การรวมชาติอิตาลี ของ ราชอาณาจักรอิตาลี

กระบวนการรวมชาติอิตาลี

การสถาปนาราชอาณาจักรอิตาลีเป็นผลมาจากความพยายามแสวงหาจุดร่วมระหว่างนักชาตินิยมอิตาลีกับผู้สนับสนุนระบอบราชาธิปไตยซึ่งภักดีต่อราชวงศ์ซาวอย เพื่อก่อตั้งสหราชอาณาจักรปกครองดินแดนคาบสมุทรอิตาลีทั้งหมด

ภายหลังจากการปฏิวัติปี ค.ศ. 1848 ได้มีการเคลื่อนไหวของผู้นำการรวมชาติโดย จูเซปเป การีบัลดี นักปฏิวัติชาวอิตาลี เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วในหมู่ชาวอิตาลีทางใต้ และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากการที่เขามีผู้สนับสนุนเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดแบบสุดขั้ว[1] การิบัลดีได้นำชาวอิตาลีฝ่ายนิยมสาธารณรัฐเป็นผู้ขับเคลื่อนในกระบวนการรวมชาติในอิตาลีตอนใต้ แต่ในทางตอนเหนือของอิตาลี ราชวงศ์ซาวอยแห่งราชอาณาจักรซาร์ดิเนียอันเป็นรัฐของชาวปิเอมอนเตโดยพฤตินัย ซึ่งมีรัฐบาลภายใต้การนำของอัครมหาเสนาบดีคามิลโล เบนโซ, เคานท์แห่งคาวัวร์ ก็เป็นฝ่ายที่มีความปรารถนาที่จะสถาปนารัฐอิตาลีอันเป็นเอกภาพด้วยเช่นกัน ในทางปฏิบัติราชอาณาจักรก็มิได้มีการติดต่อเพื่อการรวมชาติไปยังโรม (เป็นที่รู้ดีกันว่ากรุงโรมอันเป็นราชธานีของรัฐพระสันตะปาปามีฐานะเป็นเมืองหลวงของอิตาลี แม้ว่าจะไม่ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการก็ตาม) แต่ราชอาณาจักรก็ประสบความสำเร็จในการท้าทายต่อจักรวรรดิออสเตรียในสงครามประกาศเอกราชครั้งที่สอง โดยสามารถปลดปล่อยราชอาณาจักรลอมบาร์ดี-เวเนเชีย จากการปกครองของออสเตรียได้สำเร็จ อีกทั้งยังสามารถก่อตั้งพันธมิตรเพื่อการรวมชาติอิตาลี เช่น สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ในสงครามไครเมีย ราชอาณาจักรซาร์ดิเนียประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1860 แต่ถูกบังคับให้ยกดินแดนบางส่วนให้แก่ฝรั่งเศสเพื่อรักษาความสัมพันธ์ไว้ ดินแดนดังกล่าวนี้ได้รวมถึงเมืองนีซ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของการิบัลดีด้วย

คามิลโล เบนโซ ดิ คาวัวร์, นายกรัฐมนตรีคนแรกแห่งราชอาณาจักรอิตาลีหลังการรวมชาติ

คาวัวร์ได้ท้าทายความพยายามรวมชาติของการิบัลดีด้วยการยุยงให้เกิดการจลาจลของประชาชนในรัฐพระสันตะปาปา และใช้การจลาจลในครั้งนี้เป็นข้ออ้างในการรุกรานรัฐพระสันตะปาปา แม้การรุกรานดังกล่าวจะสร้างความโกรธเคืองให้แก่ชาวคาธอลิกก็ตาม แต่คาวัวร์ก็อ้างว่าทำไปเพื่อปกป้องศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกจากฝ่ายชาตินิยมต่อต้านศาสนจักรและนิยมสาธารณรัฐของการิบัลดี รัฐพระสันตะปาปาได้เหลือเพียงบริเวณเล็กๆ รอบกรุงโรมเท่านั้นที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 [2] แม้ทั้งสองฝ่ายจะมีแนวทางที่แตกต่างกัน คาวัวร์ก็ได้ตกลงที่จะให้มีการรวมอิตาลีทางตอนใต้ของการิบัลดีเข้าร่วมเป็นสหพันธ์เดียวกับปิเอมอนเต-ซาร์ดิเนียในปี ค.ศ. 1860 หลังจากนั้นไม่นานคาวัวร์จึงได้ประกาศให้รวมอิตาลีตอนเหนือและอิตาลีตอนใต้เข้าเป็นหนึ่งเดียว และสถาปนาราชอาณาจักรอิตาลีขึ้นในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1861 โดยมีพระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 2 กษัตริย์แห่งซาร์ดิเนียจากราชวงศ์ซาวอย ทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์แห่งอิตาลีพระองค์แรก ชื่อราชอาณาจักรอิตาลีนี้เคยถูกเลิกใช้นับตั้งแต่การสละราชสมบัติของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1814

พระเจ้าวิคเตอร์ เอ็มมานูเอลที่ 2 ปฐมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรอิตาลีหลังการรวมชาติ

หลังการรวมดินแดนส่วนใหญ่ของอิตาลี ความตึงเครียดระหว่างผู้สนับสนุนราชาธิปไตยกับผู้สนับสนุนสาธารณรัฐก็ปะทุขึ้น ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1861 การิบัลดีได้เข้าไปยังรัฐสภาของอิตาลีและท้าทายต่อคาวัวร์ในฐานะผู้นำรัฐบาล โดยกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้แบ่งแยกอิตาลี อีกทั้งยังพูดถึงการจัดการกับปัญหาสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพราชอาณาจักรฝ่ายเหนือเหนือกับกองทัพของการิบัลดีทางฝ่ายใต้ ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1861 นายกรัฐมนตรีคาวัวร์ได้ถึงแก่อสัญกรรม ท่ามกลางความวุ่นวายและไร้เสถียรภาพทางการเมือง ฝ่ายของการิบัลดีก็มีผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การจับกุมการิบัลดีในปี ค.ศ. 1862 ได้สร้างข้อถกเถียงเป็นวงกว้างไปทั่วโลก[3]

จูเซปเป การีบัลดี ผู้นำทางการทหารคนสำคัญในการรวมชาติอิตาลี

ในปี ค.ศ. 1866 ออทโท ฟอน บิสมาร์ค มุขมนตรีแห่งราชอาณาจักรปรัสเซีย ได้ถวายสัมพันธไมตรีแก่พระเจ้าวิคเตอร์ เอมมานูเอลที่ 2 โดยการเชิญอิตาลีเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับปรัสเซียในสงครามออสโตร-ปรัสเซียน และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนในการเป็นพันธมิตร ปรัสเซียจึงได้ยินยอมยกให้อิตาลีสามารถผนวกเอาเวนิสซึ่งเป็นดินแดนของชาวอิตาลีที่อยู่ในความครอบครองของจักรวรรดิออสเตรียได้ พระเจ้าวิคเตอร์ เอมมานูเอลที่ 2 จึงทรงยอมร่วมเป็นพันธมิตรและสงครามประกาศเอกราชครั้งที่สามก็ได้เปิดฉากขึ้น ในสงครามครั้งนี้อิตาลีปฏิบัติการรบได้ย่ำแย่จากปัญหาการจัดการโครงสร้างกองทัพที่ไม่มีประสิทธิภาพในการรบกับออสเตรีย แต่ชัยชนะของปรัสเซียก็ได้ทำให้อิตาลีสามารถผนวกเมืองเวนิสได้ อุปสรรคหลักในการรวมชาติเพียงหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่มีเพียงที่โรมเท่านั้น

ในปี ค.ศ. 1870 ปรัสเซียได้เดินทัพไปโจมตีฝรั่งเศสเพื่อเปิดฉากสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย และเพื่อต้านทานกองทัพอันมหึมาของปรัสเซียเอาไว้ ฝรั่งเศสจึงได้ทำการสละสถานภาพในโรม ซึ่งเป็นเกราะคุ้มกันรัฐพระสันตะปาปาและสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 เพื่อที่ฝรั่งเศสจะทุ่มกำลังต่อสู้ชาวปรัสเซียได้เต็มที่ อิตาลีจึงได้รับผลประโยชน์จากชัยชนะของปรัสเซีย โดยได้อำนาจการควบคุมรัฐสันตะปาปาจากฝ่ายปกครองของฝรั่งเศส กรุงโรมถูกกองทัพราชอาณาจักรอิตาลีเข้ายึดครองหลังเกิดการต่อสู้แบบจรยุทธ์ ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งโดยกองกำลังของรัฐพระสันตะปาปาที่ต่อต้านผู้รุกรานชาวอิตาลี การรวมชาติของอิตาลีได้บรรลุผลโดยสมบูรณ์ และหลังจากนั้นไม่นานนัก อิตาลีก็ได้ทำการย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงโรมอย่างเป็นทางการ สภาพทางเศรษฐกิจของอิตาลีในเวลานั้นย่ำแย่[4] เพราะไม่มีอุตสาหกรรมและการคมนาคมที่สะดวกสบาย ปัญหาความยากจนขั้นรุนแรง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ของอิตาลี) อัตราการรู้หนังสือที่ต่ำมาก และมีเพียงชาวอิตาลีที่มั่งคั่งเพียงส่วนน้อยที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ความเคลื่อนไหวในการรวมชาติได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติเป็นส่วนมาก แม้หลังจากทำการรวมชาติสำเร็จแล้ว อิตาลีก็ยังคงต้องอาศัยการสนับสนุนดังกล่าวสืบต่อมา

หลังจากกรุงโรมถูกฝ่ายราชอาณาจักรอิตาลียึดครองได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1870 ความสัมพันธ์ระหว่างวาติกันและอิตาลียังคงเป็นไปในทางเสื่อมทรามเป็นเวลานานถึง 60 ปี โดยพระสันตะปาปาลำดับต่อๆ มา ได้ประกาศพระองค์เองว่าเป็นนักโทษแห่งวาติกัน ศาสนจักรคาธอลิกมักประท้วงถึงการกระทำในทางโลกวิสัยและต่อต้านศาสนจักรของฝ่ายรัฐบาลอิตาลีอยู่บ่อยครั้ง ทั้งยังปฏิเสธที่จะพบกับผู้แทนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ และเรียกร้องให้ผู้นับถือศาสนจักรคาธอลิกไม่ลงคะแนนเสียงในการการเลือกตั้งของอิตาลีด้วย[5] สภาพดังกล่าวดำรงมาจนถึงปี ค.ศ. 1929 รัฐบาลอิตาลีและสันตะสำนักวาติกันได้มีการลงนามในสนธิสัญญาลาเตรัน ความสัมพันธ์ในทางบวกระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงได้รับการฟื้นฟูขึ้น

ใกล้เคียง

ราชอาณาจักรอิตาลี ราชอาณาจักรฮังการี (ค.ศ. 1920–1946) ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย ราชอาณาจักรกัมพูชา (พ.ศ. 2496–2513) ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ราชอาณาจักรโรมาเนีย ราชอาณาจักรลิเบีย ราชอาณาจักรปรัสเซีย ราชอาณาจักรนาวาร์ ราชอาณาจักรมาเกโดนีอา

แหล่งที่มา

WikiPedia: ราชอาณาจักรอิตาลี http://www.axishistory.com/index.php?id=37 http://www.germaniainternational.com/images/bookgi... http://www.germaniainternational.com/images/bookgi... http://books.google.com/books?id=MTWM6PjNvBMC&pg=P... http://www.spiritus-temporis.com/june-1934/ http://www.law.fsu.edu/library/collection/Limitsin... http://greatoceanliners.net/rex.html http://historicalresources.org/2008/09/17/mussolin... http://historicalresources.org/2008/09/19/mussolin... http://www.royin.go.th/th/webboardnew/answer.php?G...