ครองราชย์ ของ พระเจ้าชาร์ลที่_10_แห่งฝรั่งเศส

พระเจ้าชาร์ลที่ 10 วาดโดยปีแยร์-นาร์ซิส เกแร็งพระราชพิธีการรับศีลบวชของพระเจ้าชาร์ลที่ 10 ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศส ณ มหาวิหารแร็งส์ วาดโดยฟร็องซัว เจราร์ดพระเจ้าชาร์ลที่ 10 พระราชทานรางวัลแก่ศิลปินผู้มาจัดแสดงผลงานในนิทรรศการศิลปะแห่งปารีสประจำปี พ.ศ. 2367 ณ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

พระราโชบายภายในประเทศ

พระอาการประชวรของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เป็นที่น่ากังวลมาตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2367[39] ทรงทรมานจากพระอาการเนื้อตายเน่าทั้งแบบเปียกและแบบแห้งบริเวณขาและกระดูกสันหลัง จากนั้นก็เสด็จสวรรคตในวันที่ 16 กันยายน ปีเดียวกัน พระอนุชาจึงสืบทอดราชสมบัติขึ้นเป็นพระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งฝรั่งเศส[40] ความพยายามแรกในฐานะพระมหากษัตริย์ของพระองค์ก็คือการรวบรวมราชวงศ์บูร์บงศ์ให้มีความกลมเกลียวเหนียวแน่น พระองค์พระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้น รอยัลไฮเนส แก่พระญาติฝ่ายราชวงศ์ออร์เลอองส์ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกกีดกันโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เพราะอดีตดยุกแห่งออร์เลอองส์มีส่วนร่วมในการสวรรคตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16

ในช่วงไม่กี่เดือนแรกของรัชกาล รัฐบาลในพระเจ้าชาร์ลที่ 10 ผ่านร่างกฎหมายที่เพิ่มอำนาจแก่ขุนนางและนักบวชหลายฉบับ พระองค์พระราชทานรายชื่อกฎหมายที่มีพระประสงค์จะลงพระนามาภิไธยแก่นายกรัฐมนตรี ฌ็อง-บาติสต์ เดอ วีแลล ทุกครั้งที่เสด็จฯ ไปเปิดประชุมรัฐสภา ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2368 รัฐบาลผ่านร่างกฎหมายซึ่งเสนอโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แต่มีผลบังคับใช้ไม่นานหลังจากเสด็จสวรรคต กฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ขุนนางผู้ที่ถูกริบรอนเคหาสน์สถานในช่วงการปฏิวัติ (ฝรั่งเศส: biens nationaux) โดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยในรูปของพันธบัตรรัฐบาลแก่ผู้ที่สูญเสียเคหาสน์สถานแลกกับการสละสิทธิ์ในความเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าว รวมเป็นเงินที่รัฐบาลต้องรับภาระกว่า 988 ล้านฟรังก์ ในเดือนเดียวกันนั้นเองยังได้มีการผ่านร่างพระราชบัญญัติห้ามทำลายรูปเคารพ (Anti-Sacrilege Act) นอกจากนี้รัฐบาลในพระเจ้าชาร์ลที่ 10 ยังพยายามจะรื้อฟื้นการให้บุตรหัวปี (เฉพาะบุรุษเพศ) ของครอบครัวเป็นผู้รับภาระชำระภาษีมากกว่า 300 ฟรังก์ต่อปี แต่ถูกสภาผู้แทนลงคะแนนเสียงคัดค้าน[41] ในวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2368 พระเจ้าชาร์ลทรงเข้ารับการเจิม ณ มหาวิหารแร็งส์ ในพระราชพิธีการรับศีลบวช (Consecration) อันเป็นพระราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส ซึ่งพระราชพิธีนี้เว้นว่างไปตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2328 โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงไม่จัดพระราชพิธีดังกล่าวเพราะประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยงการโต้เถียงที่อาจเกิดขึ้นตามมา[42]

การที่พระเจ้าชาร์ลที่ 10 ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนปรากฏให้เห็นเด่นชัดในเดือนเมษายน พ.ศ. 2370 เมื่อมีความวุ่นวายเกิดขึ้นขณะทรงพิจารณาทบทวนถึงกองกำลังติดอาวุธของประชาชน (ฝรั่งเศส: la garde nationale) ในกรุงปารีส ทำให้ทรงแก้ไขสถานการณ์ด้วยการยกเลิกกองทหารดังกล่าว แต่ไม่ได้มีการปลดอาวุธสมาชิกของกองกำลังแต่อย่างใด ทำให้กองกำลังดังกล่าวยังคงเป็นภัยคุกคาม[42] ต่อมาในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ทรงสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภา จึงทรงปลดนายกรัฐมนตรีวีแลลและโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ฌ็อง-บาติสต์ เดอ มาร์ตีญัก ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน โดยพระองค์ไม่โปรดมาร์ตีญักและทรงตั้งไว้เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวเท่านั้น ต่อมาจึงทรงปลดมาร์ตีญักและแต่งตั้ง ฌูลส์ เดอ ปอลีญัก ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วเมื่อฝ่ายของฟร็องซัว-เรอเน เดอ ชาโตบรีอองด์ ผู้สนับสนุนคนสำคัญพ่ายแพ้ในสภา ปอลีญักก็สูญเสียเสียงสนับสนุนข้างมากในสภา ณ สิ้นเดือนสิงหาคม และเพื่อที่จะดำรงอยู่ในอำนาจให้ได้นานที่สุด ปอลีญักเลือกที่จะไม่ยุบสภาผู้แทนไปจนกระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2373[43]

การยึดครองอัลจีเรีย

ในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2373 รัฐบาลภายใต้การนำของปอลีญักตัดสินใจส่งกองกำลังทหารไปยังอัลจีเรีย เพื่อปราบปราบกองเรือโจรสลัดชาวอัลจีเรียที่กำลังคุกคามการค้าบนน่านน้ำทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเพื่อที่จะเพิ่มพูนความนิยมของรัฐบาลด้วยชัยชนะทางการทหาร สาเหตุที่ก่อให้เกิดสงครามตามมาก็คือการที่อุปราชแห่งอัลจีเรียโกรธกริ้ว เพราะฝรั่งเศสค้างชำระหนี้ที่นโปเลียนก่อไว้จากการรุกรานอิยิปต์ จึงทำให้อุปราชทรงใช้กองกำลังโจมตีเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส[43] ฝรั่งเศสก็ตอบโต้โดยดารส่งกองทหารเข้ารุกรานอัลจีเรียในวันที่ 5 กรกฎาคม[44]

การฏิวัติเดือนกรกฎาคม

ดูบทความหลักที่: การฏิวัติเดือนกรกฎาคม

สภายังคงเปิดประชุมตามแผนเดิมในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2373 แต่พระราชดำรัสเปิดการประชุมของพระเจ้าชาร์ลกลับมีเสียงตอบรับในแง่ลบจากสมาชิกสภาหลายคน บางกลุ่มถึงกลับเสนอร่างพระราชบัญญัติบังคับให้เหล่ารัฐมนตรีในรัฐบาลของพระเจ้าชาร์ลต้องมีที่มาจากเสียงสนับสนุนของสมาชิกสภา ต่อมาในวันที่า 18 มีนาคม สมาชิกเสียงข้างมากจำนวน 30 คนจากสมาชิกสภาทั้งหมดจำนวน 221 คน ผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว อย่างไรก็ตามพระเจ้าชาร์ลตัดสินพระทัยแล้วว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปออกไป ดังนั้นการทำงานของสภาจึงถูกระงับไว้ชั่วคราว[45]

การเลือกตั้งจัดขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน แต่ไม่ได้เสียงข้างมากที่สนับสนุนรัฐบาล นอกเหนือไปกว่านั้น ในวันที่ 6 กรกฎาคม พระเจ้าชาร์ลพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีตัดสินใจระงับใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วยอำนาจของมาตรา 14 ที่ให้อำนาจไว้ในยามฉุกเฉิน ต่อมาในวันที่ 15 กรกฎาคม ทรงออกพระราชโองการจากที่พำนักของพระองค์ในแซ็งต์-โคลด์ โดยมีเนื้อหาหลักคือ ปิดกั้นเสรีภาพของสื่อ ยุบสภาที่เพิ่งจะได้รับเลือกตั้งใหม่ ปรับเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง และวางแผนจัดการเลือกตั้งในเดือนกันยายน[44]

เสรีภาพนำประชาชน (La liberté guidant le peuple) โดยเออแฌน เดอลาครัว ได้แรงบัลดาลใจมาจากการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม

เมื่อหนังสือพิมพ์ทางการของรัฐบาล เลอ มอนิเตอ อูนิแวร์เซล (ฝรั่งเศส: Le Moniteur Universel) ตีพิมพ์พระราชโองการดังกล่าวในวันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม อาดอลฟ์ ตีแยร์ นักข่าวหนังสือพิมพ์ฝ่ายต่อต้าน เลอ นาซียงนาล (ฝรั่งเศส: Le National) ตีพิมพ์คำกล่าวเรียกร้องให้มีการก่อกำเริบ ซึ่งถูกร่วมลงนามโดยนักข่าวหนังสือพิมพ์อีก 43 คน:[46] "ระบอบการปกครองอันชอบธรรมถูกขัดขวาง: บัดนี้กองกำลังได้ก่อกำเริบ... หน้าที่ของเราในการเชื่อฟัง[รัฐบาล]สิ้นสุดลงแล้ว!"[47] ต่อในช่วงเย็นฝูงชนรวมตัวกันบริเวณอุทยานพระราชวังหลวง พร้อมกับเปล่งเสียงตะโกนว่า "จงล้มจมไปกับพวกบูร์บง!" และ "รัฐธรรมนูญจงเจริญ!" ในขณะที่ตำรวจปิดอุทยานในช่วงกลางคืน ฝูงชนจึงรวมตัวกันใหม่บริเวณถนนใกล้เคียง พร้อมกับทำลายโคมไฟถนนให้เสียหายอีกด้วย[48]

เช้าวันต่อมาของวันที่ 27 กรกฎาคม ตำรวจบุกเข้าไปตามสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ที่ยังคงตีพิมพ์ตามปกติ (รวมถึงสำนักหนังสือพิมพ์ เลอ นาซียงนาล) ทำให้สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ต้องปิดตัวลง เมื่อฝูงชนผู้ประท้วงซึ่งรวมตัวกันบริเวณอุทยานพระราชวังหลวงอีกครั้งทราบข่าวดังกล่าว ต่างกรูกันเข้าทำร้ายและขว้างปาสิ่งของเข้าใส่พลทหารของพระราชวัง ส่งผลให้ทหารต้องทำการยิงตอบโต้ เมื่อเหตุการณืดำเนินมาถึงช่วงเย็นทั่วทั้งปารีสเต็มไปด้วยความรุนแรง ร้านค้าต่าง ๆ ถูกปล้นสะดม ต่อมาในวันที่ 28 กรกฎาคม ผู้ประท้วงเข้ารื้อสิ่งกีดขว้างตามท้องถนน ทำให้นายพลมาร์มงต์ผู้ซึ่งถูกเรียกตัวเข้ามาควบคุมเหตุความไม่สงบในวันก่อนหน้า จำต้องใช้มาตรการรุนแรงต่อกลุ่มผู้ประท้วง แต่พลทหารในสังกัดของเขากลับแปรพักตร์ไปร่วมกับฝ่ายผู้ประท้วง ส่งผลให้ในช่วงเที่ยงของวันดังกล่าวนายพลมาร์มงต์ต้องถอยร่นกลับไปตั้งหลักที่พระราชวังตุยเลอรีส์[49]

สมาชิกสภาฯ ส่งคณะผู้แทนห้าคนไปเจรจากับนายพลมาร์ม็งต์ เร่งเร้าให้เขาถวายคำแนะนำแก่พระเจ้าชาร์ลในการเพิกถอนพระราชโองการของพระองค์เพื่อระงับความไม่พอใจของฝ่ายผู้ประท้วง ต่อมานายกรัฐมนตรีเข้าแทรกแซงเหตุการณ์ โดยถวายคำแนะนำเช่นเดียวกับนายพลมาร์มงต์ แต่พระเจ้าชาร์ลทรงปฏิเสธการประนีประนอมทุกรูปแบบ และทรงปลดรัฐมนตรีทุกคนในช่วงบ่ายของวันดังกล่าว แม้จะทรงตระหนักถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี ในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง สมาชิกสภาฯ รวมตัวกัน ณ ที่พำนักของฌัก ลัฟฟิตต์ และต่างลงความเห็นว่าควรอัญเชิญหลุยส์ ฟีลิปแห่งออร์เลอองส์ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แทนพระเจ้าชาร์ล สมาชิกได้ร่วมกันพิมพ์ภาพโปสเตอร์รับรองความเหมาะสมของหลุยส์ ฟีลิป พร้อมกับแจกจ่ายภาพโปสเตอร์ดังกล่าวไปทั่วกรุงปารีส อำนาจของรัฐบาลพระเจ้าชาร์ลจึงถูกโค้นลง[50]

ไม่กี่นาทีหลังผ่านเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 30 ย่างเข้าสู่วันที่ 31 กรกฎาคม พระเจ้าชาร์ลที่ 10 พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชสำนักของพระองค์ เสด็จฯ ลี้ภัยจากแซ็งต์-โคลด์ไปยังพระราชวังแวร์ซายเนื่องจากทรงได้รับคำเตือนจากนายพลเกรสโซว่าชาวปารีสกำลังวางแผนโจมตีที่พำนักของพระองค์ ยกเว้นดยุกแห่งอ็องกูแลม พระราชโอรสองค์โต ที่ไม่ได้เสด็จไปในการนี้ด้วยเนื่องจากซ้อนพระองค์อยู่ในกองทหาร ในขณะที่ดัชเชสแห่งอ็องกูแลม พระชายา ทรงพักผ่อนอยู่ ณ เมืองวิชี ส่วนเหตุการณ์ในกรุงปารีส หลุยส์ ฟีลิปแห่งออร์เลอองส์เข้าดำรงตำแหน่งพลโทหลวงแห่งราชอาณาจักร (ตำแหน่งสูงสุดในกองทัพ) อย่างเป็นทางการ[51]

ในขณะที่ท้องถนนซึ่งมุ่งสู่แวร์ซายเต็มไปด้วยกองทหารที่ไม่เป็นระเบียบและกลุ่มนายทหารผู้แปรพักตร์ มาร์กีเดอเวรัก ข้าหลวงใหญ่ประจำพระราชวังแวร์ซาย เข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลก่อนที่ขบวนเสด็จฯ จะเข้าสู่เขตเมืองแวร์ซาย พร้อมกับทูลฯ พระองค์ว่าพระราชวังแวร์ซายไม่ใช่ที่ที่ปลอดภัยสำหรับพระองค์ เนื่องจากมีกองกำลังติดอาวุธของประชาชน ณ พระราชวัง ที่สวมเสื้อผ้าสามสีของธง ตรีกอลอร์ เข้ายึดพื้นที่บริเวณ ปลาซดามส์ ทำให้พระเจ้าชาร์ลต้องทรงออกคำสั่งให้เปลี่ยนเส้นทางไปยังตรีอานงแทน ทุกพระองค์จึงเสด็จฯ ถึงที่ดังกล่าว ณ เวลาห้านาฬิกาของวันที่ 31 กรกฎาคม[52] ในวันดังกล่าว หลังจากที่ดยุกแห่งอ็องกูแลมเสด็จออกจากแซ็งต์-โคลด์พร้อมกับกองทหารของพระองค์มารวมกับขบวนของพระเจ้าชาร์ล พระเจ้าชาร์ลจึงเสด็จฯ ต่อไปยังพระราชวังร็องบูเย และเสด็จฯ ถึงก่อนเวลาเที่ยงคืนเพียงเล็กน้อย ด้านดัชเชสแห่งอ็องกูแลมเสด็จออกจากวิชีอย่างเร่งรีบทันทีที่ทรงทราบข่าวเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปารีส และเสด็จถึงร็องบูเยในเช้าวันที่ 1 สิงหาคม อย่างปลอดภัย

ในวันถัดมา 2 สิงหาคม พระเจ้าชาร์ลที่ 10 สละราชสมบัติให้แก่พระราชนัดดา อ็องรี ดยุกแห่งบอร์โด ผู้มีพระชนมายุไม่ถึง 10 ชันษา โดยข้ามลำดับสืบราชสันตติวงศ์ของหลุยส์ อ็องตวน พระราชโอรสองค์โตของพระองค์ไป ในตอนแรก ดยุกแห่งอ็องกูแลมทรงปฏิเสธที่จะลงพระนามกำกับในเอกสารสละพระราชสิทธิ์ในราชบัลลังก์ฝรั่งเศส ตามคำกล่าวของดัชเชสแห่งมาอีเย "มีการทะเลาะกันอย่างรุนแรงระหว่างพระบิดาและพระโอรส จนเราสามารถได้ยินเสียงของทั้งสองพระองค์จากห้องข้าง ๆ" จนในที่สุด หลังจากผ่านไปยี่สิบนาที ดยุกแห่งอ็องกูแลมจึงยอมลงพระนามกำกับในเอกสารสละพระราชสิทธิ์ดังกล่าวอย่างไม่เต็มพระทัย[53] ซึงเนื้อหาในเอกสารมีใจความดังต่อไปนี้

แด่ลูกพี่ลูกน้องของเรา เราเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสจากความทุกข์ที่ว่าหากเราไม่หลีกเลี่ยงความขัดแย้งในครั้งนี้ ประชาชนของเราอาจได้รับภัยคุกคาม เช่นนั้นแล้ว เราจึงเลือกแก้ไขสถานการณ์ด้วยการสละราชสมบัติให้แก่ดยุกแห่งบอร์โด ราชนัดดาของเรา เฉกเช่นเดียวกับเจ้าฟ้าชายโดแฟ็ง (ดยุกแห่งอ็องกูแลม) ผู้รู้สึกเช่นเดียวกับเรา ก็ได้สละราชสิทธิ์ของพระองค์ให้แก่ราชนัดดาแล้ว ดังนั้นต่อจากนี้ ในฐานะพลโทหลวงแห่งราชอาณาจักร ท่านมีอำนาจสถาปนาพระเจ้าอ็องรีที่ 5 ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ นอกจากนี้ ท่านยังต้องทำทุกวิถีทางเพื่อสถาปนารัฐบาลภายใต้ห่วงเวลาที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่ง ณ ที่แห่งนี้ เราเพียงแต่ประสงค์ให้ท่าทีของเราเป็นที่รับทราบโดยทั่วกัน : นี่คือประสงค์ของเราที่จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์อันเลวลงไปกว่านี้ ท่านจะต้องสื่อสารประสงค์ของเราแก่คณะทูตานุทูต และท่านจะแจ้งให้เราทราบโดยเร็วที่สุดเมื่อการเสวยราชย์เกิดขึ้น ที่ซึ่งราชนัดดาของเราจะถูกเรียกขานในปรมาภิไธยแบบกษัตริย์ว่า อ็องรีที่ 5[54]

หลุยส์ ฟีลิป เพิกเฉยต่อคำเรียกร้องของพระเจ้าชาร์ลในเอกสารฉบับดังกล่าว และในวันที่ 9 สิงหาคม ได้ปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 พระมหากษัตริย์แห่งชาวฝรั่งเศส (กษัตริย์ประชาชน)[55]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ