ประวัติศาสตร์ ของ บอชช์

จุดเริ่มต้น

ฮ็อกวีดสามัญซึ่งในอดีตเป็นส่วนประกอบหลักของบอชช์

บอชช์มีที่มาจากซุปที่ชาวสลาฟปรุงจากฮ็อกวีดสามัญ[lower-alpha 23] หรือคาวพาร์สนิป[lower-alpha 24] ซึ่งเป็นที่มาของชื่อซุปในภาษากลุ่มสลาฟ[12] พืชชนิดนี้ขึ้นเติบโตและใช้เป็นอาหารคนและอาหารสัตว์กันทั่วไปตั้งแต่ยุโรปตะวันออกไปจนถึงไซบีเรียและภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอเมริกาเหนือ[65][66]

ชาวสลาฟจะเก็บหาฮ็อกวีดในช่วงเดือนพฤษภาคมและนำรากของมันมาทำสตูกับเนื้อสัตว์[12] ส่วนต้น ใบ และช่อซี่ร่มจะนำมาสับ เทน้ำใส่ให้ท่วม และทิ้งไว้ในที่อุ่นเพื่อให้เกิดการหมัก หลังจากผ่านไป 2–3 วัน กระบวนการหมักที่ให้กรดแล็กติกและเอทานอลจะผลิตส่วนผสมที่มีลักษณะคล้ายกับ "เบียร์ผสมเซาเออร์เคราท์"[67] ผลิตผลจากการหมักนี้จะนำไปใช้ทำซุปต่อไป

ซุปดังกล่าวมีรสเปรี้ยวจัดและมีกลิ่นฉุนกึกจากฮ็อกวีดหมัก[68] วูกัช กอแวมบียอฟสกี นักชาติพันธุ์วรรณนาชาวโปล เขียนถึงซุปนี้ในปี 1830 ว่า "ชาวโปลนิยมอาหารรสเปรี้ยวปร่ามาตลอด อาหารเหล่านี้ถือว่าเป็นจานเด่นจากบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาและมีความสำคัญต่อสุขภาพของพวกเขา"[lower-alpha 25][69] ชือมอน ซือแรญสกี นักพฤกษศาสตร์ชาวโปลในในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้บรรยาย "ฮ็อกวีดโปลของเรา"[lower-alpha 26] ไว้ว่าเป็นผักที่เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโปแลนด์ รูทีเนีย ลิทัวเนีย และเฌเม็ยติยา (กล่าวคือ ทั่วพื้นที่ส่วนใหญ่ของตอนเหนือของยุโรปตะวันออก) มักนำมาใช้ปรุง "ซุปรสชาติอร่อยเลิศ"[lower-alpha 27] กับน้ำสต๊อกไก่ตอน ไข่ ครีมเปรี้ยว และข้าวฟ่าง เขาสนใจการนำพืชนี้ไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มากกว่าการทำอาหาร และยังเคยเสนอว่าน้ำฮ็อกวีดดองสามารถใช้รักษาไข้และอาการเมาค้างได้[70]

หนึ่งในหลักฐานแรกเริ่มที่สุดที่กล่าวถึงบอชช์ในฐานะซุปคือบันทึกประจำวันของมาร์ทีน กรูเนอเวค พ่อค้าชาวเยอรมันผู้ไปเยือนเคียฟในปี 1584 หลังจากที่กรูเนอเวคเดินทางถึงแม่น้ำบอร์ชชาฮิวกาในบริเวณใกล้เคียฟเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 1584 เขาได้บันทึกตำนานท้องถิ่นที่เล่าว่าแม่น้ำนี้ได้ชื่อเช่นนั้นเพราะเคยมีตลาดขายบอชช์ตั้งอยู่ตรงนี้ อย่างไรก็ตาม เขาสงสัยถึงความเป็นไปได้ของตำนานดังกล่าวโดยตั้งข้อสังเกตว่า "ชาวรูทีเนียแทบไม่เคยซื้อบอชช์เลย เพราะทุกคนปรุงบอชช์กินเองที่บ้านในฐานะอาหารและเครื่องดื่มหลักอยู่แล้ว"[71]

หลักฐานแรกเริ่มอีกฉบับที่ระบุถึงซุปฮ็อกวีดสลาฟนี้คือ โดมอสตรอย (ระเบียบในครัวเรือน) ซึ่งเป็นหนังสือสรุปรวมกฎศีลธรรมและคำแนะนำในการดูแลบ้านของรัสเซียจากคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในนั้นได้ระบุแนะนำว่าให้ปลูกฮ็อกวีดไว้ "ข้างรั้ว รอบสวนทั้งสวน ตรงที่มีต้นเนตเทิลขึ้น" เพื่อนำมาใช้ทำซุปในฤดูใบไม้ผลิ นอกจากนี้ยังเตือนผู้อ่านให้ "เห็นแก่พระเจ้าเถอะ แบ่งบอชช์ให้แก่ผู้ที่ขัดสนด้วย"[17]

บอชช์ฮ็อกวีดส่วนใหญ่เป็นอาหารคนจน จุดเริ่มต้นอันเรียบง่ายของบอชช์ยังคงปรากฏในสำนวนโปแลนด์ที่ว่า "ราคาถูกอย่างกับบอชช์"[lower-alpha 28] ซึ่งแปลว่า "ถูกมาก ๆ" (และพิสูจน์ยืนยันได้ว่าเป็นคำยืมแบบแปลในภาษายิดดิชและภาษาอังกฤษแบบแคนาดาด้วย)[72][73] ในขณะที่การเติม "เห็ดสองดอกลงไปในบอชช์"[lower-alpha 29] มีความหมายว่า "มากเกินไป"[74] สำหรับคณะศาสนาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยกรากุฟซึ่งใช้ชีวิตแบบพรตนิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 17 บอชช์ฮ็อกวีดเป็นอาหารระหว่างฤดูถือศีลอดที่กินเป็นประจำ (บางครั้งอาจกินกับไข่ต้มแข็งยัดไส้) ตั้งแต่เทศกาลมหาพรตไปจนถึงวันอธิษฐานภาวนา[75] บอชช์ไม่ใช่อาหารที่เชื้อพระวงศ์นิยมเสวย[12] แต่ตามคำกล่าวของมาร์ชินแห่งอูแชนดุฟ นักพฤกษศาสตร์ชาวโปลจากคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งอ้างถึงโจวันนี มานาร์โด แพทย์หลวงประจำราชสำนักยากีแยววอแห่งฮังการีนั้น พระเจ้าอูลาสโลที่ 2 ซึ่งมีพระราชสมภพในโปแลนด์โปรดให้เตรียมบอชช์ฮ็อกวีดสำหรับพระองค์เสวยขณะประทับในบูดอ[76]

การพัฒนาเป็นรูปแบบอื่น

ข้าวไรย์บดหยาบที่ผสมน้ำและทิ้งไว้จนเปรี้ยว เป็นส่วนผสมหลักของบอชช์ใสแบบโปแลนด์

เมื่อเวลาผ่านไปก็ได้มีการเพิ่มส่วนผสมอื่น ๆ ลงไปในบอชช์มากขึ้นจนกระทั่งเลิกใช้ฮ็อกวีดไปในที่สุด และคำว่า บอชช์ หรือ บาชตช์ ก็กลายเป็นศัพท์สามัญที่ใช้เรียกซุปรสเปรี้ยวรูปแบบใด ๆ ก็ตาม ในชนบทของโปแลนด์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ปรากฏการใช้ศัพท์เหล่านี้เรียกซุปที่ทำจากบาร์เบอร์รี, เคอรันต์, กูสเบอร์รี, แครนเบอร์รี, ขึ้นฉ่ายฝรั่ง หรือพลัม[77][78][79]

จอห์น เจอราร์ด นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ตั้งข้อสังเกตระหว่างการอธิบายประโยชน์ของฮ็อกวีดสามัญไว้ว่า "ผู้คน [ชาวโปแลนด์] และลิทัวเนีย [ในอดีตเคย] ทำเครื่องดื่ม [ชนิดหนึ่ง] โดยต้มสมุนไพรชนิดนี้กับเชื้อหมักหรืออะไรบางอย่างที่ทำจากเมล็ดธัญพืชบดหยาบ ซึ่งใช้แทนเบียร์และเครื่องดื่มธรรมดาอื่น ๆ"[lower-alpha 30][80] นี่อาจหมายความว่า ในบางโอกาสซุปฮ็อกวีดถูกนำไปผสมกับผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักแป้งบาร์เลย์ แป้งไรย์ หรือข้าวโอ๊ตบดหยาบกับน้ำ ส่วนผสมระหว่างแป้งกับน้ำที่มีรสเปรี้ยวและมีลักษณะคล้ายวุ้นนี้มีชื่อเรียกว่า กือซิล[lower-alpha 31][81][82] (จากรากศัพท์สลาฟดั้งเดิมว่า *kyslŭ 'เปรี้ยว')[83][84] ได้รับการกล่าวถึงก่อนหน้านี้แล้วใน เรื่องเล่าจากปีที่ผ่านมา (บันทึกเหตุการณ์ของรุสเคียฟในคริสต์ศตวรรษที่ 12)[85][86] และยังคงเป็นอาหารหลักอย่างหนึ่งในตำรับอาหารยูเครนและรัสเซียมาจนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19[87] ในโปแลนด์ ซุปชนิดหนึ่งที่ทำจาก กือซิล เจือจางเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ชูร์[88] (มาจากคำเยอรมันสูงกลางว่า sūr 'เปรี้ยว')[89] หรือไม่ก็ในชื่อ บาชตช์ ซึ่งต่อมาก็เรียกใหม่เป็น บาชตช์บียาวือ 'บอชช์ขาว'[90] เพื่อแยกความแตกต่างกับบอชช์บีตรูตสีแดง

สูตรบอชช์ที่เก่าแก่ที่สุดในโปแลนด์มาจากช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 เขียนขึ้นโดยบรรดาหัวหน้าคนครัวที่ประกอบอาหารให้แก่มักเนต (อภิชน) สตาญิสวัฟ ตแชร์แญตสกี หัวหน้าแผนกครัวประจำพระองค์ของเจ้าชายอาแลกซันแดร์ มีเคา ลูบอมีร์สกี ได้ระบุสูตรบอชช์จำนวนหนึ่งไว้ใน ก็อมแป็นดิอูงแฟร์กูโลรูง (รวมอาหาร) ซึ่งเป็นตำราอาหารเล่มแรกที่ตีพิมพ์ต้นฉบับเป็นภาษาโปแลนด์ในปี 1682 ตำรานี้กล่าวถึงซุปเปรี้ยวอย่างบอชช์เลมอนและ "บอชช์หลวง" ซึ่งทำจากเนื้อปลาสด แห้ง และรมควันหลากชนิดกับรำข้าวไรย์หมัก เป็นต้น[91] เอกสารรวมสูตรอาหารต้นฉบับซึ่งมีอายุตั้งแต่ราวปี 1686 จากราชสำนักของสกุลราจีวิวว์ ได้บรรยายวิธีทำบอชช์ฮ็อกวีดผสมเมล็ดฝิ่นหรืออัลมอนด์บด เนื่องจากบอชช์ชนิดนี้เป็นอาหารในเทศกาลมหาพรต จึงมีการตกแต่งด้วยภาพหลอกตาตามแบบฉบับของครัวบารอก โดยใช้ไข่ปลอมที่ทำมาจากเนื้อปลาไพก์สับละเอียด ย้อมสีบางส่วนด้วยหญ้าฝรั่น แล้วปั้นเป็นก้อนทรงรี[68][92] สูตรทางเลือกอีกสูตรหนึ่งสำหรับบอชช์อัลมอนด์กำหนดให้ใช้น้ำส้มสายชูแทนฮ็อกวีดดอง[93]

บอชช์กะหล่ำปลีซึ่งอาจแยกความแตกต่างจาก ชี ของรัสเซียได้ยาก

ทางตะวันออกของโปแลนด์ยังมีการพัฒนาบอชช์เป็นซุปเปรี้ยวอีกหลายรูปแบบ เช่นบอชช์หอมใหญ่ที่ปรากฏสูตรการทำในตำราอาหารรัสเซียเล่มหนึ่งจากปี 1905[94] หรือบอชช์เขียวที่ทำจากซอเริลซึ่งเป็นซุปฤดูร้อนที่ยังคงเป็นนิยมในยูเครนและรัสเซีย ของขวัญแด่แม่บ้านสาว โดยเอเลนา โมโลโฮเวตส์ ซึ่งเป็นตำราอาหารรัสเซียที่ขายดีที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 19[95] และตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1861 ได้ระบุสูตรการทำบอชช์ไว้เก้าสูตร บ้างใช้ควาส (เครื่องดื่มหมักดองที่ทำจากขนมปังไรย์) เป็นพื้นฐาน[96] บอชช์หลายรูปแบบที่ใช้ควาสเป็นที่รู้จักกันในยูเครนในขณะนั้นเช่นกัน บางรูปแบบในจำนวนนี้ถือเป็นบอชช์เขียวประเภทหนึ่ง ในขณะที่บางรูปแบบมีลักษณะคล้ายคลึงกับ โอครอชกา ของรัสเซีย[40]

ก่อนการมาถึงของบอชช์บีตรูต บอชช์กะหล่ำปลีมีความสำคัญเป็นพิเศษ โดยอาจทำจากกะหล่ำปลีสดหรือจากเซาเออร์เคราท์ก็ได้ และอาจแยกความแตกต่างจากซุปกะหล่ำปลี ชี ของรัสเซียได้ยาก[97] อันที่จริง พจนานุกรมอธิบายภาษารัสเซียใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ จากคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยังนิยาม บอชช์ ว่าเป็น "รูปแบบหนึ่งของ ชี" ที่เติมบีตซาวร์ลงไปเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยวอีกด้วย[98][17] ความสำคัญของกะหล่ำปลีในฐานะวัตถุดิบจำเป็นของบอชช์ยังปรากฏในสุภาษิตยูเครนที่ว่า "ไม่มีขนมปัง ก็ไม่มีมื้อเที่ยง; ไม่มีกะหล่ำปลี ก็ไม่มีบอชช์"[lower-alpha 32][99]

ส่วนผสมใหม่: บีต มะเขือเทศ และมันฝรั่ง

ภาพเขียนแสดงชาวไร่ชาวนาเก็บเกี่ยวบีตในบริเวณที่ปัจจุบันอยู่ในประเทศยูเครน[100] ผลงานโดยแลออน วึตชูว์กอฟสกี ปี 1893

บีต (Beta vulgaris) ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นของภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนได้รับการเพาะปลูกมาตั้งแต่สมัยโบราณ[101] แต่เดิมมีเพียงใบเท่านั้นที่ใช้ประกอบอาหาร เนื่องจากรากเรียวยาวของมันมีความแข็งและมีรสขมเกินกว่าที่มนุษย์จะบริโภคได้[102] เป็นไปได้ว่ามีการใช้ใบบีตในบอชช์เขียวรูปแบบต่าง ๆ มานานก่อนการคิดค้นบอชช์แดงที่ทำจากรากบีต[17] บีตสายพันธุ์ที่มีรากแก้วเป็นทรงกลม มีสีแดง และมีรสหวานที่เรียกว่าบีตรูตนั้นยังไม่มีรายงานกล่าวถึงที่น่าเชื่อถือนักจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12[103] และยังไม่แพร่ไปถึงยุโรปตะวันออกจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 16[104] มีกอไว แรย์ กวีและนักศีลธรรมนิยมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาชาวโปล ระบุสูตรบีตรูตดองที่เก่าแก่ที่สุดของโปแลนด์ไว้ในหนังสือ ชีวิตของมนุษย์สุจริต[105] จากปี 1568 ของเขา ต่อมาบีตรูตดองดังกล่าวพัฒนาเป็น ชฟิกวา[lower-alpha 33][106] หรือ เครย์นมิตบูริก[lower-alpha 34][107] ซึ่งเป็นบีตและฮอร์สแรดิชดองที่นิยมในตำรับอาหารโปลและยิว นอกจากนี้แรย์ยังแนะนำ "น้ำดองรสอร่อย"[lower-alpha 35] ที่เหลือจากการดองบีตรูต[108] ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบแรกเริ่มของบีตซาวร์ ในการแพทย์พื้นบ้านของโปแลนด์ใช้บีตซาวร์เป็นยาแก้เมาค้าง และผสมกับน้ำผึ้งเป็นยาแก้เจ็บคอ[78]

คงไม่อาจทราบได้ว่าใครเป็นคนแรกที่ริเริ่มการปรุงรสบอชช์ด้วยบีตซาวร์ซึ่งยังทำให้ซุปมีสีแดงอย่างที่คุ้นเคยกันในปัจจุบันนี้ หนึ่งในการกล่าวถึงบอชช์ที่ใส่บีตรูตดองครั้งแรกสุดมาจากอันเดรย์ ไมเออร์ นักชาติพันธุ์วรรณนาชาวรัสเซียซึ่งเขียนในหนังสือปี 1781 ว่าผู้คนในยูเครนทำบีตแดงดองกับพืชสกุลเหงือกปลาหมอ (Acanthus) ซึ่งนำมาใช้ปรุงบอชช์อีกทีหนึ่ง[109] หนังสือ คำบรรยายเขตผู้ว่าราชการคาร์กิว จากปี 1785 ซึ่งบอกเล่าวัฒนธรรมอาหารของชาวยูเครน ระบุว่าบอชช์เป็นอาหารที่มีการบริโภคมากที่สุด โดยปรุงขึ้นจากบีตและกะหล่ำปลีกับเครื่องเทศสมุนไพรหลากชนิดและข้าวฟ่างในควาสรสเปรี้ยว และมักปรุงกับมันหมูหรือมันวัว กับเนื้อแกะหรือเนื้อสัตว์ปีกในโอกาสเทศกาล และกับเนื้อสัตว์ป่าที่ล่ามาได้ในบางครั้ง[110] พจนานุกรมภาษาโปล-เยอรมัน ปี 1806 ของแยชือ ซามูแอล บันต์กีแย เป็นเอกสารฉบับแรกที่นิยาม บาชตช์ ว่าเป็นซุปเปรี้ยวที่ทำมาจากบีตรูตดอง[111] ข้อเท็จจริงที่ว่าตำราอาหารรัสเซียและโปแลนด์จำนวนหนึ่งจากคริสต์ศตวรรษที่ 19 เช่น คู่มือแม่บ้านรัสเซียมากประสบการณ์ (1842) โดยเยคาเจรีนา อัฟเดเยวา[112][113] หรือ คนครัวลิทัวเนีย (1854) โดยวินต์แซนตา ซาวัตสกา[114] เรียกบอชช์บีตรูตว่า "บอชช์รัสเซียน้อย"[lower-alpha 36] (ในบริบทนี้ "รัสเซียน้อย" ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ยูเครนภายใต้ปกครองของจักรวรรดิรัสเซียในขณะนั้น) แสดงให้เห็นว่าบอชช์บีตรูตได้รับการคิดค้นขึ้นในบริเวณที่เป็นยูเครนในปัจจุบัน[2] ซึ่งมีดินและภูมิอากาศที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งต่อการเพาะปลูกบีต ตำนานยูเครนซึ่งเป็นได้ว่ามีต้นกำเนิดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยกให้บอชช์บีตรูตเป็นสิ่งประดิษฐ์ของชาวคอสซักซาปอรอฌเฌียที่รบให้กับกองทัพโปแลนด์ระหว่างเดินทางไปทำลายการปิดล้อมเวียนนาในปี 1683 หรือไม่ก็ของชาวคอสซักลุ่มน้ำดอนที่รบให้กับกองทัพรัสเซียระหว่างการล้อมเมืองอะซอฟในปี 1695[17]

กองกิสตาดอร์ชาวสเปนนำมันฝรั่งและมะเขือเทศจากทวีปอเมริกามายังทวีปยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 16 แต่เพิ่งจะมีการเพาะปลูกและบริโภคผักเหล่านี้กันทั่วไปในยุโรปตะวันออกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เท่านั้น ในที่สุดทั้งสองก็กลายมาเป็นอาหารหลักของชาวไร่ชาวนาและส่วนผสมสำคัญในบอชช์ยูเครนและรัสเซีย บางสูตรเริ่มใช้มันฝรั่งแทนเทอร์นิปและเริ่มใช้มะเขือเทศสด มะเขือเทศกระป๋อง หรือมะเขือเทศบดเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยวแทนบีตซาวร์ ไม่พบการใช้เทอร์นิปในสูตรบอชช์สมัยใหม่เท่าใดนัก และต่อให้พบก็จะใช้ร่วมกับมันฝรั่งเสมอ[17] ในยูเครนมีการใช้ทั้งบีตซาวร์และมะเขือเทศอยู่ระยะหนึ่งจนถึงช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อมะเขือเทศเป็นที่นิยมมากกว่าในที่สุด[115]

การแพร่กระจายไปทั่วโลก

บอชช์ในเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์

ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ความนิยมของบอชช์ได้แพร่กระจายไปไกลกว่าถิ่นกำเนิดของมันในแถบสลาฟ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ อย่างการขยายอาณาเขตของจักรวรรดิรัสเซีย อิทธิพลทั้งทางการเมืองและทางวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งขึ้นของรัสเซีย และคลื่นผู้อพยพย้ายถิ่นออกจากรัสเซียเป็นต้น เมื่อรัสเซียขยายพื้นที่ครอบคลุมส่วนใหญ่ของยูเรเชียตอนเหนือและตอนกลาง บอชช์ก็ได้รับการเผยแพร่เข้าไปในตำรับอาหารของชนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งที่อาศัยอยู่ภายในและที่อาศัยอยู่ติดกับจักรวรรดิ ไม่ว่าจะเป็นฟินแลนด์[116] คอเคซัส[48][117] อิหร่าน[118] เอเชียกลาง[119][120] จีน หรืออะแลสกา (อเมริกาของรัสเซีย)[121]

ทางตะวันตกของยุโรปนั้นกลับไม่นิยมบอชช์เท่า ชาวเยอรมันเคยดูแคลนบอชช์เช่นเดียวกับอาหารอื่น ๆ จากยุโรปตะวันออก[2] สิ่งที่ช่วยให้ชาวยุโรปตะวันตกคุ้นเคยกับบอชช์มากขึ้นคือธรรมเนียมปฏิบัติของจักรพรรดิรัสเซียและของอภิชนรัสเซียและโปแลนด์ในการจ้างหัวหน้าคนครัวชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงมาปรุงอาหารให้ หัวหน้าคนครัวเหล่านี้ได้เรียนรู้และพัฒนาบอชช์ในรูปแบบของตนเอง พร้อมทั้งนำกลับไปยังฝรั่งเศส หนึ่งในหัวหน้าคนครัวเหล่านี้คือมารี–อ็องตวน กาแรม ซึ่งเคยทำอาหารถวายแด่จักรพรรดิอะเล็กซานเดอร์ที่ 1 เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในปี 1819[122] เขาได้นำบอชช์รัสเซียมาเป็นแรงบันดาลใจในการสรรค์สร้างอาหารชั้นสูงที่มีกลิ่นอายแปลกใหม่แบบตะวันออก[123] นอกจากผักและบีตซาวร์แล้ว สูตรของเขายังให้ใส่เนื้อไก่ย่าง เนื้อไก่ทอด เนื้อเป็ด เนื้อลูกวัว หางวัว ไขกระดูก เบคอน และไส้กรอกชิ้นใหญ่ และยังแนะนำให้เสิร์ฟกับเกอแนลเนื้อวัว ไข่ต้มแข็งยัดไส้ และครูตงอีกด้วย[18] โอกุสต์ แอ็สกอฟีเย ซึ่งฝึกงานกับกาแรมและตื่นตาตื่นใจกับสีแดงทับทิมของบอชช์มาก ได้ปรับสูตรของอาจารย์ให้เรียบง่ายขึ้นแต่ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาชื่อชั้นของ ปอตาฌบอตช์[lower-alpha 37] ('ซุปบอชช์') ไว้ในตำรับอาหารฝรั่งเศส[124] อูร์แบ็ง ดูว์บัว และเอมีล แบร์นาร์ ซึ่งเคยได้รับการว่าจ้างในราชสำนักโปแลนด์ได้นำเสนอบอชช์สู่สาธารณชนฝรั่งเศสในฐานะซุปของโปแลนด์ หนังสือ ลากุยซีนกลาซิก (ตำรับอาหารคลาสสิก) ที่ทั้งสองแต่งและตีพิมพ์ในปี 1856 ได้บรรจุสูตรบอชช์โดยใช้ชื่อแบบอธิบายว่า ปอตาโฌฌูว์เดอแบ็ตราวาลาปอลอแนซ[lower-alpha 38] ('ซุปน้ำบีตแบบโปแลนด์')[125] ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนชื่อเป็น ปอตาฌบาร์ชาลาปอลอแนซ[lower-alpha 39] ในฉบับพิมพ์ครั้งที่สามในปี 1868[126] ในปี 1867 ปรากฏการเสิร์ฟบอชช์กับปลาเฮร์ริง, ปลาสเตอร์เจียน, คูเลเบียกา, เนื้อทอดแบบโปจาร์สกี และสลัดวีแนแกร็ต[127] ในมื้ออาหารค่ำธีมรัสเซียที่มหกรรมนานาชาติในปารีสซึ่งทำให้ซุปนี้ถูกนำมาเชื่อมโยงกับตำรับอาหารรัสเซียมากยิ่งขึ้น[128]

กรอสซิงเงอส์แคตสกิลล์ในรัฐนิวยอร์ก ซึ่งจำหน่ายบอชช์ตลอดวัน

การอพยพขนานใหญ่ของชนกลุ่มน้อยทางศาสนาที่ถูกข่มเหงจากจักรวรรดิรัสเซียไปยังอเมริกาเหนือ มีส่วนสำคัญในการพาบอชช์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก คลื่นผู้อพยพย้ายถิ่นระลอกแรก ๆ เกิดขึ้นในช่วงที่บอชช์กะหล่ำปลีกำลังได้รับความนิยมอย่างน้อยในพื้นที่หลายส่วนของรัสเซีย ชาวเมนโนไนต์จากภูมิภาควอลกาซึ่งเริ่มเดินทางมาถึงแคนาดาและสหรัฐในคริสต์ทศวรรษ 1870[129] ยังคงหลีกเลี่ยงที่จะใส่บีตรูตในบอชช์ของพวกเขา[17] โดยสูตรบอชช์เมนโนไนต์มีทั้ง ค็อมสท์บอชท์[lower-alpha 40] (ใส่กะหล่ำปลีหรือเซาเออร์เคราท์) และ ซ็อมมาบอชท์[lower-alpha 41] ("บอชช์ฤดูร้อน" ที่ใส่ซอเริล)[129] สารานุกรมยิว ที่ตีพิมพ์ในปี 1906 ระบุว่าในตำรับอาหารยิวอเมริกันในเวลานั้น ค็อมสท์บอชท์ ซึ่งทำจากกะหล่ำปลีได้รับความนิยมมากกว่าบอชช์ที่ทำจากบีต[54] การย้ายถิ่นเข้ามาของชาวยิวในสมัยหลังได้ช่วยเผยแพร่บอชช์แดงให้เป็นที่นิยมในทวีปอเมริกา

ในคริสต์ทศวรรษ 1930 โรงแรมส่วนใหญ่ในสหรัฐปฏิเสธที่จะรับแขกชาวยิวเนื่องจากกระแสต่อต้านยิวอย่างกว้างขวางในเวลานั้น ชาวยิวจากรัฐนิวยอร์กจึงเริ่มเดินทางไปพักร้อนตามสถานตากอากาศที่มีชาวยิวเป็นเจ้าของในทิวเขาแคตสกิลล์ พื้นที่ดังกล่าวเติบโตเป็นศูนย์กลางความบันเทิงหลักของชาวยิว มีร้านอาหารจำนวนมากที่บริการอาหารยิวอัชเกนัซแบบกินได้ไม่อั้น ซึ่งรวมถึงบอชช์จำนวนมาก กรอสซิงเงอส์ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานตากอากาศที่ใหญ่ที่สุดในแถบนั้นมีบอชช์จำหน่ายตลอดวัน ภูมิภาคนี้กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ "บอชต์เบลต์" ซึ่งแม้ว่าในระยะแรกจะเป็นคำเรียกในเชิงเย้ยหยัน แต่ก็ตอกย้ำความนิยมเชื่อมโยงบอชช์เข้ากับวัฒนธรรมยิวอเมริกัน[2] เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาเยือนในฤดูร้อน จึงนิยมเสิร์ฟบอชช์แบบเย็น มาร์ก โกลด์ เป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดโดยผลิตบอชช์มากถึง 1,750 ตันสั้น (1,590 ตัน) ต่อปีในช่วงที่ธุรกิจเติบโตถึงขีดสุด[130] บอชช์ของโกลด์ประกอบด้วยปูว์เรบีตรูตปรุงรสด้วยน้ำตาล เกลือ และกรดซิตริก[131] มักผสมกับครีมเปรี้ยวแล้วเสิร์ฟเป็นเครื่องดื่มเพื่อความสดชื่นซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น "สมูทธีบีต" นีโคไล บูร์ลาคอฟฟ์ ผู้เขียน โลกของบอชช์รัสเซีย ระบุว่า "น้ำซุปใส ๆ สีม่วง ๆ" เช่นนั้น "ในอเมริกาได้รับการนำไปเชื่อมโยงกับบอชช์โดยทั่วไป และกับบอชช์ยิวโดยเฉพาะ"[132]

ในสหภาพโซเวียต

ในสหภาพโซเวียต บอชช์เป็นหนึ่งในอาหารสามัญที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เจมส์ มีก ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษประจำเคียฟและมอสโก เคยบรรยายบอชช์ในสหภาพโซเวียตว่าเป็น "ลักษณะร่วมกันแห่งครัวโซเวียต เป็นจานอาหารที่ยึดโยง ... โต๊ะอาหารชั้นสูงของเครมลินและโรงอาหารชั้นเลวที่สุดในชนบทของเทือกเขายูรัลเข้าด้วยกัน ... ซุปบีตรูตที่สูบฉีดประดุจเส้นเลือดแดงหลักไปตามครัวในแผ่นดินสลาฟตะวันออก"[133] ในบรรดาผู้นำแห่งสหภาพโซเวียต เลโอนิด เบรจเนฟ ซึ่งเกิดในยูเครนดูจะโปรดปรานบอชช์เป็นพิเศษ ภริยาของเขายังคงปรุงบอชช์ให้เป็นการส่วนตัวแม้ว่าทั้งคู่จะย้ายเข้าเครมลินไปแล้วก็ตาม[122]

บอชช์ในรูปอาหารหลอดสำหรับเป็นอาหารในอวกาศ

บอชช์ยังมีบทบาทมากในโครงการอวกาศของสหภาพโซเวียต ในเดือนมีนาคม 1961 ระหว่างการทดสอบอุปกรณ์สื่อสาร ได้มีการแพร่ภาพสูตรการทำบอชช์ที่บันทึกเทปไว้ล่วงหน้าจากยานอวกาศโครับล์-สปุตนิก 4 ยานลำนี้ซึ่งในขณะนั้นบรรทุกสัตว์จำนวนหนึ่งและหุ่นมนุษย์หนึ่งตัวได้รับการส่งขึ้นสู่วงโคจรต่ำเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเที่ยวบินที่มีนักบินอวกาศควบคุม[134] ในที่สุดบอชช์ก็ได้เดินทางออกนอกโลกในฐานะอาหารอวกาศสำหรับนักบินอวกาศโซเวียตและรัสเซีย

ส่วนผสมทั้งหมดของบอชช์อวกาศ (ซึ่งรวมเนื้อวัว บีตรูต กะหล่ำปลี มันฝรั่ง แครอต หอมใหญ่ รากพาร์สลีย์ และมะเขือเทศบด) จะถูกนำไปปรุงสุกแยกกันแล้วจึงนำมารวมกันทีละอย่างตามลำดับที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด จากนั้นจะผ่านการฆ่าเชื้อ การบรรจุหลอด การผนึกสุญญากาศ แล้วนำไปนึ่งอัดไอ ในคริสต์ทศวรรษ 1970 หลอดบอชช์ถูกแทนที่ด้วยบรรจุภัณฑ์บอชช์ที่ผ่านการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็งและประกอบด้วยผักปรุงสุกเป็นคำ ๆ บรรจุภัณฑ์นี้สามารถในไปเติมน้ำให้กลายเป็นบอชช์พร้อมกินได้ต่อไป[135]

แหล่งที่มา

WikiPedia: บอชช์ http://www.britannica.com/EBchecked/topic/74492/bo... http://www.etnobiologia.com/2012/eb2_15-22%20lucza... http://www.etymonline.com http://www.etymonline.com/index.php?search=borscht http://www.jewishencyclopedia.com/articles/4638-co... http://www.oxfordreference.com/view/10.1093/acref/... http://www.oxfordreference.com/view/10.1093/acref/... http://www.oxfordreference.com/view/10.1093/acref/... http://www.oxfordreference.com/view/10.1093/acref/... http://dictionary.reference.com/