การคมนาคม ของ นูกูอาโลฟา

ทางบก

(บนซ้าย) สถานีน้ำมันแปซิฟิกในกรุง, (บนขวา) ถนนเลียบชายหาดตอนเหนือของกรุง, (ล่างซ้าย) ทางเข้าท่าเรือวูนา, (ล่างขวา) ท่าอาศยานนานาชาติฟูอาอะโมตู

นูกูอาโลฟามีเส้นทางถนนซึ่งเชื่อมกับพื้นที่อื่นบนเกาะโตงาตาปู โดยเชื่อมต่อกับฮาอะตาฟู ซึ่งเป็นชุมชนด้านตะวันตกสุดของเกาะเป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร และเชื่อมต่อกับนีอูโตอัว ซึ่งเป็นชุมชนด้านตะวันออกสุดของเกาะเป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร[126] นอกจากนี้รัฐบาลตองงาได้พิจารณาสร้างสะพานข้ามลากูนฟางาอูตาเพื่อเชื่อมระหว่างนูกูอาโลฟาและพื้นที่ด้านใต้ของเกาะโตงาตาปู เพื่อลดระยะทางและเวลาการเดินทางระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติฟูอาอะโมตูและเมืองหลวง[127] ปัจจุบันนูกูอาโลฟาประสบปัญหากับการจราจรติดขัด[128] สภาพถนนโดยรวมอยู่ในระดับพอใช้ มีบางจุดเป็นหลุมเป็นบ่อและแคบ[129] การก่อสร้างและซ่อมบำรุงถนนในนูกูอาโลฟาอยู่ภายใต้การดูแลของกรมโยธาธิการ ซึ่งมักประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินงาน[130] ในอดีตเคยมีเส้นทางรถไฟจากลากูนผ่านนูกูอาโลฟามุ่งสู่ท่าเรือ แต่ไม่มีให้เห็นในปัจจุบันแล้ว โดยไม่มีทั้งข้อมูลการก่อสร้างและสาเหตุการยกเลิกเส้นทาง เหลือไว้เพียงแค่ชื่อถนนรถไฟภายในเมืองเท่านั้น[131]

สำหรับการขนส่งสาธารณะในนูกูอาโลฟานั้น มีสถานีรถโดยสารอยู่ 2 สถานี คือ สถานีบนถนนวูนาฝั่งตรงข้ามกับสำนักงานการท่องเที่ยว ซึ่งมีเส้นทางอยู่ในบริเวณรอบ ๆ เมือง และสถานีที่อยู่ตรงข้ามกับที่ทำการของกระทรวงศึกษาธิการ มีเส้นทางไปส่วนตะวันออกและตะวันตกของเกาะ อย่างไรก็ตามรถโดยสารมีกำหนดการเดินทางที่ไม่แน่นอน โดยมักมีกำหนดเวลาให้บริการระหว่าง 08.00 น. – 17.00 น.[132] นอกจากนี้ยังมีการให้บริการแท็กซี่ในเมืองด้วย ทั้งนี้บริการขนส่งสาธารณะจะหยุดให้บริการในวันอาทิตย์[133]

ทางน้ำ

ท่าเรือนูกูอาโลฟาเป็นท่าเรือน้ำลึกเพียงแห่งเดียวของประเทศ ในอดีตเคยใช้ท่าเรือวูนาเป็นท่าเรือนานาชาติ แต่ถูกแผ่นดินไหวทำลายใน ค.ศ. 1977 และได้ซ่อมแซมกลับมาใช้ใหม่ได้ใน ค.ศ. 2012 ปัจจุบันใช้เป็นท่าเรือสำหรับเรือสำราญและจุดพักเรือของกองทัพเรือต่างประเทศ[134] สำหรับท่าเรือนูกูอาโลฟาเป็นทั้งท่าเรือรับส่งสินค้านานาชาติ และเป็นท่าเรือศูนย์กลางการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างนูกูอาโลฟาและส่วนอื่น ๆ ของประเทศ โดยสามารถใช้ท่าเรือแห่งนี้เดินทางไปเขตการปกครองอื่น ๆ มีเรือเดินทางไปเออัววันละ 2 รอบ ฮาอะไปและวาวาอูสัปดาห์ละ 2 รอบ รวมถึงมีเรือที่ให้บริการโดยผู้ประกอบการท้องถิ่นเดินทางไปเกาะขนาดเล็กอื่น ๆ ที่อยู่โดยรอบ เช่น ปาไงโมตู โนมูกา เป็นต้น[135]

ทางอากาศ

ท่าอากาศยานนานาชาติฟูอาอะโมตู (IATA: TBUICAO: NFTF) ตั้งอยู่ห่างจากนูกูอาโลฟาไปทางใต้ประมาณ 21 กิโลเมตร (13 ไมล์) เป็นท่าอากาศยานที่มีความหนาแน่นของผู้ใช้บริการสูงที่สุดในประเทศตองงา ผู้ที่เดินทางมาประเทศตองงาสามารถเปลี่ยนเครื่องบินได้ที่ท่าอากาศยานแห่งนี้เพื่อเดินทางไปส่วนอื่นของประเทศ[136] ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติแห่งนี้มีเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกรวม 62 เที่ยวบิน เชื่อมต่อ 5 เมืองใน 8 ประเทศ[137] มีสายการบินเรียลตองงาใช้เป็นฐานการบิน และมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงนูกูอาโลฟากับเกาะรอบนอก เช่น ฮาอะไป นีอูอาโตปูตาปู เออัว เป็นต้น อย่างไรก็ตามท่าอากาศยานนานาชาติแห่งนี้ยังไม่มีการเชื่อมโยงกับการขนส่งมวลชนสาธารณะ ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากนูกูอาโลฟาต้องใช้รถส่วนตัวหรือแท็กซี่หรือบริการรับส่งท่าอากาศยานของโรงแรมเพื่อเดินทางมาเท่านั้น[136]

แหล่งที่มา

WikiPedia: นูกูอาโลฟา http://www.gbrathletics.com/ic/oc.htm http://www.gbrathletics.com/ic/oj.htm http://www.portsauthoritytonga.com/phocadownload/2... http://radiostationworld.com/locations/tonga/radio... http://www.tongaairports.com/airports/fuaamotu-int... http://www.weatherbase.com/weather/weather.php3?s=... http://prdrse4all.spc.int/sites/default/files/02_2... http://unfccc.int/resource/docs/natc/tonnc1.pdf http://archive.is/JhiCi http://www.royalark.net/Tonga/tupou8.htm