ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ของ ประวัติศาสตร์ทิเบต

ชาวจีนและชาวทิเบต-พม่าดั้งเดิมอาจจะแยกออกจากกันเมื่อราว 3,457 ปีก่อนพุทธศักราช เมื่อชาวจีนเริ่มอพยพเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ในขณะที่ชาวทิเบตพม่าดั้งเดิมยังเป็นผู้ร่อนเร่ ชาวทิเบตแยกตัวออกจากชาวพม่าชัดเจน เมื่อราว พ.ศ. 943[1] [2]

พบหลักฐานในยุคเหล็กและยุคสำริดในที่ราบสูงฉางตั้งแต่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด วัฒนธรรมในบริเวณนี้เป็นที่รู้จักในชื่อวัฒนธรรมจางจุง ซึ่งมีกล่าวถึงในเอกสารโบราณของทิเบตและเป็นจุดเริ่มต้นของศาสนาบอน

ตำนานทางประวัติศาสตร์

กษัตริย์องค์แรกของทิเบต ญาตริ ซันโป (ระบบ Wylie: Gnya-khri-btsan-po) ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ทูโบ เชื่อกันว่าเป็นผู้เสด็จมาจากสวรรค์หรือมาจากอินเดีย และโดยลักษณะที่แปลกไปจากมนุษย์เช่น มีพังผืดระหว่างนิ้วและหนังตาปิดจากล่างขึ้นบน คนท้องถิ่นจึงเชื่อว่าพระองค์เป็นเทวดามาจุติ มีอิทธิฤทธิ์พลังวิเศษ กษัตริย์พระองค์นี้และองค์ต่อ ๆ มาทั้งหมด 7 องค์ ติดต่อกับสวรรค์ได้โดยมีสายเชือกโยงกับสวรรค์ เป็นลำแสงสูง 1 ฟุตอยู่เหนือศีรษะ เมื่อสิ้นพระชนม์ก็กลายร่างเป็นสายรุ้งหรือไต่บันไดฟ้ากลับคืนสู่สรวงสรรค์ โดยไม่มีกายหยาบเหลือทิ้งไว้

กษัตริย์องค์ที่ 8 คือ กริกัมซันโป (Dri-gum-brtsan-po) ยุแหย่ให้องครักษ์ของพระองค์ชื่อโลงัม (Lo-ngam) ต่อสู้กับพระองค์ ในระหว่างการต่อสู้ สายเชือกที่โยงพระองค์กับสวรรค์ถูกตัดขาด และพระองค์ถูกฆ่าตาย ตั้งแต่นั้นมากษัตริย์ทุกพระองค์จึงทิ้งซากศพไว้ในเมืองมนุษย์ และต้องนำไปฝัง[3]

อีกตำนานหนึ่งชาวทิเบตเป็นลูกหลานของลิงกับยักษ์ ลิงนั้นจริง ๆ แล้วคือ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (ภาษาทิเบต: Spyan-ras-gzigs) ส่วนยักษ์นั้นคือพระนางตารา (ภาษาทิเบต:'Grol-ma) [4]

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย