ประวัติอย่างย่อของภาษาชวา ของ ภาษาชวา

ภาษาชวาโบราณ

หลักฐานการเขียนในเกาะชวาย้อนหลังไปได้ถึงยุคของจารึกภาษาสันสกฤต จารึกตรุมเนคระ ใน พ.ศ. 993 ส่วนการเขียนด้วยภาษาชวาที่เก่าที่สุดคือจารึกสุกภูมีซึ่งระบุวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 1346 จารึกนี้พบที่เกอดีรีในชวาตะวันออกและเป็นสำเนาของจารึกต้นฉบับที่น่าจะมีอายุ 120 ปีก่อนหน้านั้น แต่หลักฐานเหลือเพียงจารึกที่เป็นสำเนาเท่านั้น เนื้อหากล่าวถึงการสร้างเขื่อนใกล้กับแม่น้ำสรินยังในปัจจุบัน จารึกนี้เป็นจารึกรุ่นสุดท้ายที่ใช้อักษรปัลลวะ จารึกรุ่นต่อมาเริ่มใช้อักษรชวา

ในพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 เป็นยุคที่เริ่มมีวรรณคดีพื้นบ้านในภาษาชวา เช่น สัง ฮยัง กะมาฮะยานีกัน ที่ได้รับมาจากพุทธศาสนา และ กากาวัน รามายานา ที่มาจากรามายณะฉบับภาษาสันสกฤต แม้ว่าภาษาชวาจะใช้เป็นภาษาเขียนทีหลังภาษามลายู แต่วรรณคดีภาษาชวายังได้รับการสืบทอดจนถึงปัจจุบัน เช่นวรรณคดีที่ได้รับมาจากรามายณะและมหาภารตะยังได้รับการศึกษาจนถึงทุกวันนี้

การแพร่กระจายของวัฒนธรรมชวารวมทั้งอักษรชวาและภาษาชวาเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1836 ซึ่งเกิดจากการขยายตัวไปทางตะวันออกของราชอาณาจักรมัชปาหิตซึ่งเป็นอาณาจักรที่นับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ไปสู่เกาะมาดูราและเกาะบาหลี ภาษาชวาแพร่ไปถึงเกาะบาหลีเมื่อ พ.ศ. 1906 และมีอิทธพลอย่างลึกซึ้ง โดยภาษาชวาเข้ามาแทนที่ภาษาบาหลีในฐานะภาษาทางการปกครองและวรรณคดี ชาวบาหลีรักษาวรรณคดีเก่าที่เป็นภาษาชวาไว้มาก และไม่มีการใช้ภาษาบาหลีเป็นภาษาเขียนจนถึงพุทธศตวรรษที่ 24

ภาษามาดูราเขียนด้วยอักษรชวา

ภาษาชวายุคกลาง

ในยุคของราชอาณาจักรมัชปาหิต ได้เกิดภาษาใหม่ขึ้นคือภาษาชวายุคกลางที่อยู่ระหว่างภาษาชวาโบราณและภาษาชวาสมัยใหม่ จริงๆแล้ว ภาษาชวายุคกลางมีความคล้ายคลึงกับภาษาชวาสมัยใหม่จนผู้พูดภาษาชวาสมัยใหม่ที่ศึกษาวรรณคดีสามารถเข้าใจได้ ราชอาณาจักรมัชปาหิตเสื่อมลงเนื่องจากการรุกรานของต่างชาติและอิทธิพลของศาสนาอิสลาม และการคุกคามของสุลต่านแห่งเดมักที่อยู่ทางชายฝั่งด้านเหนือของเกาะชวา ราชอาณาจักรมัชปาหิตสิ้นอำนาจลงเมื่อ พ.ศ. 2021

ภาษาชวาใหม่

ภาษาชวาสมัยใหม่เริ่มปรากฏเมื่อพุทธศตวรรษที่ 21 พร้อมๆกับการเข้ามามีอิทธิพลของศาสนาอิสลาม และการเกิดรัฐสุลต่านมะตะรัม รัฐนี้เป็นรัฐอิสลามที่สืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมจากยุคราชอาณาจักรมัชปาหิต วัฒนธรรมชวาแพร่หลายไปทางตะวันตก เมื่อรัฐมะตะรัมพยายามแพร่อิทธิพลไปยังบริเวณของผู้พูดภาษาซุนดาทางตะวันตกของเกาะชวา ทำให้ภาษาชวากลายเป็นภาษาหลักในบริเวณนั้น เช่นเดียวกับภาษาบาหลี ไม่มีการใช้ภาษาซุนดาเป็นภาษาเขียนจนถึงพุทธศตวรรษที่ 24 และได้รับอิทธิพลจากภาษาชวามาก คำศัพท์ 40% ในภาษาซุนดาได้มาจากภาษาชวา

แม้ว่าจะเป็นจักรวรรดิอิสลาม แต่ราชอาณาจักรมะตะรัมก็ยังรักษาหน่วยเดิมที่มาจากวัฒนธรรมเก่าไว้และพยายามรวมเข้ากับศาสนาใหม่ จึงเป็นเหตุผลที่ยังคงมีการใช้อักษรชวาอยู่ ในขณะที่อักษรดั้งเดิมของภาษามลายูเลิกใช้ไปตั้งแต่เหลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม โดยหันไปใช้อักษรที่มาจากอักษรอาหรับแทน ในยุคที่ศาสนาอิสลามกำลังรุ่งเรืองราวพุทธศตวรรษที่ 21 ได้เกิดภาษาชวาใหม่ขึ้น มีเอกสารทางศาสนาอิสลามฉบับแรกๆ ที่เขียนด้วยภาษาชวาใหม่ ซึ่งมีคำศัพท์และสำนวนที่ยืมมาจากภาษาอาหรับมาก ต่อมาเมื่อได้รับอิทธิพลจากภาษาดัตช์และภาษาอินโดนีเซีย ทำให้ภาษาชวาพยายามปรับรูปแบบให้ง่ายขึ้น และมีคำยืมจากต่างชาติมากขึ้น

ภาษาชวาสมัยใหม่

นักวิชาการบางคนแยกภาษาชวาที่ใช้พูด ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 25 ว่าเป็นภาษาชวาสมัยใหม่ แต่ก็ยังคงถือว่าเป็นภาษาเดียวกับภาษาชวาใหม่