ในประเทศไทย ของ ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี

มุมมองและกรณีตัวอย่างในบทความนี้อาจไม่ได้แสดงถึงมุมมองที่เป็นสากลของเรื่อง คุณสามารถช่วยแก้ไขบทความนี้ โดยเพิ่มมุมมองสากลให้มากขึ้น หรือแยกประเด็นย่อยไปสร้างเป็นบทความใหม่ (Learn how and when to remove this template message)

สำหรับประเทศไทย คำว่าประชาธิปไตยแบบไม่เสรีถูกนำมาใช้อธิบายการเมืองไทยในช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ ประมาณปี พ.ศ. 2523-31 และอธิบายการเมืองไทยยุคธนาธิปไตย (money politics) รวมไปจนถึงหลังปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา โดยเกษียร เตชะพีระ (2551) กล่าวถึงประชาธิปไตยแบบไม่เสรีไว้ว่า ในทวีปละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชียหลายประเทศ บางทีก็เรียกว่า "ระบอบเลือกตั้งธิปไตย" (electocracy - electocrats) หรือเรียกผู้กุมอำนาจในระบอบนี้ว่า “democratators” หรือ "จอมบงการประชาธิปไตย" จนกระทั่งระบอบประชาธิปไตยไม่เสรีถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น "the fallacy of electoralism" เป็นรูปแบบการเมืองที่เน้นการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว โดยเน้นหลักความเสมอภาคและอำนาจอธิปไตยของประชาชนผ่านการเลือกตั้งและพรรคการเมืองโดดๆ ด้านเดียว แต่ละเลยหรือล่วงละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพและหลักนิติธรรมไปเสีย เข้าทำนอง elections = democracy ไป

สำหรับการอธิบายบริบทการเมืองไทย เกษียร เตชะพีระ ได้กล่าวถึงประชาธิปไตยแบบไม่เสรีโดยกล่าวถึงสถานการณ์โดยรวมช่วงปี พ.ศ. 2531-2540 ว่าความไม่เสรีของประชาธิปไตยไทยเป็นผลจากการเข้ากุมอำนาจการเมืองโดยกลุ่มนายทุนหัวเมือง/นักเลือกตั้ง (provincial capitalists/ electocrats) และสถานการณ์โดยรวมช่วงปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา เกิดการประชันขันแข่งกันระหว่างรูปแบบประชาธิปไตยต่างๆ และถูกเรียกขานแตกต่างกันไป เช่น ประชาธิปไตยไม่เสรีหรือประชาธิปไตยอำนาจนิยม (illiberal/authoritarian democracy) เสรีอัตตาธิปไตย (liberal autocracy) เผด็จการทหารของพลังระบบราชการ ชนชั้นนำและคนชั้นกลางซึ่งมีที่มาจากคณะรัฐประหาร และระบอบเสรีประชาธิปไตยครึ่งใบ (liberal semi-democracy) ของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดและพันธมิตรของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับประชามติ พ.ศ. 2550 ซึ่งลดความสำคัญของหลักความเสมอภาคทางอำนาจ และอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง และพรรคการเมืองลง หันไปขยายบทบาทอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลของบรรดาสถาบันที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมาก (non-majoritarian institutions) และการเลือกตั้งที่เชื่อมโยงกับประชาชน เช่น ฝ่ายตุลาการ วุฒิสภา และองค์กรอิสระต่างๆ[5]