วิทยายุทธวัดเส้าหลิน ของ วัดเส้าหลิน

พระและเณรวัดเส้าหลิน ผู้ฝึกวิทยายุทธและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว

วิทยายุทธวัดเส้าหลิน เป็นการฝึกฝนและเสริมสร้างสมรรถภาพของร่างกายที่ดีที่สุดทางหนึ่งของหลวงจีน เป็นการฝึกฝนเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย เสริมสร้างสมาธิ สติปัญญา ความมีระเบียบวินัยและคุณธรรม มีความรุนแรงในการปะทะเป็นอย่างมาก เกิดจากลมปราณภายในร่างกายที่ผ่านการฝึกมาเป็นเวลานาน สามารถเจาะทะลวงพื้นอิฐให้เป็นรอยยุบได้อย่างง่ายดาย สามารถเพิ่มความรุนแรงในการต่อสู้ด้วยกำลังภายในหรือลมปราณที่หมั่นฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา

จุดเริ่มต้นจากรากฐานของวิทยายุทธ มีความแตกต่างจากสำนักอื่น โดยเฉพาะศิลปะการต่อด้วยสู้มือเปล่า เป็นที่เลื่องลือมากที่สุดในกระบวนท่าทั้งหมด เกิดจากการประยุกต์ขึ้นจากธรรมชาติแวดล้อมผนวกกับวิทยายุทธลมปราณที่เกิดจากการนั่งสมาธิวิปัสสนา กลายเป็นกำลังภายในที่มีองค์ประกอบพื้นฐานอยู่หลายอย่างอันเป็นเอกลักษณ์ได้แก่[28] [29]

  • เพลงหมัดอรุโณทัย (อังกฤษ: First Strike) เป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่าที่มีความรวดเร็วในการโจมตี ซึ่งเร็วกว่าศัตรูเมื่อปล่อยหมัดออกพร้อมกัน
  • วิทยายุทธตัวเบาเส้าหลิน (อังกฤษ: Flying) เป็นพื้นฐานเพื่อใช้สำหรับหลบหนีสัตว์ร้ายในป่าเช่น เสือ หมาป่า ที่วิ่งได้เร็วกว่า เมื่อใช้วิทยายุทธตัวเบา ทำให้สามารถลอยตัวกลางอากาศได้ในระยะหนึ่ง
  • วิทยายุทธคงกระพันเส้าหลิน (อังกฤษ: Protection) หลวงจีนวัดเส้าหลินมักใช้ว่านชนิดหนึ่งผสมน้ำอาบชำระล้างร่างกายทุกวัน ซึ่งว่านที่ใช้ผสมน้ำอาบนั้นมีสรรพคุณทางป้องกันร่างกายจากอาวุธทุกประเภทได้เป็นอย่างดี
  • วิทยายุทธลมปราณ (อังกฤษ: Trample) เกิดจากการกำหนดจิตและกายรวมเป็นหนึ่ง ลมปราณจากการกำหนดพลังแฝงภายในร่างกายจะแสดงออกมาในรูปของเพลงหมัดและเพลงเตะที่มีความหนักแน่นและดุดัน

รากฐานกังฟูเส้าหลิน

รากฐานกังฟูเส้าหลินได้แก่ พลังลมปราณและวิทยายุทธ ให้กำเนิดโดยตั๊กม้อ สาเหตุสำคัญของการฝึกกังฟูนอกเหนือจากการเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายให้แข็งแรงแล้ว เหตุผลสำคัญอีกประการในการฝึกกังฟู มาจากสถานที่ตั้งของวัดเส้าหลินซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาซงซาน รายล้อมด้วยป่าไม้จำนวนมาก รวมทั้งในป่ารอบ ๆ วัดเส้าหลินมีสัตว์ร้ายนานาชนิด หลวงจีนวัดเส้าหลินจึงจำเป็นที่จะต้องมีการฝึกวิทยายุทธไว้สำหรับต่อสู้ป้องกันตัว และได้รับการพัฒนาต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งรากฐานกังฟูวัดเส้าหลินแต่โบราณ มีที่มาจากท่วงท่าการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของสัตว์เช่น หงเฉวี๋ยน หรือเพลงหมัดตระกูลหงส์ เป็นการเลียนแบบท่าทางของหงส์ เป็นต้น[30]

เพลงมวยหมัดเมา เป็นหนึ่งในเพลงหมัดมวยและกังฟูที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก โดยกฎของทางวัดเส้าหลิน การดื่มสุราและของมึนเมาทุกชนิดเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ท่วงท่าและลีลาของเพลงมวยหมัดเมาที่เดินไม่ตรงทาง เอียงซ้าย เอียงขวา ตัวโก่งงอ บิดเอวและแขนขาไปมา ในขณะที่มือทำท่าราวกับจับไหเหล้าเอาไว้ตลอดเวลา นาน ๆ ครั้งจึงทำท่ายกขึ้นมาด้วยท่าทางราวกับกำลังดื่มกิน พร้อมกับเดินไม่ตรงทาง เซหน้าเซหลังไปมา ตีลังกาหน้าและหลัง ซึ่งลักษณะของคนที่เมาสุราทั้งหมดนี้ รวมทั้งกระบวนท่าต่าง ๆ ที่หลวงจีนทำการฝึกฝน แทบจะไม่ต่างจากบุคลิกและลักษณะท่าทางของคนเมาแม้แต่น้อย เป็นการใช้จินตนาการในการเลียนแบบท่าทางและความรู้สึกของคนเมา ซึ่งแท้จริงแล้วเพลงมวยหมัดเมาเป็นการฝึกกำลังช่วงขาและเอวให้มีความแข็งแรง[28]

พลังเคลื่อนย้ายลมปราณ

การฝึกพลังลมปราณแบบกังฟูจีนโบราณการฝึกพลังลมปราณแบบใช้อาวุธ

พลังเคลื่อนย้ายลมปราณ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการฝึกกังฟูเส้าหลิน กำลังภายในเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ต้องกำหนดจิตลมหายใจและประสาท เพื่อรวบรวมพลังลมปราณและเคลื่อนย้ายไปยังจุดที่ต้องการตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้ได้มากที่สุด ลมปราณเป็นพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมาในขณะที่กำลังออกกำลังกายหรือต่อสู้กับศัตรู เป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่า แต่เป็นพลังแผงที่มีอยู่จริงในร่างกายของมนุษย์ทุกคน[31] สามารถสัมผัสหรือรู้สึกได้ด้วยการเพ่งพิจารณาโดยจิตที่เป็นสมาธิ

คำว่า "กำลังภายใน" หมายถึงแรงที่เกิดจากภายในโดยผ่านการฝึกฝนร่างกายและจิตใจ ในระหว่างการฝึกจุดสำคัญที่สุดคือต้องระวังให้จิตใจนำการเคลื่อนไหว ใช้จิตไม่ใช้แรง ให้จิตใจเป็นตัวชักนำ ฝึกแปลงลมปราณให้เป็นพลังจิตประสาท การเคลื่อนไหวต้องช้า นุ่มนวลแต่แฝงไว้ด้วยความแข็งแรง ให้ทุกส่วนของกล้ามเนื้อและข้อต่อของร่างกายเคลื่อนไหวไปด้วยกัน ภายนอกเกิดการเคลื่อนไหว ภายในก็เคลื่อนไหวตามไปด้วย การเคลื่อนไหวต้องต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก ผ่อนคลาย สงบและเป็นธรรมชาติ ใช้จิตใจจินตนาการถึงความงดงามของท่วงท่าในการร่ายรำ ควบคุมการหายใจเข้าออกแบบลึกยาว เป็นต้น

การฝึกกำลังภายในไม่ใช่การฝึกเพื่อแสดงถึงพละกำลังภายนอก แต่เป็นการฝึกเพื่อให้แสดงออกถึงกำลังภายในที่อยู่ใน ชาวจีนโบราณมีความเชื่อว่า บนท้องฟ้ามีสิ่งวิเศษสามสิ่งคือพระอาทิตย์ พระจันทร์และดวงดาว ในร่างกายจึงมีของวิเศษสามสิ่งเช่นกันคือ "จิง ชี่ เสิน" หรือพลังชีวิต พลังภายใน พลังจิตประสาท ชีวิตที่สามารถเคลื่อนไหวได้นั้น ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของจิง ชี่ เสิน ถ้าหากต้องการจะมีอายุยืนยาว สุขภาพแข็งแรง จึงจำเป็นที่จะต้องทำตนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับฟ้าให้ได้ โดยผ่านการหายใจที่ถูกต้อง[32] การเกิด โต แก่ เจ็บและตาย ล้วนเป็นผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของลมปราณทั้งสิ้น และเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตการเคลื่อนไหวของคน[33]

ลมปราณเป็นพลังที่ดำรงอยู่ในจักรวาลประกอบจากพลังงาน 6 ชนิด ตามความเชื่อของวิชาการแพทย์โบราณของจีน เป็นสิ่งที่ทำให้สามารถเคลื่อนไหวและมีชีวิตอยู่ได้[34] ดังคำพังเพยของจีนที่กล่าวว่า "ชีวิตขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหว" การฝึกเคลื่อนย้ายพลังลมปราณ จะเป็นการฝึกฝนร่างกาย จิตใจและลมหายใจให้ประสานกันเป็นหนึ่งเดียว[35] เพื่อเค้นเอาพลังแฝงในร่างกายออกมาปรับปรุงเลือดให้สมดุลกลมกลืนกันอย่างสูงสุด รูปแบบการฝึกเป็นแบบเคลื่อนไหวและแบบสงบ ในความสงบมีการเคลื่อนไหว

การฝึกเป็นการนำเอาความสงบเข้ามาควบคุมการเคลื่อนไหว ประสานจิตและลมหายใจเพื่อเค้นลมปราณในร่างกายให้เกิดการไหลเวียน ทำให้เกิดความร้อน ส่งผลให้ร่างกายได้รับการนวดคลึง ปริมาณเลือดที่ไหลเวียนในหลอดเลือดมีการขยายตัว เกิดกระแสไฟฟ้าบนผิวหนัง ต่อมน้ำลายจะซึมออกมามากขึ้น การเคลื่อนไหวของแขนและขาจะแข็งแรงขึ้นกว่าปกติ 3-4 เท่า อวัยวะภายในช่องท้องเช่นกระเพาะอาหารและลำไส้ถูกกระตุ้นให้มีการบีบตัว หยินและหยางมีดุลยภาพ เส้นเอ็นและกระดูกแข็งแรง[33]

หลักทฤษฎีพื้นฐานของกังฟูคือ "จิตใจชักนำพลัง จิตใจและพลังเคลื่อนตามกัน" หมายความถึงเมื่อร่างกายเคลื่อนไหว จิตใจจะเป็นตัวชักนำพลังลมปราณให้เคลื่อนย้ายไหลเวียนไปทั่ว บนล่างสอดคล้องกัน นอกในประสานกัน รากอยู่ที่ขา เกิดที่น่อง บงการไปที่เอว ลักษณะเหมือนกับการร่ายรำ จิตใจก็จะเคลื่อนไหวขึ้นลงตามไปด้วย ดั่งคำกล่าวที่ว่าจิตประสาทเป็นแม่ทัพ ร่างกายอยู่ใต้บังคับบัญชา การเคลื่อนไหวและจิตใจต้องหล่อหลอมเป็นหนึ่งเดียว ทำให้สามารถรวบรวมลมปราณไว้ยังจุดที่ต้องการตามส่วนต่าง ๆ ได้ตามต้องการ[33]

การฝึกฝนร่างกายของหลวงจีน เพื่อให้สามารถใช้ลมปราณได้นั้น มีวิธีการฝึกฝนอยู่สองแบบคือการฝึกกำลังภายในและการฝึกกำลังภายนอก การฝึกกำลังภายในการคือการฝึกหัดกระบวนท่าวิชาหมัดมวยและพลังลมปราณในการร่ายรำท่วงท่าต่าง ๆ ตามคำสอนของตั๊กม้อ การฝึกกำลังภายนอกคือการฝึกหัดกังฟู ฝึกเส้นเอ็น กระดูกและผิวหนัง รวมทั้งศิลปะการต่อสู้และอาวุธทุกชนิด ซึ่งการฝึกกำลังภายในทั้งสองประเภท ทางการแพทย์โบราณของจีนถือว่า พลังลมปราณคือวัตถุธาตุมูลฐานที่ทำให้ร่างกายของมนุษย์สามารถเคลื่อนไหวได้ การที่หลวงจีนผ่านการฝึกพลังชีวิตแปลงธาตุเป็นพลังภายใน ฝึกพลังภายในแปลงธาตุให้เป็นพลังจิตประสาท ฝึกพลังจิตประสาทให้แข็งแกร่ง เน้นการฝึกจิตประสาทและร่างกายให้เป็นหนึ่งเดียวจนกลายเป็นพลังเคลื่อนย้ายลมปราณ ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรงเกินกว่าที่มนุษย์ปกติจะทำได้[33]

กังฟูเส้าหลิน

กังฟูเส้าหลิน กังฟูแบบโบราณของจีน

กังฟู หมายถึงวิชาที่ว่าด้วยการใช้เทคนิคในการเข้าปะทะต่อสู้เป็นสำคัญ มีรูปแบบการร่ายรำ วิทยายุทธและชั้นเชิงในการต่อสู้เป็นหลัก ในการฝึกกังฟูเส้าหลินจะมีหลักศิลปะกายบริหารที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยมุ่งเน้นการประสานพลังภายในและภายนอกซึ่งเป็นจุดเด่นโดยเฉพาะ เป็นการถ่ายทอดวิชาแบบโบราณจากรุ่นสู่รุ่นมานานกว่าพันปี การฝึกกังฟูควบคู่กับการศึกษาพระธรรมของหลวงจีนวัดเส้าหลิน ไม่ได้เป็นการฝึกฝนไว้เพื่อต่อสู้หรือทำร้ายผู้อื่น แต่เป็นการฝึกเพื่อให้เข้าถึงธรรมะและเป็นอีกทางที่เข้าสู่พระธรรม ทำให้มีสมาธิเพิ่มมากขึ้น มีความรู้กว้างขวาง ทำสมาธิเพื่อให้จิตใจโล่งและสงบทำให้เข้าถึงแก่นธรรมได้มากขึ้น[28]

ภายหลังจากที่ตั๊กม้อได้เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนานิกายเซนในจีนและพำนักที่วัดเส้าหลิน ได้สังเกตเห็นว่าการที่หลวงจีนแต่ละองค์มีร่างกายอ่อนแอ ไม่แข็งแรง เมื่อนั่งสมาธิวิปัสสนากรรมฐานนาน ๆ มักเกิดอาการปวดเมื่อย อาจทำให้สุขภาพร่างกายเกิดการเสื่อมถอยเนื่องจากไม่ได้ออกกำลังกาย จึงคิดค้นวิชากังฟูและเพลงหมัดมวยขึ้น โดยพิจารณารากฐานจากท่วงท่าและกิริยาของสรรพสัตว์น้อยใหญ่ในป่าบนเทือกเขาซงซาน นำมาดัดแปลงเป็นกระบวนท่าต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้หลวงจีนได้ฝึกฝน ภายใต้การเคลื่อนไหวร่างกายและความสงบนิ่ง เพาะบ่มจิตใจให้บริสุทธิ์เพื่อเข้าถึงแก่นของธรรมะ และนำไปใช้ในการป้องกันตัว[36]

วิชากังฟูในยุคแรกเริ่มจากกระบวนท่าพื้น ๆ จากเหล่าสรรพสัตว์ที่สามารถพบเห็นได้เช่น เสือที่ดึงเอาลักษณะเฉพาะในการล่าเหยื่อ กวางที่ดึงเอาลักษณะเฉพาะในการเดิน ลิงที่ดึงเอาลักษณะเฉพาะในการเคลื่อนที่ไปมาอย่างรวดเร็ว นกที่ดึงเอาลักษณะเฉพาะในการลอยตัวอยู่กลางอากาศ และหมีที่ดึงเอาลักษณะเฉพาะของความแข็งแรง บึกบึนในการต่อสู้[28] และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสู่กระบวนท่าอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นหลังจากตั๊กม้อถ่ายทอดวิชากังฟูให้แก่หลวงจีนควบคู่กับการปฏิบัติธรรม กิจวัตรประจำวันหลังจากทำวัตรเช้า ทำสมาธิสวดมนต์เสร็จสิ้น หลวงจีนวัดเส้าหลินทุกองค์ ต่างฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรงด้วยการรำเพลงมวย และฝึกกังฟูมาเป็นเวลานานกว่าพันปีจนถึงปัจจุบัน[28]

การฝึกของหลวงจีนจะเริ่มฝึกในช่วงเช้าตรู่ของแต่ละวัน ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการศึกษาและท่องพระธรรม และในขณะเดียวกันใช้ช่วงเวลาเช้า 2 ชั่วโมง และช่วงบ่ายอีก 2 ชั่วโมงในการฝึกกังฟู โดยคงรูปแบบกระบวนท่าต่าง ๆ จากวัฒนธรรมการฝึกดั้งเดิมของกังฟูเส้าหลิน จากประวัติที่บันทึกกระบวนท่าทั้งหมด 708 ชุด โดยที่หลวงจีนสามารถที่จะเลือกฝึกเพียงบางกระบวนท่าเท่านั้น ยกเว้นการฝึกขั้นพื้นฐานคือเพลงหมัดวัดเส้าหลิน ในส่วนของเพลงหมัดมวย ยังคงเอกลักษณ์สำคัญที่การดัดแปลงท่วงท่ามาจากสัตว์นานาชนิดหลากหลายรูปแบบ โดยกระบวนท่าที่ได้รับความนิยมคือ เพลงหมัดพยัคฆ์ เพลงมวยเหยี่ยว เพลงหมัดตั๊กแตนสวดมนต์ เพลงหมัดกระเรียนขาว เพลงหมัดเสือดาว เพลงหมัดราชสีห์ เพลงมวยนาคี เพลงมวยมังกร[28] ฯลฯ ซึ่งในการฝึกเพลงหมัดมวยนั้นจะได้ทั้งพละกำลังภายนอกภายในและการสงบจิตใจตามมาด้วย

การฝึกกังฟูในสภาพอากาศที่หนาวเหน็บท่ามกลางหิมะ เป็นหนึ่งในกิจกรรมปกติของหลวงจีน ความยากลำบากในการฝึกฝน ถือเป็นการเพาะบ่มจิตใจและร่างกายให้แข็งแกร่ง การนั่งทำสมาธิท่ามกลางหิมะ ถือเป็นการฝึกบำเพ็ญตบะอย่างหนึ่ง ตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของวัดเส้าหลิน ถ้าหลวงจีนองค์ไหนนั่งทำสมาธิสาย หรือไม่สามารถทำสมาธิได้ จะถูกลงโทษด้วยการให้นั่งคุกเข่าบนพื้นที่เต็มไปด้วยหิมะ จนกว่าจะหมดธูปหนึ่งก้าน[37] ในประเทศจีนกังฟูเส้าหลินมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก กังฟูหลายอย่างในจีนล้วนแต่มีต้นกำเนิดมาจากวัดเส้าหลินแทบทั้งสิ้น รวมถึงเพลงหมัดมวยที่ปรากฏในภาพยนตร์จีนกำลังภายในหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งมักปรากฏภาพหมัดนกกระเรียนขาว หมัดมังกรเส้าหลินเหนือ กระบวนท่าเพลงหมัดมวยของเส้าหลินเหนือมักเน้นการเตะต่อยเป็นหลัก ในขณะที่เส้าหลินใต้เน้นกระบวนท่าที่ใช้ฝ่ามือจู่โจม เพลงหมัดมวยเด่น ๆ เช่นหมัดเสือดำ หมัดนกกระเรียนของวัดเส้าหลิน แท้จริงแล้ววิชากังฟูไม่มีการแบ่งแยกเป็นฝ่ามือและเท้า กังฟูของตั๊กม้อเป็นวิชาที่ใช้ในการต่อสู้จู่โจมพร้อมกันด้วยหมัด มือและฝ่าเท้า

กระบวนท่าและเพลงหมัดมวย

ภาพวาดกระบวนท่ากังฟูและเพลงหมัดมวยเส้าหลิน

กระบวนท่าและเพลงหมัดมวยเส้าหลิน เป็นกระบวนท่าที่ช่วยทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเกิดความแข็งแรง ลักษณะและท่วงท่าในการร่ายรำกังฟูของตั๊กม้อ จะมุ่งเน้นไปที่ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกเป็นหลัก เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว มีจุดเด่นอยู่ที่รูปแบบการร่ายรำที่เหยียดกว้าง แกร่งกร้าว เต็มเปี่ยมไปด้วยพละกำลังและความดุดัน เคลื่อนไหวด้วยท่วงท่าที่เรียบง่าย มีกระบวนท่าการรุกและรับได้ทั้งแปดทิศ สามารถใช้ในการต่อสู้ได้เป็นอย่างดี เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในแวดวงยุทธจักร ปรากฏให้เห็นในนิยายกำลังภายในและภาพยนตร์เช่น

  • กระบวนท่าการจี้สกัดจุด เป็นการฝึกการใช้นิ้วจี้ตามจุดสำคัญที่เป็นศูนย์กลางของระบบประสาทภายในร่างกาย ทำให้คู่ต่อสู้เกิดเป็นอัมพาตชั่วขณะ ไม่สามารถขยับร่างกายได้ การจี้สกัดจุดจะทำให้เลือดภายในร่างกายถูกปิดกั้นการไหลเวียนชั่วขณะ ทำให้เกิดอาการชาเป็นลำดับและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา[38]
  • กระบวนท่าวิชาตัวเบา เป็นการฝึกที่ทำให้ร่างกายเบาและว่องไวราวกับปุยนุ่น กระบวนท่านี้เป็นเทคนิคการฝึกฝนร่างกายเพื่อให้สามารถกระโดดหรือปีนไต่กำแพงได้อย่างคล่องแคล่ว
  • กระบวนท่าพลังดัชนี เป็นการฝึกฝนให้นิ้วมีความแข็งแรงด้วยการฝึกทิ่มแทงทะลวงต้นกล้วย ต้นไม้ อิฐตลอดจนถึงกำแพงและก้อนหินขนาดใหญ่
  • กระบวนท่ากำลังภายใน เป็นกระบวนท่าพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการฝึกกังฟูโบราณ ทุกกระบวนท่าของตั๊กม้อมีจุดสำคัญคือพลังลมปราณหรือกำลังภายใน ทักษะในการต่อสู้หรือการฝึกกังฟูต้องมีจุดเริ่มต้นจากสมาธิและจิตใจที่สงบนิ่งตลอดเวลา มีการควบคุมและฝึกฝนกำหนดลมหายใจให้แผ่วเบาอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อสามารถควบคุมลมหายใจและสมาธิได้สำเร็จ ก็สามารถรวบรวมพลังให้เป็นหนึ่งเดียวในการต่อสู้หรือฝึกฝนกังฟูได้อย่างง่ายดาย

สำหรับเพลงหมัดมวย จากหลักฐานตามตำนานจีนโบราณที่ปรากฏเป็นภาพแกะสลักไม้ของกระบวนท่าวิทยายุทธเส้าหลิน มีการกล่าวถึงถึงเพลงหมัดมวยหรือกระบวนท่ามือเปล่าอยู่ถึง 72 กระบวนท่า[39] เช่น เพลงหมัดยาวเส้าหลิน เพลงหมัดอรหันต์ เพลงหมัดพลังกรงเล็บมังกร เพลงมวยหมัดเมา ซึ่งมีลักษณะพิเศษและรูปแบบเฉพาะตัว เป็นวิทยายุทธที่ใช้หลักการเคลื่อนไหวเป็นรูปวงกลม

แต่ละกระบวนท่าเป็นการประสานร่างกายอย่างต่อเนื่องและกลมกลืน ลำตัวคล่องแคล่ว ฝ่ามือและเท้าว่องไวด้วยวิธีก้าวพลางเปลี่ยนแปลงไปพลางอยู่เสมอเช่น การคว้า การจับกด การปล้ำและคลุกวงในคู่ต่อสู้ รวมแล้วทั้งหมด 255 กระบวนท่าเพลงหมัดมวยและกระบวนท่าอาวุธที่ใช้ฝึกในปัจจุบัน[40] นอกจากการฝึกกระบวนท่ากังฟูโบราณและเพลงหมัดมวยแล้ว หลวงจีนยังต้องศึกษาและเรียนรู้ที่จะใช้อาวุธต่าง ๆ ในการต่อสู้และป้องกันตัวเองอีกด้วย อาวุธที่ใช้สำหรับในการฝึกกังฟูของวัดเส้าหลินมีมากมายหลากหลายชนิดเช่น ดาบ ธนู ง้าว หอก ทวน เป็นต้น

อาวุธ

อาวุธโบราณสำหรับฝึกกังฟูและวิทยายุทธเส้าหลิน

หลวงจีนวัดเส้าหลิน นอกจากศึกษาปฏิบัติธรรมควบคู่ไปการฝึกวิทยายุทธ กังฟูและเพลงหมัดมวยเป็นกิจวัตรประจำวันแล้ว จะต้องศึกษาและเรียนรู้ที่จะใช้อาวุธต่าง ๆ ในการต่อสู้ทุกชนิดได้อย่างเชี่ยวชาญ อาวุธแบบจีนโบราณที่ใช้ในการต่อสู้และป้องกันตัวมีเป็นจำนวนมาก แบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่อาวุธประเภทสั้นแบบการโจมตีประชิดตัวเช่น กระบี่ ดาบ กระบองสองท่อน ตุ้มเหล็ก สนับมือ อาวุธซัด โล่ ฯลฯ และอาวุธประเภทยาวแบบการโจมตีระยะไกลเช่น กระบอง หอก ง้าว ทวน พลอง เป็นต้น[41]

การศึกษาวิชาอาวุธมีจุดเริ่มต้นมาจากในสมัยโบราณ ในการเดินทางระหว่างเมืองต่าง ๆ ในประเทศจีน จะต้องอาศัยกระบองเพื่อใช้ในการค้ำยันตัว หรือใช้สำหรับเป็นคานหาบของ รวมทั้งใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวจากสัตว์ร้ายและโจรผู้ร้ายที่ชุกชุม ต่อมาภายหลังจากที่ตั๊กม้อได้เริ่มนำคำสอนของพุทธศาสนาและวิชากังฟูเข้ามาเผยแพร่ การใช้กระบองของวัดเส้าหลินจึงถือกำเนิดขึ้นและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นหนึ่งในวิชาอาวุธเส้าหลินอันโด่งดัง

ความหมายของคำว่าอาวุธ ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานระบุไว้ว่า "อาวุธ คือเครื่องมือที่ใช้สำหรับทำร้ายร่างกาย ใช้สำหรับป้องกันตัวหรือต่อสู้ ซึ่งในการต่อสู้จำเป็นที่จะต้องมีอาวุธ เพราะอาวุธคือสิ่งจำเป็นสำหรับการต่อสู้"[42] อาวุธที่ใช้ในการฝึกควบคู่กับกังฟู เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝนร่างกายและจิตใจ มีลักษณะท่าต่อสู้เป็นส่วนประกอบหลักและมีรูปแบบยุทธลีลาเป็นแม่แบบในการต่อสู้ป้องกันตัว

หลวงจีนจะต้องฝึกรากฐานของการเรียนเพลงหมัดมวยหลายประเภท โดยเฉพาะวิชาที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธเป็นหลัก ซึ่งต้องใช้ฉางเฉวี๋ยนหรือเพลงหมัดยาว เพื่อเป็นบทเรียนขั้นพื้นฐานของการฝึก ประกอบขึ้นจากกระบวนท่ากังฟูและวิทยายุทธจำนวน 5 สกุล คือ "ฉา, หวา, เผ้า, หง, และเส้าหลิน" คุณสมบัติของฉางเฉวี๋ยน ประกอบด้วยลักษณะเฉพาะสามรูปลักษณ์ของกระบวนท่ามือคือ

  1. กระบวนท่าหมัด
  2. กระบวนท่าฝ่ามือ
  3. กระบวนท่ามือตะขอ

และห้ารูปลักษณ์ของกระบวนท่าเท้าคือ

  1. กระบวนท่ากงปู้ หรือ กระบวนท่าก้าวเท้าคันธนู
  2. กระบวนท่าหม่าปู้ หรือ กระบวนท่าก้าวเท้าขี่ม้า
  3. กระบวนท่าพูปู้ หรือ กระบวนท่าก้าวเท้าหมอบ
  4. กระบวนท่าซีปู้ หรือ กระบวนท่าก้าวเท้าว่างเปล่า
  5. กระบวนท่าเซียปู้ หรือ กระบวนท่าก้าวเท้านั่งไขว้

โดยเฉพาะกระบวนท่าหม่าปู้ ซึ่งเป็นการฝึกกระบวนท่าพื้นฐานของการต่อสู้ ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของสะโพกขา จุดเด่นของฉางเฉวี่ยนคือเป็นกระบวนท่าที่งามสง่า วิทยายุทธว่องไว กระฉับกระเฉง ในแต่ละกระบวนท่าเป็นการพลิกแพลงรวดเร็วและทรงพลัง มีความชัดเจนในจังหวะวิชาอาวุธ มีลักษณะเด่นคือโลดโผนโจนทะยาน รวมทั้งการเคลื่อนไหวไปมาด้วยรูปแบบของการรุกและรับด้วยชั้นเชิงของการต่อสู้ มีกระบวนท่าขี้นลงในทิศทางต่าง ๆ คือ เมื่อเป็นฝ่ายรุกขึ้นรูปลักษณ์สูงตระหง่าน เมื่อเป็นฝ่ายรับลงราบเรียบระดับแนวพื้น มีเคล็ดลับวิธีการในการทิ้งตัวม้วนหมุนเมื่อร่างกายสัมผัสกับพื้น วิชาอาวุธเส้าหลินนั้นมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งมีจุดเด่นและรูปแบบกระบวนท่าที่แตกต่างกันไปตามแต่ประเภทของอาวุธเช่น

ดาบจีนสองคม หนึ่งในอาวุธทรงพลังของเส้าหลิน


  • ดาบจีน

ดาบจีน (อังกฤษ: Chinese Swords) จัดเป็นอาวุธประเภทยาวปลายแหลมชนิดหนึ่ง ลักษณะตรงหรือโค้งงอ สันแอ่นปลายงอนเล็กน้อย มักนิยมใช้สำหรับเป็นอาวุธฟันแทงแบบประชิดตัว มีรัศมีการโจมตีในระดับกลาง มีการพลิกแพลงรูปแบบและกระบวนท่าในการโจมตีได้ตลอดเวลา สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซาง เมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว[43] การโจมตีคู่ต่อสู้หรือศัตรูด้วยดาบ จะใช้รูปแบบในการโจมตีทั้งหมด 9 รูปแบบคือ การฟันผ่าลง การฟันทวนขึ้น การฟันตัดซ้าย การฟันตัดขวา การฟันเฉียงลงซ้าย การฟันเฉียงลงขวา การฟันเฉียงขึ้นซ้าย การฟันเฉียงลงขวา และการแทง ซึ่งผลของการโจมตีขึ้นอยู่กับขนาดของดาบ

โดยมาตรฐานทั่วไปดาบแบบจีนโบราณจะมีขนาดความยาวประมาณหนึ่งเมตรและไม่เกินเมตรครึ่ง มีสันขนาดใหญ่ ใบมีดคมสองด้านเรียกว่า "เจี้ยน" (อังกฤษ: Jian; จีนตัวย่อ: 剑; จีนตัวเต็ม: 劍) และใบมีดคมด้านเดียวเรียกว่า "เตา" (อังกฤษ: Dao; จีน: 刀; พินอิน: dāo) ยาวเท่ากับช่วงแขนของผู้ถือ น้ำหนักมาก สามารถสร้างบาดแผลฉกรรจ์ได้เป็นอย่างดี[44] โลหะที่สำหรับนำมาใช้ตีเป็นดาบ ต้องมีคุณสมบัติพิเศษในด้านความแข็งแกร่ง หนา ไม่หักง่าย ตีขึ้นรูปเป็นดาบด้วยช่างที่ชำนาญและมีฝีมือ[45]

  • หอกจีน

หอกจีน (อังกฤษ: Spear, Pike) จัดเป็นอาวุธประเภทยาว สำหรับใช้แทงคู่ต่อสู้หรือศัตรูในระยะหวังผลใกล้และไกล ลักษณะด้ามจับตรง ยาวประมาณสองเมตรถึงสองเมตรครึ่ง ส่วนปลายจะเป็นส่วนที่มีความคมทั้งสองด้านยึดติดอยู่ ทำจากสำริดและเหล็ก หอกจีนโบราณจะมีใบขอติดอยู่สองชิ้น เป็นอาวุธที่นิยมใช้ในการต่อสู้บนหลังม้าและบนพื้นดินแบบประชิดตัว สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซางเมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้วเช่นเดียวกับดาบจีน จนถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว[45]

หอกจีนแบบมีใบขอ เป็นอาวุธที่มีความแข็งแรงเป็นอย่างมาก สามารถสับ ตัด ฟัน เกี่ยว กระชากและคว้าร่างกายได้เป็นอย่างดี นิยมใช้ในกองทัพและสูญหายไปในสมัยราชวงศ์ถัง คงเหลือแต่เพียงหอกด้ามยาวในปัจจุบัน ที่มีความแตกต่างจากดาบและกระบี่ตรงที่จะไม่สามารถใช้ฟันได้ ประสิทธิภาพและผลของการใช้หอกในการต่อสู้ จะได้ผลเป็นอย่างดีในด้านของการแทงเท่านั้น เนื่องจากส่วนที่เป็นคมทั้งสองด้านของหอก ที่สามารถสร้างบาดแผลฉกรรจ์ได้มีอยู่เพียงส่วนปลายเท่านั้น การใช้หอกด้ามยาวในการฝึกกังฟูและวรยุทธของหลวงจีนวัดเส้าหลิน จะเน้นฝีกในส่วนของกระบวนท่าแทงและฟาดด้วยด้ามหอกเป็นหลัก รวมทั้งใช้สำหรับปัดป้องอาวุธชนิดอื่น ๆ

  • ทวน

ทวน (อังกฤษ: Lance) จัดเป็นอาวุธประเภทยาว สำหรับใช้แทงคู่ต่อสู้หรือศัตรูในระยะหวังผลใกล้และไกล ยาวประมาณสามเมตร ส่วนปลายยาวและคม ใช้สำหรับแทงและฟันเช่นเดียวกับดาบ มีลักษณะและรูปร่างคล้ายคลึงกับหอก เพียงแต่ทวนนั้นยาวกว่าหอกมาก นิยมใช้ในการต่อสู้บนหลังม้ามากกว่าพื้นดินเพื่อให้เกิดแรงปะทะและประสิทธิภาพอย่างสูงสุด แม่ทัพในสมัยโบราณมักใช้ทวนในการต่อสู้แบบประชิดตัวบนหลังม้า โดยใช้วามเร็วของม้าเป็นตัวเร่งและเพิ่มความเร็วในการแทง

  • กระบี่
  • พลอง
  • กระบอง
  • ตุ้มเหล็ก
  • ง้าว
  • มีดสั้น
  • โล่
  • อาวุธซัด

18 อรหันต์

18 อรหันต์ (จีน: 十八罗汉的来历) ในวัดเส้าหลินโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกล่าวถึงด่าน 18 อรหันต์, ค่ายกล 18 อรหันต์, 18 ด่านมนุษย์ทองคำและการฝึกเพลงหมัดมวยในสมัยโบราณ เมื่อหลวงจีนสำเร็จวิชาถึงขั้นสูงสุด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝ่าด่าน 18 อรหันต์ให้ได้เสียก่อน จึงจะถือว่าสำเร็จวิชากังฟูจากวัดเส้าหลินอย่างแท้จริง และสามารถเดินทางลงจากเทือกเขาซงซานได้ แท้จริงแล้วคำว่า "18 อรหันต์" ที่ปรากฏในภาพยนตร์จีนและนวนิยายกำลังภายในในวัดเส้าหลินคือพระพุทธรูปจำนวน 18 องค์ที่ประดิษฐานล้อมองค์พระประธานในอารามหลวง

ในอารามหลวงต้าโสวงเป่าเตี้ยนหรือพระอุโบสถใหญ่ในพระพุทธศาสนานิกายอาจริยวาท หรือมหายาน บริเวณกึ่งกลางของอุโบสถ จะประดิษฐานพระประธานสามองค์คือ พระเมตไตรยโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์มัญชุศรี และพระโพธิสัตว์โลเกศวร บริเวณด้านขวามือของพระประธานทั้งสามองค์ จะเรียงรายด้วยรูปสลักของพระจำนวน 18 องค์ ซึ่งคือ 18 อรหันต์ โดยคำว่าอรหันต์หมายถึงสาวกจำนวน 16 รูปของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระอรหันต์ในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาสายมหายาน

คำว่า "อรหันต์" อ่าน "อะ-ระ-หัน" เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต ในทางพระพุทธศาสนา การบำเพ็ญตนเพื่อสำเร็จมรรคผลนั้นไม่เหมือนกัน จึงมีการแบ่งความสำเร็จในการเข้าถึงมรรคผลที่แตกต่างกัน การสำเร็จขั้นอรหันต์นั้นถือเป็นการสำเร็จขั้นสูงสุดของการบำเพ็ญตนเองในพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน สำหรับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน การสำเร็จขั้นอรหันต์แบ่งออกเป็นขั้นพุทธโพธิสัตว์และขั้นอรหันต์ ซึ่งการสำเร็จมรรคผลในขั้นอรหันต์คือ จะต้องสามารถละกิเลสต่าง ๆ และสิ่งเศร้าหมองทั้งหลาย ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวงด้วยคุณธรรมและพระพุทธศาสนา หลุดพ้นจากวงจรชีวิตการเวียนว่ายตายเกิด จึงเรียกว่าสำเร็จขั้นอรหันต์

เดิมทีพระอรหันต์มีทั้งหมด 16 องค์ ซึ่งยังไม่สำเร็จขั้นปรินิพพาน คงอยู่ในโลกมนุษย์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาและธรรมะแก่มนุษย์โลก ได้แก่

  • พระปินโฑ
  • พระกนกวัจฉ
  • พระกนกการัทวาช
  • พระสุปิณฑ
  • พระนกุล
  • พระภัทร
  • พระกาลิก
  • พระวัชรบุตร
  • พระอิงคท
  • พระวันวาลี
  • พระอชิต
  • พระจุฑะปันถา

พระอรหันต์ทั้ง 16 องค์นี้ มีพระปิณโฑดำรงตำแหน่งหัวหน้าพระอรหันต์ และพระปันถกหนึ่งใน 16 อรหันต์คือพระเมตไตรย ซึ่งพระอรหันต์ทั้ง 16 องค์ในอารามหลวงวัดเส้าหลินตรงกับพระอรหันต์ที่พระราชวังปักกิ่ง และต่อมาได้มีการเพิ่มพระนนทมิตรและพระปินโทลขึ้น ทำให้จากเดิมพระอรหันต์มีเพียง 16 องค์กลายเป็น 18 องค์ จากหลักฐานทางพระพุทธศานาระบุไว้ไม่เหมือนกัน บ้างเรียกพระอรหันต์ทั้งหมดรวมกันว่า 18 อรหันต์ บ้างว่าเป็นศากกะและพระสงฆ์ถุงผ้า

ต่อมาจักรพรรดิเฉียนหลง (จีน: 乾隆) ในปี พ.ศ. 2278 - พ.ศ. 2339 ถือพระอรหันต์องค์ที่ 17 เป็นอรหันต์สยบมังกร องค์ที่ 18 เป็นองค์ปราบเสือคือองค์พระสังกัจจายน์ การถือกำเนิดของ 18 อรหันต์ ยังไม่มีคัมภีร์เล่มใดกล่าวยืนยันหลักฐานได้แน่นอน เนื่องจากในสมัยนั้นจิตกรชาวจีนได้วาดภาพพระอรหันต์เพิ่มขึ้นอีกสององค์ จึงกลายเป็น 18 อรหันต์ ทำให้ภาพของ 18 อรหันต์กลายเป็นที่สามารถพบเห็นอย่างแพร่หลายต่อมา และมักประดิษฐานพระอรหันต์ 18 องค์ไว้สองข้างของพระอุโบสถใหญ่โดยเฉพาะวัดจีนนิกายมหายาน[46]

ใกล้เคียง

วัดเส้าหลิน วัดเสมียนนารี วัดเสาธงทอง (จังหวัดลพบุรี) วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร วัดเสาหิน (จังหวัดอุตรดิตถ์) วัดเสาธงทอง (จังหวัดนนทบุรี) วัดเสนหา วัดเสลารัตนปัพพะตาราม วัดเสาธงหิน วัดเสด็จ (จังหวัดปทุมธานี)

แหล่งที่มา

WikiPedia: วัดเส้าหลิน http://www.chinadaily.com.cn/showbiz/2009-10/22/co... http://thai.cri.cn/247/2010/08/01/223s178021.htm http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=776... http://www.black-m.com/forum/index.php?topic=513.0 http://boybdream.com/manager-news-content2.php?new... http://www.boybdream.com/manager-news-content.php?... http://canadashaolintemple.com/ http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_... http://www.ecommerce-magazine.com/index.php?option... http://www.elearneasy.com