สถาปัตยกรรมสำคัญ ของ วัดคุ้งตะเภา

วัดคุ้งตะเภาปรากฏหลักฐานโบราณสถานภายในวัดมีสถาปัตยกรรมแบบไทยกลาง

ศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาก่อนการบูรณะ ในปี พ.ศ. 2549

สถาปัตยกรรมไทยภาคกลาง

ศาลาการเปรียญไม้เครื่องสับโบราณ

ศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา ในปี พ.ศ. 2555

ศาลาประธานวัดคุ้งตะเภาหลังนี้เป็นอาคารทรงโรงเครื่องสับแบบภาคกลางโบราณ จากประวัติหลักฐานการสถาปนาวัดคุ้งตะเภากล่าวว่าใน พ.ศ. 2313 ระบุว่าวัดมีศาลาการเปรียญเก่าแก่อยู่หลังหนึ่ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ชาวบ้านคุ้งตะเภาได้ย้ายโครงสร้างศาลาดังกล่าว มา ณ ที่ตั้งปัจจุบันในปี พ.ศ. 2472 โดยคงรูปแบบเก่าแต่ครั้งธนบุรีไว้ด้วย

ภูมิสภาปัตยกรรมมีรูปแบบศาลาโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีโครงสร้างคล้ายกับศาลาการเปรียญวัดใหญ่ท่าเสา โดยความเก่าแก่ของโครงสร้างและรูปแบบศาลาลักษณะนี้ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมศิลปากรกล่าวว่า เป็นรูปแบบโครงอาคารศาลาการเปรียญที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา

มอมคาบนาคปูนปั้นศิลปะล้านนาแท้ หัวบันไดอุโบสถวัดคุ้งตะเภา

จากที่ตั้งของตัวศาลานั้น เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณ ทำให้ทราบลักษณะการอยู่อาศัยและสัญจรของคนโบราณในแถบนี้ได้ เพราะที่ตั้งของตัวศาลาวัดในสมัยก่อนนั้นมักตั้งอยู่ริมแม่น้ำ (ปัจจุบันแม่น้ำน่านได้ตื้นเขินห่างจากตลิ่งศาลาวัดไปมากกว่า 1 กิโลเมตร) เป็นหลักฐานยืนยันถึงความเป็นวัดและหมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์อัน ยาวนานกว่าวัดและหมู่บ้านอื่นในแถบนี้ เดิมนั้น ก่อนสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ตัวศาลาเดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน อันเป็นทางสัญจรคมนาคมในสมัยก่อน ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าศาลาในที่ตั้งเดิมนั้นสร้างในสมัยใด (คาดว่าอาจจะสร้างมาแต่ครั้งแรกตั้งวัดในสมัยอยุธยาตอนปลาย)

จากหลักฐานบ่อน้ำข้างบันไดศาลาทำให้ทราบว่าศาลาหลัง นี้ย้ายที่ตั้งขึ้นมาจากริม แนวแม่น้ำน่านเดิมบริเวณต้นโพธิ์หลังวัดมาตั้งในพื้นที่ปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2472 โดยตัวโครงศาลาประธานในปัจจุบันที่ย้ายมานี้น่าจะมีอายุเกือบร้อยปีแล้ว

ศาลาการเปรียญหลังนี้ก่อนบูรณะ เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยภาคกลาง สร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง เสาทุกต้นเป็นเสาสี่เหลี่ยม เป็นอาคารทรงโรงขนาดกลาง หลังคาประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ปูนปั้น หน้าบันเป็นพื้นไม้เรียบ เดิมเปิดโล่งทั้งสี่ด้าน มีชายยื่นออกมารับทางขึ้นศาลาทางทิศเหนือ อักษรข้างบันไดศาลาระบุว่าสร้างในปี พ.ศ. 2483

ศาลาหลังนี้ใช้เป็นอาคารสำหรับบำเพ็ญกุศลหลักของวัด มีการบูรณะและต่อเติมจากตัวโครงศาลาเดิมมาเป็นระยะ ต่อมาได้มีการต่อเติมปิดทึบเฉพาะด้านหอพระ ห้องเก็บของของโรงครัวด้านทิศตะวันออกและตะวันตกบางส่วน และมีการสร้างบันไดใหม่ทางด้านทิศตะวันตกหลังจากมีการสร้างถนนสายเอเชีย ในยุคหลัง พ.ศ. 2500

ในปลายปี พ.ศ. 2549 ทางวัดคุ้งตะเภาได้ทำการบูรณะและต่อเติมศาลาการเปรียญครั้งใหญ่ (ปัจจุบันยังคงทำการบูรณะต่อเติมอยู่) มีการรื้ออาคารประกอบทั้งหมดออก โดยยังคงรักษาโครงไม้ตัวศาลาประธานเดิมไว้อยู่ ซึ่งหลังบูรณะเสร็จ หากมองจากภายนอกศาลาจะไม่สามารถเห็นตัวหลังคาศาลาเดิมได้อีกต่อไป เพราะการบูรณะนั้นมีการเสริมมุขและสร้างอาคารประกอบปิดรอบตัวศาลาประธานทั้งสี่ด้าน

ซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภา ซุ้มประตูสถาปัตยกรรมศิลปะล้านนาขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์

สถาปัตยกรรมล้านนา

ซุ้มประตูโขงวัดคุ้งตะเภา

ซุ้มประตูวัดคุ้งตะเภา ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดริมทางแยกคุ้งตะเภา (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 หรือ ถนนสายเอเชีย) ลักษณะซุ้มเป็นซุ้มประตูทรงไทยประยุกต์ศิลปะล้านนาขนาดใหญ่ ออกแบบโดยสล่าเมืองเหนือ ประยุกต์จากรูปแบบเจดีย์ล้านนาผสมรูปแบบซุ้มประตูโขงแบบล้านนา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 3 องค์บนองค์เจดีย์บนยอดซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ซุ้มจรนัมทั้ง 4 ด้าน ประดับเสาและตัวซุ้มด้วยลวดลายปูนปั้นสัตว์หิมพานต์และลายเครือเถาศิลปะล้าน นาสวยงาม โครงซุ้มประตูทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งซุ้ม ฐานเสาเข็มเทปูนแท่งเสริมเหล็กลึก 5 เมตร ขนาดกว้าง 5 เมตร สูง 19 เมตร ซุ้มประตูนี้สร้างแล้วเสร็จบริบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2545

พระธรรมเจดีย์

บุษบกปราสาทเฟื้องศิลปะล้านนาภายในวัดคุ้งตะเภา

วัดคุ้งตะเภามีเจดีย์ก่ออิฐถือปูนเก่าแก่อยู่องค์หนึ่ง มีสัณฐานแบบเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองประยุกต์ องค์เจดีย์มีซุ้มจรนัมทั้ง 4 ทิศ ยอดปล้องไฉนนพศูรย์ ล้วนทำด้วยปูนปั้นทั้งสิ้น สัณฐานสูง 3 เมตรโดยประมาณ ซุ้มจรนัมเจาะช่องเล็ก ๆ สำหรับไว้ช้างไม้และเครื่องบูชาปิดหน้าซุ้มด้วยแผ่นกระจก ปัจจุบันคงเหลือสมบูรณ์เพียงด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ บริเวณคอองค์เจดีย์มีกรอบอักษรทำด้วยปูนมีอักษรจารึกว่า "เดือนมิถุนายน ๒๔๙๓ นายบุตร นางไฝ ก่อพระธรรมเจดีย์อุทิศให้เจ้าอธิการกอง"

เจดีย์นี้ชาวบ้านคุ้งตะเภาคนรุ่นก่อนเรียกว่าพระธรรมเจดีย์ หรือธรรมเจดีย์ ไว้สำหรับบรรจุใบลานธรรมสำหรับบูชา ผู้ที่ยังทันมาเห็นขณะสร้างเจดีย์กล่าวว่าผู้สร้างเจาะช่องบริเวณองค์เจดีย์ สำหรับไว้บรรจุพระธรรมใบลาน ปัจจุบันคาดว่าใบลานคงเปื่อยยุ่ยหมดแล้ว เนื่องจากความชำรุดและความชื้นขององค์เจดีย์

พระธรรมเจดีย์โบราณวัดคุ้งตะเภา

นอกจากนี้บริเวณทิศตะวันออกของพระธรรมเจดีย์ยังมีผู้มาสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิบรรพบุรุษด้วยโดยลอกแบบพระธรรมเจดีย์ไปสร้าง โดยเรียงจากทิศเหนือไปทิศใต้ ท่านเล่าว่าเจดีย์องค์แรกเป็นเจดีย์รวมสำหรับบรรจุอัฐิของบรรพบุรุษชาวบ้านคุ้งตะเภา โดยเคยมีซุ้มไม้กระดานเล็ก ๆ เขียนไล่สายบรรพบุรุษบ้านคุ้งตะเภาอยู่ แต่ปัจจุบันนี้ได้สูญหายไปหมดแล้ว[39]

สถาปัตยกรรมแบบผสม

อุโบสถวัดคุ้งตะเภา

อุโบสถวัดคุ้งตะเภา เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2492 และสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2498 อาคารอุโบสถนี้เป็นอาคารปูนหลังแรกของหมู่บ้านคุ้งตะเภา สถาปัตยกรรมเดิมเป็นรูปแบบอุโบสถทรงไทยประยุกต์ช่างฝีมือพื้นบ้าน ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปประธานมีนามว่า "พระพุทธสุวรรณเภตรา" ผู้ดำริให้จัดสร้างคือ พระครูธรรมกิจจาภิบาล (กลม สุวณฺโณ) อธิบดีสงฆ์วัดดอยท่าเสา และเกจิอาจารย์รูปสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น

อุโบสถวัดคุ้งตะเภา

อุโบสถหลังนี้ได้รับการบูรณะใหญ่ใน ปี พ.ศ. 2537 โดยดำริของพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภารูปปัจจุบัน) โดยทำการบูรณะเสร็จในปี พ.ศ. 2539 มีการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมไปจากเดิมมาก โดยการบูรณะครั้งหลังสุด ได้มีการก่อสร้างเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมทั้งไทยกลางและล้านนา เพื่อแสดงให้เห็นถึงบริบทวัฒนธรรมของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่เป็นแหล่งศูนย์รวมของกลุ่มชาติพันธ์ไทที่หลากหลาย ทั้งไทยและล้านนาที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

อาคารศาลาการเปรียญเฉลิมพระเกียรติ

ศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาหลังใหม่

"อาคารศาลาการเปรียญเฉลิมพระเกียรติ" หรือ "อาคารเฉลิมพระเกียรติอสีติวัสสายุมงคล" เป็นโครงการก่อสร้างอาคารใหม่ล้อมรอบศาลาการเปรียญทรงโรงไม้เครื่องสับโบราณของวัด บนพื้นที่ตั้งรอบศาลาการเปรียญหลังเก่า โดยอาคารใหม่ได้เริ่มสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2550 เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ ผสมผสานสถาปัตยกรรมทั้งสมัยโบราณและใหม่ มีซุ้มหน้าบันปูนปั้น พื้นปูด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งอาคาร นับเป็นอาคารศาลาการเปรียญปูพื้นด้วยไม้เนื้อแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์

ปัจจุบันโครงการในส่วนอาคารคืบหน้าไปได้ร้อยละ 90 (พ.ศ. 2553) เมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้น จะสามารถรองรับประชาชนได้ถึง 1,500 คน และพื้นที่ในอาคารจะถูกใช้เป็นสำนักงานวัดคุ้งตะเภา, ศูนย์สารสนเทศ, สำนักงานสำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา, หอสุวรรณเภตรามหาสังฆสมาคม (ห้องประชุมสงฆ์ปรับอากาศ), หอสังฆกิตติคุณาณุสรณ์, หอสมุดวัดคุ้งตะเภา และห้องพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดคุ้งตะเภา

กุฎิปั้นหยา (กุฎิเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา)

สถาปัตยกรรมร่วมสมัย

หมู่กุฎิไม้วัดคุ้งตะเภา

หมู่กุฎิไม้วัดคุ้งตะเภา สร้างขึ้นในที่ตั้งปัจจุบันในช่วง พ.ศ. 2500 โดยย้ายมาจากที่ตั้งเดิมบริเวณหลังวัดริมแม่น้ำน่านเก่า เพื่อปรับทิศทางให้ต้องตามหลักทักษาวัดโบราณ หลังการสร้างอุโบสถของวัดในปี พ.ศ. 2498 เป็นอาคารกลุ่มกุฎิสงฆ์หลังคาทรงปั้นหยาไม้เนื้อแข็ง 2 ชั้น ที่ได้รับอิทธิพลต่อเนื่องมาจากยุคเปลี่ยนแปลงการก่อสร้างสถาปัตยกรรมบ้านในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่มีการสร้างชานนั่งลดระดับแบบอาคารบ้านทรงไทยโบราณ ซึ่งเคยเป็นรูปแบบหมู่กุฎิสงฆ์ฝาไม้ประกนแบบภาคกลางโบราณอายุนับร้อยปีของวัดที่ถูกรื้อทิ้งเพราะความทรุดโทรม

หมู่กุฎิสงฆ์วัดคุ้งตะเภาเก่า มีการต่อเติมและสร้างมาโดยตลอด โดยอาคารหลังแรกคือกุฎิเก่าที่สร้างโดยกำนันหลง ฟักสด และมีการก่อสร้างหอสวดมนต์ และกุฎิเจ้าอาวาส มาตามลำดับ ทุกอาคารมีทางเดิมเชื่อมถึงกันหมด ทุกอาคารยังคงอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดี ปัจจุบันกุฎิเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภายังได้เป็นที่ตั้งของตู้จัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภาอีกด้วย

แหล่งที่มา

WikiPedia: วัดคุ้งตะเภา http://maps.google.com/maps?ll=17.653441,100.14012... http://www.lokwannee.com/web2013/?p=179247 http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=17.6534... http://www.scribd.com/doc/36406495/ http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.globalguide.org?lat=17.653441&long=100.... http://www.mahathera.org/detail.php?module=news&id... http://www.wikimapia.org/maps?ll=17.653441,100.140... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.dailynews.co.th/education/351637