ประวัติศาสตร์ ของ นูกูอาโลฟา

ก่อนการเข้ามาของชาติตะวันตก

แผนที่ฉบับแรกของอ่าวโตงาตาบู ร่างโดยกัปตันเจมส์ คุกใน ค.ศ. 1777 ซึ่งแสดงถึงอ่าวนูกูอาโลฟาและจุดที่เรือของเขาทอดสมอใกล้กับเกาะปาไงโมตู มีการระบุชื่อเกาะขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียง เช่น เกาะอาตาตา เกาะปาไงโมตู เป็นต้น

ในช่วงนอร์ธกริปเปียนสมัยไมโอซีน พื้นที่ส่วนมากของนูกูอาโลฟาตั้งอยู่ใต้ทะเล และเป็นส่วนหนึ่งของลากูนฟางาอูตา มีเพียงสันทราย ดอนทรายใต้น้ำและเกาะขนาดเล็กเท่านั้นที่โผล่พ้นผืนน้ำ[4]:687–8 ชาวแลพีตา กลุ่มคนที่พูดภาษาในตระกูลภาษาออสโตรนีเชียนเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่อาศัยในเกาะโตงาตาปูในช่วง 826 ± 8 ปีก่อนคริสตกาล [18][5] ระยะแรกได้ตั้งถิ่นฐานในนูกูเลกา ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของนูกูอาโลฟา[5] และต่อมาได้ขยายชุมชนของตนสู่เกาะที่เป็นพื้นที่ของนูกูอาโลฟาในปัจจุบันด้วย[19]

ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือมานุษยวิทยาที่ชัดเจนมากนักเกี่ยวกับพื้นที่นูกูอาโลฟาก่อนการติดต่อกับชาติตะวันตก มีข้อมูลรายละเอียดทราบเพียงว่านับตั้งแต่พระเจ้าอะโฮเออิตูได้สถาปนาจักรวรรดิตูอีโตงาขึ้นใน ค.ศ. 950[20] พื้นที่นูกูอาโลฟาและเกาะโตงาตาปูก็เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิแห่งนี้ ทว่าไม่มีบทบาทหรือความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานี้มากนัก สันนิษฐานว่าพื้นที่บริเวณนี้น่าจะอยู่ภายใต้การปกครองของชนชั้นขุนนางผู้ใดผู้หนึ่ง[21]:246–7

การติดต่อกับชาติตะวันตก

ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1777 กัปตันเจมส์ คุกซึ่งเป็นชาวอังกฤษได้ทอดสมอเรือในบริเวณอ่าวนูกูอาโลฟา และได้ร่างแผนที่ของอ่าวและเกาะโดยรอบ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตั้งกรุงในปัจจุบันด้วย[22]:277–81[lower-alpha 3] ต่อมาใน ค.ศ. 1797 จอร์จ แวสัน มิชชันนารีชาวอังกฤษจากสมาคมมิชชันนารีลอนดอนเข้ามาเยี่ยมชมตองงา พร้อมทั้งระบุชื่อนูกูอาโลฟาในหนังสือของเขาที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1810 นับเป็นครั้งแรกที่ชื่อนูกูอาโลฟาปรากฏขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร[13]:68

หลัง ค.ศ. 1797 การเมืองภายในจักรวรรดิมีความวุ่นวาย นำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา[7]:122–7 พระเจ้าตูโปอูมาโลฮี ตูอิกาโนกูโปลูพระองค์ต่อมาได้ตัดสินพระทัยย้ายศูนย์กลางอำนาจจากฮีฮีโฟมาอยู่ที่นูกูอาโลฟา พร้อมทั้งสร้างป้อมปราการขึ้น ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดบนเกาะโตงาตาปู[7]:127 อย่างไรก็ตามฟีเนา อูลูกาลาลา ผู้ปกครองวาวาอูและฮาอะไปใช้ปืนใหญ่ทำลายป้อมปราการ และยึดได้ในท้ายที่สุด[14]:93-6 เมื่อยึดป้อมปราการได้สำเร็จ เขาสั่งให้มีการซ่อมแซมป้อมปราการ เพื่อรอการโจมตีกลับ ทว่าไม่มีการโจมตีใดเกิดขึ้น เขาจึงตัดสินใจออกจากเกาะโตงาตาปู โดยแต่งตั้งตาไกแห่งเปอาเป็นผู้ดูแลนูกูอาโลฟาแทนเขา แต่ตาไกทรยศเขา และทำลายป้อมปราการนูกูอาโลฟาลงอีกครั้ง[7]:128

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 พื้นที่นูกูอาโลฟากลายเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่คริสต์ศาสนา เมื่อพระเจ้าอาเลอาโมตูอา ตูอิกาโนกูโปลูพระองค์ที่ 18 มีส่วนสำคัญในการสนับสนุน ใน ค.ศ. 1826 สมาคมมิชชันนารีลอนดอนได้ส่งมิชชันนารีจากตาฮีตีเดินทางไปยังฟีจี และมีจุดแวะพักระหว่างทางที่นูกูอาโลฟา เมื่อคณะเดินทางมาถึงนูกูอาโลฟา พระองค์ได้กักตัวมิชชันนารีชาวตาฮีติ 2 คนไว้ เพื่อให้ทั้งสองคนสอนศาสนาให้แก่พระองค์ นำไปสู่การก่อสร้างโบสถ์และโรงเรียนสอนศาสนาที่นูกูอาโลฟาในเวลาต่อมา[8]:129 คริสต์ศาสนาในนูกูอาโลฟาเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น เมื่อมิชชันนารีเมธอดิสต์เข้ามารวมกลุ่มกับมิชชันนารีชาวตาฮีติที่เผยแพร่ศาสนาอยู่ก่อนหน้านั้น[8]:130 ความขัดแย้งที่มีมาก่อนหน้านั้น พัฒนาเป็นความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนคริสต์ศาสนากับกลุ่มความเชื่อดั้งเดิม โดยพระเจ้าอาเลอาโมตูอาผู้ปกครองนูกูอาโลฟาอยู่ฝ่ายสนับสนุนคริสต์ศาสนา[23]:322-8 อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายอย่างสันติของพระองค์ทำให้ไม่มีการสงครามสำคัญเกิดขึ้นในพื้นที่นูกูอาโลฟา[23]:371–2

ราชอาณาจักรตองงา

(ซ้าย) นูกูอาโลฟาใน ค.ศ. 1887; (ขวา) พระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 2 เสด็จเปิดการประชุมรัฐสภา ค.ศ. 1900

หลังจากที่พระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 สถาปนาราชอาณาจักรตองงาขึ้น พระองค์เลือกเมืองปาไงและลีฟูกาในฮาอะไปเป็นเมืองหลวงแห่งแรก ๆ ของราชอาณาจักร ก่อนที่จะย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่นูกูอาโลฟาใน ค.ศ. 1851[9][24] และมีสถานะเมืองหลวงอย่างเป็นทางการตามความในรัฐธรรมนูญตองงา ค.ศ. 1875 พร้อมทั้งกำหนดให้การประชุมรัฐสภาในยามสงบต้องเกิดขึ้นในนูกูอาโลฟาเท่านั้น[25]

เพื่อยืนยันสถานะเมืองหลวงของอาณาจักรและดำเนินการปกครองรวมศูนย์อย่างมีประสิทธิภาพ[26]:239 จึงมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อแสดงถึงความเป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองของประเทศ มีการก่อสร้างพระราชวังไม้ โดยนำเข้าวัสดุก่อสร้างจากนิวซีแลนด์เมื่อ ค.ศ. 1864 เพื่อเป็นที่ประทับอย่างเป็นทางการของพระมหากษัตริย์ ที่ประชุมคณะรัฐบาล ที่ประชุมองคมนตรีและที่ออกมหาสมาคม[27] นอกจากนี้มีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาและเปิดทำการใน ค.ศ. 1875[28][lower-alpha 4] เมื่อพระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 สวรรคตใน ค.ศ. 1893 รัฐบาลตองงาตัดสินใจเลือกจตุรัสแดง (มาลาเอกูลา) ซึ่งเคยใช้เป็นลานว่างสำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในอดีต ตั้งอยู่ใจกลางกรุงนูกูอาโลฟาเป็นที่ฝังพระบรมศพ [30] การเลือกสถานที่ฝังพระบรมศพในครั้งนี้แตกต่างจากในอดีตที่พระบรมศพของกษัตริย์สูงสุดของตองงาจะฝังที่ลางีในเมืองมูอา[31]

ใน ค.ศ. 1900 รัชกาลของพระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 2 ตองงากลายเป็นรัฐในอารักขาของสหราชอาณาจักร[32]:670 สหราชอาณาจักรได้จัดตั้งสถานกงสุลขึ้นในนูกูอาโลฟา และแทรกแซงการปกครองของตองงา ก่อให้เกิดการปฏิรูปและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในนูกูอาโลฟา มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่จำเป็นหลายอย่างภายในเมือง เช่น โรงพยาบาล หอคอยถังเก็บน้ำ เป็นต้น[33]:161–2 นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงทหารที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งตองงาเข้าร่วมอย่างไม่เป็นทางการไว้ในกรุงนูกูอาโลฟา ซึ่งแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1923[34][35]

การฉกชิงทรัพย์ในเหตุจลาจลนูกูอาโลฟา ค.ศ. 2006

กรุงนูกูอาโลฟาประสบปัญหาของการระบาดทั่วไข้หวัดใหญ่สเปนหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 1[36] ซึ่งมีสาเหตุมาจากเรือเอสเอส ทาลูนที่เข้ามาทอดสมอบริเวณท่าเรือนูกูอาโลฟาในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 เรือลำนี้มีต้นทางจากนครออกแลนด์ นิวซีแลนด์ ที่ในขณะนั้นประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส เชื้อไวรัสที่มากับเรือได้แพร่กระจายทั่วกรุงนูกูอาโลฟา ส่งผลให้มีคนเจ็บป่วยและล้มตายเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ภายในเมืองเงียบเชียบ มีเพียงเสียงของเกวียนที่บรรทุกศพไปฝังเท่านั้น[37] ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สมเด็จพระราชินีนาถซาโลเต ตูโปอูที่ 3 อนุญาตให้กองกำลังสหรัฐตั้งฐานทัพในกรุงนูกูอาโลฟาเพื่อใช้สำหรับทำสงครามในเขตมหาสมุทรแปซิฟิก พร้อมทั้งดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานห่างไปทางใต้ของเมืองหลวงเพื่อใช้เป็นที่ขึ้นลงของเครื่องบินบนเกาะโตงาตาปู[35]

นับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 บทบาทของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยมีมากขึ้น[38] มีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วนูกูอาโลฟาใน ค.ศ. 2005[39] เมื่อการเรียกร้องไม่เป็นผลนำไปสู่การเกิดการจลาจลทั่วนูกูอาโลฟาใน ค.ศ. 2006 [40] การจลาจลครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 6 คน[41] และสร้างความเสียหายให้กับย่านศูนย์กลางธุรกิจของเมืองถึงร้อยละ 80[42] รัฐบาลตองงาต้องกู้เงินจากรัฐบาลจีนกว่า 109 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซ่อมแซมย่านศูนย์กลางธุรกิจของเมืองที่ถูกทำลายในเหตุการณ์นี้[43] การดำเนินการซ่อมแซมพื้นที่ที่เสียหายดำเนินการแล้วเสร็จใน ค.ศ. 2012[44]

แหล่งที่มา

WikiPedia: นูกูอาโลฟา http://www.gbrathletics.com/ic/oc.htm http://www.gbrathletics.com/ic/oj.htm http://www.portsauthoritytonga.com/phocadownload/2... http://radiostationworld.com/locations/tonga/radio... http://www.tongaairports.com/airports/fuaamotu-int... http://www.weatherbase.com/weather/weather.php3?s=... http://prdrse4all.spc.int/sites/default/files/02_2... http://unfccc.int/resource/docs/natc/tonnc1.pdf http://archive.is/JhiCi http://www.royalark.net/Tonga/tupou8.htm