เสด็จลี้ภัย ของ พระเจ้าชาร์ลที่_10_แห่งฝรั่งเศส

แผ่นจารึกสีน้ำเงิน ณ บ้านเลขที่ 72 ถนนเซาท์ออดลีย์ กรุงลอนดอน อันเป็นที่พำนักในช่วงปี พ.ศ. 2348 ถึง พ.ศ. 2357

เจ้าชายชาร์ลและครอบครัวทรงตัดสินใจที่จะลี้ภัยในซาวอย อันเป็นสถานที่ที่ประสูติของพระชายา[18] และที่นี่เองที่ทรงพำนักร่วมกับสมาชิกครอบครัวของเจ้าชายแห่งกงเดบางพระองค์[19]

ขณะเดียวกันนั้นในกรุงปารีส พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงดิ้นรนไปกับสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งมุ่งมั่นที่จะปฏิรูประบบต่างๆ อย่างถอนรากถอดโคน รวมไปถึงการก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญแห่งฝรั่งเศส ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2334 สมัชชาแห่งชาติยังได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการสำเร็จราชการแทนไว้สำหรับกรณีที่พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ในขณะนั้นเองรัชทายาทซึ่งก็คือเจ้าชายหลุยส์-ชาร์ล ยังทรงพระเยาว์ ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนจึงตกเป็นของเคานต์แห่งโพรว็องหรือดยุกแห่งออร์เลอองส์ แต่ถ้าหากยังไม่สามารถหาผู้สำเร็จราชการแทนได้ ตำแหน่งนี้ก็จะตกเป็นของผู้ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งข้ามสิทธิ์ในการสำเร็จราชการแทนของเจ้าชายชาร์ลไปโดยสิ้นเชิง ทั้งที่ตามลำดับการสืบราชสมบัติแล้ว เจ้าชายทรงอยู่ลำดับที่ระหว่างเคานต์แห่งโพรว็องและดยุกแห่งออร์เลอองส์[20]

ช่วงนั้นเองที่เจ้าชายชาร์ลทรงย้ายจากตูรินไปพำนักที่เทรียร์ ที่ซึ่งพระปิตุลา เจ้าชายคลีเมนส์ เวนซ์สเลาส์แห่งแซกโซนี ดำรงตำแหน่งเป็นอาร์คบิชอปผู้คัดเลือก เจ้าชายชาร์ลทรงตระเตรียมการปฏิวัติต่อต้าน แต่พระราชหัตถเลขาจากพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต มีพระราชดำริว่าให้เลื่อนออกไปจนกว่าพระราชวงศ์จะเสด็จออกจากฝรั่งเศสเสร็จเรียบร้อยแล้ว[21] แต่เมื่อการเสด็จหนีล้มเหลว เจ้าชายชาร์ลก็ทรงย้ายไปยังโคเบลนซ์ ณ ที่นั้นเองทรงไปร่วมกับเคานต์แห่งโพรว็องและเจ้าชายแห่งก็องเดในการประกาศรุกรานฝรั่งเศส เคานต์แห่งโพรว็องส่งหนังสือราชการขอความช่วยเหลือในการรุกรานฝรั่งเศสจากพระมหากษัตริย์ยุโรปหลายพระองค์ ด้านเจ้าชายชาร์ลก็ทรงก่อตั้งราชสำนักพลัดถิ่นขึ้น ณ รัฐผู้คัดเลือกเทรียร์ ในวันที่ 25 สิงหาคม เหล่าเจ้านายผู้ปกครองของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และปรัสเซียได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ชาติยุโรปร่วมกันเข้าแทรกแซงฝรั่งเศส[22]

วันขึ้นปีใหม่ของปี พ.ศ. 2335 สมัชชาแห่งชาติประกาศให้ผู้อพยพทุกคนเป็นผู้ทรยศชาติ, ถอดถอนบรรดาศักดิ์ และยึดเอาที่ดินของพวกเขา[23] มาตรการนี้ตามมาด้วยการระงับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จนในที่สุดจบลงด้วยการล้มล้างการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญในเดือนกันยายนปีเดียวกัน พระบรมวงศานุวงศ์ทรงถูกคุมขัง ต่อมาพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ตก็ทรงถูกสำเร็จโทษในปี พ.ศ. 2336[24] ด้านโดแฟ็งพระองค์น้อยก็สิ้นพระชนม์ลงจากอาการประชวรในปี พ.ศ. 2338 พระศพถูกทอดทิ้งไม่มีการเหลียวแล[25]

เมื่อสงครามปฏิวัติฝรั่งเศสปะทุขึ้นในปี พ.ศ. 2335 เจ้าชายชาร์ลเสด็จหนีไปยังสหราชอาณาจักรที่ซึ่งพระเจ้าจอร์จที่ 3 มีพระบรมราชานุญาตให้พำนักอย่างเมตตา เจ้าชายชาร์ลพำนักกับพระสนม หลุยส์เดอโปลัสตร็อง ทั้งที่เอดินบะระและกรุงลอนดอน[26] ส่วนพระเชษฐา เคานต์แห่งโพรว็องซ์ ก็ได้เสด็จย้ายไปยังเวโรนาหลังจากที่พระนัดดา (โดแฟ็งหลุยส์-ชาร์ล) สิ้นพระชนม์ลงในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2338 และจากนั้นจึงย้ายไปยังพระราชวังเยลกาวาในมิเทา ณ ที่นั้นเอง ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2342 พระโอรสของเจ้าชายชาร์ล ดยุกแห่งอ็องกูแลม เสกสมรสกับเจ้าหญิงมารี เตเรซ พระธิดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่รอดมาได้เพียงพระองค์เดียว ต่อมาในปี พ.ศ. 2345 เจ้าชายชาร์ลให้การสนับสนุนพระเชษฐาของพระองค์ด้วยเงินหลายพันปอนด์ ในปี พ.ศ. 2350 พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ก็เสด็จฯ มาประทับในสหราชอาณาจักร[27]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ