ใจความ ของ ต้นฉบับทางเศรษฐศาสตร์และปรัชญาจากปี_1844

เป็นส่วนหนึ่งของชุด
ลัทธิมากซ์

ในต้นฉบับฯ มาคส์เชื่อมโยงระหว่างหมวดหมู่ทางเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ กับการตีความทางปรัชญาถึงตำแหน่งแห่งหนของมนุษย์ในธรรมชาติ บันทึกของมาคส์แสดงการวิเคราะห์เชิงปรัชญาโดยทั่วไปเกี่ยวกับมโนทัศน์พื้นฐานต่าง ๆ ของเศรษฐศาสตร์การเมือง ประกอบด้วยทุน, ค่าเช่า (Economic rent), แรงงาน (labor economics), ทรัพย์สิน, เงินตรา, โภคภัณฑ์ (commodity), ความต้องการ และค่าจ้าง[12] มโนทัศน์ที่สำคัญของพวกมันปรากฏเมื่อมาคส์ใช้ศัพท์เชิงปรัชญาในการรุดหน้าการวิพากษ์สังคมทุนนิยมบนฐานของแนวคิดเรื่อง "ความแปลกแยก"[1] ทฤษฎีของมาคส์เป็นการปรับและดัดแปลงมาจากงานเขียนของเฮเกิล The Phenomenology of Spirit (1807) กับฟ็อยเออร์บัค The Essence of Christianity (1841)[22] ความแปลกแยกดังกล่าวไม่ใช่มโนทัศน์ที่ใช้บรรยายอย่างเดียว แต่เป็นการเรียกร้องให้ลดความแปลกแยกด้วยการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างมูลวิวัติ[23]

แรงงานแปลกแยก

เอกสารต้นฉบับชิ้นแรกของมาคส์ส่วนมากประกอบด้วยข้อความที่คัดลอกหรือถอดความจากงานเขียนของนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิก (Classical economics) แต่ละคนที่มาคส์อ่านอยู่ขณะที่เขียนต้นฉบับฯ ขึ้นมา เช่นอดัม สมิธ[15] ในส่วนนี้ มาคส์แสดงข้อวิจารณ์หลายข้อถึงเศรษฐศาสตร์การเมืองคลาสสิก เขากล่าวว่ามโนทัศน์ทางเศรษฐศาสตร์ไม่ปฏิบัติกับผู้คนในฐานะมนุษย์ แต่ทำเหมือนอย่างที่ทำกับบ้านกับสินค้าโภคภัณฑ์ คือการลดทอนให้มนุษยชาติส่วนใหญ่กลายเป็นแรงงานนามธรรม มาคส์ใช้นิยามของทุนแบบเดียวกับสมิธว่าทุนเป็นอำนาจที่บังคับบัญชาแรงงานและผลผลิตของแรงงาน[24] แต่เขาเห็นต่างจากสมิธว่าเจ้าของที่ดิน (landlord) กับนายทุนไม่มีความแตกต่างกัน โดยอ้างว่าลักษณะของอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนไปจากยุคสมัยเจ้าขุนมูลนายแล้ว สังคมจึงแบ่งออกได้เป็นสองชนชั้นเท่านั้น กล่าวคือคนงานและนายทุน มาคส์วิจารณ์มโนทัศน์เกี่ยวกับแรงงานของนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกว่าตื้นเขินและเป็นนามธรรม[25] มาคส์กล่าวว่านักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกเริ่มต้นการให้เหตุผลด้วยสภาวะเริ่มแรกที่พวกเขาประดิษฐ์ขึ้นมาเอง ที่มองว่าแนวคิดประเภททรัพย์สินส่วนบุคคล การแลกเปลี่ยน และการแข่งขันเสมือนเป็นข้อเท็จจริง โดยไม่สนใจที่จะอธิบายพวกมันเลย[26] มาคส์เชื่อว่าเขาได้ให้คำอธิบายที่เป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าซึ่งอธิบายความเชื่อมโยงกันและประวัติศาสตร์ของปัจจัยเหล่านั้น[27]

มาคส์อ้างว่าทุนนิยมทำให้มนุษย์แปลกแยกจากธรรมชาติของตน (human nature) คุณลักษณะพื้นฐานของมนุษย์คือแรงงาน หรือการแลกเปลี่ยนระหว่างเขากับธรรมชาติ[28] ในสังคมยุคก่อน มนุษย์สามารถพึ่งพาธรรมชาติเพื่อสนอง "ความต้องการตามธรรมชาติ" ได้ แต่ในสังคมสมัยใหม่ เมื่อกรรมสิทธิ์ในที่ดินตกอยู่ใต้กฎของเศรษฐกิจระบบตลาด เงินตราเป็นหนทางเดียวในการเอาชีวิตรอด แรงงานและผลผลิตของคนงานแปลกแยกจากตัวคนงาน พลังการผลิตของเขากลายเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันที่ราคาตลาดเหมือนสินค้าชนิดอื่น ๆ ซึ่งกำหนดด้วยต้นทุนในการบำรุงรักษาขั้นต่ำ กรรมกรมานะบากบั่นใช่เพื่อสนองความจำเป็นต้องทำงานแต่ทำไปเพื่อเอาชีวิตรอดเท่านั้น:[29] "เขาได้รับวัตถุของแรงงาน กล่าวคือในการที่เขาได้รับงาน และประการที่สอง ในการที่เขาได้รับปัจจัยการยังชีพ เหล่านี้ทำให้เขาดำรงอยู่ได้ ประการแรกในฐานะกรรมกร และในประการที่สองในฐานะกัตตาทางกายภาพ จุดสูงสุดของภาวะทาสเช่นนี้คือการที่เขาจะคงอยู่ในฐานะกัตตาทางกายภาพได้ด้วยการเป็นกรรมกรเท่านั้น และเขาจะเป็นกรรมกรได้ด้วยการเป็นกัตตาทางกายภาพเท่านั้น"[30] แม้ว่างานของกรรมกรผลิตความมั่งคั่งให้กับชนชั้นนายทุน แต่ตัวเขาเองกลับถูกลดทอนอยู่ในระดับเดียวกับสัตว์[29] เมื่อความมั่งคั่งของสังคมลดลง ก็เป็นกรรมกรที่ต้องทนทุกข์มากที่สุด แต่หากมันกำลังเพิ่มขึ้น ทุนก็จะเพิ่มขึ้น แล้วผลผลิตของแรงงานก็จะแปลกแยกจากกรรมกรยิ่งขึ้น[15]

กระบวนการผลิตสมัยใหม่ไม่ส่งเสริมการพัฒนาและแสดงขีดความสามารถขั้นสารัตถะของมนุษย์ ประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์ปัจเจกจึงไร้ซึ่งความหมายและความเติมเต็ม มนุษย์รู้สึก "แปลกแยก" หรือไม่สุขสบายท่ามกลางโลกสังคมสมัยใหม่ มาคส์ระบุถึงความแปลกแยก 4 ชนิดที่เกิดขึ้นกับกรรมกร อันได้แก่[31]:

  1. ความแปลกแยกจากผลผลิตที่เขาผลิต
  2. ความแปลกแยกจากกิจของเขาในการผลิตผลผลิต
  3. ความแปลกแยกจากธรรมชาติของเขาและตัวเขาเอง
  4. ความแปลกแยกจากมนุษย์ด้วยกันเอง

ความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุ (object (philosophy)) ของการผลิตของกรรมกรกับตัวเขาเองเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความยากแค้นและการลดทอนความเป็นมนุษย์[32] วัตถุที่แรงงานของกรรมกรผลิตขึ้นมาปรากฏเป็นสิ่งที่แปลกแยก เป็นอำนาจที่เป็นอิสระจากผู้ที่ผลิตมันขึ้นมา[33] ยิ่งกรรมกรผลิตเท่าใด เขายิ่งเข้าใกล้การเสียการงานและความอดอยากปากแห้งแต่เพียงเท่านั้น [32] มนุษย์ไม่ใช่ผู้ริเริ่มการแลกเปลี่ยนระหว่างโลกภายนอกกับตัวเขาอีกต่อไป เขาเสียการควบคุมการวิวัฒนาการของตัวเอง[34] มาคส์วางแนวเทียบกับศาสนาว่าในศาสนา พระเป็นเจ้าเป็นกัตตา (subject (philosophy)) ของกระบวนการทางประวัติศาสตร์ และมนุษย์ตกอยู่ในสภาวะพึ่งพา ยิ่งมนุษย์ให้สิทธิ์แก่พระเจ้าเท่าใด สิ่งที่หลงเหลืออยู่ในตัวเขายิ่งน้อยลงเท่านั้น ในทางเดียวกัน เมื่อกรรมกรแปลกแยกชีวิตของเขาลงในวัตถุชิ้นหนึ่ง ชีวิตของเขาก็จะตกเป็นของวัตถุนั้น ไม่ใช่ของตัวเอง[35] วัตถุชิ้นนั้นจึงปรากฏต่อเขาเหมือนเป็นสิ่งที่เป็นปรปักษ์และแปลกแยก[32] ธรรมชาติของเขาตกเป็นสิทธิ์ของบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่น[34]

กิจในการผลิตวัตถุเป็นมิติของความแปลกแยกชนิดที่สอง แรงงานเป็นแบบบังคับไม่ใช่สมัครใจ แรงงานไปอยู่ภายนอกกรรมกรและไม่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของเขา กิจกรรมของกรรมกรตกเป็นของผู้อื่น เป็นเหตุให้สูญเสียตัวตนของเขาไป[32] คนงานได้ผ่อนคลายในภารกิจสัตว์ของเขาเท่านั้น คือการกิน ดื่ม และร่วมเพศ แต่ในภารกิจมนุษย์ที่ชัดเจน เขาถูกทำให้รู้สึกเหมือนเป็นสัตว์[36]

มิติที่สามของความแปลกแยกที่มาคส์กล่าวคือความแปลกแยกของมนุษย์จากสปีชีส์ของเขา[37] มาคส์ใช้ศัพท์แบบฟ็อยเออร์บัคที่บรรยายว่ามนุษย์เป็น "สารัตถะสปีชีส์" (Gattungswesen)[38]

มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความสำนึกรู้ตน (Self-consciousness) ที่สามารถใช้ธรรมชาติอนินทรีย์ทั้งมวลเพื่อประโยชน์ของตน แม้ว่าสัตว์ชนิดอื่นจะผลิตเหมือนกัน แต่พวกมันผลิตสิ่งที่จำเป็นเฉพาะหน้าเท่านั้น ทว่ามนุษย์ผลิตโดยสากลและอย่างเสรี เขาสามารถผลิตตามมาตรฐานของสปีชีส์ใดก็ได้ และรู้เสมอที่จะใช้มาตรฐานจากภายในตัวเขากับวัตถุนั้น[37] ดังนั้น มนุษย์สรรค์สร้างตามกฎแห่งความงาม[39] การแปลงสภาพธรรมชาติอนินทรีย์เช่นนี้เป็นสิ่งที่มาคส์เรียกว่า "กิจกรรมชีวิต" (Lebenstätigkeit) ของมนุษย์ และเป็นสารัตถะของมนุษย์ มนุษย์สูญเสียสารัตถะสปีชีส์ไปเพราะกิจกรรมชีวิตของเขาถูกเปลี่ยนให้เป็นเพียงปัจจัยเพื่อการดำรงอยู่เท่านั้น[40]

มิติที่สี่และประการสุดท้ายของความแปลกแยกดึงเอามาจากทั้งสามมิติก่อนหน้านี้ มาคส์เชื่อว่ามนุษย์แปลกแยกจากมนุษย์ตนอื่น มาคส์กล่าวว่าผลผลิตของแรงงานของกรรมกรคนหนึ่งแปลกแยกและกลายเป็นของคนอื่น[40] กิจกรรมการผลิตของกรรมกรเป็นความทรมานของกรรมกร และมันจึงต้องเป็นความสุขของคนอื่น[41] มาคส์ตั้งคำถามว่าคนอื่นนี้เป็นใคร[40] ในเมื่อผลผลิตของแรงงานมนุษย์ไม่ได้ตกเป็นของธรรมชาติหรือของทวยเทพ ข้อเท็จจริงทั้งสองจึงชี้ไปที่มนุษย์อีกพวกหนึ่งซึ่งควบคุมผลผลิตและกิจกรรมของมนุษย์อยู่[42]

The emancipation of the workers will be the achievement of universal human emancipation, because the whole of human servitude is involved in the relation of the worker to production.[44]

จากบทวิเคราะห์เรื่องความแปลกแยก มาคส์ตั้งข้อสรุปว่ากรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากแรงงานแปลกแยก ไม่ใช่ในทางตรงกันข้าม ความสัมพันธ์ระหว่างกรรมกรกับแรงงานของเขาคือสิ่งที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนกับแรงงาน[43] มาคส์จึงพยายามเสนอว่าแรงงานทางสังคมนั่นเองเป็นแหล่งกำเนิดของมูลค่าทั้งมวลและการกระจายความมั่งคั่ง[44] เขากล่าวว่าในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกจัดให้แรงงานเป็นรากฐานของการผลิต แต่พวกเขากลับไม่ให้อะไรกับแรงงานแต่ให้ทุกอย่างกับกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล สำหรับมาคส์ ค่าจ้างและกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะทั้งสองเป็นผลพวงจากความแปลกแยกของแรงงาน[44] การเพิ่มค่าจ้างจึงไม่ได้คืนความหมายและนัยแบบมนุษย์กลับสู่แรงงาน[44] การปลดปล่อยกรรมกรจึงจะเป็นการบรรลุซึ่งการปลดปล่อยมนุษย์โดยสากล เพราะความเป็นทาสของมนุษย์ทั้งมวลมีส่วนในความสัมพันธ์ระหว่างกรรมกรกับการผลิต[45]

ลัทธิคอมมิวนิสต์

The second form of communism that Marx sees as incomplete is of two sorts: "(a) still of a political nature, democratic or despotic; (b) with the abolition of the state, but still essentially incomplete and influenced by private property, i.e. by the alienation of man."[49] David McLellan takes Marx to here refer to the utopian communism of Etienne Cabet as democratic, the despotic communism to be the dictatorship of the proletariat advocated by the followers of Gracchus Babeuf, and the abolition of the state to be the communism of Théodore Dézamy.[45]มาคส์เขียนถึงแนวคิดลัทธิคอมมิวนิสต์ของเขาในเอกสารต้นฉบับชิ้นที่สาม[46] ลัทธิคอมมิวนิสต์สำหรับมาคส์คือ "การแสดงออก เชิงบวกของการยกเลิกกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล"[47] ในส่วนนี้ มาคส์กล่าวว่านักเขียนสังคมนิยมหลายคนก่อนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการก้าวข้ามความแปลกแยกที่ไม่น่าพึงพอใจและไม่สมบูรณ์[46] มาคส์เขียนถึงพรูดงที่สนับสนุนให้ยกเลิกทุน ฟูรีเยที่สนับสนุนให้ย้อนกลับไปหาแรงงานเกษตรกรรม และแซ็ง-ซีมง (Henri de Saint-Simon) ที่สนับสนุนให้จัดระเบียบแรงงานอุตสาหกรรมในแบบที่ถูกต้อง[46] มาคส์เขียนถึงลัทธิคอมมิวนิสต์สองแบบที่เขามองว่าไม่เพียงพอ แบบแรกคือ "ลัทธิคอมมิวนิสต์ดิบ" (rohe Kommunismus) หรือการทำให้ทรัพย์สินส่วนบุคคลเป็นสากล[46] ลัทธิคอมมิวนิสต์รูปแบบนี้ "ลบล้างความเป็นบุคคลของมนุษย์โดยหมดสิ้น" เพราะมันไม่ได้ยกเลิกชนชั้นคนงาน แต่ขยายมันให้ครอบคลุมมนุษย์ทุกคนแทน[48] และเป็น "การลบล้างเชิงนามธรรมของโลกทางวัฒนธรรมและอารยธรรมจนหมดสิ้น"[48] ประชาคมหนึ่งเดียวที่คงเหลืออยู่มีเพียงประชาคมของแรงงาน (แปลกแยก) และความเท่าเทียมประการเดียวที่จะเกิดขึ้นคือความเท่าเทียมของค่าจ้างที่จ่ายโดยประชาคมในฐานะนายทุนสากล[49] ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบที่สองที่มาคส์มองว่าไม่สมบูรณ์มีอยู่สองประเภท: "(a) ยังเป็นแบบการเมือง ไม่ว่าประชาธิปไตยหรือเผด็จการ (b) มีการยกเลิกรัฐ แต่โดยหลักยังคงไม่สมบูรณ์และยังได้รับผลจากทรัพย์สินส่วนบุคคล กล่าวคือความแปลกแยกของมนุษย์"[50] เดวิด แม็กเลลลัน (David McLellan (political scientist)) ตีความว่าประชาธิปไตยนั้นมาคส์หมายถึงลัทธิคอมมิวนิสต์ยูโทเปียของเอตีแยน กาแบ (Etienne Cabet) ลัทธิคอมมิวนิสต์เผด็จการหมายถึงเผด็จการโดยชนกรรมาชีพ (dictatorship of the proletariat) ของผู้ติดตามของกรักคุส บาเบิฟ (Gracchus Babeuf) และการยกเลิกรัฐหมายถึงลัทธิคอมมิวนิสต์ของเตออดอร์ เดซามี (Théodore Dézamy)[46]

เมื่อกล่าวถึงลักษณะของ "ลัทธิคอมมิวนิสต์ดิบ" แล้ว มาคส์บรรยายถึงลัทธิคอมมิวนิสต์ในความคิดของเขา:[51]

ลัทธิคอมมิวนิสต์คือการยกเลิกเชิงบวกของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ในฐานะที่เป็นการแปลกแยกตัวเองของมนุษย์ และดังนั้นจึงเป็นการถือเอาสารัตถะของมนุษย์อย่างแท้จริงผ่านและเพื่อมนุษย์ การคืนสู่มนุษย์ทางสังคม กล่าวคือมนุษย์ที่เป็นมนุษย์ ภายในความอุดมสมบูรณ์ของพัฒนาการที่ผ่านมาทั้งหมดโดยเจตนาและโดยสมบูรณ์ของมนุษย์ด้วยตัวมันเอง ลัทธิคอมมิวนิสต์นี้เป็นมนุษยนิยมในแง่ที่เป็นธรรมชาตินิยมที่สมบูรณ์ยิ่งกว่า และเป็นธรรมชาตินิยมในแง่ที่เป็นมนุษยนิยมที่สมบูรณ์ยิ่งกว่า เป็นการแก้ปมปรปักษ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและกับมนุษย์อย่างแท้จริง เป็นการแก้ปมความขัดแย้งระหว่างการดำรงอยู่กับการเป็นอย่างแท้จริง ระหว่างการทำให้กลายเป็นวัตถุกับการยืนยันตนเอง ระหว่างเสรีภาพกับความจำเป็น ระหว่างปัจเจกกับสายพันธุ์ มันเป็นปริศนาของประวัติศาสตร์ที่ถูกไขแล้วและตระหนักรู้ว่าตนคือคำตอบนั้น

มาคส์เขียนถึงสามแง่มุมของลัทธิคอมมิวนิสต์ในความคิดของเขาลงในรายละเอียด เกี่ยวกับรากฐานทางประวัติศาสตร์ ลักษณะทางสังคม และว่าด้วยเรื่องของปัจเจก[52]

ประการแรก มาคส์ชี้ถึงความแตกต่างระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์ของเขากับลัทธิคอมมิวนิสต์รูปแบบอื่น ๆ ที่ "ยังไม่พัฒนา" โดยยกตัวอย่างลัทธิคอมมิวนิสต์ของกาแบกับฟร็องซัว วีลการ์แดล (Francois Villegardelle) ว่ามันอาศัยรูปแบบต่าง ๆ ของประชาคมในประวัติศาสตร์ที่ต่อต้านทรัพย์สินส่วนบุคคลเพื่ออ้างตนเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์[53] ในขณะที่ลัทธิคอมมิวนิสต์รูปแบบนี้อาศัยแง่มุมหรือยุคสมัยที่เป็นเอกเทศในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แต่มาคส์กล่าวว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ของตนมีพื้นฐานเป็น "ความเคลื่อนไหวของประวัติศาสตร์ทั้งปวง"[54] โดยมี "พื้นฐานทางทฤษฎีและเชิงประจักษ์อยู่ในความเคลื่อนไหวของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล หรือกล่าวได้ว่าของเศรษฐกิจ"[54] ความแปลกแยกขั้นพื้นฐานที่สุดของชีวิตมนุษย์แสดงออกเป็นการมีอยู่ของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล และความแปลกแยกนี้เกิดขึ้นในชีวิตจริงของมนุษย์ นั่นคือในเศรษฐกิจ[53] ความแปลกแยกทางศาสนาเกิดขึ้นในพิชานของมนุษย์เท่านั้น[53] การก้าวข้ามกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลจึงจะเป็นการก้าวข้ามความแปลกแยกทั้งปวง อาทิศาสนา ครอบครัว รัฐ ฯลฯ[53]

ประการที่สอง มาคส์อ้างว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับตนเอง กับมนุษย์ตนอื่น กับสิ่งที่เขาผลิต ภายใต้สภาวะที่ไม่มีความแปลกแยก แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดของแรงงานคือคุณลักษณะเชิงสังคมของมัน[55] มาคส์เชื่อว่ามนุษย์กับสังคมมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน สังคมเป็นผู้ผลิตมนุษย์และเป็นผลผลิตของมนุษย์[55] และเช่นเดียวกับความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์กับสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติก็เป็นเช่นนั้น มาคส์กล่าวว่า "ดังนั้น สังคมจึงเป็นเอกภาพสมบูรณ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เป็นการคืนชีพอย่างแท้จริงของธรรมชาติ เป็นธรรมชาตินิยมที่กลายเป็นจริงของมนุษย์ และเป็นมนุษยนิยมที่กลายเป็นจริงของธรรมชาติ"[56] ความสามารถขั้นสารัตถะของมนุษย์เกิดขึ้นในปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เมื่อมนุษย์ทำงานเป็นเอกเทศ เขากระทำกิจทางสังคมโดยการดำรงอยู่ในฐานะมนุษย์ และแม้แต่การคิด ซึ่งใช้ภาษา ก็เป็นกิจกรรมทางสังคม[55]

ประการที่สาม การเน้นย้ำในลักษณะทางสังคมของมนุษย์ไม่ได้ทำลายความเป็นปัจเจกของมนุษย์[55] "มนุษย์ ตราบเท่าใดที่เขาเป็นปัจเจกจำเพาะหนึ่ง และด้วยความจำเพาะนี้เองทำให้เขาเป็นปัจเจกตนหนึ่ง และเป็นประชาคมปัจเจกที่แท้จริง เขาเป็นองค์รวมตราบเท่านั้น เป็นองค์รวมของจิต เป็นการดำรงอยู่ทางอัตวิสัยของสังคมที่ถูกคิดและถูกรู้สึกโดยตัวมันเอง"[57]

ส่วนที่เหลือของเอกสารต้นฉบับชิ้นที่สามของมาคส์อธิบายถึงมโนทัศน์เกี่ยวกับมนุษย์ที่ไม่แปลกแยก รอบด้าน และสมบูรณ์[58] มาคส์เชื่อว่าการก้าวข้ามกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลจะเป็นการปลดปล่อยสมรรถภาพมนุษย์ทั้งปวงโดยสมบูรณ์ การมอง การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การสัมผัส การคิด การสังเกต การรู้สึก การต้องการ การกระทำ และการรัก ล้วนแล้วจะกลายเป็นปัจจ้ยในการถือเอาความเป็นจริง[58] มนุษย์ซึ่งแปลกแยกยากที่จะจินตนาการถึงสิ่งนี้ได้ เพราะกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลได้วางเงื่อนไขให้มนุษย์สามารถจินตนาการถึงการเป็นเจ้าของวัตถุชิ้นหนึ่งก็ต่อเมื่อเขาได้ใช้สอยมันจริง ๆ เท่านั้น[58] แต่ถึงอย่างนั้น วัตถุนั้นถูกใช้สอยในฐานะปัจจัยการยังชีพเพียงอย่างเดียว กล่าวคือที่ประกอบด้วยแรงงานและการสร้างทุน[58] มาคส์เชื่อว่ามโนและกายสัมผัสทั้งปวงได้ถูกแทนที่ด้วยความแปลกแยกอันหนึ่งอันเดียว กล่าวคือการมี[58] มาคส์กล่าวว่า "การก้าวข้ามกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลจึงเป็นการปลดปล่อยสัมผัสและคุณลักษณะของมนุษย์โดยสมบูรณ์"[59] และ "ความต้องการหรือการใช้สอยจึงสูญสิ้นธรรมชาติความเป็นอัตตาไป และธรรมชาติก็จะสูญสิ้นประโยชน์ใช้สอยแต่เพียงอย่างเดียวของมันไป ในการที่การใช้สอยของมันได้กลายเป็นการใช้สอยแบบมนุษย์"[60] เมื่อมนุษย์เลิกหลงอยู่ในวัตถุ วิธีการที่อวัยวะของเขาถือเอาวัตถุได้กลายเป็นอีกรูปแบบหนึ่งโดยสิ้นเชิง[61] วัตถุที่มนุษย์ซึ่งไม่แปลกแยกถือเอานั้นจะสอดคล้องกับธรรมชาติของเขา มนุษย์ที่หิวโหยจะเห็นคุณค่าในอาหารเปรียบได้กับสัตว์เท่านั้น และผู้ค้าแร่เห็นเพียงแต่มูลค่า ใช่ความงาม ในสินค้าของเขา การก้าวข้ามกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลจะปลดปล่อยสมรรถภาพของมนุษย์ให้กลายเป็นสมรรถภาพแบบมนุษย์[61] จะเกิดการพัฒนาศักยภาพทางวัฒนธรรมของมนุษย์ที่สมบูรณ์และกลมเกลียวกัน โดยที่ความเป็นปฏิปักษ์ทางปัญญาของนามธรรม อย่าง "อัตวิสัยนิยมและปรวิสัยนิยม เจตนิยมและวัตถุนิยม กิจกรรมและความเจ็บไข้"[62] จะสลายไป[61] "พลังงานเชิงปฏิบัติของมนุษย์"[63] จะเป็นสิ่งที่จัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตแทน[61]

ในส่วนถัดไปซึ่งปูทางให้กับคำอธิบายเกี่ยวกับวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ มาคส์กล่าวว่าสิ่งที่จะเปิดเผยสมรรถภาพขั้นสารัตถะของมนุษย์ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของศาสนา การเมือง หรือศิลปะ แต่เป็นประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรม[64] อุตสาหกรรมเปิดเผยความสามารถและจิตวิทยาของมนุษย์ และจึงเป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ไม่ว่าชนิดใดก็ตาม การเติบโตอย่างยิ่งยวดของอุตสาหกรรมได้ทำให้วิทยาศาสตร์ธรรมชาติเปลี่ยนสภาพชีวิตของมนุษย์ไป[64] เช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ว่ามีความสัมพันธ์แบบซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอยู่ มาคส์เชื่อว่าสักวันหนึ่งวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจะรวมถึงวิทยาศาสตร์มนุษย์ และวิทยาศาสตร์มนุษย์จะรวมถึงวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ[65] มาคส์เชื่อว่าประสบการณ์ทางผัสสะของมนุษย์ตามแบบที่ฟ็อยเออร์บัคอธิบายสามารถเป็นรากฐานให้กับวิทยาศาสตร์อันหนึ่งอันเดียวที่ครอบคลุมทุกสิ่งอย่างได้[65]

บทวิพากษ์เฮเกิล

ต้นฉบับฯ ส่วนถัดจากอรรถาธิบายลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นบทวิพากษ์เฮเกิลของมาคส์[66] มาคส์มองว่าเขาจำเป็นต้องกล่าวถึงวิภาษวิธีแบบเฮเกิลเพราะเฮเกิลได้จับความเกี่ยวกับสารัตถะของแรงงานมนุษย์ในแบบที่นักเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิกมองไม่เห็น[67] แม้เฮเกิลจะทำความเข้าใจแรงงานในแบบนามธรรมและทางจิต แต่เขามองเห็นว่าแรงงานคือสิ่งที่สร้างมูลค่า[66] โครงสร้างปรัชญาของเฮเกิลสะท้อนความแปลกแยกทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงในกระบวนการทำงานของมนุษย์[66] มาคส์เชื่อว่าการค้นพบของเฮเกิลเป็นเรื่องจริงอย่างยิ่ง แต่เขาทำให้มันกลายเป็นสิ่ง "เร้นลับ" มาคส์กล่าวว่ามีฟ็อยเออร์บัคเพียงคนเดียวที่วิจารณ์เฮเกิลด้วยเจตคติที่สร้างสรรค์ ทว่ามาคส์ก็ใช้เฮเกิลเพื่อชี้ถึงจุดอ่อนในแนวทางของฟ็อยเออร์บัคด้วย[68]

วิภาษวิธีของเฮเกิลมองว่าความแปลกแยกเป็นขั้นตอนที่จำเป็นในวิวัฒนาการของมนุษยชาติ[69] มนุษยชาติสรรค์สร้างตัวเองขึ้นมาผ่านกระบวนการแปลกแยกสลับกับการก้าวข้ามความแปลกแยก[12] เฮเกิลมองว่าแรงงานเป็นหนึ่งในกระบวนการแปลกแยกซึ่งทำให้สารัตถะของมนุษย์กลายเป็นจริง โดยการผันพลังขั้นสารัตถะของมนุษย์ออกมาภายนอกผ่านภาวะที่เป็นวัตถุ แล้วกลืนมันกลับเข้าไปภายในฃ[12] เฮเกิลมองว่าวัตถุซึ่งดูเหมือนกำลังควบคุมชีวิตของมนุษย์อยู่ กล่าวคือศาสนาและความมั่งมี แท้จริงแล้วเป็นของมนุษย์ และเป็นผลผลิตของความสามารถขั้นสารัตถะของมนุษย์[69] อย่างไรก็ตาม มาคส์วิจารณ์เฮเกิลที่เปรียบให้แรงงานเท่ากับกิจกรรมทางจิตวิญญาณ และความแปลกแยกเท่ากับวัตถุวิสัย[12] มาคส์เชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่เฮเกิลเข้าใจผิดคือการทำให้สิ่งต่าง ๆ ซึ่งปรากฏต่อมนุษย์ในทางวัตถุและทางผัสสะกลายเป็นสิ่งทางจิต[70] เพราะสำหรับเฮเกิล การก้าวข้ามความแปลกแยกคือการก้าวข้ามวัตถุ กล่าวคือการกลืนมันกลับเข้าไปยังธรรมชาติทางจิตวิญญาณของมนุษย์[12] ในระบบของเฮเกิล การถือเอาสิ่งแปลกแยกกลายเป็นเพียงการถือเอาในเชิงนามธรรมซึ่งเกิดขึ้นในระดับของจิตสำนึกเท่านั้น ในขณะที่มนุษย์ทนทุกข์จากความแปลกแยกทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่เฮเกิลสนใจเพียงแนวคิดของเศรษฐกิจและการเมือง[70] เพราะเฮเกิลมองว่าบูรณาการระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเกิดขึ้นในระดับจิตวิญญาณ มาคส์จึงมองว่านี่เป็นเพียงสิ่งนามธรรมและภาพลวงตา[12]

มาคส์นับว่าฟ็อยเออร์บัคเป็นหนึ่งในศิษย์ของเฮเกิลคนเดียวที่เข้าใจปรัชญาของอาจารย์ของเขาอย่างแท้จริง[68] ฟ็อยเออร์บัคแสดงให้เห็นว่าเฮเกิลเริ่มต้นจากสิ่งที่เป็นนามธรรม จากมุมมองที่เป็นอนันต์ของศาสนากับเทววิทยา แล้วก้าวข้ามมันด้วยมุมมองที่เป็นอันตะและจำเพาะของปรัชญา แต่ก็เพียงเพื่อก้าวข้ามมุมมองนี้ผ่านการฟื้นฟูสิ่งที่เป็นนามธรรมตามปกติของเทววิทยา ฟ็อยเออร์บัคมองว่าขั้นสุดท้ายนี้เป็นการเดินถอยหลัง ซึ่งมาคส์เห็นด้วย[71]

เฮเกิลเชื่อว่าความเป็นจริงคือจิต (Geist) ซึ่งทำให้ตนเองกลายเป็นจริงขึ้นมา และความแปลกแยกเกิดจากความล้มเหลวของมนุษย์ที่ไม่เข้าใจว่าสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของพวกเขาเป็นการฟุ้งออกมาของจิต จิตดำรงอยู่ภายในและผ่านกิจกรรมการผลิตของตัวเองเท่านั้น จิตในกระบวนการทำให้ตนกลายเป็นจริงจึงสร้างโลกขึ้นมา ซึ่งในตอนแรกเชื่อว่าเป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกมัน แต่ค่อย ๆ ทำความเข้าใจว่ามันเป็นผลผลิตของตัวเอง เป้าหมายของประวัติศาสตร์คือเสรีภาพ และเสรีภาพคือการที่มนุษย์สำนึกรู้ตนโดยสมบูรณ์[72]

มาคส์ปฏิเสธแนวคิดเรื่องจิตของเฮเกิล โดยมองว่ากิจกรรมทางจิตหรือมโนคติของมนุษย์เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมได้[72] มาคส์กล่าวว่าในขณะที่เฮเกิลพูดว่าธรรมชาติมนุษย์เป็นเพียงลักษณะหนึ่งของความสำนึกรู้ตน แต่ในความเป็นจริงความสำนึกรู้ตนก็เป็นเพียงหนึ่งในลักษณะของธรรมชาติมนุษย์เท่านั้น[73] เฮเกิลเชื่อว่าสามารถจับมนุษย์ให้เท่ากับความสำนึกรู้ตนได้ เพราะความสำนึกรู้ตนมีเพียงตนเท่านั้นที่เป็นวัตถุ[72] และนอกจากนั้น มุมมองว่าด้วยความแปลกแยกของเฮเกิลประกอบด้วยวัตถุวิสัยและการก้าวข้ามความแปลกแยกโดยหลัก ๆ แล้วประกอบด้วยการก้าวข้ามวัตถุวิสัย มาคส์แย้งมุมมองนี้ว่าหากมนุษย์เป็นเพียงความสำนึกรู้ตน สิ่งที่เขาจะทำให้เกิดขึ้นภายนอกตัวเขาก็จะมีเพียงวัตถุนามธรรมซึ่งไม่ได้เป็นอิสระแต่อย่างใดจากความสำนึกรู้ตนของเขา[73] หากความแปลกแยกทั้งหมดมีเพียงความแปลกแยกของความสำนึกรู้ตน เช่นนั้นแล้วความแปลกแยกที่เป็นจริง กล่าวคือความแปลกแยกที่เกิดขึ้นกับวัตถุในธรรมชาติ ก็กลายเป็นเพียงภาพปรากฏ[73]

มาคส์มองว่ามนุษย์เป็นสัตทางธรรมชาติทางวัตถุวิสัย ซึ่งมีวัตถุทางธรรมชาติซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติของตน[73] มาคส์เรียกมุมมองของเขาว่า "ธรรมชาตินิยม" และ "มนุษยนิยม" ซึ่งเขาแยกจากจิตนิยมและวัตถุนิยม แต่อ้างว่าเป็นการประสานกันของสิ่งที่เป็นจริงในทั้งสองมุมมองนั้น ในมุมมองของมาคส์ ธรรมชาติเป็นปฏิปักษ์กับมนุษย์แต่มนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในระบบของธรรมชาติ ธรรมชาติมนุษย์ประกอบขึ้นจากความต้องการและแรงขับของมนุษย์ และมนุษย์สนองความต้องการกับแรงขับขั้นพื้นฐานเหล่านี้ผ่านธรรมชาติ ดังนั้น มนุษย์จำเป็นต้องมีวัตถุที่เป็นอิสระจากตัวเขาในการที่เขาจะสามารถแสดงธรรมชาติทางวัตถุวิสัยของเขาได้[74] สัตซึ่งไม่ใช่ทั้งวัตถุหรือมีวัตถุจึงจะเป็นสัตเพียงตนเดียวที่จะมีอยู่ได้ เป็นสิ่งนามธรรมซึ่งไม่เป็นวัตถุวิสัย[75]

ถัดจากส่วนที่กล่าวถึงธรรมชาติมนุษย์ มาคส์ให้ความเห็นเกี่ยวกับบทสุดท้ายในงานเขียนของเฮเกิล Phenomenology โดยวิจารณ์เฮเกิลที่จับความแปลกแยกมาเท่ากับวัตถุวิสัย และที่อ้างว่าจิตสำนึกได้ก้าวข้ามความแปลกแยกแล้ว มาคส์กล่าวว่าเฮเกิลมองว่าจิตสำนึกรู้ว่าวัตถุของมันคือความแปลกแยกของตัวมันเอง ว่าวัตถุของจิตสำนึกกับจิตสำนึกเองไม่มีความแตกต่างกัน มนุษย์จะก้าวข้ามความแปลกแยกได้เมื่อเขารู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับโลกทางจิตวิญญาณในรูปแปลกแยก โดยเชื่อว่ามันเป็นหนึ่งในสมบัติของการดำรงอยู่ที่แท้จริงของเขา[76] ความหมายของคำว่า "การก้าวข้าม" (Aufhebung) ของมาคส์แตกต่างจากของเฮเกิล ซึ่งในขณะที่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล จริยธรรม ครอบครัว ประชาสังคม รัฐ ฯลฯ จะถูก "ก้าวข้าม" แล้วในระดับความคิด แต่มันยังคงหลงเหลืออยู่ในความเป็นจริง[77] เฮเกิลได้ทำความเข้าใจกระบวนการแปลกแยกและการก้าวข้ามมันจริง อเทวนิยมก้าวข้ามพระเป็นเจ้าเพื่อผลิตมนุษยนิยมในทางทฤษฎี และลัทธิคอมมิวนิสต์ก้าวข้ามกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเพื่อผลิตมนุษยนิยมในทางปฏิบัติ[78] ทว่าในมุมมองของมาคส์ ความพยายามในการบรรลุมนุษยนิยมเองนั้นจะต้องถูกก้าวข้ามเพื่อสร้างมนุษยนิยมเชิงบวกที่จะสร้างตัวเองขึ้นมา[79]

ความต้องการ การผลิต การแบ่งงาน และเงินตรา

ในส่วนสรุปของต้นฉบับฯ มาคส์เขียนถึงจริยธรรมของกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและความหมายของเงินตรา ส่วนนี้อยู่ในกรอบเดียวกันกับส่วนแรกว่าด้วยค่าจ้าง ค่าเช่า และกำไร มาคส์กล่าวว่ากรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลประดิษฐ์ความต้องการขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์ตกอยู่ในสภาวะพึ่งพา[80] เมื่อมนุษย์และความต้องการตกอยู่ใต้ความควบคุมของตลาด ความยากจนเพิ่มขึ้นและสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ย่ำแย่ลงยิ่งกว่าของสัตว์ และในแนวเดียวกัน เศรษฐศาสตร์การเมืองพร่ำสอนให้ละเว้นกายิกสุขและลดทอนความต้องการของคนงานให้เหลือเพียงสิ่งที่จำเป็นอันน่าสังเวชในชีวิต[80] เศรษฐศาสตร์การเมืองมีกฎเกณฑ์เป็นของตัวเอง เพราะความแปลกแยกได้แบ่งแยกกิจกรรมต่าง ๆ เป็นหลากหลายสาขา ซึ่งหลายครั้งมีบรรทัดฐานที่ต่างกันและขัดแย้งกัน[81] มาคส์กล่าวว่านักเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิกต้องการจำกัดจำนวนประชากรและคิดว่าแม้แต่การมีผู้คนเองก็เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยแล้ว[82] แล้วเขากลับไปยังหัวข้อว่าด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ เขาอ้างว่าสถานการณ์ในประเทศอังกฤษมีรากฐานที่พร้อมสำหรับการก้าวข้ามความแปลกแยกยิ่งกว่าในประเทศเยอรมนีหรือฝรั่งเศส เพราะรูปแบบของความแปลกแยกในประเทศอังกฤษมีฐานอยู่ในความต้องการในทางปฏิบัติ ในขณะที่ลัทธิคอมมิวนิสต์เยอรมันมีฐานอยู่ในความพยายามสร้างความสำนึกรู้ตนโดยสากล และความเท่าเทียมของลัทธิคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสนั้นมีรากฐานเป็นด้านการเมืองเพียงอย่างเดียว[82]

มาคส์ย้อนกลับไปกล่าวถึงการลดทอนความเป็นมนุษย์อันเป็นผลจากทุนในครึ่งหลังของส่วนนี้[82] เขาพูดถึงอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงและการยกเลิกค่าเช่าที่ดิน และปัญหาว่าด้วยการแบ่งงาน (division of labor)[83] ในส่วนต่อไปที่กล่าวถึงเงินตรา มาคส์ยกคำพูดของเชกสเปียร์และเกอเทอมาให้เหตุผลว่าเงินตราเป็นหายนะของสังคม เพราะเงินตราสามารถซื้อได้ทุกสิ่ง มันจึงสามารถบรรเทาความขลาดแคลนทั้งมวลได้ มาคส์เชื่อว่าในสังคมที่ทุกสิ่งมีมูลค่าแบบมนุษย์ที่ชัดเจน มีเพียงความรักเท่านั้นที่แลกเปลี่ยนกับความรักได้ ฯลฯ[84]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ต้นฉบับทางเศรษฐศาสตร์และปรัชญาจากปี_1844 http://www.marxists.org/archive/marx/works/1844/ma... //openlibrary.org/books/OL20663426M //openlibrary.org/books/OL5548413M //openlibrary.org/books/OL7910951M http://www.zeno.org/Philosophie/M/Marx,+Karl/%C3%9... https://www.jacobinmag.com/2018/05/marx-humanism-e... https://www.radicalphilosophy.com/article/hegel-fe... https://www.radicalphilosophy.com/article/objectif... https://chrisarthur.net/dialectics-of-labour-marx-... https://chrisarthur.net/dialectics-of-labour-marx-...