เสกสมรสและพระชนม์ชีพส่วนพระองค์ ของ พระเจ้าชาร์ลที่_10_แห่งฝรั่งเศส

เจ้าชายชาร์ล เคานต์แห่งอาร์ตัว (พ.ศ. 2341)

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2316 เจ้าชายชาร์ลเสกสมรสกับเจ้าหญิงมารี เตเรซแห่งซาวอย การเสกสมรสครั้งนี้เสร็จสมบูรณ์แทบจะในทันที ต่างกับการเสกสมรสของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับพระนางมารี อ็องตัวแน็ต[8]

ในปี พ.ศ. 2318 เจ้าหญิงมารี เตเรซ มีพระประสูติกาลแด่เจ้าชายหลุยส์ อ็องตวน ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นดยุกแห่งอ็องกูแลมโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นับเป็นรัชทายาทพระองค์แรกแห่งราชวงศ์บูร์บงรุ่นถัดไป เนื่องจากทั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และเคานต์แห่งโพรว็องยังมิได้มีพระประสูติกาลแก่รัชทายาทใดเลย ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้พวก ลิเบลลิสต์ (กลุ่มนักเขียนใบปลิวอื้อฉาวเกี่ยวกับบุคคลสำคัญในราชสำนักและทางการเมือง) นำไปล้อเลียนถึงความไร้สมรรถภาพทางเพศของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16[9] สามปีถัดมาในปี พ.ศ. 2521 ก็มีพระประสูติกาลแด่เจ้ายหลุยส์ แฟร์ดิน็อง และต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นดยุกแห่งแบร์รี[10] ในปีเดียวกันนั้นเองที่สมเด็จพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต มีพระประสูติกาลพระธิดาเป็นครั้งแรกนามว่า เจ้าหญิงมารี เตเรซ ซึ่งช่วยกลบข่าวลือที่ว่าทรงไม่สามารถมีรัชทายาทได้

เจ้าชายชาร์ลทรงถูกมองว่าเป็นบุคคลที่น่าดึงดูดใจมากที่สุดในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ฝรั่งเศส เนื่องด้วยทรงมีความคล้ายคลึงกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 อย่างมาก[11] ด้านพระชายาของพระองค์กลับถูกผู้คนส่วนมากในยุคสมัยนั้นมองว่าอัปลักษณ์ ตามคำกล่าวอ้างของเคานต์เอเซกส์ เจ้าชายชาร์ลทรงคบชู้มากมาย "โฉมงามน้อยคนนักที่จะเย็นชากับพระองค์" ต่อมาทรงมีเสน่หาตลอดช่วงพระชนม์ชีพกับ หลุยส์เดอโปลัสตร็อง น้องสาวบุญธรรมของดัชเชสแห่งโปลิญัก ซึ่งเป็นพระสหายคนสนิทของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต

เจ้าชายชาร์ลยังทรงมีสัมพันธภาพกับพระนางมารี อ็องตัวแน็ต อย่างเหนียวแน่น ซึ่งทั้งสองทรงพบกันครั้งแรกในคราวที่พระนางมารี อ็องตัวแน็ตเสด็จเยือนฝรั่งเศสในเดือนเมษายน พ.ศ. 2313 ขณะนั้นเจ้าชายมีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา[11] ความใกล้ชิดสนิทสนมนี้เองที่ทำให้แม่ค้าชาวปารีสสร้างข่าวลืออย่างผิด ๆ ว่าเจ้าชายทรงยั่วยวนเสน่หาแก่พระนางมารี เจ้าชายชาร์ลมักปรากฏพระองค์ตรงข้ามพระนางมารีอยู่บ่อยครั้งในโรงละครส่วนพระองค์ ณ พระตำหนักเปติต์ไตรอาน็อง ทั้งสองพระองค์ได้รับการกล่าวขานว่ามีพระปรีชาสามารถอย่างมากในการเป็นนักแสดงมือสมัครเล่น พระนางมารีทรงสวมบทบาทเป็นคนงานรีดนมวัว, คนเลี้ยงแกะ และสตรีชนบท ด้านเจ้าชายชาร์ลทรงรับบทเป็นคู่รัก, ข้ารับใช้ และเกษตรกร

ทั้งสองพระองค์ทรงพัวพันกับเรื่องราวอันโด่งดังในการก่อสร้างชาโตเดอแบแกเตลล์ ในปี พ.ศ. 2318 เจ้าชายชาร์ลทรงซื้อกระท่อมล่าสัตว์เล็ก ๆ ในแคว้นบัวส์เดอบูโลญ ต่อมาทรงทุบทำลายที่พำนักหลังเดิมทิ้งและวางแผนที่จะก่อสร้างพระตำหนักหลังใหม่ขึ้นแทน ซึ่งพระนางมารี อ็องตัวแน็ตทรงเดิมพันไว้ว่าพระตำหนักหลังใหม่นี้ไม่มีทางก่อสร้างได้สำเร็จภายในสามเดือน เจ้าชายชาร์ลก็ทรงจ้างสถาปนิกแนวนีโอคลาสสิกนามว่า ฟร็องซัว-โฌเซฟ เบล็องเช ในการออกแบบ ต่อมาเจ้าชายทรงชนะเดิมพันของพระนางมารี อ็องตัวแน็ต โดยที่ฟร็องซัวส์ใช้เวลาเพียงหกสิบสามวันในการก่อสร้างพระตำหนักให้เสร็จสมบูรณ์ คาดการณ์กันว่าทั้งโครงการซึ่งรวมไปถึงสวนที่ตกแต่งพร้อมสรรพใช้เงินก่อสร้างไปทั้งหมดมากกว่าสองล้านลีฟฝรั่งเศส ตลอดช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1770 เจ้าชายชาร์ลทรงใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ทรงก่อหนี้ก้อนใหญ่ไว้ถึง 21 ล้านลีฟฝรั่งเศส และในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1780 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ต้องทรงชำระหนี้ให้แก่พระอนุชาทั้งสองพระองค์อันได้แก่เคานต์แห่งอาร์ตัวและเคานต์แห่งโพรว็อง[12]

เช่นเดียวกับในช่วง พ.ศ. 2318 เจ้าชายหลุยส์-ฟิลิปป์แห่งออร์เลอองส์ ผู้ทรงเป็นดยุกแห่งออร์เลอองส์ในอนาคต ได้ทรงวางแผนที่จะสร้างรอยแยกระหว่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับพระอนุชาองค์สุดท้องของพระองค์ ทรงชักชวนให้เจ้าชายชาร์ลเล่นการพนันและซ่องโสเภณีพระราชวังหลวง อันเป็นที่พำนักเดิมของบรรพบุรุษของเจ้าชายหลุยส์-ฟิลิปป์ ทรงหวังให้เจ้าชายชาร์ลทรงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จนสิ้นพระชนม์ลงหรือไม่ก็กลายเป็นหมัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการก้าวขึ้นสู่ราชบัลลังก์ฝรั่งเศสของหลุยส์-ฟิลิปป์ในอนาคต[13] และในฐานะที่ทรงเป็นเจ้าชายสืบสายพระโลหิตพระองค์แรก เจ้าชายหลุยส์-ฟิลิปป์ทรงอยู่ลำดับที่สี่ในลำดับการสืบราชบัลลังก์ฝรั่งเศสตามหลังเคานต์แห่งโพรว็อง, เคานต์แห่งอาร์ตัว และดยุกแห่งอ็องกูแลม โดยที่ในขณะนั้นมีเพียงเจ้าชายชาร์ลเท่านั้นที่ทรงมีรัชทายาทในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์รุ่นเดียวกัน[14]

ในปี พ.ศ. 2324 เจ้าชายชาร์ลทรงเป็นผู้รับมอบอำนาจของจักรพรรดิโยเซ็ฟที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระนามแด่ลูกทูนหัวของพระจักรพรรดิ โดแฟ็งหลุยส์ โฌเซฟ[15]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ