สงครามกับออสเตรียและฝรั่งเศส ของ ปัญหาเยอรมัน

ความพยายามทั้งหมดนี้จบลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างน่าอับอายของออสเตรียในสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย พ.ศ. 2409 และหลังจากลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพปราก นายกรัฐมนตรีปรัสเซีย ออทโท ฟอน บิสมาร์ค (ในขณะนั้นเป็นผู้มีอิทธิพลสำคัญในแวดวงการเมืองเยอรมัน) ได้ดำเนินการขับไล่ออสเตรียและรวบรวมบรรดารัฐเยอรมันต่าง ๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวภายใต้การนำของปรัสเซีย ในขณะที่อาณาเขตของราชวงศ์ฮับส์บูร์กก็เริ่มสั่นคลอนเนื่องจากเกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติจากกลุ่มนักชาตินิยม ซึ่งออสเตรียแก้ไขปัญหานี้แบบผิวเผินด้วยข้อตกลงการประนีประนอมระหว่างออสเตรีย-ฮังการี พ.ศ. 2410

ในช่วงเดียวกัน บิสมาร์คได้จัดตั้งสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือขึ้นมากีดกันออสเตรียและราชอาณาจักรบาวาเรียทางใต้ที่เป็นพวกโรมันคาทอลิกไม่ให้มีบทบาทโดดเด่นในเยอรมนีที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นโปรเตสแตนต์และมีเชื้อสายปรัสเซีย นอกจากนี้บิสมาร์คยังประสบความสำเร็จในการใช้สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียโน้มน้าวบรรดารัฐเยอรมันต่าง ๆ รวมถึงราชอาณาจักรบาวาเรียให้มาเข้าร่วมกับปรัสเซียในการต่อต้านจักรวรรดิฝรั่งเศสที่สอง อย่างไรก็ตามออสเตรีย-ฮังการีไม่ได้เข้าร่วมสงครามครั้งนี้แต่อย่างใด หลังจากนั้นปรัสเซียได้รับชัยชนะภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว จนในที่สุดข้อถกเถียงถึงคำถามเยอรมันนี้ก็ได้ข้อยุติว่าแนวทาง อนุประเทศเยอรมัน ผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่ายในปี พ.ศ. 2414 บิสมาร์คยังได้ใช้อภิสิทธิ์ที่ปรัสเซียรบชนะในสงครามเป็นตัวช่วยให้คงความเป็นพันธมิตรกับบาวาเรียต่อไป และได้ประกาศสถาปนาจักรวรรดิเยอรมันขึ้นในที่สุด ซึ่งในรัฐใหม่นี้ปรัสเซียที่เป็นโปรเตสแตนท์ถือว่ามีอิทธิพลและบทบาทมากที่สุด ส่วนออสเตรีย-ฮังการีถูกกันออกไปแยกเป็นรัฐของตัวเองต่างหากจากจักรวรรดิเยอรมัน จึงสรุปได้ว่าประเทศเยอรมนีน้อยเป็นแนวทางที่ได้รับชัยชนะในข้อถกเถียงครั้งนี้

ใกล้เคียง

ปัญหา ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ปัญหาวิถีสั้นสุด ปัญหาราชวงศ์ ปัญหาปี ค.ศ. 2000 ปัญหาการแต่งงานที่มีเสถียรภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศอัฟกานิสถาน ปัญหาสกันทอร์ป ปัญหาวันเกิด ปัญหารางวัลมิลเลนเนียม