ราชวงศ์บูร์บงฟื้นฟู ของ พระเจ้าชาร์ลที่_10_แห่งฝรั่งเศส

ดูบทความหลักที่: การฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง
การเสด็จนิวัติฝรั่งเศสของเจ้าชายชาร์ล โดยโปลีน โอโซ

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2357 เจ้าชายชาร์ลเสด็จออกจากที่พำนักในลอนดอนอย่างลับ ๆ เพื่อไปร่วมกับสงครามหกสัมพันธมิตรในฝรั่งเศสตอนใต้ ในขณะนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ทรงต้องประทับอยู่บนเก้าอี้เข็นและให้การสนับสนุนเจ้าชายชาร์ลด้วยพระราชเอกสารสิทธิ (letters patent) พระราชทานยศทหารชั้นพลโทแห่งราชอาณาจักร ในวันที่ 31 มีนาคม กองกำลังสัมพันธมิตรเข้ายึดกรุงปารีส สัปดาห์ถัดมาจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ก็สละราชสมบัติ วุฒิสภาฝรั่งเศสจึงประกาศการฟื้นฟูพระราชอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ด้านเจ้าชายชาร์ลก็เสด็จถึงปารีสในวันที่ 12 เมษายน[28] และดำรงพระยศพลโทแห่งราชอาณาจักรไปจนกระทั่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 เสด็จฯ กลับจากอังกฤษ ในช่วงที่รักษาราชการแทนพระองค์อยู่นี้เอง เจ้าชายชาร์ลได้ก่อตั้งกองตำรวจลับผู้มีแนวคิดนิยมกษัตริย์สุดโต่งซึ่งขึ้นตรงต่อพระองค์อย่างลับ ๆ โดยปราศจากการรับรู้ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 กองตำรวจลับนี้ดำรงอยู่ถึงห้าปี[29]

ชาวปารีสต่างพากันยินดีปรีดาอย่างมากกับการเสด็จฯ นิวัติพระนครของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 ซึ่งพระองค์เสด็จฯ ไปประทับอยู่ ณ พระราชวังตุยเลอรีส์[30] ด้านเคานต์แห่งอาร์ตัวประทับ ณ ปาวิยงเดอมาร์ส ส่วนดยุกแห่งอ็องกูแลมประทับ ณ ปาวิยงเดอฟลอร์ ซึ่งสามารถมองเห็นแม่น้ำแซน[31] ดัชเชสแห่งอ็องกูแลม (เจ้าหญิงมารี เตเรซ) ถึงกับทรงเป็นลมหมดสติเมื่อเสด็จมาถึง เนื่องจากพระราชวังรื้อฟื้นความทรงจำอันเลวร้ายเก่า ๆ เกี่ยวกับการกักขังครอบครัวของพระองค์ รวมไปถึงการบุกเข้าทำลายพระราชวังและการสังหารหมู่ทหารสวิสการ์ดรักษาพระองค์ในเหตุการณ์วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2335[30]

ตามคำแนะนำของกองกำลังสัมพันธมิตร พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 โปรดให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเสรีขึ้น นั่นก็คือ ธรรมนูญ พ.ศ. 2357 ซึ่งกำหนดให้ใช้การปกครองระบบสองสภา โดยมีผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง 90,000 คน และเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา[32]

หลังจากการกลับมาสู่อำนาจของนโปเลียนที่ 1 ช่วงสั้นๆ ในปี พ.ศ. 2358[33] มิคสัญญีขาวครั้งที่สองก็ดำเนินไปทั่วฝรั่งเศส เมื่อข้าราชการและนายทหารของนโปเลียนกว่า 80,000 นายถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง บ้างก็ถูกสังหาร ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือจอมพลแน ผู้ถูกประหารชีวิตจากข้อหาทรยศต่อประเทศชาติ และเคานต์เบริงที่ 1 ผู้ถูกสังหารโดยมวลชนผู้ประท้วง[34]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ