วัฒนธรรม ของ นูกูอาโลฟา

สถาปัตยกรรม

อาสนวิหารเซนต์แมรี

ในอดีตชาวนูกูอาโลฟาและชาวตองงาโดยทั่วไปจะสร้างที่พักอาศัยในลักษณะของฟาเล[lower-alpha 6] มีการแบ่งพื้นที่สำหรับการซักล้าง การทำอาหารและพื้นที่เลี้ยงหมู[84]:698–9 ด้วยการเจริญเติบโตของนูกูอาโลฟาและการติดต่อกับชาติตะวันตก ความนิยมการสร้างบ้านด้วยสถาปัตยกรรมแบบฟาเลได้เปลี่ยนไปเป็นแบบสมัยนิยมมากขึ้น[85] เช่น พระราชวังตองงาที่สร้างขึ้นในลักษณะของอาคารสองชั้นในรูปแบบวิกตอเรีย เป็นต้น[86] อย่างไรก็ตามงานสถาปัตยกรรมแบบฟาเลยังคงอยู่ในรูปแบบของศาสนสถานของคริสต์ศาสนาและอาคารสำคัญหลายแห่งในนูกูอาโลฟา[87] โดยนำวิธีการก่อสร้างสมัยใหม่เข้ามาใช้[88] เช่น อาสนวิหารเซนต์แมรี พิพิธภัณฑ์ตองงา อาคารรัฐสภาหลังเก่า และศูนย์วัฒนธรรม เป็นต้น[85]

อาหาร

โอตาอีกา

วัฒนธรรมอาหารในนูกูอาโลฟาโดยรวมไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่นของประเทศตองงามากนัก มีอาหารสำคัญ เช่น โอตาอีกาและลู เป็นต้น[89] อย่างไรก็ตามเมืองแห่งนี้ได้รับวัฒนธรรมอาหารต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารจีนและอาหารตะวันตก[90] ภายในเมืองมีการจัดจำหน่ายอาหารข้างทาง และมีแหล่งวัตถุดิบประกอบอาหารที่สำคัญอยู่ที่ตลาดตาลามาฮู[91]

เทศกาล

ภายในเมืองมีการจัดกิจกรรมและเทศกาลประจำปีเหมือนกับส่วนอื่นในประเทศ[92] ทว่างานเทศกาลที่ถือได้ว่ามีการจัดอย่างยิ่งใหญ่และเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปของนูกูอาโลฟาคือเทศกาลเฮอิลาลา ซึ่งจัดเฉลิมฉลองขึ้นเป็นระยะเวลา 2–3 สัปดาห์ ระหว่างเดือนมิถุนายน–กรกฎาคม[93] เทศกาลนี้เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1980 เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของสมเด็จพระราชาธิบดีเตาฟาอาเฮา ตูโปอูที่ 4[94] ในช่วงเทศกาล ชาวตองงาจะรวมตัวกันเพื่อร่วมชมขบวนพาเหรด บางส่วนเข้าร่วมการประกวดในกิจกรรมดนตรี กลุ่มเพื่อนและครอบครัวจะใช้โอกาสนี้ในการสนทนาพูดคุยและรับประทานอาหารร่วมกัน[92][95] สำหรับกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการประกวดนางงาม Miss Heilala ซึ่งมีสาวงามจากตองงาและต่างประเทศเข้าร่วมการประกวด[96] นอกจากเทศกาลที่จัดเป็นประจำทุกปีแล้ว ในบางครั้งอาจมีการจัดงานเฉลิมฉลองพิเศษภายในเมืองด้วย ซึ่งรัฐบาลมักประกาศให้วันเฉลิมฉลองดังกล่าวเป็นวันหยุดราชการแบบกรณีพิเศษ เห็นได้จากการจัดงานเฉลิมฉลองให้กับทีมรักบี้ลีกตองงาที่สามารถทำการแข่งขันชนะทีมสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียได้เป็นครั้งแรก[97]

สื่อ

สำนักงานคณะกรรมาธิการแพร่สัญญาณตองงา

ประชาชนสามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้มากที่สุดในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 43.88 นอกจากนี้ประชาชนในเมืองยังนิยมใช้งานโทรศัพท์มือถือในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสำหรับใช้บริการสื่อสังคมอีกด้วย ในส่วนของการเข้าถึงสื่ออื่น ๆ นั้น พบว่ามีครัวเรือนร้อยละ 83.61 มีโทรทัศน์ในครอบครองและครัวเรือนร้อยละ 36.26 มีวิทยุในครอบครอง[1]

นูกูอาโลฟาเป็นศูนย์กลางของกิจการด้านสื่อของประเทศ โดยเป็นศูนย์กลางการแพร่สัญญาณของสื่อโทรทัศน์ วิทยุและหนังสือพิมพ์ของรัฐและเอกชน คณะกรรมาธิการแพร่สัญญาณแห่งตองงาเป็นกิจการการแพร่สัญญาณแห่งแรกและใหญ่ที่สุดในประเทศ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองแห่งนี้ ได้ดำเนินการแพร่สัญญาณโทรทัศน์จำนวน 2 ช่อง ได้แก่ ทีวีตองงา 1 ครอบคลุมพื้นที่ของเกาะโตงาตาปูและเออัว[98]และทีวีตองงา 2 ที่มีการนำรายการโทรทัศน์ของประเทศจีนเข้าสู่ผังรายการด้วย[99] นอกจากสถานีโทรทัศน์ของภาครัฐแล้ว ประชาชนสามารถเลือกรับชมโทรทัศน์ในระบบเคเบิลทีวี ซึ่งมีดิจิเซล ตองงาเป็นผู้ให้บริการหลักได้[100][101] การจัดรายการของสถานีโทรทัศน์เหล่านี้จะมีทั้งรายการที่ใช้ภาษาตองงาและรายการที่ใช้ภาษาอังกฤษ[102]

ในส่วนของกิจการด้านวิทยุ คณะกรรมาธิการแพร่สัญญาณแห่งตองงามีส่วนสำคัญในการแพร่สัญญาณวิทยุเช่นกัน ผ่านการแพร่สัญญาณ 3 คลื่นความถี่ ได้แก่ เรดิโอตองงา (1017AM) กูล 90FM และ 103FM[103] นอกจากนี้เอกชนและฝ่ายศาสนาก็มีบทบาทในการแพร่สัญญาณวิทยุด้วย โดยมีสถานีวิทยุตั้งอยู่ภายในเมือง เช่น เลติโอฟากากาลีซีเตียเน (93FM)[104] และเรดิโอนูกูอาโลฟา[100] เป็นต้น

สำหรับกิจการด้านสื่อหนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่มักมีเอกชนเป็นเจ้าของและมักลงเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เช่น ไทม์ออฟตองงา มาตางีโตงา เป็นต้น[100] นอกจากกิจการสื่อหนังสือพิมพ์ของเอกชนแล้ว ในอดีตรัฐบาลเคยดำเนินกิจการหนังสือพิมพ์เป็นของตนเองในชื่อหนังสือพิมพ์ตองงาโครนิเคิลระหว่าง ค.ศ. 1960–2006 ก่อนจะแปรรูปจากกิจการของรัฐมาเป็นของเอกชนในท้ายที่สุด[105]

กีฬา

สนามกีฬาเตอูฟาอีวาเป็นสนามกีฬาหลักของนูกูอาโลฟาและประเทศ ใช้จัดการแข่งขันกีฬาหลายชนิดทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รักบี้ ฟุตบอลและกรีฑา[106][107] กีฬาที่ได้รับความนิยมจากชาวเมืองมากที่สุดคือรักบี้ ซึ่งมักมีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมากในทุกระดับการแข่งขัน[108][109]

นูกูอาโลฟาได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาหลายรายการ โดยใช้สนามกีฬาเตอูฟาอีวาเป็นสนามกีฬาหลัก การแข่งขันระดับประเทศที่จัดในนูกูอาโลฟาเป็นประจำทุกปีคือการแข่งขันกีฬาระหว่างวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นในเดือนเมษายน[110] ในส่วนของการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาตินั้น นูกูอาโลฟาเคยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาหลายรายการ เช่น เซาธ์แปซิฟิกมินิเกมส์ 1989[111] การแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โอเชียเนีย 1998[112]และการแข่งขันกรีฑาเยาวชนชิงแชมป์โอเชียเนีย 1998[113] เป็นต้น

แหล่งที่มา

WikiPedia: นูกูอาโลฟา http://www.gbrathletics.com/ic/oc.htm http://www.gbrathletics.com/ic/oj.htm http://www.portsauthoritytonga.com/phocadownload/2... http://radiostationworld.com/locations/tonga/radio... http://www.tongaairports.com/airports/fuaamotu-int... http://www.weatherbase.com/weather/weather.php3?s=... http://prdrse4all.spc.int/sites/default/files/02_2... http://unfccc.int/resource/docs/natc/tonnc1.pdf http://archive.is/JhiCi http://www.royalark.net/Tonga/tupou8.htm