อนุกรมวิธานและชนิดย่อย ของ นกกระเรียนไทย

นกกระเรียนทุกชนิดมีเท้าหลังลดรูปและยกสูงขึ้นชนิด G. a. antigone หรือนกกระเรียนอินเดีย

นกกระเรียนชนิดนี้จำแนกโดยลินเนียสในปี ค.ศ. 1758 และจัดอยู่ในสกุล Ardea ร่วมกับนกกระสาขนาดใหญ่[18] เอ็ดเวิร์ด ไบลท์ (Edward Blyth) ตีพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับนกกระเรียนในปี ค.ศ. 1881 ซึ่งเขาพิจารณานกกระเรียนไทยในประเทศอินเดียเป็นสองชนิดคือ Grus collaris และ Grus antigone[19] ปัจจุบันจำแนกออกเป็นหนึ่งชนิด สามชนิดย่อย ส่วนชนิดย่อยซึ่งมีประชากรอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์และสูญพันธุ์ไปแล้วยังคงเป็นที่กังขา

  • G. a. antigone หรือ นกกระเรียนอินเดีย เป็นนกกระเรียนที่พบในตอนเหนือและตอนกลางของประเทศอินเดีย เหลือประมาณ 10,000 ตัว[20] เป็นชนิดย่อยมีขนาดใหญ่ที่สุด ที่มีลักษณะต่างไปจากชนิดย่อยอื่นคือมีปลอกคอสีขาวระหว่างหัวและคอ และตำแหน่งขนโคนปีกสีขาว
  • G. a. sharpii หรือ นกกระเรียนอินโดจีน หรือ นกกระเรียนหัวแดง กระจายพันธุ์ทางตะวันออกของพม่าแผ่ไปถึงเกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันเหลือเพียงในประเทศกัมพูชา เวียดนาม และลาว เหลือประมาณ 1,000 ตัว[20] ชนิดย่อยนี้มีสีขนเข้มกว่า antigone ผู้แต่งบางคนพิจารณาว่า antigone และ sharpii เป็นตัวแทนของประชากรที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของลักษณะที่แตกต่างแบบค่อยเป็นค่อยไป[7]
  • G. a. gilliae หรือ นกกระเรียนออสเตรเลีย พบในทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย เหลือประมาณ 4,000 ตัว[20] เดิมจัดเป็น sharpii (บางครั้งสะกดเป็น sharpei แต่แก้ไขให้เป็นไปตามกฎไวยากรณ์ของภาษาละติน)[5] ต่อมาจึงแยกออกมาและตั้งชื่อเป็น gilliae (บางครั้งสะกดว่า gillae หรือ gilli) ในปี ค.ศ. 1988 พบครั้งแรกในประเทศออสเตรเลียเมื่อปี ค.ศ. 1969 และถือเป็นนกอพยพ ในนกท้องถิ่นออสเตรเลีย นกกระเรียนไทยและนกกระเรียนออสเตรเลียคล้ายกันมากแต่ก็ยังมีความแตกต่างกัน มีการเรียกนกกระเรียนไทยว่า "นกกระเรียนที่จุ่มหัวลงไปในเลือด" ชนิดย่อยนี้มีขนสีเข้มกว่าอย่างเห็นได้ชัดและแผ่นขนหูสีเทาใหญ่กว่า[note 1] มีขนาดเล็กที่สุด
  • G. a. luzonica หรือ นกกระเรียนเกาะลูซอน อาศัยอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ แต่คาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว อาจเป็นชื่อพ้องกับ gilliae หรือ sharpii[21]

วิวัฒนาการ

นกกระเรียนกำลังกางปีก (อินเดีย)

บันทึกซากดึกดำบรรพ์ของนกกระเรียนนั้นมีไม่มากพอ วงศ์ย่อยที่สามารถระบุได้ว่าเป็นนกกระเรียนนั้นพบในตอนปลายของยุคแรกเริ่มที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถือกำเนิดขึ้นมาหรือสมัยอีโอซีน (ประมาณ 35 ล้านปีมาแล้ว) ส่วนสกุลนกกระเรียนในปัจจุบันปรากฏขึ้นเมื่อ 20 ล้านปีมาแล้ว[6] จากการศึกษาทางชีวภูมิศาสตร์ (biogeography) ของซากดึกดำบรรพ์ที่รู้จักและอยู่ในอนุกรมวิธานของนกกระเรียนแสดงว่ากลุ่มอาจมีต้นกำเนิดมาจากโลกเก่า[6] ความหลากหลายเท่าที่มีอยู่ในระดับสกุลมีศูนย์กลางอยู่ที่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกาแต่เป็นที่เศร้าใจมากที่ไม่มีบันทึกซากดึกดำบรรพ์ในสภาพดีจากที่นั่นเลย ในทางตรงกันข้ามกลับมีซากดึกดำบรรพ์ของนกกระยางเป็นจำนวนมากที่ได้รับการบันทึกไว้จากที่นั้น ซึ่งคาดกันว่ามันใช้ถิ่นอาศัยร่วมกับนกกระเรียน

จากบันทึกซากดึกดำบรรพ์ สกุล Grus สามารถสืบสาวย้อนไปได้ถึง 12 ล้านปีหรือมากกว่านั้น ด้วยการวิเคราะห์ไมโทคอนเดรียลดีเอ็นเอ (Mitochondrial DNA) จากตัวอย่างนกกระเรียนไทยที่มีอยู่อย่างจำกัดแสดงว่ามีการถ่ายเทเคลื่อนย้ายยีน (Gene Flow) ในประชากรแผ่นดินใหญ่ของทวีปเอเชียจนกระทั่งมีพิสัยลดลงในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และในประเทศออสเตรเลียเป็นเพียงอาณานิคมเดียวเท่านั้นในตอนปลายของสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) ประมาณ 3,000 ช่วงอายุ หรือ 35,000 ปีมาแล้ว[3] มีการวิเคราะห์ nDNA microsatellite ยืนยัน 4 ครั้งจากกลุ่มตัวอย่าง[7] ผลการวิจัยยังเสนอเพิ่มเติมว่าประชากรในออสเตรเลียมักมาจากการผสมพันธุ์ในพวกเดียวกัน และเนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดลูกผสมกับนกกระเรียนออสเตรเลียซึ่งมีพันธุกรรมที่แตกต่าง จึงคาดกันว่านกกระเรียนไทยในออสเตรเลียอาจจะเริ่มเป็นสปีชีส์ใหม่[7]

ศัพท์มูลวิทยา

ชื่อสามัญ sarus มาจากชื่อในภาษาฮินดี ("sāras") ของนกกระเรียนชนิดนี้ คำในภาษาฮินดีมาจากคำในภาษาสันสกฤต sarasa แปลว่า "นกทะเลสาบ" (บางครั้งกร่อนเป็น sārhans) ขณะที่คนอินเดียให้ความนับถือในนกชนิดนี้[22] แต่ทหารอังกฤษในอาณานิคมอินเดียกลับล่านก ทหารเรียกนกว่า Serious[23] หรือ cyrus[24] ชื่อวิทยาศาสตร์ antigone—ตั้งตามชื่อลูกสาวของเอดิปุสผู้แขวนคอตนเอง อาจเกี่ยวข้องกับผิวหนังเปลือยตรงศีรษะและลำคอ[6][note 2]

แหล่งที่มา

WikiPedia: นกกระเรียนไทย http://www.business-standard.com/india/news/after-... http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sect... http://dsal.uchicago.edu/dictionaries/hobsonjobson... http://www.umsl.edu/~ricklefsr/Reprints/R2000.pdf http://digitalcommons.unl.edu/bioscicranes/26/ http://digitalcommons.unl.edu/bioscicranes/4/ http://elibrary.unm.edu/sora/Auk/v064n04/p0602-p06... http://elibrary.unm.edu/sora/Auk/v103n01/p0125-p01... http://elibrary.unm.edu/sora/Auk/v113n03/p0655-p06... //www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15142765