จักรวรรดิรัสเซีย ของ ประวัติศาสตร์รัสเซีย

ดูบทความหลักที่: จักรวรรดิรัสเซีย

ซาร์ปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย

ซาร์ปีเตอร์มหาราช

รัชสมัยของซาร์ปีเตอร์มหาราชจัดเป็นยุคใหม่ในประวัติศาสตร์รัสเซีย ประวัติศาสตร์รัสเซียในสมัยนี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า "สมัยจักรวรรดิรัสเซีย" เพราะองค์เจ้าซาร์เป็นผู้สร้างยุคของพระองค์ขึ้นพระองค์ทรงได้เป็นซาร์ตั้งแต่ยังมีพระชันษาเพียง 10 ชันษาเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2225 และในปีนั้นเองพระองค์ก็ต้องได้รับการแต่งตั้งใหม่ให้เป็นซาร์คู่กับพระเจ้าน้องยาเธอต่างพระราชมารดา คือ ซาร์อีวานที่ 5 แห่งรัสเซีย เมื่อซาร์อีวานที่ 5 สิ้นพระชนม์ ซาร์ปีเตอร์ที่ 1 มหาราชจึงมีพระราชอำนาจโดยแท้จริง ในยุคของพระองค์ทรงขยายอาณาเขตรัสเซียออกไปทางตะวันออกถึงวลาดีวอสตอค และทรงใช้นโยบายสู้ตะวันตก ทรงนำรัสเซียเข้าสู่ยุคใหม่

ในปี พ.ศ. 2242 (ค.ศ. 1699) ซาร์ปีเตอร์ก็ทรงคิดประดิษฐ์ธงชาติตามแบบอย่างชาติตะวันตก ประกอบด้วยแถบสีขาว น้ำเงิน แดงในแนวนอนเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศและสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวรัสเซียและของภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งธงสามสีดังกล่าวนี้ก็ได้ใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นในช่วงเวลางระหว่างที่รัสเซียเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยม

ภาพกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในสมัยจักรวรรดิรัสเซีย

ซาร์ปีเตอร์ที่ 1 ทรงพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมและวัฒนธรรมของรัสเซียที่มีลักษณะเป็นแบบตะวันออกให้เป็นตะวันตกโดยการประกาศพระราชโองการให้ประชาชนโกนหนวดเคราทิ้งให้สอดคล้องกับความนิยมของนานาประเทศในยุโรปตะวันตกขณะนั้น เพราะพระองค์ถือว่าหนวดเคราเป็นสัญลักษณ์ของ "โลกเก่า" หรือโลกตะวันออกที่ล้าหลัง หากผู้ใดขัดขืนจะถูกลงโทษ นอกจากนั้นยังทรงนำปฏิทินจูเลียน (Julian Calendar) ที่นิยมกันในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์มาบังคับใช้ในรัสเซียในปี พ.ศ. 2242 (ค.ศ. 1699) แทนปฏิทินแบบเก่าที่นับปีตั้งแต่มีการสร้างโลก ซี่งมีปีศักราชมากกว่าปฏิทินตะวันตก 6,508 ปี โดยในปฏิทินใหม่ให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2243 (ค.ศ. 1700) เป็นวันเริ่มปีและศักราชใหม่ของรัสเซีย (เดิมใช้วันที่ 1 กันยายน เป็นวันขึ้นปีใหม่) เพื่อให้นับวันเวลาเดียวกันกับประเทศเหล่านั้น นอกจากนี้ในปี ดังกล่าวและปีต่อมายังทรงออกประกาศบังคับให้ชาวรัสเซียเปลี่ยนแปลงการแต่งกายจากเสื้อคลุมยาวหลวมรุ่มร่ามไม่กระชับตัว เสื้อคลุมมีขนาดยาวประมาณหัวเข่า พร้อมกับมีการจัดแสดงแบบเครื่องแต่งกายทั้งชายหญิงไว้ในที่สาธารณะ เพื่อให้ดูเป็นตัวอย่างซึ่งแบบการแต่งกายที่เริ่มนิยมกันในประเทศอังกฤษในปลายราชวงศ์สจ๊วต ผู้ฝ่าฝืนที่ปรากฏตัวที่ประตูเมืองในชุดเสื้อคลุมยาว จะไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านประตูเมืองจนกว่าจะยอมตัดชายเสื้อคลุมให้มีขนาดสั้นขึ้น

เมื่อปี พ.ศ. 2248 (ค.ศ. 1705) พระองค์ทรงออกพระราชโองการเก็บ “ภาษีหนวดเครา” กับผู้ที่ฝ่าฝืนซึ่งเห็นว่าหนวดเคราเป็นสิ่งที่พระเป็นเจ้าประทานหรือกำหนดให้ผู้ชายต้องมี และการโกนหนวดเคราจึงถือว่าเป็นบาปโดยทรงกำหนดอัตราภาษีหนวดเคราสูงถึง 60-100 รูเบิล กับชนชั้นต่าง ๆ นับแต่พวกราชสำนัก พ่อค้า ชาวเมือง คนรับใช้ คนขับรถม้า คนขับเกวียน และชาวมอสโกทุกคน (ยกเว้นพวกพระและนักเทศน์) ส่วนชาวนาที่ยากจนก็ถูกกำหนดให้จ่ายภาษีหนวดเคราครั้งละ 2.5 โคเปก ทุกที่เดินเข้าออกประตูเมืองกรุงมอสโก อีกทั้งได้มีการพิมพ์หนังสือสมบัติผู้ดีชื่อ The Hunourable Miror of Youth (พ.ศ. 2260) ขึ้นเพื่อให้เยาวชนลูกผู้ดีมีสกุลได้เรียนรู้กิริยามารยาทในการเข้าสังคมแบบตะวันตกอีกด้วย

ป้อมปีเตอร์และปอลในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

ในปี พ.ศ. 2255 ทรงย้ายเมืองหลวงจากมอสโกมาที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของอ่าวฟินแลนด์เพื่อเป็น “หน้าต่างแลยุโรป” และเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งกองทหารราชนาวีขึ้นในรัสเซีย ทั้งยังทรงนำช่างฝีมือจากฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ มาสร้างวิหารและพระราชวังที่งดงามอีกมากมาย และทรงนำพาจักรวรรดิรัสเซียให้เป็นที่รู้จักเกรียงไกรในสังคมโลก

พระเจ้าปีเตอร์ได้ทรงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 เขตแดน (guberny) ได้แก่ มอสโก อินเกอร์แมนแลนด์ เคียฟ สโมเลนสค์ คาซาน อาร์คันเกลสค์ อาซอฟ และไซบีเรีย ทุกเขตแดนยกเว้นมอสโกจะมีข้าหลวงซึ่งเป็นคนสนิทของซาร์ออกไปประจำอยู่ ข้าหลวงดังกล่าวมีอำนาจสูงสุดในเขตแดน ทั้งในด้านการบริหาร ตุลาการ การคลัง ตลอดจนการรักษาความปลอดภัย การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางในลักษณะนี้เป็นการลดอำนาจของขุนนางท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ต่อมาในปี พ.ศ. 2262 (ค.ศ. 1719) ได้มีการแบ่งเขตแดนออกอีกเป็น 45 มณฑล (ภายหลังเป็น 50 มณฑล) แต่ละมณฑลปกครองโดย "นายทหารข้าหลวง" มีการแบ่งการปกครองเขตมณฑลย่อยลงเป็นเขต (district) และให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดูแลปกครองตามแบบอย่างการปกครองท้องถิ่นของสวีเดน แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็ไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะภาษีบุคคลจึงมอบอำนาจให้ทหารปกครองเขตแทนในปี พ.ศ. 2265 (ค.ศ. 1722)

ส่วนพวกขุนนางเก่าถูกบังคับให้มอบมรดกที่ดินแก่บุตรชายคนโตเพียงคนเดียวและให้ส่งลูกชายคนรอง ๆ เข้ารับราชการทหารและราชการพลเรือน ยกเลิกยศขุนนางระดับสูงที่เรียกว่า "โบยาร์" และให้ใช้ยศเคานต์ (count) และบารอน (baron) แบบยุโรปตะวันตกแทน พวกขุนนางหนุ่มดังกล่าวก็จะถูกส่งตัวไปรับการศึกษาในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันตกเพื่อนำเอาความรู้ใหม่ ๆ มาพัฒนาประเทศ แต่ขณะเดียวกันซาร์ปีเตอร์ก็ทรงพยายามลดบทบาทของขุนนางโดยทำให้สภาโบยาร์หมดความสำคัญลงด้วย โดยทรงใช้วิธีจัดตั้งสภาองคมนตรี เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา

ปกครองจักรวรรดิ

จักรพรรดินีแคเทอรินที่ 2อนุสาวรีย์ของพระจักรพรรดินีนาถแคทเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซียที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

เมื่อจักรพรรดินีเอลิซาเบทแห่งรัสเซียสวรรคตในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2259 ซาร์ปีเตอร์ที่ 3 แห่งรัสเซียได้ขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็ทรงบริหารจักรวรรดิแบบตามอำเภอใจ ทรงถอยทัพขณะบุกปรัสเซีย ซึ่งทรงชื่นชอบชาติปรัสเซียมากกว่าเชื้อชาติรัสเซียในตัวพระองค์เอง ทรงเปลี่ยนเครื่องแบบราชสำนักรัสเซียให้กลายเป็นสีของทางราชสำนักปรัสเซีย สร้างความไม่พอใจให้ทั้งกองทัพ ประชาชนชาวรัสเซีย พวกขุนนาง แม้แต่พระนางแคเทอรินมเหสีด้วย และเมื่อถึงขีดสุด วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2305 หลังจากที่ปกครองจักรวรรดิได้เพียงแค่ 6 เดือน ก็ทรงถูกพระนางเจ้าแคเทอรินยึดอำนาจอธิปไตยทั้งหมด และถูกนำตัวไปกักขังในคุกชานกรุงเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก หลังจาก 3 วันหลังยึดอำนาจกองทัพก็ได้พระกาศให้พระนางแคเทอรินเป็นจักรพรรดินีแคเทอรินที่ 2 แห่งรัสเซียครองรัสเซียสืบไป

สมัยพระนางเจ้าแคเทอรินที่ 2 การพัฒนาทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในราชอาณาจักรรัสเซียไม่ค่อยได้สัดส่วนกับการพัฒนาทางด้านการเมือง ตัวอย่างที่เห็นได้ว่าคือเมื่อสิ้นสุดของคริสต์ศตวรรษที่ 18 แล้วรัสเซียได้ถีบตัวเองให้ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจ แต่เมื่อเทียบกับสภาพชีวิต สังคม และวัฒนธรรมของประชาชนแล้ว อาจกล่าวได้ว่าความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตของชาวรัสเซียนั้นล้าหลังมากเมื่อเทียบกับสภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนของประเทศยุโรปตะวันตก

พระนางทรงการยึดคาบสมุทรไครเมียมาจากจักรวรรดิออตโตมัน เพื่อที่รัสเซียจะได้มีทางออกสู่ทะเลดำ และพระนางเจ้าแคเทอรินก็ทรงมีชัยเหนือจักรวรรดิออตโตมันในการครอบครองแหลมไครเมียเป็นพระองค์แรก

ตลอดการครองราชสมบัติของพระนางเจ้าแคเทอริน พระองค์ทรงทำนุบำรุงจักรวรรดิ ปฏิรูปประเทศ วางตัวเหมาะสมเพื่อให้เป็นที่สนใจ และยังนำเบี้ยกำนัลจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นของขวัญให้กับชาวไร่ชาวนาและทาสมากมาย พระนางเจ้าแคเทอรินมีพระโอรส 1 พระองค์ นามว่าพอล พอลเป็นโอรสของพระนางแคเทอรินกับพระเจ้าปีเตอร์ที่ 3 ถึงแม้พระนางแคเทอรินจะมีสามีใหม่ พอลก็ไม่ค่อยจะยอมรับสักเท่าไหร่ ถึงแม้ระยะครองราชย์จะยาวนานแต่ไม่ว่ากิจการใดที่เป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ แคเทอรินก็ไม่เคยย่อท้อ เมื่อพอลอภิเษกสมรสก็มีโอรส 1 พระองค์นามว่า อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ซึ่งแคเทอรินหวังจะให้เป็นองค์รัชทายาทสืบไปหลังจากที่แคเทอรินทรงเล็งเห็นว่าพอลไม่สามารถเป็นซาร์ได้ เสด็จสวรรคตโดยปกครองจักรวรรดิ 34 ปี การปกครองของพระองค์เป็นการอธิบายถึงการเป็น พระประมุขสูงสุดที่ทรงภูมิธรรม (an enlightened despot)

ในสมัยซาร์พอลล์ที่ 1 แห่งรัสเซียมีพระชนมายุ 42 ชันษา การกระทำแรกของพระองค์ในการเป็นพระจักรพรรดิคือการสั่งให้ไต่สวนเรื่องที่เกิดขึ้น เมื่อทราบแน่ชัดแล้วว่าพระราชมารดาสวรรคตจริงจึงได้ออกคำสั่งให้ทำลายพินัยกรรมของพระมารดาทิ้ง ซึ่งเป็นที่กล่าวลือกันว่าพินัยกรรมฉบับนี้เขียนขึ้นจากความปรารถนาที่แคทเธอรีนต้องการจะกีดกันพระองค์จากราชบัลลังก์รัสเซียและยกให้อเล็กซานเดอร์ พระนัดดาพระองค์โตแทน ซึ่งจากความกลัวนี้เองที่น่าจะทำให้พระองค์ประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์รัสเซียปี พ.ศ. 2340 หรือเป็นที่รู้จักในนาม "กฎหมายพอลล์ไลน์" เพื่อเป็นการจำกัดหลักในการสรรหารัชทายาทขึ้นสืบราชบัลลังก์ในราชวงศ์โรมานอฟ ซึ่งก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยรัชทายาทของพระองค์เลย พระองค์ขึ้นครองราชย์ ได้เพียง 4 ปี ก็สวรรคต ต่อมาสมัยของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ทรงเป็นซาร์ของรัสเซียที่เปิดศักราชของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของรัสเซียในช่วงที่อเล็กซานเดอร์ครองราชย์อยู่นั้น นักประวัติศาสตร์รัสเซียได้แบ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยของพระองค์ออกเป็น 3 สมัยคือ

  • สมัยแรก เป็นช่วงเหตุการณ์ตั้งแต่ปีที่ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ครองราชย์จนถึงปีที่รัสเซียสนธิสัญญาสันติภาพแห่งเมืองทิลซิทกับฝรั่งเศสอันเป็นสมัยแห่งการประกาศพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับการปฏิรูปทางด้านการเมือง และสังคม-ภายในประเทศจนกระทั่งนโยบายปฏิรูปต่าง ๆ ต้องหยุดชะงัก เนื่องจากประเทศต้องทำสงครามกับนโปเลียน นโปเลียนหนีออกจากมอสโก
  • สมัยที่สอง จากเหตุการณ์ตั้งแต่รัสเซียทำสนธิสัญญาสันติภาพแห่งเมืองทิลซิทจนถึงสมัยของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา ในช่วงนี้ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ได้ทรงหันมาเอาพระทัยใส่ในการปฏิรูปทางด้านต่าง ๆ อีก เลยทำให้การเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสเริ่มสั่นคลอนลง ในที่สุดเลยทำให้รัสเซียต้องทำสงครามกับนโปเลียน
  • สมัยที่สาม จากเหตุการณ์หลังการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา จนถึงช่วงสุดท้ายของรัชกาล จัดว่าเป็นสมัยแห่งความวุ่นวายในราชอาณาจักร เนื่องจากชาวรัสเซียได้มีโอกาสติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป หลังจากสงครามนโปเลียน เลยทำให้ชาวรัสเซียที่มีการศึกษาเกิดความคิดที่ต้องการจะปฏิรูปสังคมและวิถีชีวิตตามแบบพวกยุโรปภาคตะวันตก แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ไม่ทรงเอาพระทัยใส่ต่อเสียงเรียกร้องของบุคคลกลุ่มใดเลย เนื่องจากชีวิตของพระองค์ในช่วงหลังการประชุมที่กรุงเวียนนานั้น พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่แต่กิจการต่างประเทศและหมกหมุ่นอยู่กับศาสนา

อาณาจักรโปแลนด์ ความฝันของซาร์ตอรีสกีที่ต้องการเห็นประเทศชาติของเขาได้มีอาณาเขตเท่ากับก่อนที่จะถูกแบ่งแยกให้กับชาติมหาอำนาจ 3 ชาติ เมื่อครั้งสมัยพระนางเจ้าแคเทอรินเกือบจะเป็นความจริง เนื่องจากที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนาได้ลงมติให้มี "อาณาจักรโปแลนด์" ขึ้นมาโดยให้เป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

สิ้นสุดจักรวรรดิรัสเซีย

กบฏเดือนธันวาคมที่ซีเนตสแควร์

จักรวรรดิรัสเซียในช่วงปี พ.ศ. 2368- พ.ศ. 2391 เป็นสมัยที่ชาวรัสเซียทั่วไปต้องประสบกับการถูกควบคุมตัวอย่างใกล้ชิดจากสถาบันสูงสุดของชาติ เนื่องจากซาร์ที่ปกครองรัสเซียในสมัยนี้คือซาร์นิโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซียนั้น ทรงปกครองประเทศอย่างเข้มงวดเด็ดขาดมาก เนื่องจาก พระองค์นั้นทรงยึดมั่นในทฤษฎีการเป็นกษัตริย์ตามแบบเทวสิทธิ์ที่ว่า กษัตริย์ทรงเป็นผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งขึ้นมา สถาบันกษัตริย์จึงเปรียบเทียบได้ว่าเป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าบนพื้นพิภพ ดังนั้น อำนาจของกษัตริย์จึงเป็นอำนาจสูงสุดที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ ผู้ใดที่บังอาจคิดร้ายต่อสถาบันกษัตริย์ ต้องถือว่าเป็นกบฏเป็นอาชญากรรมอย่างร้ายแรง ซาร์นิโคลัสที่ 1 ได้ทรงตั้งจุดประสงค์ในการครองราชย์ของพระองค์ซึ่งทางราชการเรียกว่า "Official-Nationality" ในปี พ.ศ. 2376 อันมีคำขวัญว่า อนุรักษนิยม อัตตาธิปไตย และสัญชาติ ผู้ที่ถวายความคิดนี้ คือ เคานต์เซียร์เกย์ อูวารอฟ ดังนั้น ในสมัยนี้จึงจัดว่าเป็นสมัยที่ชาวรัสเซียต้องกระทบกระเทือนกับระบบกลไกต่าง ๆ ของรัฐบาล

มีฮาอิล บาคูนิน

มีฮาอิล บาคูนิน ผู้รู้จักกันในนามบิดาแห่งอนาธิปไตย เขาออกจากรัสเซียไปยุโรปตะวันตกในปี พ.ศ. 2385 และกลายเป็นนักสังคมนิยมหลังจากเขามีส่วนร่วมในการปฏิวัติที่เดรสเดินในปีพ.ศ. 2392 เขาถูกจำคุกไปที่ไซบีเรีย ในที่สุดเขาก็หลบหนีมาได้และกลับไปยุโรป เผยแพร่ทฤษฎีอนาธิปไตยจนแพร่หลายในยุโรป ทฤษฎีสังคมของเขาเป็นประโยชน์มากสำหรับกลุ่มหัวรุนแรงที่ต่อต้านระบอบกษัตริย์และพระราชวงศ์ เป็นเหตุให้มีการปฏิวัติขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เขาคัดค้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของคาร์ล มาร์กซ ด้วยเหตุผล ที่ว่าลัทธิคอมมิวนิสต์รวมอำนาจทุกชนิดของสังคมเข้าสู่รัฐ และลงท้ายด้วยการรวมกรรมสิทธิ์ไว้กับรัฐ ซึ่งเขาเห็นว่าจะมีชนชั้นหนึ่งได้ผลประโยชน์จากการให้คงมีรัฐอยู่เสมอ และในกรณีของรัฐคอมมิวนิสต์คือชนชั้นข้ารัฐการ

ตั้งแต่รัสเซียประสบกับความพ่ายแพ้ในสงครามไครเมียแล้ว สถานการณ์ดังกล่าวนี้ได้ทำให้ชาวรัสเซียทั้งมวลทุกชั้นวรรณะ ตลอดจนพระองค์ซาร์เองก็ได้มีความเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันถึงความจำเป็นในการที่อาณาจักรรัสเซียควรจะเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองและสภาพสังคมในแทบทุก ๆ เรื่อง

ดังนั้นหลังจากที่ได้มีการเซ็นสัญญาสงบศึกกับสัมพันธมิตรเพื่อสงบศึกไครเมียแล้ว ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซียจึงทรงปรึกษาหารือกับบรรดาขุนนาง ถึงการที่จะมีพระราชโองการปลดปล่อยทาสติดที่ดิน ในตอนนี้ปัญหาที่ว่ายังไม่มีถึงเวลาที่จะปลดปล่อยทาสนั้นได้หมดสิ้นไปแล้ว แต่ในที่สุดก็ได้มีปัญหาใหม่ว่าการปลดปล่อยทาสนั้นจะมีวีการอย่างไร แต่ในที่สุดก็ได้มีพระราชโองการปลดปล่อยทาสได้ในที่สุด และผลที่ตามมาก็คือ รัสเซียได้ปฏิรูปงานบริหารราชการแผ่นดินอีกหลายอย่าง รวมทั้งระบบเศรษฐกิจ การทหาร การปกครองในจังหวัดต่าง ๆ และทางด้านการศึกษา

ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ทรงตั้งพระทัยที่จะเปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตยแต่ในตอนเช้าของวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2424 ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ขณะมีพระชนมพรรษา 62 พรรษา ทรงถูกปลงพระชนม์ในขณะเสด็จกลับจากการตรวจแถวทหารมายังพระราชวังฤดูหนาว และพระองค์ก็เสด็จสวรรคตในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา พระองค์ถูกปลงพระชนม์โดยพวกอนาธิปไตย

ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3ซาร์นิโคลัสที่ 2 กษัตริย์องค์สุดท้ายของรัสเซียและจักรพรรดินีอเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา พระมเหสี

รัสเซียในช่วง พ.ศ. 2424 จนถึง พ.ศ. 2437 เป็นสมัยที่ชาวต่างชาติมักจะมองกันว่ารัสเซียสงบราบรื่น ถึงขนาดที่มีผู้ให้สมญาซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งรัสเซีย ว่าทรงเป็น "ซาร์แห่งสันติภาพ" ซึ่งผู้ที่ให้สมญาดังกล่าวอาจจะมองรัสเซียอย่างผิวเผินเฉพาะเหตุการณ์ทางด้านการต่างประเทศ และความสงบจากการที่รัสเซียสามารถแก้ปัญหาจากการปฏิวัติทุกรูปแบบภายในประเทศได้สำเร็จ ทางด้านการต่างประเทศนั้น รัสเซียได้ดำเนินนโยบายเป็นมิตรสนิทกับจักรวรรดิเยอรมนีและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จนกระทั่งเกิดปัญหาเรื่องดินแดนในคาบสมุทรบอลข่านในช่วงปลายปี พ.ศ. 2413 ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับออสเตรียและเยอรมนีก็เริ่มเสื่อมคลายลง รัสเซียจึงเปลี่ยนนโยบายไปเป็นมิตรสนิทสนมกับฝรั่งเศสและอังกฤษ ในรัชสมัยของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 กลุ่มต่อต้านระบอบกษัตริย์เงียบหายไปอย่างรวดเร็ว มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งได้พยายามวางแผนลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระจักรพรรดิในงานครบรอบหกปีการเสด็จสวรรคตของพระชนกนาถ ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ที่จัดขึ้น ณ ป้อมปีเตอร์และปอล มหาวิหารสุสานหลวงแห่งราชวงศ์โรมานอฟในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เหล่านักวางแผนก่อการร้ายได้ยัดระเบิดลงไว้ในไส้ข้างในของหนังสือเรียนที่พวกเขาตั้งใจจะขว้างใส่จักรพรรดิขณะเสด็จกลับจากมหาวิหาร อย่างไรก็ตาม ตำรวจลับรัสเซียได้เปิดโปงแผนการร้ายก่อนที่ถูกทำให้สำเร็จลุล่วง นักศึกษาจำนวนห้าคนถูกจับแขวนคอ รวมทั้งอเล็กซานเดอร์ อูลยานอฟ เขามีน้องชายที่มีพรสวรรค์คนหนึ่ง ซึ่งมีความคิดทางการเมืองในเชิงปฏิบัติดังเช่นพี่ชาย เด็กชายคนนั้นคือ วลาดีมีร์ เลนิน ซึ่งอีกหลายปีต่อมาได้ใช้เวลาส่วนมากกับขบวนการปฏิวัติใต้ดินอยู่ในทวีปยุโรปในการหล่อหลอมแนวคิดและทฤษฎีทางการเมืองที่เขาจะนำมาใช้ในประเทศรัสเซียหลังจากการกลับมาในปี พ.ศ. 2460 เพื่อล้างแค้นให้กับการตายของพี่ชาย ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนพ.ศ. 2437พระราชวังลิวาเดีย ที่ประทับตากอากาศบนแหลมไครเมีย ขณะมีพระชนมพรรษาได้ 49 พรรษา

เหตุการณ์วันอาทิตย์เลือด ทหารยิงเข้าใส่ประชาชน ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

หลังจากซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 แห่งรัสเซียสวรรคต มกุฎราชกุมารนิโคลัสได้ครองราชสมบัติต่อเป็นซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย พระองค์ทรงเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของรัสเซีย พระองค์ขึ้นครองราชย์พร้อมกับการเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ไม่สามารถตกลงอะไรกันได้กับอังกฤษ ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นจักรพรรดิที่อ่อนแอ ไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์ที่ปั่นป่วนของประเทศ พ่ายแพ้การรบทางเรือในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2447-พ.ศ. 2448 ได้ทรงเข้าบัญชาการรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่พระองค์ไม่สามารถควบคุมกองทัพได้

ในปีพ.ศ. 2458 หลังเกิดสงครามโลกเพียงปีเดียว ได้ทรงเข้าเป็นผู้บัญชาการกองทัพรัสเซียเพื่อสู้รบการฝ่ายทหารส่วนกลางและกลุ่มชนชั้นกลางซึ่งเป็นฝ่ายปฏิวัติ ทำให้ราษฎรไม่พอใจลุกขึ้นต่อต้านเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังทรงปล่อยให้ เกรกอรี รัสปูติน พระนอกรีตลึกลับ เข้าไปมีมีอิทธิพลในราชสำนักโดยเฉพาะช่วงที่ขณะออกสงคราม และมีจักรพรรดินีอเล็กซานดราทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ทรงถูกครอบงำ พระองค์จึงถูกโค่นราชบัลลังก์โดยถูกพวกบอลเชวิคที่เป็นฝ่ายปฏิวัติบังคับให้สละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2460 ถูกนำไปกักขังไว้และถูกยิงสิ้นพระชนม์พร้อมพระราชวงศ์หลายพระองค์ นับเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์โรมานอฟอันยาวนาน

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย