อรรถาธิบาย ของ ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี

ในหนังสือเรื่อง “The Future of Freedom: Illiberal Democracy at Home and Abroad” ของฟารีด ซาคาเรีย (Fareed Zakaria)[2] ได้พูดถึงประชาธิปไตยแบบไม่เสรีไว้ว่า เสรี (liberal) กับประชาธิปไตย (democracy) มักถูกกล่าวถึงร่วมกันในประเทศตะวันตก แต่ทั้ง 2 คำ ไม่จำเป็นต้องเกิดควบคู่กันเสมอไป คำว่าประชาธิปไตยจะมาพร้อมกับการตัดสินใจด้วยเสียงข้างมาก (majority rule) แต่คำว่าเสรีจะมีลักษณะเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคล (individual freedom) ซึ่งเสรีภาพของปัจเจกบุคคลหลายครั้งมักจะพบกับปัญหาความขัดแย้งกับการตัดสินใจโดยเสียงข้างมาก หรือเผด็จการเสียงข้างมาก (tyrannical majority) ฉะนั้น บางประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง แต่อาจจะไม่ได้มอบสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน หรือบางครั้งการตัดสินใจโดยเสียงข้างมากได้ไปกระทบกระเทือนถึงสิทธิส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น รัสเซีย ที่มีผู้ปกครองมาจากการเลือกตั้ง แต่ได้มีกฎหมายที่จำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และเสรีภาพของสื่อไว้อย่างชัดเจน รวมไปถึงบทบาทของผู้นำที่เน้นอำนาจบารมีและใช้กลไกรัฐในการควบคุมประชาชนด้วยความรุนแรง ผูกขาดอำนาจในการเข้าถึงข้อมูล และควบคุมสื่อ[3]

คำว่าประชาธิปไตยแบบไม่เสรีจึงมักใช้อธิบายประเทศที่มีประชาธิปไตยแต่เพียงในเชิงรูปแบบ แต่ไม่ส่งเสริมเสรีภาพของประชาชน ขอยกตัวอย่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สิงคโปร์ เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย มีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีข้อกฎหมายหลายอย่างที่จำกัดเสรีภาพในการออกเสียงในสภาและการทำงานของฝ่ายค้าน รวมถึงข้อบังคับในการจัดตั้งพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่จะเข้ามาแข่งขันกับพรรค People's Action Party (PAP) ทำให้การแข่งขันของพรรคการเมืองไม่เสรี เพราะถูกผูกขาดโดยพรรครัฐบาล เช่นเดียวกับมาเลเซียที่ถูกผูกขาดอำนาจโดยพรรค United Malays National Organization (UMNO) และยังสามารถอธิบายการเมืองฟิลิปปินส์ ที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้ป่วยแห่งเอเชีย (Sick Man of Asia) เพราะแม้จะมีประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญที่ถูกวางรากฐานจากสหรัฐอเมริกา แต่การเมืองยังคงเป็นระบบพวกพ้อง การอุปถัมภ์ทางการเมือง มีการใช้เงินซื้อสิทธิขายเสียง และมีการคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง[4]