บทนำ ของ ภาษาชวา

ภาษาชวาอยู่ในกลุ่มย่อยซุนดาของภาษากลุ่มมาลาโย-โพลีเนเซียตะวันตก มีลักษณะทางภาษาศาสตร์ใกล้เคียงกับภาษามลายู ภาษาซุนดา ภาษามาดูรา ภาษาบาหลี และภาษากลุ่มสุมาตราและบอร์เนียวอื่นๆ รวมทั้งภาษามาลากาซีและภาษาฟิลิปิโน ภาษาชวาใช้พูดในบริเวณชวากลางและชวาตะวันออกและชายฝั่งทางเหนือของชวาตะวันตก ภาษาชวาได้ใช้เป็นภาษาเขียนควบคู่ไปด้วย เป็นภาษาในศาลที่ปาเล็มบัง สุมาตราใต้จนกระทั่งถูกดัตช์ยึดครองเมื่อพุทธศตวรรษที่ 23

ภาษาชวาจัดว่าเป็นภาษาคลาสสิกภาษาหนึ่งของโลก มีวรรณคดีมานามถึง 12 ศตวรรษ นักวิชาการแบ่งภาษาชวาออกเป็นสี่ยุคด้วยกันคือภาษาชวาโบราณ เริ่มจากพุทธศตวรรษที่ 14 ภาษาชวายุคกลางเริ่มจากพุทธศตวรรษที่ 18 ภาษาชวายุคใหม่เริ่มจากพุทธศตวรรษที่ 21 และภาษาชวาปัจจุบันเริ่มในพุทธศตวรรษที่ 25 ภาษาชวาเขียนด้วยอักษรชวาที่พัฒนามาจากอักษรพราหมี อักษรอาหรับ-ชวาที่เป็นอักษรอาหรับดัดแปลงสำหรับภาษาชวา และอักษรละติน

แม้ว่าจะไม่มีสถานะเป็นภาษาราชการ ภาษาชวาถือว่าเป็นภาษาในตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนที่มีผู้พูดเป็นภาษาแม่มากประมาณ 80 ล้านคน อย่างน้อย 45% ของประชากรทั้งหมดในอินโดนีเซียเป็นผู้พูดภาษาชวาหรืออยู่ในบริเวณที่ใช้ภาษาชวาเป็นภาษาหลัก และมีอิทธิพลอย่างมากต่อภาษาอินโดนีเซียที่เป็นสำเนียงหนึ่งของภาษามลายู ภาษาชวามีสำเนียงหลักสามสำเนียงคือ ชวากลาง ชวาตะวันออก และชวาตะวันตก