ภาพชีวิตประจำวัน ของ จิตรกรรมบารอกแบบเฟลมิช

"คนดื่มเบียร์" โดยอาเดรียน เบราเวอร์ ราวค.ศ. 1630–1640 เบราเวอร์มักจะเขียนภาพชีวิตประจำวันของคนที่ตกอับ

ภาพชีวิตประจำวันเป็นหัวข้อการวาดภาพที่นิยมกันมากในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จิตรกรหลายคนสร้างงานเขียนตามแบบเปียเตอร์ บรูเกล (ผู้พ่อ) ในการเขียนภาพคนชั้นต่ำ แต่บางครั้งก็มีภาพของคนชั้นสูงแต่งตัวดีในงานเต้นรำหรือในสวน อาเดรียน เบราเวอร์ มักจะวาดภาพเล็กของชาวนาหรือชาวบ้านที่ทะเลาะกันหรือดื่มเหล้าซึ่งมีอิทธิพลต่อจิตรกรต่อมา ภาพสตรีทำงานบ้านก็เป็นหัวเรื่องที่นิยมกันทางตอนเหนือของเนเธอร์แลนด์โดยเปียเตอร์ เด ฮูช (Pieter de Hooch) และโยฮันส์ เวร์เมร์ แต่ไม่นิยมกันเท่าใดทางตอนใต้ แต่ยาน ซิเบอเรชส์ (Jan Siberechts) ก็เขียนหัวข้อนี้บ้างเหมือนกัน

การเขียนแบบบรูเกล

การเขียนภาพชีวิตประจำวันของฟลานเดอส์เป็นการเขียนที่มีอิทธิพลโดยตรงจากเปียเตอร์ บรูเกล (ผู้พ่อ) และเป็นลักษณะการเขียนที่ทำต่อเนื่องกันมาจนในคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยมีงานใหม่ที่เขียนโดยบุตรชายสองคนเปียเตอร์ บรูเกล (ผู้ลูก) และยาน บรูเกล (ผู้พ่อ) ภาพหลายภาพเป็นภาพจากงานฉลองของวัดที่เรียกว่า "Kermesse" และชาวบ้านกับงานฉลองอื่น ๆ จากมุมที่สูงขึ้นไป จิตรกรจากสาธารณรัฐเนเธอร์แลนด์เช่นจิตรกรที่เกิดในฟลานเดอส์เช่นดาวิด วิงคบูนส์ (David Vinckboons) และเรอแลนดท์ ซาเวรี (Roelandt Savery) เขียนงานที่คล้ายคลึงกันเป็นภาพชนบทและภาพชีวิตประจำวันที่ใกล้เคียงกับภาพเขียนเนเธอร์แลนด์และเฟลมิช

อาเดรียน เบราเวอร์ และผู้ตาม

อาเดรียน เบราเวอร์ มักจะเขียนภาพชีวิตประจำวันขนาดเล็กของชาวบ้านที่โกโรโกโสที่ทะเลาะกัน, เล่นเกม, ดื่มเหล้าหรือท่าทางหยายคาย เบราเวอร์เกิดทางใต้ของเนเธอร์แลนด์แต่ใช้เวลาระหว่างทศวรรษ 1620 ในอัมสเตอร์ดัม และฮาร์เล็ม ที่ที่ได้รับอิทธิพลจากฟรันส์ ฮาลส์ และเดิร์ค ฮาลส์ (Dirk Hals) และศิลปินคนอื่นที่เป็นการเขียนแบบ "จิตรกรรมเชิงฝีแปรง" (painterly) เมื่อกลับมาแอนต์เวิร์ปราว ค.ศ. 1631 หรือ ค.ศ. 1632 เบราเวอร์ก็นำวิธีการเขียนใหม่ที่มีอิทธิพลมาเผยแพร่ที่เป็นการวาดภายในห้องเขียนภาพแทนที่จะเป็นภาพนอกสถานที่ นอกจากนั้นเบราเวอร์ก็ยังเขียนภาพการศึกษาการแสดงออกของสีหน้าเช่นงาน "คนดื่มเบียร์" ที่เรียกกันว่า "จิตรกรรมการเขียนหน้า" (Tronie) งานของเบราเวอร์เป็นที่รู้จักกันในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่และมีอิทธิพลต่อจิตรกรเฟลมิชเช่นรูเบนส์ผู้ที่เป็นเจ้าของงานของเบราเวอร์มากกว่าผู้ใด และจิตรกรเช่นดาวิด เทนิเยร์ส (ผู้ลูก), ยาน ฟาน เด เว็นน์ (Jan van de Venne), ยูส ฟาน เครสบีค (Joos van Craesbeeck) และดาวิด ริคเคิร์ท (David Ryckaert III) ก็ยังคงเขียนงานในแบบของเบราเวอร์

ภาพเขียนหรู

ภาพเขียนของคู่ที่มีอันจะกินที่แต่งตัวแบบล่าที่สุดมักจะแฝงด้วยหัวเรื่องของความรักหรือความสัมผัสห้าอย่างเป็นภาพที่มักจะเขียนโดยเฮียโรนิมัส แฟรงเค็น (ผู้ลูก), หลุยส์ เด คอลเลอรี (Louis de Caullery), ซิมง เด ฟอส (Simon de Vos), ดาวิด เทนิเยร์ส (ผู้ลูก) และดาวิด ริคเคิร์ทที่ 3 (David Ryckaert III) "สวนแห่งความรัก" โดยรูเบนส์ก็เป็นภาพเขียนในกลุ่มนี้ (ราว ค.ศ. 1634–1635; พิพิธภัณฑ์ปราโด)

ภาพชีวิตประจำวันขนาดใหญ่

ขณะที่ภาพเขียนหรูและภาพชีวิตประจำวันของเบราเวอร์มักจะมีขนาดเล็ก แต่จิตรกรบางคนก็หันไปหาคาราวัจโจในการเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนภาพขนาดใหญ่และเป็นนาฏกรรมเช่นภาพ "นักดนตรี" , "คนโกงไพ่" หรือ "หมอดู" ที่มามีอิทธิพลในการวางภาพ ภาพเขียนเหล่านี้และ "การเขียนภาพแบบคาราวัจโจ" จะเป็นการเขียนที่ใช้แสงเงาในการสื่อความรู้สึกของภาพ อาดัม เด โคสเตอร์ (Adam de Coster), เจอราร์ด เซเกอร์ส (Gerard Seghers) และทีโอดูร์ โรมเบาท์ส (Theodoor Rombouts) เป็นผู้นำในการใช้วิธีที่ว่านี้และเป็นวิธีที่นิยมกันในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ที่มาจากอิทธิพลของผู้เขียนภาพแบบคาราวัจโจเช่นบาร์โทโลเมโอ มันเฟรดิ (Bartolomeo Manfredi) และกลุ่มคาราวัจโจอูเทรคช (Utrecht caravaggism) เช่นเกอรริต ฟาน โฮนต์ฮอร์สต์ (Gerrit van Honthorst) นอกจากนั้นโรมเบาท์สก็ยังได้รับอิทธิพลจากครูอับราฮัม ยานส์เส็นส์ผู้รวมการเขียนแบบคาราวัจโจกับการเขียนภาพประวัติศาสตร์ตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1600

จาค็อป จอร์แดงส์

"กษัตริย์เสวยน้ำจันฑ์" โดย จาค็อป จอร์แดงส์ผู้มีชื่อเสียงในการเขียนภาพขนาดใหญ่ที่แฝงคำสอนทางจริยธรรมในภาพชีวิตประจำวัน

จาคอป จอร์แดงส์ผู้กลายมาเป็นจิตรกรคนสำคัญของแอนต์เวิร์ปหลังจากรูเบนส์เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1640 มีชื่อเสียงในการเขียนภาพชีวิตประจำวันขนาดใหญ่เช่นภาพ "กษัตริย์เสวยน้ำจันฑ์" และ "ผู้ใหญ่ร้องเพลง, เด็กร้องตาม" ภาพเขียนหลายภาพใช้การวางภาพและการใช้สีที่คล้ายคลึงกับการเขียนแบบคาราวัจโจ แต่หัวเรื่องเป็นอิทธิพลที่มาจากศิลปินคนอื่นเช่นยาน สตีน

ภาพยุทธการ

หัวเรื่องอีกหัวเรื่องหนึ่งที่วิวัฒนาการมาจากงานของจิตรกรในกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำคือภาพภูมิทัศน์ของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ทั้งที่เกิดขึ้นจริงและที่เขียนจากจินตนาการ รวมทั้งภาพการโจมตีย่อย ๆ และการปล้น เซบาสเตียน วแรงค์ซ (Sebastiaen Vrancx) และลูกศิษย์เปียเตอร์ สเนเยอร์ (Pieter Snayers) เป็นผู้มีชื่อเสียงในหัวเรื่องชนิดนี้ และลูกศิษย์ของสเนเยอร์อาดัม-ฟรันส์ ฟาน เดอร์ มูเล็น (Adam-Frans van der Meulen) ก็เขียนหัวเรื่องนี้ต่อมาในแอนต์เวิร์ป, บรัสเซลส์ และปารีส จนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17

กลุ่มบัมโบชเชียนติและคลาสสิกอิตาลี

"มวยปล้ำ" โดยมิเคิล สวีร์ตส์ ค.ศ. 1649 ลักษณะการเขียนของสวีร์ตส์มีอิทธิพลมาจากการใช้เวลาในโรมและเป็นภาพเขียนที่รวมหัวเรื่องชนบทกับการวางรูปแบบแบบคลาสสิกและการใช้สีแบบอิตาลี

ตามการที่ปฏิบัติกันมาจิตรกรหลายคนจากทางตอนเหนือของยุโรปเดินทางไปศึกษาในอิตาลีระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 จิตรกรเฟลมิชเช่นยาน มีล (Jan Miel) และมิเคิล สวีร์ตส์ (Michael Sweerts) ไปตั้งหลักแหล่งในกรุงโรมและเขียนภาพแบบจิตรกรเนเธอร์แลนด์เปียเตอร์ ฟาน เลร์ (Pieter van Laer) กลุ่มนักเขียนจากทางเหนือที่ไปตั้งหลักแหล่งในกรุงโรมเรียกกันว่า "กลุ่มบัมบอชชันตี" (Bamboccianti) มีความเชี่ยวชาญในการเขียนที่บรรยากาศแบบบ้าน ๆ ของชีวิตประจำวันในโรมและในชนบท ภาพเขียนเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจจากสีในบริเวณโรมันคัมปานยา (Roman Campagna) และการศึกษาประติมากรรมกรีกโรมัน โดยทั่วไปแล้วภาพชีวิตประจำวันไม่เป็นที่นิยมกันในอิตาลีโดยเฉพาะโดยสถาบันที่เป็นทางการเช่นสถาบันจิตรกรเซนต์ลูค (Academy of St. Luke) ดังนั้นจิตรกรหลายคนจึงไปเป็นสมาชิกของสมาคมเบนทวูเกลส์ (Bentvueghels) ที่คล้าย ๆ กับสมาคมอาชีพ (ที่มีชื่อเสียงว่าเป็นสมาคมที่สมาชิกใช้ชีวิตอย่าง "ชีวิตแบบโบฮีเมีย") ที่เป็นที่พบปะของช่างเขียนเนเธอร์แลนด์และเฟลมิชที่มีความสนใจและธรรมเนียมที่คล้ายคลึงกัน

ใกล้เคียง

จิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี จิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรรมยุคทองของเนเธอร์แลนด์ จิตรกรรมบารอกแบบเฟลมิช จิตรกรรม จิตรกรรมไทยประเพณี จิตรกรรมเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก จิตรกรรมแผง จิตรกรรมภูมิทัศน์ จิตรกรรมไทย