ยุคศาสนจักร ของ ประวัติศาสตร์ทิเบต

ยุคอิทธิพลมองโกล

ชาวทิเบตรับรู้ถึงการที่ชาวมองโกลเข้าครอบครองจักรวรรดิตันกัต ใน พ.ศ. 1750 การติดต่อระหว่างทิเบตกับมองโกลที่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกคือการพบปะระหว่างเจงกีสข่านกับซังปะ ดุงคุรวาและศิษย์อีกหกคนซึ่งอาจจะเป็นการพบกันในเขตจักรวรรดิตันกัตเมื่อ พ.ศ. 1758

หลังจากเจ้าชายโกเดนแห่งมองโกลเข้าควบคุมโกโกนอร์ในพ.ศ. 1782 เพื่อหาโอกาสเข้าตีจีนในสมัยราชวงศ์ซ้องจากทางตะวันตกเขาได้ส่งนายพลคอร์ดาไปสำรวจทิเบตเมื่อ พ.ศ. 1783 ในระหว่างการเดินทางครั้งนี้ วัดของนิกายกรรมะปะถูกเผาและคน 500 คนถูกฆ่า ความตายของโอโกเดย ข่านสูงสุดของมองโกลใน พ.ศ. 1784 ทำให้แผนการณ์ครองโลกชะงักไปชั่วคราว มองโกลเริ่มสนใจทิเบตเมื่อ พ.ศ. 1787 เมื่อเจ้าชายโกเดนเชิญสักยะบัณฑิตผู้นำนิกายสักยะ มายังเมืองหลวงของพระองค์ซึ่งถือเป็นการยอมจำนนต่อมองโกลของทิเบต สักยะบัณฑิตไปถึงโกโกนอร์พร้อมด้วยหลานชายสองคนคือ โดรกอน โชกยัล พักปะ และชนะ ดอร์เจ เมื่อ พ.ศ. 1789 เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่นักประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่กล่าวว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน อย่างไรก็ตามมีข้อโต้แย้งจากนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ทิเบตว่ายุคของมองโกล ทิเบตกับจีนถือเป็นหน่วยทางการเมืองคนละหน่วยกัน

การถูกรวมเข้ากับจีนครั้งที่สอง

ทิเบตภายใต้การปกครองของราชวงศ์หยวน

อาณาเขตราชวงศ์หยวน (ขอบเขตมองโกลปกครองในจีน)

เมื่อมองเกเป็นข่านสูงสุดของมองโกลเมื่อ พ.ศ. 1794 เขาได้มอบหมายให้น้องชายคือกุบไลข่านเป็นผู้ดูแลทิเบต และหาโอกาสรุกรานจีน ใน พ.ศ. 1796 สักยะบัณฑิตถึงแก่กรรม กุบไลข่านจึงตั้งให้ โดรกอน โชกยัล พักปะ เป็นตัวแทนของทิเบต กุบไลข่านได้รับเลือกเป็นข่านสูงสุดของมองโกลหลังจากที่มองเกข่านถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 1803 เป็นช่วงจังหวะที่มองโกลส่งกองทัพเข้าตีประเทศจีนได้สำเร็จ ราชวงศ์ซ่งล่มสลาย ดินแดนจีนถูกปกครองในที่สุด กุบไลข่านได้ตั้งราชวงศ์แบบจีนขึ้นนามว่า ราชวงศ์หยวน ดินแดนทิเบตได้ถูกรวมให้อยู่ในเขตการปกครองของดินแดนจีน

ต่อมา พ.ศ. 1808 โดรกอน โชกยัล พักปะ กลับสู่ทิเบตและตั้งให้นกายสักยะเป็นผู้ปกครองมีอำนาจสูงสุดในทิเบตเมื่อ พ.ศ. 1810 ยุคนี้ทิเบตถูกแบ่งออกเป็น 13 เขต

เมื่อ พ.ศ. 1812 โดรกอน โชกยัล พักปะ เดินทางไปพบกุบไลข่านอีกครั้งที่เมืองคานบาอิก (ปัจจุบันคือปักกิ่ง) เขาได้ประดิษฐ์อักษรสำหรับภาษามองโกเลียเรียกอักษรพัก-ปา ทำให้ได้รับการยืนยันอีกครั้งว่าเขาคือผู้มีอำนาจปกครองทิเบต นิกายสักยะมีอำนาจในทิเบตจนถึงพุทธศตวรรษที่ 19 แม้ว่าจะมีการกบฏโดยนิกายกาจูที่ได้รับการสนับสนุนจากฮึเลกึข่านในเขตอิลข่าน การกบฏเริ่มเมื่อ พ.ศ. 1828 และถูกปราบโดยความร่วมมือของนิกายสักยะและทหารมองโกลตะวันออกใน พ.ศ. 1833 โดยมีการเผาวัดของนิกายกาจู และมีคนถูกฆ่าถึง 10,000 คน

ใน พ.ศ. 2089-2130 มีกษัตริย์มองโกลนามว่า อัลตัลข่าน ได้พบกับประมุขสงฆ์ของนิกายเกลุกที่ชื่อว่า สอดนัมยาโส แล้วเลื่อมใส เนื่องจากท่านสืบเชื้อสายมาจากนิกายสักยะ และพักโมดรุ ซึ่งเป็นตระกูลที่มีอิทธิพลในทิเบต มีการดัดแปลงวัดที่นิกายอื่นอ่อนแอในการปกครอง และทิ้งให้ร้างให้เป็นวัดนิกายเกลุก (หมวกเหลือง) กษัตริย์มองโกลทรงเชื่อว่าประมุขสงฆ์นี้เคยเป็นอาจารย์ของพระองค์ในชาติก่อน เมื่อพระองค์เสวยพระชาติเป็นกุบไลข่าน จึงถวายตำแหน่ง "ทะไลลามะ" (คำว่าทะไลลามะ "ทะไล" เป็นภาษามองโกลแปลว่า ทะเล หรือ กว้างใหญ่ "ลามะ" หมายถึง พระหรือคฤหัสถ์ที่มีความรู้ความชำนาญ แต่ชาวทิเบตนิยมใช้คำว่า "คยาวา ริมโปเช" คือ ชัยรัตนะ) นับว่าเป็นต้นกำเนิดทะไลลามะครั้งแรก และท่านสอดนัมวังยาโสก็ได้ถวายตำแหน่ง "ธรรมราชาทรงความบริสุทธิ์" แก่อัลตันข่านเป็นการตอบแทน ท่านสอดนัมวังยาโสถือว่าตนเองเป็นทะไลลามะองค์ที่ 3 เพราะท่านได้ถวายตำแหน่งย้อนขึ้นไปแก่อวตารในสองชาติแรกของท่านด้วย ในขณะที่ท่านมีพระชนม์ชีพท่านได้สร้างวัดพระพุทธรูปหนึ่งพันองค์ ได้เผยแผ่พระศาสนาสู่มองโกเลีย และทิเบตตะวันออกซึ่งเคยเป็นดินแดนอิทธิพลของลัทธิบอน จนท่านได้ตำแหน่งพิเศษจากราชวงศ์หมิงของจีน ถึงยุคทะไลลามะองค์ที่ 4 นิกายหมวกเหลืองก็ยังเจริญรุ่งเรืองเพราะมีทหารมองโกลหนุนหลังอยู่

ยุคทะไลลามะครองอำนาจ

ในยุคของโลซัง กยัตโส ทะไลลามะองค์ที่ 5 (พ.ศ. 2158-2223 ชาวมองโกลในทิเบตไม่มีเอกภาพ ทำให้เจ้าเมืองซังอัน ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งของทิเบตชิงบัลลังก์ลาซาไปได้ ทะไลลามะองค์นี้ซึ่งมีมองโกลสนับสนุน จึงขอความช่วยเหลือไปยัง กุชรีข่าน ผู้นำมองโกลให้มายึดอำนาจคืนสำเร็จ และมอบอำนาจการปกครองทิเบตทั้งหมด คือฝ่ายอาณาจักร และศาสนจักรให้แก่ทะไลลามะ และเป็นครั้งแรกที่ทะไลลามะได้อำนาจสูงสุดทั้งหมด จากนั้นท่านก็ได้ย้ายที่ประทับที่พระราชวังโปตาลา นครลาซา ชาวทิเบตมีความเชื่อว่าทะไลลามะเป็นอวตารของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ผู้กรุณา และเชื่อว่าปันเชนลามะ ผู้มีอำนาจรองจากทะไลลามะเป็นอวตารของพระอมิตาภะ แต่ทะไลลามะนั่งสมาธิแบบเนียงมา พลอยทำให้นิกายเนียงมาเจริญไปด้วย แต่นิกายโจนังหลังจากท่านตารนาถ ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์มีชื่อเสียงแล้วถูกยึดวัดทั้งหมด ถือว่านิกายเกลุกพัฒนารุ่งเรืองตามคำสอนของพระนาครชุน พระอสังคะ เป็นต้น แม้ลัทธิบอนก็ยังนำไปพัฒนาตนเองของตนเอง จนทะไลลามะสวรรคต ชาวทิเบตจึงถวายพระนามว่า "มหาปัญจะ" เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ แม้พระองค์จะเสด็จสวรรคตแล้วยังมีผู้อ้างว่าทะไลลามะเสด็จเข้าสมาธิระยะยาว แล้วสำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยปิดข่าวการสวรรคตนานถึง 13 ปี เพื่องานฟื้นฟูวังโปตาลาต่อไป จากนั้นมีการแต่งตั้งทะไลลามะองค์ที่ 6 แต่พระองค์โปรดการแต่งกวี และสนใจผู้หญิง ไม่สนใจบริหารประเทศ จึงถูกเนรเทศไปจีนแต่สิ้นพระชนม์ระหว่างทาง

ในสมัยของทะไลลามะองค์ที่ 5 มีมิชชันนารีนิกายเยซูอิตสองคนเข้าไปถึงทิเบตแต่ไม่ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ มีมิชชันนารีกลุ่มอื่น ๆ เข้าไปในทิเบตด้วยเช่นกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย