เศรษฐกิจ ของ นูกูอาโลฟา

นูกูอาโลฟาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ[62] หน่วยงานทางด้านการเงินที่สำคัญของประเทศอย่างธนาคารกลางตองงามีสำนักงานใหญ่อยู่ภายในเมือง[63] ปัจจุบันรายได้หลักของกรุงนูกูอาโลฟามาจากภาคการบริการ ซึ่งรวมถึงการพาณิชย์ การท่องเที่ยว การบริการสาธารณะและการเงิน รองลงมาเป็นภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมตามลำดับ[64] ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่เป็นวิชาชีพ รองลงมาเป็นผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการค้าและการบริการ และงานหัตถกรรมตามลำดับ[1] [2] นอกจากนี้ยังพบประชากรส่วนน้อยที่ประกอบอาชีพเพื่อการประทังชีวิต (subsistence workers) อีกด้วย จากสถิติสำมะโนประชากรและเคหะ ค.ศ. 2016 นูกูอาโลฟามีประชากรเพศชายเข้าสู่ระบบแรงงานร้อยละ 67.1 มากกว่าเพศหญิงที่เข้าสู่ระบบแรงงานเพียงร้อยละ 54.4 เท่านั้น ขณะที่อัตราการว่างงานของประชากรในเมืองเท่ากับร้อยละ 1.4[2]

จากรายงานสรุปความยากจนในตองงาเมื่อ ค.ศ. 2011 พบว่าค่าครองชีพภายในเมืองสูงที่สุดในประเทศ โดยมีจุดแบ่งเส้นความยากจนความต้องการพื้นฐานอยู่ที่ 61.15 ปาอางาต่อคนต่อสัปดาห์ (ประมาณ 843 บาท) เมื่อพิจารณาจากระดับราคาสินค้าและบริการตั้งแต่ ค.ศ. 2001–9 พบว่าระดับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเส้นความยากจนด้านอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.4 ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่อาหารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 115.8 อันส่งผลให้เส้นความยากจนโดยรวมขยับสูงขึ้นถึงร้อยละ 99.3 การปรับตัวที่สูงขึ้นนี้มีสาเหตุจากระดับราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายด้านการคมนาคมและค่าใช้จ่ายการใช้โทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ประชากรร้อยละ 21.4 ของเมืองดำรงชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน ซึ่งสูงกว่า ค.ศ. 2001 ที่มีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้น และนับได้ว่ากรุงนูกูอาโลฟาเป็นชุมชนที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในประเทศ โดยมีค่าสัมประสิทธิ์จีนีเท่ากับ 0.39 อย่างไรก็ตามค่าระดับความเหลื่อมล้ำยังถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ[65]

เกษตรกรรมและหัตถกรรม

(ซ้าย) ทางเข้าตลาดตาลามาฮู, (ขวา) แผงขายสินค้าการเกษตรภายในตลาดตาลามาฮู

กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของนูกูอาโลฟาเกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม[44] มีการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเนื้อมะพร้าวแห้งใน ค.ศ. 1942 เพื่อส่งเสริมการส่งออกเนื้อมะพร้าวแห้ง ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรกรรมที่สำคัญของเมือง กิจการรัฐวิสาหกิจมีความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ จนสามารถนำทุนจัดซื้อเรือสำหรับทำการขนส่ง และสร้างโรงงานแห่งใหม่ห่างจากกรุงนูกูอาโลฟา 3.2 กิโลเมตรได้[66]:406 นอกจากนี้ยังมีรัฐวิสาหกิจในลักษณะเดียวกันเพื่อส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่น เช่น สควอช วานิลลา กล้วย เป็นต้น[44][66]:406 อย่างไรก็ตามภาคเกษตรกรรมในนูกูอาโลฟากำลังประสบปัญหาความอุดมสมบูรณ์ของดินและความจำกัดของพื้นที่เพาะปลูก[67]:231–2

สินค้าหัตถกรรมก็เป็นสินค้าส่งออกสำคัญชนิดหนึ่ง[44] มีการก่อสร้างศูนย์หัตถกรรมและแกลอรีลางาโฟนูอาใน ค.ศ. 1953 เพื่อใช้จำหน่ายงานหัตถกรรมพื้นเมือง รวมไปถึงเสื้อผ้า กระเป๋าและงานศิลปะต่าง ๆ[68] ในบางครั้งอาจมีการจัดเทศกาลจำหน่ายงานหัตถกรรมในพื้นที่เมืองอีกด้วย[69]

สำหรับการซื้อขายสินค้าทางการเกษตรและหัตถกรรมที่บริโภคในประเทศจะจัดจำหน่ายที่ตลาดตาลามาฮู[70][71] ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรที่จำหน่ายมีจำนวนคิดเป็นร้อยละ 55.7 ของผลผลิตที่มีขายในประเทศ[70] นอกจากนี้ตลาดแห่งนี้ยังสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดของการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรในประเทศได้ถึงร้อยละ 21 อีกด้วย[70]

ประมง

(บน) ชายฝั่งตอนเหนือของกรุง, (ล่าง) สุสานหลวงราชวงศ์ตูโปอู

กรุงนูกูอาโลฟาเป็นศูนย์กลางของการประมงในประเทศ มีประชากรทำอาชีพประมงคิดเป็นร้อยละ 0.9[72] ในชายฝั่งทางตอนเหนือ กองเรือประมงในเมืองจะจับสัตว์น้ำในน่านน้ำใกล้เคียง เช่น ปลาทูน่าและปลากะพง เป็นต้น[44] ในขณะที่ชายฝั่งทางตอนใต้ของกรุงนูกูอาโลฟาที่ติดกับลากูน พบการทำประมงเพื่อการยังชีพ อย่างไรก็ตามด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นและการจับสัตว์น้ำด้วยวิธีการที่ทำลายระบบนิเวศ นำไปสู่การสูญเสียปะการังและสปีชีส์ของสัตว์น้ำ[67]:226 สำหรับผลผลิตที่ได้จากการประมง บางส่วนจะส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ซามัว อเมริกันซามัวและฟีจี[72]

อุตสาหกรรม

ด้วยการขาดการวางแผนที่ดีของรัฐบาล ส่งผลให้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภายในเมืองมีค่อนข้างจำกัด[67]:225 นิคมอุตสาหกรรมในกรุงนูกูอาโลฟาทั้งหมดตั้งอยู่ในหมู่บ้านมาอูฟางา ซึ่งรัฐบาลจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1980 มีพื้นที่เท่ากับ 20 เอเคอร์ (ประมาณ 0.081 ตารางกิโลเมตร) โดยแบ่งพื้นที่นิคมออกเป็น 42 ส่วน[73] รัฐบาลได้อนุญาตให้ภาคอุตสาหกรรมเช่าระยะยาวพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้[44] อุตสาหกรรมในนิคมส่วนมากเป็นอุตสาหกรรมเบา เช่น โรงงานผลิตกระดาษชำระ โรงงานผลิตของเล่น โรงงานประกอบตู้เย็น เป็นต้น[74]:160 ใน ค.ศ. 2011 รัฐบาลตัดสินใจแปรรูปศูนย์อุตสาหกรรมขนาดเล็กจากกิจการของรัฐเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการยิ่งขึ้น ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมที่มาอูฟางาเป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่งในประเทศ อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่เนอิอาฟูในเขตการปกครองวาวาอู[73]

การท่องเที่ยว

โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวของนูกูอาโลฟาจัดได้ว่าดีกว่าพื้นที่อื่นในประเทศ เนื่องจากมีร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม สิ่งอำนวยความสะดวกและที่พักเป็นจำนวนมาก[75]:109 รวมไปถึงมีบริการขนส่งมวลชนและรถจักรยานให้เช่าเพื่อเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ภายในเมือง[75]:98 แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่งแสดงถึงประวัติความเป็นมาของประเทศที่มีชื่อเสียง เช่น พิพิธภัณฑ์แห่งชาติตองงา ศูนย์หัตถกรรมลางาโฟนูอา สุสานหลวงของราชวงศ์ปัจจุบันและพระราชวัง เป็นต้น[75]:102–7 นอกจากนี้ยังมีการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับกีฬาและศาสนาอีกด้วย[75]:101–2 ในส่วนของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาตินั้น ด้วยกรุงนูกูอาโลฟามีพื้นที่ทางตอนเหนือติดทะเล จึงเป็นแหล่งดำน้ำดูปะการังและกิจกรรมทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ[75]:107 ย่านกลางคืนของเมืองมีขนาดเล็ก เพราะตองงาเป็นประเทศอนุรักษ์นิยมทางศาสนา ทว่ามีความคึกคักมากที่สุดในประเทศ[76] ย่านกลางคืนเหล่านี้จะตั้งอยู่บนถนนวูนาทางตอนเหนือของเมือง[77]

แหล่งที่มา

WikiPedia: นูกูอาโลฟา http://www.gbrathletics.com/ic/oc.htm http://www.gbrathletics.com/ic/oj.htm http://www.portsauthoritytonga.com/phocadownload/2... http://radiostationworld.com/locations/tonga/radio... http://www.tongaairports.com/airports/fuaamotu-int... http://www.weatherbase.com/weather/weather.php3?s=... http://prdrse4all.spc.int/sites/default/files/02_2... http://unfccc.int/resource/docs/natc/tonnc1.pdf http://archive.is/JhiCi http://www.royalark.net/Tonga/tupou8.htm