การปฏิวัติเดือนมีนาคม ของ ปัญหาเยอรมัน

การประชุมสมัชชาแห่งชาติเยอรมันสมัยแรก ณ โบสถ์เซ็นต์พอล แฟรงเฟิร์ต พ.ศ. 2391 - 2392

ในปี พ.ศ. 2381 นักเสรีนิยมและนักชาตินิยมชาวเยอรมันรวมตัวกันในการปฏิวัติและได้สถาปนารัฐสภาแฟรงเฟิร์ตขึ้น ซึ่งภายในสมัชชาดังกล่าวมีแนวร่วมเคลื่อนไหวที่สนับสนุนแนวทางมหาประเทศเยอรมัน เรียกร้องให้รวมดินแดนที่ชาวเยอรมันอาศัยอยู่ก่อตั้งเป็นรัฐชาติอันหนึ่งอันเดียวขึ้น โดยทั่วไปแล้วฝ่ายซ้ายในสมัชชาสนับสนุนแนวทางมหาประเทศซึ่งปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ ในขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมกลางสนับสนุนแนวทางอนุประเทศ ซึ่งปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

ฝ่ายมหาประเทศให้เหตุผลว่าออสเตรียเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นประเทศผู้นำในการรวมชาติเนื่องจากราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (ออสเตรีย) ปกครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มาเป็นระยะเวลากว่า 400 ปี อย่างไรก็ตามอาจมีประเด็นปัญหาที่ตามมากับข้อเสนอนี้ เนื่องจากดินแดนที่ออสเตรียปกครองอยู่นั้นส่วนมากเป็นดินแดนของชนชาติซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาหลัก เช่น ราชอาณาจักรฮังการี ซึ่งมีอาณาเขตใหญ่ที่สุดและมีประชากรชาวสโลวัก ชาวโรมาเนีย และชาวโครแอตอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีดินแดนอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ราชอาณาจักรโบฮีเมียของชาวเช็ก จังหวัดกาลิเซียนของชาวโปแลนด์ ชาวรูซินซ์ และชาวยูเครน ดัชชีคาร์นิโอลาของชาวสโลวีน เช่นเดียวกับราชอาณาจักรลอมบาร์ดี-เวนีเชียและเตรนโตของชาวอิตาลี ที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองในพระมหากษัตริย์ทีโรลีน (เคาน์ตีทีโรล) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้รวมกันเป็นดินแดนส่วนมากของจักรวรรดิออสเตรีย ทั้งนี้ดินแดนดังกล่าว (ยกเว้นโบฮีเมีย คาร์นิโอลา และเตรนโต) ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธรัฐเยอรมัน เนื่องจากไม่เคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศิกดิ์สิทธิ์มาก่อน อีกทั้งยังไม่มีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติเยอรมันอีกด้วย เห็นได้จากการที่นักการเมืองชาวเช็ก ฟรันจีเช็ก ปารักสกี ปฏิเสธขอเสนอการอยู่ใต้อาณัติของรัฐสภาแฟรงเฟิร์ตอย่างโจ่งแจ้ง โดยกล่าวว่าดินแดนของชาวสลาฟภายใต้จักรวรรดิฮับส์บูร์กนั้นไม่ได้อยู่ในขอบข่ายการอภิปรายของปัญหาเยอรมัน ในทางกลับกันนายกรัฐมนตรีออสเตรีย เจ้าชายเฟลิกซ์แห่งชวาร์เซินแบร์ก ตรัสว่าการรวมชาติในฐานะจักรวรรดิฮับส์บูร์กอันหนึ่งอันเดียวเท่านั้นคือแนวทางที่ยอมรับได้ เนื่องจากออสเตรียไม่ประสงค์ที่จะสละดินแดน (ที่ประชากรไม่ได้ใช้ภาษาเยอรมัน) ในครอบครองของตน หรือแบ่งแยกดินแดนที่มีอยู่เดิมเพื่อไปรวมกับจักรวรรดิทีมีแต่ชาวเยอรมันเท่านั้น

การขยายตัวของปรัสเซียภายในจักรวรรดิเยอรมันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2350 (สีน้ำเงิน): ดินแดนที่ได้รับเพิ่มเติมจากการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา พ.ศ. 2358 (สีเขียว), ดินแดนที่ได้รับเพิ่มเติมจากสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย พ.ศ. 2409 (สีฟ้าอ่อน) และดินแดนที่มาเข้าร่วมจักรรวรรดิเยอรมันในปี พ.ศ. 2414 หลังสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (สีเหลือง)

ดังนั้นสมาชิกส่วนหนึ่งของสมัชชา เช่น ปรัสเซียจึงสนับสนุนแนวทางอนุประเทศ ซึ่งไม่ได้รวมเอาจักรวรรดิออสเตรียและดินแดนใต้ปกครองอื่นเข้ามา โดยให้เหตุผลว่าปรัสเซียควรเป็นประเทศผู้นำในการรวมชาติเนื่องจากเป็นมหาอำนาจเดียวที่มีประชากรหลักในประเทศเป็นชาวเยอรมัน อย่างไรก็ดีร่างรัฐธรรมนูญของประเทศใหม่ยังคงเปิดทางให้ออสเตรียสามารถเข้ามาร่วมได้ในภายหลัง โดยที่ไม่สามารถนำเอาดินแดนของชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ของชาวเยอรมันภายใต้การปกครองของตนมาร่วมด้วยได้ ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2392 รัฐสภาแฟรงเฟิร์ตจึงได้ทูลเชิญพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 4 แห่งปรัสเซีย ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเยอรมัน แต่ทรงปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ส่งผลให้การปฏิวัติประสบความล้มเหลว ในขณะที่ความพยายามหลายครั้งโดยเจ้าชายแห่งชวาร์เซินแบร์กในภายหลังก็ไม่สัมฤทธิ์ผลแต่ประการใด

ใกล้เคียง

ปัญหา ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ปัญหาวิถีสั้นสุด ปัญหาราชวงศ์ ปัญหาปี ค.ศ. 2000 ปัญหาการแต่งงานที่มีเสถียรภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศอัฟกานิสถาน ปัญหาสกันทอร์ป ปัญหาวันเกิด ปัญหารางวัลมิลเลนเนียม