต้การบริหารประเทศของบุช [63]

ภายใต้การบริหารประเทศของบุช อัตราการว่างงานที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล ตามผลการสำรวจครัวเรือนเริ่มต้นที่ 4.7% ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2001 และได้เพิ่มขึ้นเป็น 6.2% ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2003 จนกระทั่งลดลงเหลือ 4.9% ในเดือนสิงหาคม ปีค.ศ. 2005

จากการสำรวจการจ่ายค่าจ้างในเดือนกันยายน ค.ศ. 2005 รายได้เฉลี่ยรวมรายสัปดาห์ของภาคเอกชน คิดเป็นอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์คงที่ ได้ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1998 แม้ว่าพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้น แต่รายได้เฉลี่ยรวมรายสัปดาห์ก็ลดลงตลอดแปดเดือนที่ผ่านมา สรุปได้ว่า ตลอดช่วงปีค.ศ. 2002-ค.ศ. 2004 หรือก่อนที่บุชเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ประชากรสหรัฐมีรายรับมากกว่านี้เล็กน้อย

การเพิ่มขึ้นของผลผลิตมวลรวมประชาชาตินับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ได้รับแรงส่งจากผลผลิตภาคแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งก็เกิดจากการปลดคนงานที่ไม่ได้ถูกใช้งานเต็มที่ ปัญหาระยะยาวส่วนหนึ่งที่บุชต้องแก้ไขได้แก่การขาดแคลนการลงทุนทางสาธารณูปโภคทางเศรษฐกิจ อัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและเงินบำนาญของประชากรผู้สูงอายุ การขาดดุลการค้าและงบประมาณ และการชะลอตัวของรายรับต่อครัวเรือนในหมู่ประชากรผู้มีรายได้น้อย

ในขณะที่บางกลุ่มอ้างว่าการฟื้นตัวของผลิตผลมวลรวมประชาชาติในช่วงที่บุชดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น นั้นได้อานิสงค์จากรัฐบาลชุดก่อนๆ [64] รายงานจากสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐกลับระบุว่าปัญหาความยากจนเลวร้ายขึ้นกว่าเดิม ร้อยละของประชากรที่อยู่ใต้ขีดความยากจนเพิ่มขึ้นในช่วงสี่ปีแรกที่บุชเข้ามาบริหารประเทศ ในขณะที่อัตราดังกล่าวลดลงตลอดเจ็ดปีก่อนหน้านั้น โดยต่ำสุดในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจำนวนอัตราประชากรที่ยากจนจะเพิ่มขึ้น เราจำเป็นต้องเน้นว่าอัตราการเพิ่มขึ้นระหว่างช่วงปีค.ศ. 2000-ค.ศ. 2002นั้น กลับต่ำกว่าระหว่างช่วงปีค.ศ. 1992-ค.ศ. 1997เสียอีก (โดยที่อัตราการเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 39.3% ในปีค.ศ. 1993 ในปีค.ศ. 2002 อัตราของประชากรที่ยากจนอยู่ที่ 34.6% ซึ่งก็เกือบเท่ากับอัตราในปีค.ศ. 1998 ที่ 34.5% ส่วนในปีค.ศ. 2004 นั้นอัตราความยากจนอยู่ที่ 12.7%[65][66]

ประกันสังคม

หลังจากบุชเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีวาระที่สองไม่นาน เขากับคณะกรรมการได้ร่วมกันออกเดินสายทั่วประเทศ (ที่เมืองโอมาฮา รัฐเนบราสกาในภาพ) เพื่อรณรงค์ข้อเสนอของเขา เกี่ยวกับบัญชีส่วนตัวสำหรับผู้ทำประกันสังคม

บุชเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องประกันสังคม ตั้งแต่ช่วงต้นของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 เขาระบุว่าต้องให้ความสำคัญกับการคาดการณ์หนี้สินของระบบที่ไม่มีงบประมาณพอจ่ายเป็นอันดับแรก ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเมษายน ค.ศ. 2005 เขาได้ออกเดินสายทั่วประเทศ และหยุดแวะในเมืองสำคัญๆ ถึง 50 เมือง เพื่อเตือนให้ประชาชนตระหนักถึง"วิกฤตการณ์"ที่กำลังคืบคลานเข้ามา โดยแรกเริ่มเดิมที ประธานาธิบดีบุชได้ย้ำถึงข้อเสนอของเขาให้มีบัญชีส่วนบุคคล ที่จะส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานแต่ละคนสามารถเอาเงินภาษีประกันสังคม (FICA) ส่วนหนึ่ง มาลงทุนได้อย่างมีหลักประกัน ข้อดีประการสำคัญของบัญชีส่วนบุคคลในการประกันสังคมนั้น อนุญาตให้ผู้ใช้แรงงานเป็นเจ้าของเงินที่ตนเองได้จ่ายไปเพื่อการเกษียณอายุ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

พรรคฝ่ายซ้ายได้ตอบโต้นโยบายดังกล่าว โดยระบุว่าแนวทางนี้อาจจะทำให้การเสียสมดุลระหว่างรายรับกับรายจ่ายของงบประมาณแผ่นดินแย่ขึ้นไปกว่าเดิม โดยที่บุชได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากเกินไป ยิ่งไปกว่านั้น สมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคนได้คัดค้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเห็นว่าบุชเปลี่ยนการประกันสังคมให้เป็นโครงการสังคมสงเคราะห์ ซึ่งค่อนข้างสุ่มเสี่ยงในทางการเมือง ส่วนหนึ่งของกฎหมายที่บุชผลักดันให้บริษัทเอกชนได้รับยกเว้นการจ่ายเงินประกันสังคมได้รับการร้องเรียนว่า แผนการของบุชนั้นเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชน และได้เปลี่ยนแนวคิดของการประกันสังคมให้กลายเป็นโครงการประกันแบบทั่วๆ ไป

การสาธารณสุข

ในปีค.ศ. 2003 ประธานาธิบดีบุช ที่รายล้อมไปด้วยวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาคองเกรส ได้ลงนามในกฎหมายต่อต้านการทำแท้งในช่วงแรกเริ่มของการตั้งครรภ์

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2002 บุชได้ระงับเงินทุนจากสหรัฐที่ให้แก่กองทุนเพื่อกิจกรรมประชากรแห่งสหประชาติ โดยเขาอ้างว่ากองทุนดังกล่าวได้สนับสนุนการบังคับทำแท้งและการผ่าตัดทำหมันในสาธารณรัฐประชาชนจีน[67]

บุชได้ลงนามในกฎหมายปรับปรุงและพัฒนาการจ่ายยารักษาโรคให้ทันสมัย สำหรับปีค.ศ. 2003 ซึ่งได้เพิ่มรายการยาที่จะสามารถเบิกกับเมดิแคร์ของสหรัฐ ให้เงินสนับสนุนบริษัทผู้ผลิตยา และห้ามรัฐบาลกลางเจรจาต่อรองราคากับบริษัทยา บุชกล่าวว่ากฎหมายดังกล่าว ที่คาดว่าจะใช้งบประมาณถึง 400,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปีแรก จะทำให้ผู้สูงอายุ "มีทางเลือกมากขึ้น และสามารถควบคุมการดูแลรักษาสุขภาพของตนได้มากขึ้น" ผู้สูงอายุสามารถซื้อบัตรลดราคายาที่ผ่านการรับรองของเมดิแคร์ ได้ในราคา 30 ดอลลาร์หรือน้อยกว่านั้นเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากราคายาที่สูงขึ้น กฎหมายดังกล่าวยังเพิ่มการเบิกยาในโปรแกรมการประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุของรัฐบาลกลาง นับตั้งแต่ปีค.ศ. 2006 เป็นต้นมา และกฎหมายยังสนับสนุนให้บริษัทประกันเสนอแผนการประกันสุขภาพส่วนบุคคลให้แก่ผู้สูงอายุชาวอเมริกันหลายล้านคน ที่ขณะนี้ได้รับผลประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขภายใต้ข้อตกลงที่รัฐบาลกำหนด อันเป็นแนวคิดที่ถูกต่อต้านและโจมตีอย่างหนักจากสมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคน

บุชได้ลงนามในกฎหมายต่อต้านการทำแท้งในช่วงแรกเริ่มของการตั้งครรภ์ เมื่อปีค.ศ. 2003 โดยประกาศว่าเขามีวัตถุประสงค์เพื่อ "สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมแห่งชีวิต" แต่กฎหมายดังกล่าวก็ไม่เคยนำมาบังคับใช้ เนื่องจากศาลแขวงสามแห่งได้วินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลอุธรณ์เก้าแห่งได้รับรองกฎหมายหนึ่งบท กฎหมายของรัฐบาลกลางสามารถที่จะห้ามกระบวนการทำให้มดลูก"ขยับและหดตัวโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย" ซึ่งผู้ทำแท้งทำให้ตัวอ่อนมนุษย์หลุดออกมาก่อนจะฆ่าทิ้ง ผู้สนับสนุนฝ่ายเสรีและฝ่ายอนุรักษนิยมหลายคนมองว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงการเคลื่อนไหวทางการเมือง เนื่องจากในทางเทคนิคแล้ว เราสามารถฆ่าตัวอ่อนตั้งแต่อยู่ในมดลูกแล้วนำออกมาภายหลังได้

การศึกษา

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2002 บุชได้ลงนามในกฎหมายดูแลเอาใจใส่เด็กและเยาวชน โดยมีวุฒิสมาชิกเท็ด เคเนดี เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ [68] ที่ต้องการลดช่องว่าในการประสบความสำเร็จของเด็ก วัดประสิทธิภาพในการทำงาน ให้ทางเลือกแก่พ่อแม่ที่มีลูกเรียนด้อย และให้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นแก่โรงเรียนที่มีรายได้น้อย ผู้วิพากษ์วิจารณ์ (ซึ่งรวมถึงจอห์น แครี และสมาคมการศึกษาแห่งชาติสหรัฐ) ได้แสดงความเห็นว่าโรงเรียนไม่ได้รับทรัพยากรที่เพียงพอเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาใหม่ แม้ว่าคำวิจารณ์ดังกล่าวจะอ้างอิงกับข้อมูลที่สัณนิษฐานเอาว่า บุคคลระดับผู้บริหารได้ให้คำมั่นสัญญาไว้มากกว่าให้งบประมาณ รัฐบาลประจำรัฐบาลแห่งได้ปฏิเสธที่จะใช้เงินตามที่ระบุไว้ในกฎหมายตราบใดที่ไม่ได้รับเงินสนับสนุนอย่างเพียงพอ [69] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2005 หนังสือพิมพ์ยู.เอส.เอ. ทูเดย์ ได้รายงานว่า กระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐได้จ่ายเงิน 240,000 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่ นายอาร์มสตรอง วิลเลียมส์ นักวิจารณ์การเมืองชาวอเมริกันเชื้อสายอัฟริกันหัวอนุรักษนิยม "เพื่อให้เขาประชาสัมพันธ์กฎหมายใหม่ในรายการของสหภาพโทรทัศน์อเมริกัน และให้เขาบอกให้นักข่าวผิวดำทำอย่างเดียวกัน[70]

คณะกรรมาธิการการศึกษาและแรงงานสหรัฐได้ระบุไว้ว่า "สืบเนื่องจากกฎหมายดูแลเอาใจใส่เด็กและเยาวชน ที่ประธานาธิบดีบุชได้ลงนามไว้เมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 2002 รัฐบาลกลางสหรัฐได้ใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษา (ภาคบังคับ 12 ปี) มากกว่าช่วงไหนๆในประวัติศาสตร์สหรัฐ".[71] ความต้องการเงินทุนสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบระดับรัฐ เช่นค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากใช้กฎหมายดูแลเอาใจใส่เด็กและเยาวชน รวมทั้งผลกระทบทางเศรษฐกิจในแง่ลบที่ส่งผลต่องบประมาณเพื่อการศึกษา

วิทยาศาสตร์

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 2002 บุชได้ลงนามในกฎหมายที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง อันได้แก่กฎหมายเอ็ช. อาร์. 4664 ว่าด้วยการให้งบประมาณสนับสนุนสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐ (NSF) เพิ่มขึ้นสองเท่าในอีกห้าปีข้างหน้า และให้ริเริ่มโครงการเพื่อการศึกษาทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ทั้งในระดับเตรียมอุดมศึกษาและระดับปริญญาตรี [72] ในช่วงสามปีแรกของวาระห้าปี จะมีการเพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาขึ้น 14%[73][74] (พีดีเอฟไฟล์)

บุชคัดค้านงานวิจัยใหม่ๆ และได้ให้ทุนสนับสนุนจำนวนจำกัดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนมนุษย์ เงินสนับสนุนจากรัฐบาลกลางเพื่อการวิจัยดังกล่าว ได้รับการรับรองเป็นครั้งแรกภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน เมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1999 [75] แต่จะไม่มีการจ่ายเงินใดๆจนกว่าจะมีการตีพิมพ์กรอบแนวทางการให้ทุนสนับสนุนการวิจัย กรอบแนวทางได้ถูกเผยแพร่ภายใต้รัฐบาลคลินตันเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 2000 [76] โดยอนุญาตให้นำเอมบรีโอแช่แข็งที่ไม่ได้ถูกใช้งานมาใช้ได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 2001 ก่อนที่จะมีการให้ทุนสนับสนุนใดๆภายใต้กรอบนี้ บุชได้ประกาศเปลี่ยนแปลงกรอบแนวทาง โดยอนุญาตให้ใช้งานเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนมนุษย์ ที่มีอยู่แล้วเท่านั้น [77] ในขณะที่บุชอ้างว่ามีเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนของมนุษย์อยู่แล้วถึง 60 สายพันธุ์ที่ ได้มาจากทุนวิจัยของภาคเอกชน ในปีค.ศ. 2003 นักวิทยาศาสตร์ได้อ้างว่า มีเพียง 11 สายพันธุ์เท่านั้นที่ใช้งานได้ และต่อมาในปีค.ศ. 2005 ได้ระบุว่าทุกสายพันธุ์ที่ได้รับการรับรองเพื่อรับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกลางนั้น ติดเชื้อและใช้การไม่ได้ [78] อย่างไรก็ดี ไม่มีการกำหนดข้อจำกัดในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิดจากร่างกายมนุษย์ที่โตแล้ว โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนที่เป็นกอบเป็นกำมากกว่าจากประธานาธิบดีบุช

เมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 2004 บุชได้ประกาศการปรับเปลี่ยนแนวทางครั้งสำคัญเกี่ยวกับการบริหารองค์การอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือนาซา ที่รู้จักกันในนามของวิสัยทัศน์สำหรับการสำรวจอวกาศ โดยโครงการดังกล่าวเรียกร้องให้มีการจัดตั้งสถานีอวกาศนานาชาติ ขึ้นภายในปีค.ศ. 2010 และให้ยกเลิกการใช้กระสวยอวกาศ ในขณะที่หันมาพัฒนายานอวกาศ ที่เรียกว่า ยานสำรวจของลูกเรือ ภายใต้โครงการคอนสเตลเลชัน จะมีการใช้ยานสำรวจของลูกเรือส่งนักบินอกาศอเมริกัน กลับไปยังดวงจันทร์ภายในปีค.ศ. 2018 โดยมีวัตถุประสงค์จะจัดตั้งฐานปฏิบัติการบนดวงจันทร์เป็นการถาวร และยังมีแผนจะส่งมนุษย์ไปปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคารในอนาคต [79] แม้ว่าแผนดังกล่าวจะได้รับการตอบรับอย่างเย็นชา [80] งบประมาณกลับผ่านการอนุมัติไปด้วยดี และถูกแก้ไขน้อยมากภายหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2548 ทำเนียบขาวได้เผยเอกสารข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนโยบายการคมนาคมอวกาศใหม่ [81] (พีดีเอฟไฟล์) ที่ได้วางกรอบการบริหารนโยบายอวกาศแห่งชาติในวงกว้าง และได้ผูกนโยบายการพัฒนาขีดความสามารถทางการคมนาคมในอวกาศ เข้ากับข้อกำหนดด้านความมั่นคงของประเทศ

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 กลุ่มจับตาดูการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ ที่มีชื่อว่าสหภาพนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ได้เผยแพร่รายงานที่มีชื่อว่า การผนวกวิทยาศาสตร์เข้ากับการวางนโยบาย [82][83] ในรายงานดังกล่าวใช้คำพูดว่า "คัดค้านการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ของคณะบริหารงานแผ่นดินของบุช" โดยได้กล่าวหาว่า "คณะบริหารราชการแผ่นดินของบุช ได้ละเลยคำแนะนำทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ ในการวางนโยบายที่สำคัญยิ่งต่อความอยู่ดีกินดีของพวกเรา" และได้ "ลบหรือบิดเบือนการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ของหน่วยงานรัฐบาลกลางเพื่อให้ผลการวิเคราะห์สอดคล้องกับแนวนโยบายของคณะบริหารงานแผ่นดิน" ถึงขั้นที่เรียกว่า "อย่างไม่เคยมีมาก่อน" รายงานดังกล่าวได้รับการลงนามโดยนักวิทยาศาสตร์กว่า 7,000 คน รวมถึงผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล 49 คน ผู้ที่ได้รับเหรียญรางวัลทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 63 คน และ สมาชิกสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 154 คน

ทำเนียบขาวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับรายงานที่เชื่อมโยงกิจกรรมของมนุษย์กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลก นอกจากนั้น นายฟิลิป คูนนีย์ เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวและอดีตทนายความในบริษัทน้ำมัน ได้แก้ไขข้อความในรายงานวิจัยสภาวะอากาศที่ผ่านการรับรองแล้วจากนักวิทยาศาสตร์ของรัฐ แต่ทำเนียบขาวก็ปฏิเสธว่านายคูนีย์ไม่ได้แก้ไขรายงานฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด[84] ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548 รายงานของกระทรวงได้แสดงว่า คณะบริหารราชการแผ่นดินของบุช ได้ขอบคุณผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกซอน ที่ได้มี"บทบาทอย่างจริงจัง" ในการช่วยคาดการณ์นโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ รวมถึงอนุสัญญาเกียวโต ข้อมูลที่ได้จากสมาพันธ์ภูมิอากาศโลก กลุ่มลอบบีทางธุรกิจก็เป็นหนึ่งในปัจจัยในการคาดการณ์ [85]

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005) บุชได้เสนอโครงการที่เป็นที่ถกเถียงกันมาก ว่าด้วยการให้มีการสอนเรื่อง การออกแบบปัญญา (ที่เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตชั้นสูงถูกสร้างขึ้น) ควบคู่ไปกับการสอนเรื่องวิวัฒนาการในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ โดยกล่าวว่า "ข้าพเจ้าคิดว่า ส่วนหนึ่งของการศึกษาได้แก่การให้ประชาชนได้มองเห็นแนวทางต่างๆที่หลากหลาย และไม่ใช่การชี้นำแต่อย่างใด ถ้าท่านถามข้าพเจ้าว่าประชาชนควรได้รับรู้ถึงแนวคิดต่างๆที่มีอยู่หรือไม่ คำตอบก็คือใช่" [86] สถาบันการศึกษาหลายแห่ง เป็นต้นว่า [87] มองการสอนการออกแบบปัญญาว่าเป็นความผิดพลาดทางการศึกษา [88]

สิ่งแวดล้อม

บุชได้ลงนามในกฎหมาย มรดกแห่งทะเลสาบใหญ่ทั้งห้า ปี พ.ศ. 2545 ซึ่งอนุญาตให้รัฐบาลกลางเริ่มการเก็บกวาดมลภาวะและโคลนตมที่ติดเชื้อ ในทะเลสาบใหญ่ทั้งห้า รวมถึงกฎหมายบราวน์ฟิลด์ในปี พ.ศ. 2545 ที่เร่งรัดการเก็บกวาดขยะอุตสาหกรรมในแถบบราวน์ฟิลด์

บันทึกสิ่งแวดล้อมของบุชได้ถูกโจมตีโดยนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ ที่โจมตีว่านโยบายของบุชหนุนหลังพวกอุตสาหกรรม และทำให้การปกป้องสิ่งแวดล้อมแย่ลง กลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมได้อ้างว่า นอกจากบุชและเชนนีแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ในคณะบริหารงานแผ่นดินของบุชอีกหลายคนที่มีส่วนพัวพันกับธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจยานยนต์ และกลุ่มอื่นๆที่ได้ต่อสู้กับนักรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 บุชได้ลงนามในกฎหมายที่ให้ดำเนินการเสริมสิ่งของสนับสนุนโครงการริเริ่มเพื่อป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ของเขา กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแงดล้อมได้โจมตีว่า โครงการดังกล่าวเป็นเพียงการเอื้อประโยชน์ให้บริษัททำไม้ อีกประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันได้แก่แนวคิดริเริ่มทำความสะอาดท้องฟ้าของบุช ที่ต้องการลดมลภาวะในอากาศผ่านโครงการสนับสนุนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ที่ก่อมลภาวะน้อยลง

ผลกระทบบางส่วนจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้บุชคัดค้านการเข้าไปขุดเจาะในเขตสงวนน้ำมัน ที่เป็นเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติในแถบอาร์กติก ซึ่งเป็นเขตเปราะบางทางนิเวศวิทยาอย่างยิ่งเนื่องด้วยมันตั้งอยู่ในแถบอาร์กติก [89] (พีดีเอฟไฟล์) [90] คนบางกลุ่มอ้างว่าที่แห่งนี้เป็นธรรมชาติแห่งสุดท้ายในสหรัฐที่ยังไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำมือมนุษย์ และน้ำมันส่วนใหญ่ที่ขุดเจาะได้จากแหล่งนี้จะถูกนำไปขายในต่างประเทศ เช่นที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้บริษัทขุดเจาะน้ำมันท้องถิ่นทำกำไรได้มาก

บุชยังได้คัดค้านพิธีสารเกียวโต โดยอ้างว่าจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ บุชยังกล่าวว่าเป็นการไม่ยุติธรรมที่จะมาตั้งข้อกำหนดกับสหรัฐ ในขณะที่ผ่อนปรนอย่างไม่สมเหตุสมผลกับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนและอินเดีย บุชยังระบุว่า "ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่อันดับสองของโลกได้แก่จีน แต่ประเทศจีนก็ยังได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำตามข้อกำหนดในพิธีสารเกียวโต" เขายังได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์โลกร้อนขึ้น โดยย้ำว่าจะต้องมีการทำวิจัยมากกว่านี้จึงจะสามารถบอกได้ว่าทฤษฎีดังกล่าวใช้การได้[91]

จุดยืนของบุชว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลก ได้เปลี่ยนไป โดยเขาค่อยๆยอมรับว่าปรากฏการณ์โลกร้อนขึ้นนั้นเป็นปัญหาซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ สหรัฐอเมริกาได้ลงนามเป็นพันธมิตรเอเชียแปซิฟิกเพื่อการพัฒนาและภูมิอากาศที่สะอาด กติกาสัญญาดังกล่าวได้อนุญาตให้ประเทศในกลุ่มตั้งเป้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเอง โดยไม่มีกลไกใดๆมาบังคับ ผู้สนับสนุนกติกาสัญญาได้มองว่านี่คือการนำพิธีสารเกียวโตมาบังคับใช้ ในแบบที่ยืดหยุ่นกว่า แต่ผู้วิพากษ์วิจารณ์ก็บอกว่ากติกาสัญญาดังกล่าวจะไม่ได้ผลหากไม่มีการบังคับใช้มาตรการ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ผู้ว่าการรัฐจากพรรครีพับลิกัน ร่วมกับผู้ว่าราชการและนายกเทศมนตรีจาก 187 เมืองใหญ่และเล็กทั่วสหรัฐ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับอนุสัญญาเกียวโตมาใช้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย [92]

โทษประหาร

บุชเป็นผู้สนับสนุนตัวยงในการทำโทษประหารมาใช้ ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเท็กซัส มีผู้ถูกประหารชีวิตในรัฐนี้ถึง 152 คน นับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์นำหน้ารัฐอื่นๆ เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เขาได้สนับสนุนโทษประหารอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นประธานในการประหารนายทิโมธี แมคเวห์ ผู้ก่อการร้ายที่ถูกรัฐบาลกลางตัดสินประหารชีวิตเป็นรายแรกในรอบทศวรรษ

คณะรัฐบาล

ตำแหน่งชื่อวาระ (ปี พ.ศ.)
ประธานาธิบดีสหรัฐจอร์จ ดับเบิลยู. บุช2544 - 2552
รองประธานาธิบดีสหรัฐริชาร์ด บี. เชนี2544 - 2552
การต่างประเทศโคลิน แอล. พาวเวล2544 - 2548
คอนโดลีซซา ไรซ์2548 - 2552
การคลังพอล เอช. โอนีล2544 - 2546
จอห์น ดับเบิลยู. สโนว2546 - 2549
เฮนรี่ พอลสัน2549 - 2552
กลาโหมโดนัลด์ เอช. รัมสเฟลด์2544 - 2549
รอเบิร์ต เกตส์2549 - 2552
ยุติธรรมจอห์น ดี. แอชครอฟต์2544 - 2548
อัลแบร์โต อาร์. กอนซาเลซ2548 - 2550
ไมเคิล มูกาเซย์2550 - 2552
มหาดไทยเกล เอ. นอร์ตัน2544 - 2549
เดิร์ก เคมพธอร์น2549 - 2552
เกษตรแอน เอ็ม. เวเนแมน2544 – 2548
ไมค์ โจฮันน์2548 - 2550
เอ็ด เชฟเฟอร์2550 - 2552
พาณิชย์โดนัลด์ แอล. เอแวนส์2544 – 2548
คาร์ลอส เอ็ม. กูเทียเรซ2548 - 2552
แรงงานเอเลน แอล. ชาว2544 - 2552
สาธารณสุขและบริการมนุษย์ทอมมี จี. ทอมป์สัน2544 – 2548
ไมเคิล โอ. เลียวิตต์2548 - 2552
พัฒนาเคหะการและผังเมืองเมลกีอาเดซ อาร์. มาร์ตีเนซ2544 – 2546
อัลโฟโซ อาร์. แจคสัน2547 - 2551
สตีฟ เพรสตัน2551 - 2552
คมนาคมนอร์มัน วาย. มีเนตา2544 - 2549
แมรี่ อี. ปีเตอร์ส2549 - 2552
พลังงานอี. สเปนเซอร์ อับบราฮัม2544 – 2548
ซามูเอล ดับเบิลยู. บอดมัน2548 - 2552
ศึกษาธิการรอดเดอริก อาร์. เพจ2544 - 2548
มาร์กาเร็ต สเปลลิงส์2548 - 2552
กิจการทหารผ่านศึกแอนโธนี แอล. พรินซีพี2544 - 2548
เจมส์ นิคโคลสัน2548 - 2550
เจมส์ พีค2550 - 2552
ความมั่นคงแห่งมาตุภูมิธอมัส เจ. ริดจ์2546 – 2548
ไมเคิล แชร์ทอฟฟ์2548 - 2552


การเสนอชื่อประธานศาลสูงสุด

บุชได้เสนอรายชื่อบุคคลต่อไปนี้ให้ดำรงตำแหน่งต่างๆใน ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา:

การลงนามในกฎหมายหลักๆ

พ.ศ. 2544พ.ศ. 2545พ.ศ. 2546พ.ศ. 2547

แหล่งที่มา

WikiPedia: จอร์จ_ดับเบิลยู._บุช http://wwf.ca/HowYouCanHelp/DoNotDrill/media/anwr_... http://www.americanthinker.com/2004/02/gwb_hbs_mba... http://www.boston.com/news/nation/washington/artic... http://archives.cnn.com/2000/ALLPOLITICS/stories/1... http://archives.cnn.com/2000/HEALTH/08/24/NIH.stem... http://www.cnn.com/2000/ALLPOLITICS/stories/11/02/... http://www.cnn.com/2004/TECH/space/01/14/bush.spac... http://www.cnn.com/2005/POLITICS/05/24/stem.cells/ http://www.cnn.com/2005/POLITICS/11/29/bush.immigr... http://www.cnn.com/ALLPOLITICS/stories/1998/11/03/...