การรวมชาติเยอรมัน ของ ราชอาณาจักรปรัสเซีย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ
ประวัติศาสตร์เยอรมนี
ดูบทความหลักที่: การสร้างเอกภาพเยอรมนี

ในปี ค.ศ. 1862 (พ.ศ. 2405) พระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 แห่งปรัสเซีย ได้เรียกตัวออทโท ฟอน บิสมาร์ค เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บิสมาร์คหวังอยู่เสมอในการรวบรวมเยอรมนีให้เป็นปึกแผ่นและต้องการให้เยอรมนีเป็นประเทศที่เข้มแข็งให้ได้ ดังนั้นการที่จะรวมเยอรมนีให้ได้จะต้องกำจัดอิทธิพลของมหาอำนาจภายนอกและจะต้องทำให้ปรัสเซียเป็นผู้นำในการรวมชาติเยอรมันแทนที่ออสเตรีย ถึงแม้ว่าออสเตรียจะเป็นรัฐเยอรมันเหมือนกันแต่ออสเตรียได้ไปแย่งชิงดินแดนต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เยอรมัน เช่น ฮังการี โบฮีเมีย เป็นต้น ทำให้ในสายตาของรัฐเยอรมนีและรัฐอื่น ๆ ถือว่าออสเตรียเป็นเหมือนกับเยอรมันที่ไม่แท้จริง และจำเป็นต้องผูกมิตรกับมหาอำนาจอื่น ๆ เช่น อังกฤษ ออสเตรีย ฝรั่งเศส รัสเซีย เป็นต้น ในการรวมเยอรมนีนั้นทำให้เกิดสงครามคร้งใหญ่ถึง 3 ครั้ง ได้แก่

สงครามกับเดนมาร์กเพื่อแย่งชิงชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์

บิสมาร์คอ้างว่าเพื่อปกป้องชายเยอรมันที่อยู่ใน 2 แคว้นนี้ และเมื่อสงครามเริ่มขึ้นปรัสเซียก็ได้ชัยชนะอย่างรวดเร็วในการบุกเดนมาร์ก เมื่อเดนมาร์กสู้ไม่ได้จึงยอมยกชเลสวิชให้ปรัสเซีย ส่วนฮ็อลชไตน์ให้ออสเตรียในสนธิสัญญาแกลสไตน์ปี พ.ศ. 2407 (ค.ศ. 1864)

สงครามออสเตรีย

ดูบทความหลักที่: สงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย

สงครามนี้เกิดขึ้นเมื่อปรัสเซียกล่าวหาว่าออสเตรียดูแลฮ็อลชไตน์ไม่ดี และออสเตรียกล่าวหาว่าปรัสเซียยุยงพลเมืองของฮ็อลชไตน์ให้ต่อต้านออสเตรีย เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันเองดังนั้นสงครามจึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ก่อนที่ปรัสเซียจะประกาศสงครามกับออสเตรียนั้นปรัสเซียได้ดำเนินนโยบายทางทูตต่อประเทศข้างเคียงเพื่อมิให้ประเทศเหล่านั้นฉวยโอกาส เช่น การตกลงกับพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส บิสมาร์คได้ขอร้องให้พระองค์ทรงวางตัวเป็นกลางไม่ต้องสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ฝ่ายจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส นั้นหวังของตอบแทนในความเป็นกลางของพระองค์ทั้งจากปรัสเซียและออสเตรียดังนั้นพระองค์จึงตอบตกลง นอกจากนั้นปรัสเซียได้ทำสัญญากับอิตาลีอีกด้วย ข้างฝ่ายออสเตรียเมื่อรู้ตัวว่าจะต้องมีสงครามอย่างแน่นอน ออสเตรียได้ยุยงให้บรรดารัฐเยอรมันงดการสนับสนุนปรัสเซียหากมีสงคราม และในไม่ช้าออสเตรียจึงเริ่มประกาศระดมพล ฝ่ายปรัสเซียนั้นรู้อยู่ก่อนแล้วว่าจะต้องมีสงครามแน่นอน พระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 ได้ประกาศระดมพลก่อนออสเตรียเป็นเวลาถึง 3 อาทิตย์ ดังนั้นปรัสเซียจึงได้เปรียบมากกว่าออสเตรีย และเมื่อทั้งสองประกาศสงครามต่อกัน ปรัสเซียก็เริ่มบุกและเป็นฝ่ายได้เปรียบตั้งแต่ยกแรก ฝ่ายออสเตรียเป็นฝ่ายรับได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญแต่ไม่อาจจะสู้กองทัพของปรัสเซียได้จึงได้แต่ถอย และเมื่อกองทัพของปรัสเซียเคลื่อนทัพเข้ามาใกล้กรุงเวียนนา ออสเตรีย จึงยอมทำสนธิสัญญาปราก ผลของสงครามครั้งนี้ออสเตรียไม่ได้เสียดินแดนต่าง ๆ หากแต่เสียสิทธิและถูกขับออกจากสมาพันธ์รัฐเยอรมนี ฝ่ายปรัสเซียก็ได้รวมรัฐเยอรมนีต่าง ๆ เข้ามาเป็นสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือขึ้นในปี พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1866)

สงครามกับฝรั่งเศส

ดูบทความหลักที่: สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย

เนื่องจากฝรั่งเศสพ่ายแพ้ปรัสเซียทางการทูตอยู่เสมอ ๆ และมีปัญหาเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติในสเปน ฝรั่งเศสจึงตัดสินใจประกาศสงครามกับปรัสเซีย สงครามครั้งนี้ปรัสเซียมีชัยชนะอย่างขาดลอย ทำให้ชาวฝรั่งเศสได้ขับไล่พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ออกจากราชสมบัติและร่วมก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ขึ้น นอกจากนี้ทำให้ปรัสเซียได้เป็นมหาอำนาจอันดับต้น ๆ ในยุโรปและพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 ได้ประกาศจัดตั้งจักรวรรดิเยอรมันขึ้น และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งเยอรมนี และสถาปนาบิสมาร์คให้เป็นเจ้าชายและอัครมหาเสนาบดี ณ พระราชวังแวร์ซาย ในปี พ.ศ. 2414 (ค.ศ. 1871) หลังจากนั้นรัฐต่าง ๆ ได้แก่ เมคเลินบวร์ค บาวาเรีย บาเดิน เวือร์ทเทิมแบร์ค และซัคเซิน ก็ขอเข้าร่วมกับจักรวรรดิเยอรมัน

ใกล้เคียง

ราชอาณาจักรอิตาลี ราชอาณาจักรกัมพูชา (พ.ศ. 2496–2513) ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย ราชอาณาจักรฮังการี (ค.ศ. 1920–1946) ราชอาณาจักรลิเบีย ราชอาณาจักรปรัสเซีย ราชอาณาจักรนาวาร์ ราชอาณาจักรโรมาเนีย ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ราชอาณาจักรมาเกโดนีอา