การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ของ บูโพรพิออน

โรคซึมเศร้า

การวิเคราะห์อภิมานปี 2018 พบหลักฐานอ่อนสนับสนุนการใช้บูโพรพิออนสำหรับโรคซึมเศร้า โดยมีการทดลองอยู่ไม่กี่ครั้ง และมีหลักฐานอยู่น้อยซึ่งแสดงว่าบูโพรพิออนมีฤทธิ์แก้ซึมเศร้าอย่างอ่อน การวิเคราะห์อภิมานปี 2016 พบว่าการบำบัดด้วยบูโพรพิออนสำหรับโรคซึมเศร้าดีกว่ายาหลอก การทดลองส่วนใหญ่ซึ่งเปรียบเทียบบูโพรพิออนกับยาแก้ซึมเศร้าตัวอื่นแสดงประสิทธิผลค้ลายกัน แต่ข้อค้นพบนี้บางส่วนตั้งอยู่บนหลักฐานคุณภาพต่ำ การวิเคราะห์อภิมานปี 2009 พบว่าบูโพรพิออนมีประสิทธิผลพอ ๆ กับยาที่สั่งอย่างกว้างขวางชนิดอื่น รวมทั้งฟลูอ็อกเซทีนและพาร็อกเซทีน แม้มีการสังเกตแนวโน้มสนับสนุนประสิทธิพลังของเอสไซตาโลแพรม เซอร์ทราลีน และเว็นลาฟาซีนเหนือบูโพรพิออน และยังพบว่าเมอร์เทซาพีนมีประสิทธิผลมากกว่าบูโพรพิออน

บูโพรพิออนได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2006 สำหรับป้องกันการเกิดโรค​ซึมเศร้า​ตาม​ฤดู​กาล (seasonal affective disorder; SAD)[13] ในบางประเทศ (ได้แก่ ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร) การใช้บูโพรพิออนเพื่อรักษาโรคซึมเศร้าและโรค​ซึมเศร้า​ตาม​ฤดู​กาลนั้นถือเป็นการใช้ยานอกเหนือจากข้อบ่งใช้[14][15] บทปฏิทรรศน์คอคแครนว่าด้วยการใช้บูโพรพิออนแบบออกฤทธิ์นานสำหรับรักษาโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลพบว่าบูโพรพิออนมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรคซ้ำ ทว่า ผู้ใช้ยาสามในสี่จะไม่ได้ประโยชน์จากการรักษาและอาจเสี่ยงเกิดอันตรายได้

บูโพรพิออนมีคุณลักษณะหลายประการที่ทำให้มันต่างจากยาแก้ซึมเศร้าตัวอื่น ตัวอย่างเช่น ยานี้ไม่ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศและยังไม่สัมพันธ์กับภาวะง่วงซึมหรือน้ำหนักเกินซึ่งต่างจากยาแก้ซึมเศร้าส่วนใหญ่ ในผู้ซึมเศร้าที่มีอาการง่วงซึมและอ่อนเพลีย พบว่าบูโพรพิออนมีประสิทธิภาพมากกว่าสารยับยั้งการเก็บกลับซีโรโทนินแบบเจาะจง (SSRI) ในการบรรเทาอาการเหล่านี้ ดูเหมือนมีข้อดีเล็กน้อยสำหรับ SSRI เหนือบูโพรพิออนในการบำบัดโรคซึมเศร้าชนิดกังวล

การใช้ยาบูโพรพิออนเสริม SSRI ที่มีการสั่งเป็นวิธีที่พบทั่วไปเมื่อบุคคลไม่ตอบสนองกับ SSRI แม้ดังนี้มิใช่ข้อบ่งชี้ที่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ การใช้ยาบูโพรพิออนเพิ่มใน SSRI (ที่พบบ่อยที่สุดคือฟลูอ็อกเซทีนหรือเซอร์ทราลีน) อาจทำให้อาการในผู้ป่วยบางคนดีขึ้นในผู้ที่ตอบสนองต่อยาแก้ซึมเศร้าอันดับแรกอย่างไม่สมบูรณ์

การเลิกบุหรี่

แพทย์สั่งบูโพรพิออนเพื่อช่วยเลิกบุหรี่[16][17] บูโพรพิออนลดความรุนแรงของอาการขาดนิโคตินและลดอาการถอนนิโคตินได้[18] ทั้งนี้ ประสิทธิผลของบูโพรพิออนในการงดเสพบุหรี่ลดลงตามเวลา โดยผู้ใช้ยา 20% ยังงดเสพบุหรี่ได้เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี บูโพรพิออนเพิ่มโอกาสการเลิกบุหรี่ประมาณ 1.6 เท่า ประสิทธิผลของบูโพรพิออนเปรียบได้กับการบำบัดการทดแทนนิโคติน แต่มีประสิทธิผลน้อยกว่าวาเรนิคลิน (varenicline)[18]

การศึกษาในสัตว์บ่งชี้ว่า การบริหารบูโพรพิออนในขนาดต่ำกว่าขนาดแนะนำในการรักษาอาจมีผลเสริมคุณสมบัติการให้รางวัล (rewarding properties) ของนิโคตินได้ กล่าวคือ การได้รับยานี้ในขนาดต่ำจะกระตุ้นให้เกิดการบริหารนิโคตินให้กับตนเองของสัตว์ทดลอง (nicotine self-administration) แต่การได้รับบูโพรพิออนขนาดสูงจะช่วยลดการทำงานของระบบรางวัลได้[19] ในออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร บูโพรพิออนเป็นการใช้ที่ได้รับอนุญาตอย่างเดียว ในสหรัฐ องค์การอาหารและยาอนุญาตการวางตลาดของบูโพรพิออนสำหรับโรคซึมเศร้าและการเลิกบุหรี่[14][15]

โรคซนสมาธิสั้น

ยังไม่ชัดเจนว่าบูโพรพิออนปลอดภัยหรือมีประสิทธิผลสำหรับการรักษาโรคซนสมาธิสั้นในเด็กหรือไม่ แนวทางปี 2007 ว่าด้วยการรักษาโรคซนสมาธิสั้นจากวิทยาลัยจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นแห่งอเมริกาสังเกตว่าหลักฐานสำหรับบูโพรพิออน "อ่อนมาก" จนองค์การอาหารและยาไม่น่าอนุมัติการรักษา ผลของยายัง "ด้อยกว่าสารที่ได้รับอนุญาตอย่างมาก ... ฉะนั้นอาจเป็นการรอบคอบสำหรับแพทย์ในการแนะนำให้ทดลองบำบัดด้วยพฤติกรรมก่อนในขั้นนี้ ก่อนเดินหน้าสารในลำดับที่สอง" ในทางคล้ายกัน แนวทางกระทรวงบริการสาธารณสุขของรัฐแห่งเท็กซัสแนะนำให้พิจารณาบูโพรพิออนหรือยาแก้ซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิกเป็นการรักษาลำดับที่ 4 หลังลองใช้สารกระตุ้นต่างกันสองชนิดและอะโทม็อกเซทีน (atomoxetine)

นอกจากนี้ยังไม่ชัดเจนว่าบูโพรพิออนปลอดภัยหรือมีประสิทธิผลสำหรับการบำบัดโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ เพราะหลักฐานเปรียบเทียบระหว่างบูโพรพิออนกับยาหลอกสำหรับการบำบัดโรคสมาธิสั้นที่มีอยู่มีคุณภาพต่ำ

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

บูโพรพิออนมีโอกาสก่อให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศน้อยกว่ายาแก้ซึมเศร้าตัวอื่น การศึกษาหลายครั้งแสดงให้เห็นว่าบูโพรพิออนไม่เพียงมีผลข้างเคียงต่อระบบเพศน้อยกว่ายาแก้ซึมเศร้าอื่นเท่านั้น แต่ที่จริงยังช่วยบรรเทาภาวะหย่อนสมรรถนะทางเพศได้ด้วย[20] จากการสำรวจจิตแพทย์พบว่า บูโพรพิออนจัดเป็นยาทางเลือกแรกสำหรับการรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่มียากลุ่มที่ทำหน้าที่ยับยั้งการเก็บกลับเซโรโทนินเหนี่ยวนำ แม้ไม่ใช่ข้อบ่งใช้ที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอนุญาต นอกจากนี้ยังมีการศึกษาหลายครั้งที่เสนอว่าบูโพรพิออนอาจช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศในหญิงความต้องการทางเพศลดลง (hypoactive sexual desire disorder) ที่ไม่ซึมเศร้าด้วย[21]

โรคอ้วน

การใช้บูโพรพิออนเพื่อรักษาโรคอ้วนเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 6–12 เดือนอาจทำให้น้ำหนักลดลงได้มากกว่ายาหลอกเฉลี่ย 2.7 กิโลกรัม[22] แต่ผลนี้ไม่ได้แตกต่างจากผลลดน้ำหนักจากยาอื่นหลายชนิด เช่น ไซบูทรามีน หรือออร์ลิสแตท เป็นต้น[22] ยังมีการศึกษาบูโพรพิออนผสมกับนาลเทรกโซน[23] ข้อกังวลเกี่ยวกับบูโพรพิออนมีความดันโลหิตสูงขึ้นและอัตราหัวใจเต้นเร็วขึ้น[23] ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2014 ยาสูตรผสมนี้ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาให้ใช้เป็นยารักษาโรคอ้วน[24]

วัตถุประสงค์อื่น

มีข้อถกเถียงว่าการเติมยาแก้ซึมเศร้าอย่างบูโพรพิออนกับยาควบคุมอารมณ์มีประโยชน์ในบุคคลซึมเศร้าสองขั้วหรือไม่ แต่บทปฏิทัศน์ล่าสุดสรุปว่า บูโพรพิออนในสถานการณ์นี้ไม่มีอันตรายอย่างสำคัญและบางทีอาจให้ประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญได้[25][26] ส่วนการใช้บูโพรพิออนเพื่อบำบัดรักษาการติดโคเคนนั้นพบว่าไม่มีประสิทธิภาพ แต่มีหลักฐานอ่อนว่าอาจมีประโยชน์ในการรักษาการติดเมแทมเฟตามีน[27] ข้อมูลจากการศึกษาหลายการศึกษาบ่งชี้ว่าบูโพรพิออนลดระดับสารตัวกลางอักเสบ (inflammatory mediators) ชนิดทีเอ็นเอฟ-อัลฟา จึงมีการเสนอแนะว่าอาจมีประโยชน์ในการรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease) หรือภาวะภูมิต้านตนเองอื่น ๆ แต่ยังมีการศึกษาทางคลินิกน้อยมาก[28] ทั้งนี้ บูโพรพิออนสามารถไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังเช่นเดียวกันกับยาต้านซึมเศร้าชนิดอื่น[29] ยกเว้นดูล็อกซีทีน (Cymbalta)[30] อย่างไรก็ตาม บางการศึกษาพบว่า บูโพรพิออนนั้นมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดเหตุโรคเส้นประสาท (Neuropathic pain) บางชนิดได้[31]

แหล่งที่มา

WikiPedia: บูโพรพิออน http://82.77.46.154/gsdldata/collect/whodruginfo/i... http://globalnews.ca/news/846576/antidepressant-we... http://www.biospace.com/news_story.aspx?StoryID=18... http://www.chemspider.com/Chemical-Structure.431.h... http://www.clinicaltherapeutics.com/article/S0149-... http://www.cnn.com/HEALTH/library/DI/00069.html http://www.emedexpert.com/facts/bupropion-facts.sh... http://www.gsk.com/investors/reports/gsk_q22006/q2... http://www.gsk.com/media/pressreleases/2007/2007_0... http://www.medscape.com/viewarticle/574187