อาการไม่พึงประสงค์ ของ บูโพรพิออน

กราฟเปรียบเทียบการเกิดอาการง่วงซึม (Somnolence) ระหว่างบูโพรพิออนกับยาชนิดต่างๆ ในกลุ่ม SSRIs ในการศึกษาทางคลินิก โดยพบว่าบูโพรพิออนทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวได้น้อยกว่ายากลุ่ม SSRIs อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเกือบทุกการศึกษา[32]

การชักถือเป็นอาการไม่พึงประสงค์สำคัญที่สุดของบูโพรพิออน อุบัติการณ์การชักที่สูงเป็นสาเหตุให้มีการถอนออกจากตลาดยาในช่วง ค.ศ. 1986–1989 ความเสี่ยงต่อการชักแปรผันตรงกับขนาดยาอย่างมาก แต่ยังขึ้นอยู่กับรูปแบบยาเตรียมเช่นกัน บูโพรพิออนรูปแบบออกฤทธิ์เนิ่นจะมีอุบัติการณ์การชักประมาณร้อยละ 0.1 เมื่อใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน และร้อยละ 0.4 ที่ขนาด 300–400 มิลลิกรัมต่อวัน[33] ส่วนบูโพรพิออนในรูปแบบออกฤทธิ์ทันทีจะมีอุบัติการณ์การชักร้อยละ 0.4 เมื่อใช้ยาในขนาดต่ำกว่า 450 มิลลิกรัมต่อวัน และเพิ่มเป็นร้อยละ 5 เมื่อใช้ยาในขนาด 450–600 มิลลิกรัมต่อวัน[33] เมื่อเปรียบเทียบอุบัติการณ์การเกิดอาการชักครั้งแรกที่ไม่มีปัจจัยกระตุ้น (unprovoked seizure) ในกลุ่มประชากรทั่วไปจะเกิดขึ้นได้ประมาณร้อยละ 0.07–0.09 และความเสี่ยงดังกล่าวในกลุ่มประชากรที่ได้รับการรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้าชนิดอื่นทั่วไปมีประมาณร้อยละ 0.1–1.5 เมื่อใช้ยาขนาดที่แนะนำ[34] ทั้งนี้ มีรายงานว่าโรคซึมเศร้าเองเพิ่มโอกาสการชัก และการศึกษาที่สอบสวนข้อมูลการทดลองทางคลินิกขององค์การอาหารและยาสหรัฐพบว่า ส่วนใหญ่การใช้ยาต้านซึมเศร้าในขนาดต่ำหรือปานกลางอาจไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการชักโดยสิ้นเชิง[35] อย่างไรก็ตาม ในการศึกษาเดียวกันยังพบว่า ในกลุ่มยาที่ใช้ต้านซึมเศร้าทุกชนิดนั้น มีบูโพรพิออนและโคลมิพรามีนที่สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการชักที่สูงขึ้น[35]

ยายังอาจก่อให้เกิดความดันโลหิตสูงที่อาจรุนแรงได้ในผู้ที่ได้ยาบางคนทั้งในผู้ที่เคยและไม่เคยมีประวัติความดันโลหิตสูงเดิม ความถี่ของผลข้างเคียงนี้น้อยกว่าร้อยละ 1 และไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมือเทียบกับยาหลอก[4] บทปฏิทัศน์ข้อมูลที่มีอยู่ซึ่งจัดทำขึ้นใน ค.ศ. 2008 บ่งชี้ว่า บูโพรพิออนปลอดภัยสำหรับใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจรุนแรงหลายรูปแบบ[36]

ในสหราชอาณาจักร มีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยามากกว่า 7,600 รายงานจากระบบการรายงานพิเศษสำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากยาที่เรียกว่า Yellow Card Scheme ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ว่าอาจมีความสัมพันธ์กับการใช้บูโพรพิออน โดยรายงานเหล่านั้นล้วนเป็นรายงานที่เกิดขึ้นใน 2 ปีหลังจากที่บูโพรพิออนได้รับการรับรองจากองค์กรควบคุมยาและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ (Medicines and Healthcare Products Regulatory Agency, MHRA) ในช่วงเวลานั้นมีผู้ได้รับบูโพรพิออนสำหรับช่วยเลิกบุหรี่มากถึง 540,000 คน นอกจากนี้ MHRA ยังได้รับรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จนอันตรายถึงแก่ชีวิตจำนวน 60 รายงานที่คาดว่าอาจเกิดจากการใช้ Zyban (ชื่อการค้าของบูโพรพิออนในสหราชอาณาจักร) โดย MHRA ได้ออกมาให้ข้อสรุปในประเด็นดังกล่าวว่า "กรณีศึกษาตามรายงานดังกล่าวนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะโรคร่วมของแต่ละรายอาจให้คำอธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้"[37] ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาขนาดใหญ่ที่ทำการศึกษาความปลอดภัยของบูโพรพิออนในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 9,300 คน และให้ผลการทดลองที่บ่งชี้ว่า อัตราการตายของผู้สูบบุหรี่ที่ได้รับบูโพรพิออนเพื่อช่วยเลิกบุหรี่นั้นไม่ได้สูงไปกว่าอัตราการตายโดยธรรมชาติของผู้สูบบุหรี่ที่มีอายุในช่วงวัยเดียวกันแต่อย่างใด[38]

เป็นที่ทราบกันดีว่า ยาที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้าทั่วไปนั้นมักก่อให้อาการไม่พึงประสงค์ที่พบเห็นได้บ่อย คือ อาการง่วงซึม (somnolence) การศึกษาทางคลินิกถึงความชุกของการเกิดอาการดังกล่าวในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยบูโพรพิออนพบว่า ความชุกดังกล่าวไม่ได้แตกต่างไปจากยาหลอกจนมีนัยยะแต่อย่างใด และเมื่อเปรียบเทียบกับยาต้านซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิกและทราโซโดนพบว่า บูโพรไพออนทำให้เกิดการง่วงซึมได้น้อยกว่ายาดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากบูโพรพิออนส่งผลต่อตัวรับฮีสตามีนและตัวรับเซโรโทนินได้น้อยกว่า[39][40][41][42] ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับยากลุ่มที่ทำหน้าที่ยับยั้งการเก็บกลับเซโรโทนิน (SSRIs) ก็ให้ผลไปในทางเดียวกันกับที่ทำการศึกษาเทียบกับยากลุ่มไตรไซคลิก ดังแผนภาพแสดงด้านบน[43][44][45][46][47]

อาการด้านจิตเวช

ความผิดปกติทางจิตที่คาดว่าอาจมีความสัมพันธ์กับการใช้บูโพรพิออนนั้นมีการบันทึกเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1982 โดยผู้ป่วยทั้งหมดในการศึกษาที่ได้รับการรักษาด้วยบูโพรพิออนมีการรับรู้ที่ผิดปกติ ในบางรายมีอาการรุนแรงมากจนต้องมีการหยุดใช้ยาดังกล่าว ซึ่ง ณ ขณะเป็นช่วงก่อนที่องค์การอาหารและยาจะมีการรับรองการขึ้นทะเบียนยาดังกล่าว[48] รวมไปถึงการศึกษาความปลอดภัยของบูโพรพิออนก่อนออกสู่ท้องตลาดในปี ค.ศ. 1986 ที่พบว่ามีอุบัติการ์การเกิดอาการประสาทหลอน และอาการหลงผิดในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยบูโพรพิออนร้อยละ 2.8 และ 1.4 ตามลำดับ จากผลดังกล่าว ผู้วิจัยจึงไม่แนะนำให้ใช้บูโพรพิออนเป็นทางเลือกแรกในการรักษาผู้ป่วยที่เคยมีประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคจิตเภทมาก่อน[49]

การศึกษาทางคลินิกหลังจากบูโพรพิออนได้รับการขึ้นทะเบียนยาพบว่า ความคิดและพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในผู้ที่ใช้ยาบูโพรพิออนนั้นพบอุบัติการณ์การเกิดได้น้อยมาก ถึงกระนั้นก็ตาม องค์การอาหารและยาได้มีการกำหนดกำหนดกฏไว้ว่า ยาต้านซึมเศร้าทุกชนิด รวมถึงบูโพรพิออน จะต้องมีกล่องข้อความเตือนบนฉลากยาถึงความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายที่อาจเพิ่มขึ้นได้ในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 25 ปี ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านซึมเศร้า โดยอิงข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ทางสิถิติที่ดำเนินการโดยองค์การอาหารและยาเอง ซึ่งพบว่า การใช้ยาต้านซึมเศร้าเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมหรือความคิดที่จะฆ่าตัวตายในเด็กและวัยรุ่นได้ประมาณ 2 เท่า และ 1.5 เท่า ในกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 18–24 ปี[50] อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิเคราะห์ขององค์การอาหารและยาข้างต้นซึ่งเป็นการวิเคราะห์ผลรวมของการศึกษาอื่นจำนวน 295 การศึกษาที่เกี่ยวเนื่องกับยาต้านซึมเศร้าจำนวน 11 ชนิดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีนัยสำคัญทางสถิติ กลับพบว่า การเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงต่อการพฤติกรรมหรือมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายในผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยบูโพรพิออนไม่ได้มีความแตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาหลอกจนถึงระดับที่มีนัยสำคัญทางสถิติแต่อย่างใด[50] แต่ในกรณีที่มีการสั่งใช้ยาบูโพรพิออนเพื่อเป็นสารช่วยเลิกบุหรี่นั้นจะมีความกังวลเกี่ยวกับการเกิดอุบัติการณ์ดังกล่าวไม่มากเท่าใดนัก โดยข้อมูลจากการวิเคราะห์วรรณกรรมขององค์การความร่วมมือคอเครนเมื่อ ค.ศ. 2014 พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างการฆ่าตัวตายกับการใช้ยาบูโพรพิออนนั้นยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดเท่าใดนัก[51] ต่อมาในปี ค.ศ. 2016 องค์การอาหารและยาได้ประกาศให้นำกล่องข้อความเตือนถึงความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางจิตออกจากฉลากของบูโพรพิออน เฉพาะในกรณีการใช้เพื่อเป็นสารช่วยเลิกบุหรี่[52]

ในปี ค.ศ. 2009 องค์การอาหารและยาได้ออกประกาศเตือนถึงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้บูโพรพิออนเพื่อเลิกบุหรี่กับการมีพฤติกรรมที่ผิดแปลกไป, กระวนกระวาย และไม่เป็นมิตร และจากข้อมูลที่ได้จากผู้ให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่พบว่าบางรายมีอาการซึมเศร้าหรือทำให้อาการซึมเศร้าที่มีอยู่เดิมรุนแรงมากขึ้น มีความคิดอยากตายหรืออยากฆ่าตัวตาย รวมไปถึงเคยพยายามที่จะฆ่าตัวตาย[53] โดยคำเตือนที่ประกาศออกมานี้อิงจากผลการทบทวนข้อมูลของรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากสารช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งพบว่ามีรายงานจำนวน 10 รายงานที่พบการเกิดพฤติกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการฆ่าตัวตายในผู้ที่ได้รับบูโพรพิออนในช่วงเวลามากกว่า 10 ปีที่มีการบันทึกรายงาน[54] อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการวิเคราะห์วรรณกรรมอย่างเป็นระบบเมื่อปี ค.ศ. 2011 พบว่า การเหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติทางจิตของบูโพรพิออนนั้นเกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มตัวอย่างบางกลุ่มเท่านั้น อาทิ ผู้ป่วยที่มีประวัติมีความผิดปกติทางจิตมาก่อน, ผู้ป่วยที่มีการใช้สารเสพติด, ผู้ที่ใช้ยาอื่นที่เกิดอันตรกิริยากับบูโพรพิออน รวมถึงการใช้บูโพรพิออนในขนาดสูงก็อาจก่อให้เกิดความผิดปกติดังกล่าวได้เช่นกัน โดยผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตมาก่อนอยู่แล้วอาจมีอาการแย่ลงได้เมื่อได้รับการรักษาด้วยบูโพรพิออน[55] โดยความผิดปกติทางจิตจากบูโพรพิออนที่พบเกิดขึ้นในการศึกษาดังกล่าว ได้แก่ หลงผิด, ประสาทหลอน, หวาดระแวง และสับสน โดยส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะลดลงหรือหายไปเมื่อลดขนาดหรือหยุดบูโพรพิออนที่ใช้ในการรักษา รวมไปถึงการใช้ยาอื่นเพื่อระงับอาการทางจิตที่เกิดขึ้น[4][55] อย่างไรก็ตาม การเพิ่มเบนโซไดอะซีปีนในการรักษาอาการจิตแทนที่จะเป็นยาระงับอาการทางจิตอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า หากอิงตามรูปแบบของการรักษาโรคจิตที่เกิดจากแอมเฟตามีน[56] ดังนั้น จึงอาจพอสรปุได้ว่า อาการทางจิตที่เกิดขึ้นจากการใช้บูโพรพิออนนั้นมีความสัมพันธ์กับหลายปัจจัย ได้แก่ การใช้บูโพรพิออนในขนาดสูง ประวัติการเป็นโรคจิตหรืออารมณ์สองขั้ว ยาอื่นที่ใช้ร่วม เช่น ลิเทียม หรือเบนโซไดอะซีปีน การมีอายุมาก และการใช้สารเสพติด เป็นต้น[55][57]

ในการศึกษาขนาดใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1999 ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับโปรแกรมที่ใช้บูโพรพิออนเพื่อเป็นสารช่วยในการเลิกสูบบุหรี่หรือการรักษาภาวะซึมเศร้าพบว่ายาดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดอาการถอนยาแต่อย่างใด[58] แต่ในปี ค.ศ. 2002 กลับรายงานผู้ป่วยสองรายที่มีอาการถอนยาเมื่อหยุดการใช้ยาบูโพรพิออนที่ใช้เพื่อในการเลิกสูบบุหรี่ แต่ผู้บันทึกได้ให้คำแนะนำว่า เพื่อป้องกันการเกิดอาการถอนยาบูโพรพิออนดังเช่นกรณีนี้ ควรลดขนาดบูโพรพิออนลงทีละน้อยจนกระทั่งผู้ป่วยหยุดยาได้ในที่สุด[59] แต่ข้อมูลการสั่งใช้บูโพรพิออนในปัจจุบันนั้นให้ข้อมูลที่แตกต่างไปจากกรณีดังข้างต้น โดยระบุว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้วิธีการลดขนาดยาลงทีละน้อยในผู้ที่ต้องการหยุดการรักษาด้วยบูโพรพิออน[2]

แหล่งที่มา

WikiPedia: บูโพรพิออน http://82.77.46.154/gsdldata/collect/whodruginfo/i... http://globalnews.ca/news/846576/antidepressant-we... http://www.biospace.com/news_story.aspx?StoryID=18... http://www.chemspider.com/Chemical-Structure.431.h... http://www.clinicaltherapeutics.com/article/S0149-... http://www.cnn.com/HEALTH/library/DI/00069.html http://www.emedexpert.com/facts/bupropion-facts.sh... http://www.gsk.com/investors/reports/gsk_q22006/q2... http://www.gsk.com/media/pressreleases/2007/2007_0... http://www.medscape.com/viewarticle/574187