พื้นเพ ของ ปัญหาเยอรมัน

ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่มีประเทศเยอรมนีที่จะกล่าวถึงได้อย่างเหมาะสมและชัดเจน ด้วยเหตุที่ชาวเยอรมันตั้งรกรากอยู่ในราชอาณาจักร แกรนด์ดัชชี ดัชชี และราชรัฐจำนวนมากมาย ซึ่งแต่ละแห่งก็มีอำนาจอธิปไตยและกลไกการปกครองของรัฐที่แยกเป็นอิสระจากกัน ดังนั้นจึงมีกระแสความรู้สึกของความเป็นชาติเปรียบเสมือนกับคลื่นใต้น้ำที่ต้องการจะรวมชาวเยอรมันทั้งมวลไว้ภายใต้รัฐอันหนึ่งเดียวและปกครองโดยประมุขของชาติเพียงองค์เดียว— นิวยอร์กไทมส์ วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2409[2]

ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2349 จักรพรรดิฟรันซ์ที่ 2 แห่งฮับส์บูร์ก สละราชสมบัติและยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จากความพ่ายแพ้ต่อจักรวรรดิฝรั่งเศสที่หนึ่งในสงครามนโปเลียน จึงเท่ากับเป็นการสิ้นสุดลงของจักรวรรดิแบบหลวม ๆ ซึ่งรวมดินแดนเยอรมนีให้เป็นปึกแผ่นมาหลายร้อยปี จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไม่เคยมีสถานะเป็นรัฐชาติโดยแท้จริง แม้ว่าชื่อที่่ใช้เรียกขานในภายหลังจะเพิ่มคำว่า แห่งชาติเยอรมัน เข้าไปด้วยก็ตาม ทั้งนี้ผู้ปกครองของจักรวรรดิต้องเผชิญกับปัญหาการสูญเสียพระราชอำนาจการปกครองให้แก่รัฐของจักรวรรดิตลอดช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ผลของสงครามสามสิบปียังส่งผลต่อพระราชอำนาจของจักรพรรดิอย่างร้ายแรง ทั้งยังส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างรัฐทรงอำนาจในยุโรปสองรัฐคือ ราชอาณาจักรฮับส์บูร์ก (ในฐานะรัฐที่ทรงอำนาจมากที่สุดในจักรวรรดิ) และบรันเดินบวร์ค-ปรัสเซีย ซึ่งขยายอาณาเขตของตนเกิดกว่าอาณาเขตของจักรวรรดิ ในขณะเดียวกันนั้นเองนครรัฐขนาดเล็กจำนวนมากภายในจักรวรรดิก็กระจัดกระจายกันออกไป จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 จึงมีนครรัฐขนาดเล็กมากกว่า 1,800 แห่ง และแต่ละแห่งปกครองแยกจากกันอย่างอิสระ

ปรากฏการณ์ซึ่งแบ่งแยกเยอรมนีออกเป็นสองส่วนนี้ถึงจุดสูงสุดครั้งแรกเมื่อสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรียปะทุขึ้น และดำเนินเรื่อยมายาวนานกว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสและการรุกรานยุโรปของนโปเลียน โดยหลังจากที่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ล่มสลายลง ราชวงศ์ฮับส์บูร์กจึงได้สถาปนาจักรวรรดิออสเตรียขึ้นบนดินแดนของราชอาณาจักรฮับส์บูร์เดิมและยังคงสถานะจักรวรรดิเอาไว้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2358 พฤติการณ์สุดท้าย (the Final Act) ของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาได้สถาปนาสมาพันธรัฐเยอรมันขึ้น ซึ่งไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐชาติ แต่เป็นสมาคมของรัฐอธิปไตยในดินแดนของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เดิม

ในการถกเถียงถึงปัญหานี้ มีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อความเห็นชอบของแต่ละแนวทาง แต่ปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดก็คือศาสนา ทั้งนี้ด้วยเหตุที่แนวทางมหาประเทศเยอรมันจะเสริมสร้างสถานะอันโดดเด่นและสำคัญแก่ออสเตรีย ซึ่งเป็นประเทศคาทอลิกและเป็นรัฐเยอรมันที่ทรงอำนาจมากที่สุดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้ชาวคริสต์ฝ่ายโรมันคาทอลิกและรัฐซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับออสเตรียมักจะสนับสนุนแนวทางนี้ ในขณะที่การรวมเยอรมนีให้เป็นปึกแผ่นโดยปรัสเซียภายใต้ราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น เป็นตัวเลือกที่รัฐเยอรมันทางตอนเหนือซึ่งเป็นฝ่ายโปรเตสแตนต์พึงพอใจกว่า นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยที่มีความซับซ้อนก็คือการที่จักรวรรดิออสเตรียรวมเอาชนชาติอื่น (ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาพูด) ไว้ภายใต้การปกครองของตนจำนวนมาก เช่น ชาวฮังการี ชาวโรมาเนีย ชาวโครแอต และชาวเช็ก ส่งผลให้ออสเตรียไม่เต็มใจที่จะเข้าร่วมเป็นประเทศเยอรมนีอันหนึ่งอันเดียว หากตนต้องสละดินแดนที่ไม่ได้ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาพูดเหล่านี้ไป

ใกล้เคียง

ปัญหา ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ปัญหาวิถีสั้นสุด ปัญหาราชวงศ์ ปัญหาปี ค.ศ. 2000 ปัญหาการแต่งงานที่มีเสถียรภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศอัฟกานิสถาน ปัญหาสกันทอร์ป ปัญหาวันเกิด ปัญหารางวัลมิลเลนเนียม