ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ของ ประวัติศาสตร์รัสเซีย

ที่ราบทางตอนใต้

สันนิษฐานว่าชาวอินโด-ยูโรเปียนเคยตั้งถิ่นฐานที่ที่ราบทางตอนใต้ของรัสเซีย

จากหลักฐานการขุดค้นทางด้านโบราณคดี นักโบราณคดีได้ลงความเห็นว่าเขตทางภาคใต้ของรัสเซีย ซึ่งเรียกว่าเขตที่ราบสเตปป์ เป็นทางที่พวกเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์จากทวีปเอเชียมักจะเข้าไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากินอยู่เนือง ๆ เนื่องจากว่าพวกเร่ร่อนเหล่านี้พบว่าเขตสเตปป์นี้เป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การกสิกรรมและเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก ดังนั้น กลุ่มชนเร่ร่อนทั้งหลายผู้มีอารยธรรมเป็นของตนเองจากทวีปเอเชียจึงมักจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน และมักจะทำการรบการพุ่งกันเองอยู่เนือง ๆ และกับกลุ่มผู้เร่ร่อนจากต่างถิ่น ผู้ได้ข่าวว่าดินแดนทางเขตสเตปป์ของรัสเซีย เป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ ดังนั้นดินแดนทางภาคใต้ของรัสเซียจึงเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุด

จักรวรรดิเคียฟรุส

ดูบทความหลักที่: จักรวรรดิเคียฟรุส
จักรวรรดิเคียฟรุสในคริสต์ศตวรรษที่ 11

ประวัติศาสตร์รัสเซียเริ่มขึ้นอย่างแท้จริงในปี พ.ศ. 1405 เนื่องจากในปีนั้นได้มีชนชาติสแกนดิเนเวียกลุ่มหนึ่งได้เข้ามารุกรานรัสเซียทางฝั่งทะเลบอลติก ชาวสแกนดิเนเวียเรียกตัวเองว่า "รุส" ในภาษานอร์แมนหรือพวกไวกิ้ง ยุโรปตะวันตกเรียกว่า "วาแรนเจียน" พวกชาวรุสกลุ่มนี้ได้โจมตีเมืองซูซอฟช์ในแคว้นไครเมีย และตั้งผู้นำของตัวเองที่ชื่อว่า รูลิค เป็นเจ้าผู้ครองเมืองนอฟโกรอด (Grand prince of Novgorod) ในปี พ.ศ. 1405 รูลิคครองนครนอฟโกรอด จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 1418 นายทหารคนสนิทของรูลิคนามว่า โอเลก ได้เข้ายึดอาณาจักรเคียฟในปี พ.ศ. 1425 ทำให้อาณาจักรนอฟโกรอดและอาณาจักรเคียฟมีกษัตริย์แห่งราชวงศ์รูลิคครองเหมือนกันพวกเชื้อพระวงศ์รูลิคทั้งหลายได้ปกครองเผ่าสลาฟตะวันออกเผ่าต่าง ๆ และได้ทำให้นครเคียฟมีความสำคัญและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการเมืองของเผ่าสลาฟต่าง ๆ เรื่อยมาจนกระทั่งถูกพวกมองโกลเข้ามารุกรานในราวคริสต์ศตวรรษที่ 13

เจ้าผู้ครองนครเคียฟได้มีการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับจักรวรรดิไบแซนไทน์ ถึงกับที่เจ้าผู้ครองนครเคียฟองค์หนึ่งทรงพระนามว่า เจ้าชายวลาดีมีร์ที่ 1 แห่งเคียฟได้อภิเษกสมรสกับพระขนิษฐาของสมเด็จพระจักรพรรดิบาซิลที่ 2 แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Emperor Basil II) ทั้ง ๆ ที่พระองค์มีมเหสีถึง 7 พระองค์แล้ว การอภิเษกครั้งนี้ได้ทำให้เจ้าชายวลาดีมีร์ทรงยอมนับถือศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออร์ทอดอกซ์ ในปีพ.ศ. 1531 พระองค์ได้ทรงประกาศให้ประชาชนนับถือศาสนาตามอย่างพระองค์ด้วยมีการสร้างโบสถ์ทั้งราชอาณาจักรและมีการสร้างโรงเรียนในวัด เฉพาะแต่เด็กชายมีศักดิ์เท่านั้นที่จะศึกษาเล่าเรียนได้

เจ้าผู้ครองเรือนนครเคียฟที่สำคัญที่สุด ทรงพระนามว่า เจ้าชายยาโรสลาฟผู้ชาญฉลาด พระองค์ได้ทรงขยายอาณาจักรไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่ทางทะเลบอลติกเรื่อยลงไปถึงที่ราบลุ่มแถบทะเลดำทั้งหมดทางแถวปากแม่น้ำวอลกา จนถึงเทือกเขาคาร์เพเทียน เจ้าชายยาโรสลาฟได้ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ โดยจัดการให้พระญาติวงศ์อภิเษกพวกราชวงศ์ของประเทศยุโรปตะวันตก พระองค์เองนั้นได้อภิเษกกับเจ้าหญิงแห่งประเทศสวีเดน พระโอรสทั้งสามพระองค์ได้อภิเษกกับพระราชธิดาพระเจ้าแผ่นดินประเทศฝรั่งเศส ฮังการี และนอร์เวย์ พระขนิษฐาองค์หนึ่งของพระองค์เป็นพระมเหสีแห่งกษัตริย์โปแลนด์ และพระขนิษฐาอีกองค์หนึ่งเป็นพระชายาเจ้าชายแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ นอกจากทรงจัดการให้ราชวงศ์ของพระองค์ได้มีความสัมพันธ์กับพวกราชวงศ์ของประเทศในแถบยุโรป โดยการอภิเษกสมรสแล้ว เจ้าชายยาโรสลาฟยังทรงอนุญาตให้อาณาจักรเคียฟของพระองค์เป็นสถานที่ลี้ภัยของบรรดาผู้นำและเจ้าชายประเทศต่าง ๆ อีกด้วย เช่น เจ้าชายจากประเทศอังกฤษและฮังการีพระเจ้าแผ่นดินและพระโอรสแห่งประเทศนอร์เวย์

โบสถ์ฮาเกียโซเฟีย หรือมหาวิหารเซนต์โซเฟียในนอฟโกรอด

ในสมัยยาโรสลาฟนี้ รัสเซียได้มีกฎหมายเป็นครั้งแรกชื่อว่า "The Russian Justice" ในปี พ.ศ. 1579 จากกฎหมายฉบับนี้ทำให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์รัสเซียสมัยอาณาจักรเคียฟ จะได้ทราบถึงสภาพสังคมและการดำรงชีวิตของอาณาจักรเคียฟได้เป็นอย่างดี นอกจากมีกฎหมายขึ้นใช้ในสมัยนี้แล้วเจ้าชายยาโรสลาฟยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ทางด้านศิลปะและด้านสถาปัตยกรรม มีการสร้างโบสถ์ฮาเกียโซเฟีย ในปี พ.ศ. 1580 ขึ้นในราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังทรงจัดการให้มีโรงเรียนและห้องสมุดขึ้นในราชอาณาจักรเคียฟนี้ด้วย

นครเคียฟมีสำคัญและมีอิทธิพลสูงสุดแต่เพียงสมัยของเจ้าชายยาโรฟสลาฟเท่านั้น นครต่าง ๆ ในราชอาณาจักรรัสเซียต่างยอมอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรเคียฟมาตลอด ในช่วงศตวรรษที่ 11 เคียฟเป็นนครหลวง ศูนย์รวมของอำนาจกษัตริย์และเป็นศูนย์กลางของคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ ในขณะที่เมืองอื่น ๆ ก็มีประชากรก่อตั้งขึ้นมาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวอ้างถึงมอสโกครั้งแรกในปี พ.ศ. 1690 ว่ามกุฎราชกุมารแห่งนครเคียฟ เจ้าชายยูริ ดอลโกรูคี มีรับสั่งให้สร้างป้อมปราการไม้ หรือเครมลินขึ้นที่เนินเขาโบโรวิตสกายา ริมน้ำมอสควา และตั้งชื่อเมืองว่า มอสโก

แต่หลังจากที่ยาโรสลาฟสิ้นพระชนม์แล้ว บรรดาเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ พยายามปลีกตัวเป็นอิสระจากอาณาจักรเคียฟและประกอบกับการถูกโจมตีจากพวกเร่ร่อนกลุ่มต่าง ๆ อาณาจักรเคียฟจึงเริ่มเสื่อมโทรมลง ประชาชนต่างพากันอพยพโยกย้ายไปอยู่ตามชานแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นบริเวณทางภาคกลางของรัสเซีย ส่วนที่เป็นทวีปยุโรปในสมัยปัจจุบัน ประกอบได้มีการก่อตั้งนครใหม่ ๆ ขึ้นหลายนคร เช่น รอสตอฟ (Rostov) ซุซดัล (Suzdal) โปลอตสค์ (Polotsk) เป็นต้น

ภายใต้จักรวรรดิมองโกล

กุบไลข่าน

ชาวมองโกล หรือที่เรียกว่ากันในหมู่ชาวรัสเซีย ตาตาร์ เป็นเชื้อสายของเตมูจิน หรือที่เรารู้จักกันในนามว่าเจงกิสข่าน พวกมองโกลได้รุกรานเข้าโจมตีอาณาจักรจีน และเข้าตีอาณาจักรของชาวมุสลิมทางตอนกลางของทวีปเอเชีย พวกมองโกลได้นำทัพข้ามเทือกเขาคอเคซัสมาถึงทางภาคใต้ของรัสเซีย และได้ชนะชาวรัสเซีย ตีอาณาจักรโปลอตสค์บนฝั่งแม่น้ำกัลป์กา ในปี พ.ศ. 1766 แต่หลังที่เจงกิสข่านเสียชีวิตลง อาณาจักรมองโกลได้ออกเป็นส่วน ๆ ให้แก่ลูกชายทั้ง 4 คนของเขา แต่ชาวมองโกลมีธรรมเนียมที่ว่าประมุขมองโกลจะต้องมี 1 คน และดำรงตำแหน่งข่านผู้ยิ่งใหญ่ ออคได ลูกชายคนที่ 3 ของเจงกีสข่านได้รับตำแหน่งนี้ ออคไดได้ดำเนินนโยบายครองโลกตามบิดา โดยยกทัพไปรุกรานแคว้นเตอร์กีสถาน อาร์มีเนีย จอร์เจีย และเมืองต่าง ๆ บริเวณเทือกเขาคอเคซัส นอกจากนั้นพวกมองโกลยังได้ยกทัพไปตีเมืองต่าง ๆ บนลุ่มแม่น้ำวอลกา เมืองของพวกบัลคาร์ในรัสเซีย อาณาจักรเมโสโปเตเมีย ซีเรีย เกาหลี และอาณาจักรจีนทั้งประเทศ กุบไลข่าน เชื้อสายของเจงกีสข่าน (โอรสพระราชบุตรองค์ที่ 4 ของเจงกีสข่าน) ได้เป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์หยวนขึ้นในประเทศจีน ค.ศ.1240 มองโกลตั้งเมือง Солтая орда เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรขึ้นตรงต่อ บาตูข่าน ประมุขชาว มองโกล ในรัสเซีย ซึ่งประทับอยู่ที่ นคร คาซาน อีกที ถึงแม้มองโกลจะยึดรัสเซียไว้เป็นประเทศราช แต่มองโกลก็ให้อิสระแก่เจ้าชายต่าง ๆ ในการปกครองตนเอง และยังอนุญาตให้ชาวรัสเซียนับถือและประกอบศาสนกิจตามหลัก ศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออทอดอกซ์ ได้อยู่เช่นเดิม ทำให้ชาวรัสเซียสามารถรักษาวัฒนธรรมของตนไว้ได้ในระดับหนึ่ง ชาวนากับขุนนางต้องอยู่อย่างลำบากแร้นแค้น ชาวนาถูกบังคับให้ทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูกองทัพมองโกล ถ้าหากต่อต้านข่าน จะถูกบังคับให้ส่งส่วยมากขึ้นคริสต์ศตวรรษที่ 14อิทธิพลในทางการปกครองของพวกมองโกลที่มีต่อชาวรัสเซียได้หมดไปอย่างสิ้นเชิงในสมัยของพระเจ้าอีวานที่ 3 เหลือเพียงแต่ทางด้านวัฒนธรรมบางอย่างเท่านั้น ที่กษัตริย์ของอาณาจักรรัสเซียต่าง ๆ ก็พยายามที่จะให้ชาวรัสเซียได้มีวัฒนธรรมและอารยธรรมเทียบเท่าอารยประเทศในยุโรปตะวันออกในเวลาต่อมา

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย