กิจกรรมหลักของวัด ของ วัดคุ้งตะเภา

ภาพคณะสามเณรภาคฤดูร้อนวัดคุ้งตะเภาทัศนศึกษาพุทธมณฑล พ.ศ. 2549

ปัจุจบันวัดคุ้งตะเภา เป็นที่ตั้งของหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลคุ้งตะเภา ซึ่งได้รับรางวัลเกียรติยศพัดและประกาศเกียรติคุณหน่วย อปต.ดีเด่น ระดับประเทศ[67] ดังนั้นวัดคุ้งตะเภา นอกจากจะเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา การจัดสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่ประชาชนแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่เยาวชน (กิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน) เป็นที่ตั้งศูนย์การศึกษาของคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาสำหรับคฤหัสถ์ในเขตตำบลคุ้งตะเภา (สำนักศาสนศึกษาประจำตำบล) มีห้องสมุดทางพระพุทธศาสนาที่มีหนังสือเอกสารและตำราทางพระพุทธศาสนา กว่า 5000 เล่ม (สุวรรณเภตราบรรณาคาร) เป็นศูนย์กลางอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น และเป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมของฝ่ายปกครองและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ทั่วไปของชุมชนคุ้งตะเภา รวมทั้งเป็นศูนย์ศึกษาสมุนไพรในวัดประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ (ตามโครงการของทางคณะสงฆ์) ซึ่งมีสมุนไพรหายากหลากชนิดกว่า 500 ชนิด

ขบวนแห่เนื่องในงานบุญประเพณีภายในวัดคุ้งตะเภา

งานบุญประเพณี

เนื่องด้วยวัดคุ้งตะเภา ตั้งอยู่ในชุมชนโบราณอายุกว่าสามร้อยปี ที่มีความสืบเนื่องมาจากวัฒนธรรมอยุธยา ดังนั้นประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมส่วนใหญ่ของหมู่บ้านคุ้งตะเภาจึงคล้ายกับหมู่บ้านในแถบภาคกลางตอนบน เพราะโดยพื้นเพของคนคุ้งตะเภานั้นเป็น “คนไทยเหนือ” ตามคำปากของคนในสมัยอยุธยา คือเป็นคนไทยเดิมที่ตั้งถิ่นฐานแถบเมืองพิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ฯ โดยคนคุ้งตะเภานั้นมีสำเนียงการพูดคล้ายคนสุโขทัย,เมืองฝางสวางคบุรีและทุ่งยั้ง มีประเพณีและวัฒนธรรมไม่แตกต่างจากชาวพุทธเถรวาทในแถบภาคกลางตอนบนของประเทศไทย โดยส่วนใหญ่การจัดประเพณีหรือกิจกรรมของหมู่บ้านมักจะจัดที่วัดประจำหมู่บ้าน

วัดคุ้งตะเภาเป็นศูนย์กลางจัดงานบุญประเพณี ๙ เดือน ของชุมชนบ้านคุ้งตะเภามานับสามร้อยปี

ปัจจุบัน วัดคุ้งตะเภา เป็นศูนย์กลางของชุมชนบ้านคุ้งตะเภา ในการจัดงานกิจกรรมประเพณีตลอดทั้งปี เรียกว่า ประเพณี 9 เดือน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือน 2 ไปจนสิ้นสุดเดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย คือในเดือน 2 มีประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก เดือน 3 ประเพณีวันมาฆบูชา เดือน 4 ประเพณีวันตรุษไทย เดือน 5 ประเพณีวันสงกรานต์ เดือน 6 ประเพณีวันวิสาขบูชา เดือน 7 ประเพณีสลากภัต เดือน 8 ประเพณีวันวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา เดือน 10 งานบุญมหาชาติ และประเพณีวันสารทไทย เดือน 11 ประเพณีวันออกพรรษาตักบาตรเทโว และประเพณีกฐินสามัคคี

ดูเพิ่มได้ที่ หมู่บ้านคุ้งตะเภา#วัฒนธรรมประเพณี

คณะศรัทธาวัดคุ้งตะเภาทำวัตรสวดมนต์ในงานบุญวันธรรมสวนะ

การจัดสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่ประชาชน

วัดคุ้งตะเภา เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 3 (สำนักปฏิบัติธรรมภายใต้การกำกับของมหาเถรสมาคม)[16][17] มีพระภิกษุผู้ได้รับการฝึกอบรมและผ่านหลักสูตรพระวิปัสสนาจารย์ (หลักสูตรของมหาเถรสมาคม) จำนวน 3 รูป[68] คือ พระทองเพียร อุปสนฺโต (สำเร็จหลักสูตรพระวิปัสสนาจารย์ รุ่น 1) และพระเที่ยง นิติสาโร (สำเร็จหลักสูตรพระวิปัสสนาจารย์ ปี 2553) พระนพรัตน์ สุธีโร (สำเร็จหลักสูตรกัมมัฏฐานสายภัตทันตะธรรมาจาริยะ) นอกจากนี้เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน คือหลวงพ่อพระสมุห์สมชาย ท่านเป็นศิษย์สายธุดงค์พระกัมมัฏฐาน ที่เคยออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมกับองค์พ่อแม่ครูอาจารย์สายหลวงปู่มั่น และเคยเป็นศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อพุทธทาส หรือ พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) วัดคุ้งตะเภาจึงมีศักยภาพสูงในการจัดการสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่ประชาชนในท้องถิ่น ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภามีการจัดกิจกรรมสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่ประชาชนในวันหยุด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนวัดคุ้งตะเภา

ภาพหมู่สามเณรบรรพชาภาคฤดูร้อนวัดคุ้งตะเภา

วัดคุ้งตะเภาได้จัดกิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนติดต่อกันมาทุกปีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 ซึ่งนับเป็นวัดแรก ๆ ในจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ได้จัดให้มีโครงการนี้ขึ้น ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 15 (พ.ศ. 2555) ซึ่งทางวัดจะมีการจัดการอบรมศาสนศึกษาระยะสั้นให้แก่กุลบุตร กุลธิดา ตลอดระยะเวลาการบรรพชา 30 วันรวมทั้งมีการจัดให้มีการนำคณะสามเณรศีลจาริณีไปทัศนศึกษาตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในจังหวัดและนอกจังหวัด อีกทั้งเมื่อสิ้นสุดโครงการยังมีการจัดธุดงค์วัตร นำคณะสามเณรผู้สนใจไปธุดงค์ตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มประสบการณ์ ฝึกความอดทนและความมีน้ำใจให้แก่เยาวชนอีกด้วย

ในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งผู้เข้าร่วมโครงการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทุนปัจจัยทั้งหมดอาศัยแรงศรัทธาความสามัคคีร่วมใจของชาวบ้านคุ้งตะเภาและใกล้เคียงที่เล็งเห็นถึงผลของการพัฒนาลูกหลานเยาวชนให้กลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพต่อไป[68]

สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา

คณะนักเรียนสังกัดสำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา

การจัดให้การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมศึกษาหรือการศึกษาวิชาธรรมของคฤหัสถ์ (ผู้ไม่ใช่นักบวช) ของวัดคุ้งตะเภา หรือ สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภานั้น เริ่มจัดการเรียนการสอนในปี พ.ศ. 2540 อันเป็นช่วงแรก ๆ ที่แม่กองธรรมสนามหลวงเปิดโอกาสให้มีการสอบไล่ธรรมศึกษาสำหรับคฤหัสถ์ในต่างจังหวัดขึ้น โดยในช่วงแรก พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา ได้ดำเนินการประสานงานไปยังโรงเรียนในเขตตำบลคุ้งตะเภาขอนำพระสงฆ์เข้าสอนจริยธรรมและธรรมศึกษาในโรงเรียน ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในครั้งนั้นประสบผลสำเร็จไปด้วยดี มีนักเรียนและผู้สนใจสอบไล่ได้ธรรมศึกษาเป็นจำนวนมาก ต่อมาเจ้าคณะตำบลในขณะนั้นได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาธรรมของคฤหัสถ์ดังกล่าว จึงได้ดำเนินการขอจัดตั้งสำนักศาสนศึกษาประจำตำบลคุ้งตะเภา ขึ้นที่วัดคุ้งตะเภาเป็นต้นมา และยังคงมีการดำเนินการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน จนในปี พ.ศ. 2554 นายโยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ลงนามในประกาศจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ 1/2554 จัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นในวัดคุ้งตะเภาอย่างเป็นทางการ สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภาจึงมีภารกิจด้านการจัดแหล่งการเรียนรู้ในวัดเพิ่มเติมจากการทำการเรียนการสอนตามปกติในสถานศึกษาระดับพื้นฐาน โดยในส่วนของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดคุ้งตะเภานั้นอยู่ภายใต้ความอุปถัมภ์ของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม[69][68]

ห้องสมุดพระพุทธศาสนาสุวรรณเภตราบรรณาคาร

ส่วนจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา บนอาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญ มุขทิศตะวันออก

ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภามีห้องสมุดจำนวน 2 ห้อง[68] โดยไม่มีอาคารแยกจำเพาะเป็นเอกเทศ หนังสือส่วนใหญ่ได้มาจากการรวบรวมของเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน และจากการได้รับบริจาค โดยวัดคุ้งตะเภาได้ใช้แนวคิดการปรับปรุงอาคารศาสนสถานที่มีอยู่เดิมให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อเป็นตัวอย่างแก่วัดอื่น ๆ โดยวัดคุ้งตะเภาได้ใช้พื้นที่อาคารหอสวดมนต์ จัดเป็นมุมหนังสือเก่า มีตู้หนังสือพระไตรปิฎก หนังสือธรรมะ หนังสือเรียนนักธรรม-บาลี เทปคาสเซตธรรมะ และเอกสารอื่น ๆ และได้จัดพื้นที่ด้านทิศเหนือของอาคารศาลาการเปรียญเป็นห้องสมุดของวัด เรียกว่า “สุวรรณเภตราบรรณาคาร” ประกอบไปด้วยหนังสือทั้งหนังสือธรรมะทั่วไป พระไตรปิฎก อรรถกถา ธรรมะประยุกต์ หนังสือเรียนธรรม หนังสือเชิงวิชาการ ทั้งด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และวิทยานิพนธ์พระพุทธศาสนา รวมไปถึงหนังสือเชิงปกิณกะอื่น ๆ กว่า 5,000 เล่ม ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และง่ายต่อการเข้าถึงแหล่งความรู้ทางธรรมะของสาธุชนผู้เข้ามาใช้สถานที่ในวัดคุ้งตะเภาในโอกาสต่าง ๆ [39]

ทางเข้าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา อาคารอสีติวัสสายุมงคลมหาศาลาการเปรียญ

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา หรือ พิพิธภัณฑ์สุวรรณเภตราภัณฑาคาร (อังกฤษ: Wat Kungtapao Local Museum ) เป็นแหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่นขนาดเล็กของวัด จัดแสดงเอกสารโบราณและวัตถุโบราณของวัดและชุมชนหมู่บ้านคุ้งตะเภา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2549 โดยพระอาจารย์อู๋ วชิรญาโณ (แสงสิน) และพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภาในสมัยนั้น เพื่อเป็นสถานที่สำหรับรวบรวมเอกสารโบราณและวัตถุโบราณของวัดและที่ทางวัดได้รับบริจาคจากชาวบ้าน เช่น พระพุทธรูปโบราณ สมุดไทย สมุดข่อย ใบลาน นำมาจัดแสดงให้คนในท้องถิ่นได้ศึกษาขนบวัฒนธรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในอดีต ของบรรพบุรุษ และเพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รับรู้และเกิดความภาคภูมิใจในมรดกและความเป็นมา ของชุมชนบ้านคุ้งตะเภาที่มีอายุความเป็นมายาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย[68]

ศูนย์กลางในการจัดและเผยแพร่กิจกรรมสำคัญของชุมชน

วัดคุ้งตะเภา ในฐานะศูนย์กลางของชุมชนคุ้งตะเภา ได้มีการจัดกิจกรรมแก่ประชาชนในวัดในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเป็นสถานที่ประชาชนผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาเพื่อเพิ่มพูนพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพ เช่น การพัฒนาทักษะด้านสมุนไพรไทย รวมถึงเคยเป็นที่ตั้งของศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนตำบลคุ้งตะเภาอีกด้วย ผลของการมีบทบาทดังกล่าวทำให้วัดคุ้งตะเภาเป็นที่ตั้งของสำนักงานสหกรณ์สมาพันธ์เกษตรกรเพื่อการพัฒนา ภาคเหนือตอนล่าง หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลคุ้งตะเภา (อปต.) รวมทั้งอาคารธนาคารหมู่บ้านคุ้งตะเภา ซึ่งมีที่ตั้งอาคารทำการอยู่ที่บริเวณวัดคุ้งตะเภา[39]

การจัดกิจกรรมแสดงทางประเพณีและวัฒนธรรมของประชาชนในวัดคุ้งตะเภา

นอกจากนี้วัดคุ้งตะเภายังมีหอติดตั้งเครื่องกระจายเสียงจำนวน 1 เสา มีรัศมีการกระจายเสียงประมาณ 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ หมู่บ้านคุ้งตะเภาทั้งหมู่บ้าน และบางส่วนของหมู่บ้านหัวหาด หมู่บ้านป่าขนุน รวมทั้งบางส่วนของตำบลท่าเสา โดยใช้เป็นเครื่องประกาศกิจกรรมและการเผยแพร่ธรรมของวัด และใช้เป็นเครื่องประชาสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของหมู่บ้าน โดยวัดคุ้งตะเภามีกองทุนเครื่องกระจายเสียงเพื่อนำเงินบูรณะซ่อมแซมให้หอกระจายข่าวใช้งานได้ตลอดเวลา[68]

ศูนย์ศึกษาสมุนไพรในวัดประจำจังหวัดอุตรดิตถ์

ระหว่างเส้นทางศึกษาสวนป่าสมุนไพรภายในวัดคุ้งตะเภา

สวนป่ารุกขชาติวัดคุ้งตะะเภา

วัดคุ้งตะเภาได้จัดพื้นที่ตั้งวัดด้านทิศเหนือ และบางส่วนของพื้นที่ตั้งวัด สำหรับเป็นพื้นที่สวนรุกขชาติ สระน้ำ แปลงสวนป่าปลูกพรรณไม้เนื้อแข็ง อาคารเพาะชำ บรรยากาศโดยทั่วไปมีพื้นที่ร่มรื่น เต็มไปด้วยแมกไม้นานาพรรณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางวัดใช้พื้นที่ส่วนนี้ยางส่วนสำหรับปลูกพรรณไม้ชนิดล้มลุก หรือพืชลงหัว ซึ่งจะแตกใบสวยงามในช่วงฤดูฝน ส่วนในช่วงฤดูแล้ง จะเป็นพื้นที่ลานโล่งใต้ต้นไม้ สลับกับพื้นที่เนินดินไหล่เขาขนาดเล็กสวยงามเหมาะกับการปฏิบัติธรรมและหย่อนใจ บริเวณติดกันนั้นเป็นพื้นที่ทำการเกษตรของประชาชน[68]

สวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

สวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา หรือ สวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา ได้รับการจัดตั้งให้เป็น ศูนย์ศึกษาสมุนไพรในวัดประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. 2547 เนื่องจากวัดคุ้งตะเภามีพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรแผนโบราณ ได้เป็นผู้รวบรวมสมุนไพรหายากจากสถานที่ต่าง ๆ มารวมไว้ในวัด (ในปัจจุบันในวัดมีต้นยาสมุนไพรทั้งสิ้นกว่า 500 ชนิด) เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจและเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านในด้านการอนุรักษ์สมุนไพร[39]

นักเรียนศึกษาสวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

ทางวัดได้แบ่งเขตสังฆาวาสส่วนหนึ่งให้เป็นพื้นที่ปลูกสมุนไพรที่รวบรวมมาได้จากที่ต่าง ๆ นำมาปลูกไว้ ทั้งชนิดต้นและชนิดไม้ลงหัว ไปจนกระทั่งไม้เลื้อยขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รวบรวมพืชสมุนไพรไทยที่หาชมได้ยากนำมาปลูกในเขตพื้นที่บริเวณวัดหลายร้อยชนิด โดยเริ่มทำการจัดหาสมุนไพรมาอนุรักษ์เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2535 ซึ่งผู้มีส่วนสำคัญในการริเริ่มการปลูกอนุรักษ์สมุนไพรในวัดคุ้งตะเภาก็คือ พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา พระอู๋ ปญฺญาวชิโร และพระธง ฐิติธมฺโม ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในการจำแนกพืชสมุนไพรไทย ปัจจุบันสวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภาเป็นสถานที่ศึกษาของสถานศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย โดยมีร่วมมือกับบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เช่น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข[70] โครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย[71] สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลทางพฤษศาสตร์เพื่อการศึกษาต่อยอดทางวิชาการพืชสมุนไพรในระดับประเทศ[68]

อาคารศาสนสถานบริเวณส่วนพุทธาวาสภายในวัดคุ้งตะเภา

ในปัจจุบัน สวนป่าสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา ยังคงปล่อยให้เป็นบรรยากาศธรรมชาติอันร่มรื่นเหมาะแก่การเจริญเติบโตของสมุนไพร ซ่อนเร้นสมุนไพรไทยหายากอันมีคุณประโยชน์ยิ่งในบริเวณป่า เป็นพื้นที่ป่าปลูกที่เงียบสงบเหมาะแก่การเจริญจิตตภาวนาห่างไกลจากสิ่งรบกวน สมกับคำว่า "สวนป่า" โดยแท้จริง[72]

เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สำนักงานเลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์

ปัจจุบันวัดคุ้งตะเภาเป็นที่ตั้งสำนักงานเลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ในความดูแลของพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน รับผิดชอบงานทะเบียนครูสอนพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ และงานการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมของพระสงฆ์และธรรมศึกษาของทุกโรงเรียนและสำนักเรียนในสังกัดอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ทั้งอำเภออีกด้วย[39]

แหล่งที่มา

WikiPedia: วัดคุ้งตะเภา http://maps.google.com/maps?ll=17.653441,100.14012... http://www.lokwannee.com/web2013/?p=179247 http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=17.6534... http://www.scribd.com/doc/36406495/ http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.globalguide.org?lat=17.653441&long=100.... http://www.mahathera.org/detail.php?module=news&id... http://www.wikimapia.org/maps?ll=17.653441,100.140... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.dailynews.co.th/education/351637