การสู้รบ ของ สงครามกลางเมืองอเมริกา

ประเทศอเมริกาสู้รบกันในสงครามกลางเมืองระหว่างวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1861 จนถึง 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1865 โดยมีการสู้รบกันใน 23 มลรัฐ และในพื้นที่ที่ขณะนั้นยังไม่มีสถานะเป็นมลรัฐ รวมไปถึงพื้นที่ทางน้ำ สงครามกลางเมืองอเมริกาสู้รบกันในพื้นที่นับไม่ถ้วน ตั้งแต่ วาลเวอร์ด, รัฐนิวเม็กซิโก และ ตุลลาโฮมา, รัฐเทนเนสซี ไปจนถึง เซนต์อัลแบนส์, รัฐเวอร์มอนท์ และเฟอร์นานดินา ณ ชายฝั่งรัฐฟลอริดา สมรภูมิที่มีชื่อบันทึกอย่างเป็นทางการมีถึง 237 สมรภูมิ คนอเมริกันมากกว่าสามล้านคนเข้าร่วมสู้รบในสงครามกลางเมือง และมีคนกว่าหกแสนคนล้มตายในสงครามนี้ หรือคิดเป็นร้อยละสอง ของประชากรอเมริกันทั้งหมด

แผนยุทธศาสตร์

แผนที่การแยกดินแดนสหรัฐ ปี 1863
   สหรัฐอเมริกา
   พื้นที่ฝ่ายสหภาพที่ห้ามการมีทาส
   รัฐชายแดนฝ่ายสหภาพที่ยอมให้มีทาสได้
   ฝ่ายสมาพันธรัฐ
   พื้นที่ฝ่ายสหภาพที่การมีทาสยังเป็นเรื่องถูกกฎหมาย

เมื่อเริ่มต้นสงคราม ต่างฝ่ายต่างคิดว่าการรบจะจบลงโดยเร็ว แต่หลังจากยุทธการที่บูลรัน (Battle of Bull Run) ก็เป็นที่แน่ว่านี่จะเป็นสงครามที่ยืดเยื้อ เนื่องจากฝ่ายสมาพันธรัฐทราบดีว่าทั้งกำลังพล เทคโนโลยี และขีดความสามารถทางอุตสาหกรรมของฝ่ายตนเป็นรองมาก แผนยุทธศาสตร์ของฝ่ายสมาพันธรัฐจึงเน้นที่การยืนระยะสงครามให้นานที่สุด เพื่อให้ฝ่ายสหภาพตระหนักถึงราคามหาศาลที่ต้องจ่ายในสงคราม และถอดใจเลิกคิดรวมชาติด้วยกำลังทหารไปเอง

ส่วนเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของทางสหภาพ คือ ต้องการกำหราบฝ่ายกบฏแยกดินแดนลงให้ราบคาบ และป้องกันไม่ให้มีรัฐถอนตัวเพิ่ม ฝ่ายสหภาพจึงกำหนดยุทธศาสตร์ขึ้น 4 ประการ:

  1. ประการแรก คือ ทำการเจรจากับรัฐชายแดนบริเวณเหนือเส้นเมสัน-ดิกสัน[51] (Mason-Dixon line) เช่น มลรัฐแมรีแลนด์ให้คงอยู่ในสหภาพ
  2. ประการที่สอง คือ ทำการปิดล้อมท่าเรือของเมืองใหญ่ๆ ฝ่ายสมาพันธรัฐ เพื่อตัดการค้าและการส่งกำลังบำรุงจากยุโรป หรือจากหมู่เกาะบาฮามัส ซึ่งอยู่ในควบคุมของจักรวรรดิอังกฤษ
  3. ประการที่สาม คือ เข้ายึดครองพื้นที่สำคัญตามแนวลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี เพื่อตัดขาดรัฐทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ จากรัฐฝั่งตะวันออกของสมาพันธรัฐ
  4. ประการสุดท้าย คือ เดินทัพเข้าสู่ดินแดนใจกลางของสมาพันธรัฐ และเข้ายึดครองเมืองหลวงริชมอนด์

การระดมกำลังพล

ในขณะที่ฝ่ายสมาพันธรัฐกำลังก่อตัวโดยรัฐร่วมจัดตั้ง 7 รัฐ ที่การประชุมเมืองมอนกอเมอร์รี กำลังพลทั้งหมดของกองทัพสหรัฐมีจำนวนราว 16,000 นาย[49] แต่เหล่าผู้ว่าการรัฐทางเหนือก็เริ่มที่จะระดมกำลังพลเรือนติดอาวุธแล้ว สภาคองเกรสของสหพันธรัฐให้อำนาจประเทศที่ตั้งใหม่นี้มีกำลังทหารได้ไม่เกิน 100,000 นาย ซึ่งทางผู้ว่าการรัฐทางใต้ก็ทะยอยส่งมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พอถึงเดือนพฤษภา ปธน.เจฟเฟอร์สัน เดวิสก็กำลังเร่งจะได้ได้กำลังพลถึง 100,000 นาย และสภาคองเกรสสหรัฐก็เร่งระดมพลตอบโต้

โปสเตอร์เชิญชวนอาสาสมัคร กองพันทหารราบที่ 179 แห่งเพนซิลวาเนีย
โปสเตอร์เชิญชวนอาสาสมัครเข้าประจำการในกองทหารม้าปืนยาว

ในปีแรกของสงคราม ทั้งสองฝ่ายมีจำนวนอาสาสมัครเกินกว่าที่ตนจะสามารถฝึกและติดอาวุธให้ได้ แต่ความกระตือรือร้นของประชาชนก็มีอยู่ไม่นาน ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องหันไปพึ่งพาการเกณฑ์ทหาร เพื่อเสริมกำลังของอาสาสมัคร ฝ่ายสมาพันธรัฐออกกฎหมายเรียกเกณฑ์ทหารในเดือนเมษายน ปี 1862 สำหรับชายหนุ่มอายุตั้งแต่ 18 ปี ถึง 35 ปี โดยยกเว้นการเกณฑ์ทหารให้กับผู้คุมทาส เจ้าหน้าที่รัฐบาล และนักเทศน์ สภาคองเกรสของสหรัฐก็ออกกฎหมายอนุญาตให้มีการเรียกเกณฑ์พลเรือนติดอาวุธในมลรัฐ หากว่าจำนวนอาสาสมัครมีไม่ถึงตามที่โควต้ากำหนด ประชากรอพยพชาวยุโรปเข้าร่วมกองทัพฝ่ายสหภาพเป็นจำนวนมาก ทหารอย่างน้อย 177,000 นายเกิดในประเทศเยอรมนี และ 144,000 นายเกิดในไอร์แลนด์ [52]

การเรียกเกณฑ์ทหารไม่ได้รับความนิยมทั้งในทางเหนือ และทางใต้ มีการจลาจลต่อต้านการเกณฑ์ทหารครั้งใหญ่ที่เมืองนิวยอร์กในเดือนกรกฎาคม ปี 1863 ในภาคเหนือประมาณว่ามีคนหนีเกณฑ์ทหารถึง 120,000 คน โดยมีจำนวนไม่น้อยหนีขึ้นไปทางแคนาดา นอกจากนี้ยังมีทหารหนีทัพระหว่างสงครามอีกถึง 280,000 นาย[53] ส่วนภาคใต้ก็มีทหารอย่างน้อย 1000,000 นายที่หนีทัพ คิดเป็นจำนวนถึงร้อยละ 10 แต่บางส่วนเป็นการทิ้งหน้าที่ไปโดยไม่ได้รับอนุมัติ เพื่อไปดูและพ่อแม่หรือคนในครอบครัวอื่นๆ แต่ก็กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยของตนในภายหลัง[54] ในทางเหนือมีพวกฉวยโอกาส ที่อาสาสมัครเข้าร่วมรบเพียงเพื่อจะเอาโบนัส แล้วก็เปลี่ยนชื่อตัวเพื่อที่จะไปสมัครเข้าประจำการ และรับโบนัสในหน่วยอื่นอีก มีคน 141 คนที่ถูกจับได้ และถูกประหารชีวิต

การสู้รบทางยุทธนาวี

กองทัพเรือขนาดเล็กของสหรัฐขยายตังอย่างรวดเร็วในช่วงความขัดแย้ง จากที่มีเจ้าหน้าที่ประจำการเพียง 6,000 นาย ในปี ค.ศ. 1861 ก็เพิ่มจำนวนเป็น 45,000 นายในปี ค.ศ. 1865 มีเรือ 671 ลำ รวมระวางขับน้ำทั้งสิ้น 510,396 ตัน[55][56] ภารกิจหลักของทัพเรือคือการปิดล้อมท่าเรือของฝ่ายสมาพันธรัฐ เข้าควบคุมระบบแม่น้ำ ต่อต้านหน่วยจู่โจมของฝ่ายสมาพันธรัฐในทะเล และเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดศึกที่มีความเป็นไปได้กับราชนาวีอังกฤษ[57] เนื่องจากความตึงเครียดทางการทูตในกรณีเรือเทรนต์ (Trent Affair) และด้วยความที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษมีพื้นฐานอยู่ที่สิ่งทอ (textile) ประเทศอังกฤษจึงเสียผลประโยชน์จากการปิดล้อมทางทะเลโดยฝ่ายสหภาพอยู่มาก ทำให้มีแรงกดดันจากอุตสาหกรรมสิ่งทอให้เข้าแทรกแทรงความขัดแย้งนี้ อังกฤษจึงมีบทบาทสำคัญในการขนส่งกำลังบำรุงและยุทโธปรณ์ให้กับฝ่ายใต้[58] ยุทธนาวีที่สำคัญๆส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันตก เพราะการเข้าควบคุมลำน้ำสายใหญ่ๆในแถบนั้นมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือสหรัฐ ที่ต้องการรุกเข้าไปสู่พื้นที่ใจกลางของสมาพันธรัฐ ในภาคตะวันออกกองทัพเรือทำหน้าที่ส่งกำลังบำรุงและเคลื่อนกำลังพลไปในพื้นที่ต่างๆ และในบางกรณีก็ใช้ยิงบอมบาร์ดฐานหรือป้อมปราการของฝ่ายสมาพันธรัฐ

ยุทธวิธีปิดล้อมทางน้ำของฝ่ายสหภาพ

"แผนงูอนาคอนดา" ของพลเอก สก็อตต์ 1861. ปิดล้อมทางน้ำอย่างรัดกุม, ต้อนให้พวกกบฏออกจากมิสซูรี มาตามแม่น้ำมิสซิสซิปปี, ฝ่ายหนุนสหภาพในรัฐเคนทักกียังทำตัวเป็นกลาง, อุตสาหกรรมฝ้ายซบเซาในจอร์เจีย.

นายพล วินฟิลด์ สก็อตต์ ได้คิดแผนงูอนาคอนดาขึ้นในราวต้นปี 1861 เพื่อให้ชนะสงครามโดยเสียเลือดเนื้อให้น้อยที่สุด ความคิดเห็นสาธารณะต้องการให้กองทัพสหภาพปฏิบัติการโจมตีทันที เพื่อให้ยึด ริชมอนด์ เมืองหลวงของข้าศึกให้เร็วที่สุด แต่สก็อตต์เป็นเพียงนายทหารอาวุโสเพียงไม่กี่คน ที่ตระหนักว่านี่จะเป็นสงครามที่ยืดเยื้อ และเชื่อว่าการโจมตีเศรษฐกิจของฝ่ายสหพันธรัฐโดยการปิดล้อมทางน้ำเป็นวิธีที่ดีกว่า ลินคอล์นนำแผนของสก็อตต์มาปฏิบัติส่วนหนึ่ง แต่ไม่ฟังคำทัดทานของสก็อตต์เกี่ยวกับระยะเวลาประจำการที่สั้นเพียง 90 วัน ของอาสาสมัคร

ในวันที่ 19 เดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1861 ลินคอล์นประกาศเริ่มยุทธวิธีปิดล้อมทางน้ำ ซึ่งต้องใช้กำลังทัพเรือตรวจตราชายฝั่งแอตแลนติก และอ่าวเม็กซิโกยาว 3,500 ไมล์ (5,600 กิโลเมตร) ครอบคลุมท่าเรือหลัก 12 ท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองท่าที่คับคั่งอย่างนิวออร์ลีนส์ และโมบิล รัฐแอละแบมา นับว่าเป็นความพยายามปิดล้อมชายฝั่งครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จนถึงขณะนั้น ในระยะเริ่มต้น กองทัพเรือสหรัฐมีเรือรบประจำการ 42 ลำ แต่ส่วนใหญ่ล้าสมัย และมีเพียง 3 ลำที่เหมาะสมสำหรับภารกิจปิดล้อมทางทะเล เลขาธิการกองทัพเรือ กิเดียน เวลส์ (Gideon Welles) เดินหน้าขยายจำนวนเรือรบอย่างรวดเร็ว และเริ่มโปรเจกต่อเรือขนาดใหญ่ขึ้นทันที มีการขอซื้อเรือพาณิชย์และเรือขนส่งผู้โดยสารของพลเรือน กองทัพเรือได้เรือกำปั่นไฟ เกือบ 80 ลำ และเรือกำปั่นใบ 60 ลำ เพิ่มขึ้นมาในช่วงสิ้นปีแรกของสงคราม พอถึงเดือนพฤศจิกายนปีถัดไป จำนวนเรือกำปั่นไฟของกองทัพเรือสหรัฐก็เพิ่มเป็น 282 ลำ กับเรือกำปั่นใบอีก 102 ลำ[59] และในตอนท้ายของสงครามฝ่ายสหภาพมีเรือประจำการอยู่ทั้งหมดถึง ๖๗๑ ลำ[60]

การดิ้นรนของทัพเรือฝ่ายสมาพันธรัฐ
ดูบทความหลักที่: กองทัพเรือสมาพันธรัฐ
เรือรบของกองทัพเรือสหภาพ
เรือรบของ กองทัพเรือสมาพันธรัฐ

เมื่อสงครามกลางเมืองเริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายน 1861 ฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกาแทบไม่มีเรือรบอยู่ในประจำการเลย ความช่วยเหลือส่วนใหญ่ในการส่งกำลังบำรุง และการต่อเรือรบ ล้วนมาจากบริเตนใหญ่[61] นอกจากนี้ฝ่ายสมาพันธรัฐก็ไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากประเทศมหาอำนาจส่วนใหญ่ ปธน.เจฟเฟอร์สัน เดวิส จึงหันไปหาความช่วยเหลือของเอกชน โดยเสนอออกใบสัมปทานสงคราม หรือ เล็ตเตอร์ ออฟ มาร์ก (Letter of Marque) ซึ่งอนุญาตให้เอกชนที่ยอมเอาเรือมาใช้ในภาระกิจหลวงให้ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเรือข้าศึกที่จับได้[62] ทางกองทัพเรือของสมาพันธรัฐจึงประกอบไปด้วยเรือไปรเวทเทียร์ (privateer) เป็นจำนวนมาก แต่ลินคอล์นไม่ยอมรับว่าฝ่ายสมาพันธรัฐมีความชอบธรรม หรืออำนาจใดๆที่จะให้สัมปทานสงครามกับเอกชน และขู่ที่จะปฏิบัติต่อปฏิบัติการของเอกชนในลักษณะนี้ อย่างการกระทำอันเป็นโจรสลัด แต่เนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้าร่วมลงนามใน ประกาศกรุงปารีส ปี 1856 ว่าด้วยกฎหมายพาณิชนาวี ซึ่งห้ามไม่ให้มีไปรเวทเทียร์ ทางรัฐบาลอังกฤษจึงปฏิเสธไม่ยอมรับประกาศของลินคอล์นว่ามีผลในทางกฎหมายระหว่างประเทศ

ในระยะแรกของสงคราม การปิดล้อมทางทะเลของฝ่ายสหภาพไม่ค่อยได้ผล เพราะกำลังทางเรือมีไม่พอจะไปปิดล้อมชายฝั่งยาวเป็นพันๆไมล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางฝ่ายใต้จึงสามารถใช้เรือกลไฟที่มีความเร็ว หรือ blockade runners แล่นฝ่าการปิดล้อมไปได้ง่ายๆ ลูกเรือของไปรเวทเทียร์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนอังกฤษ ซึ่งมีทั้งที่เป็นทหารเรือจากราชนาวีอังกฤษ และที่เป็นพลเรือน ทั้งนี้เป็นเพราะทางฝ่ายสมาพันธรัฐมีจำนวนทหารเรือ กะลาสี หรือต้นหนที่ได้รับการฝึกแล้วไม่เพียงพอจะปฏิบัติการส่งบำรุงเอง ในระยะแรกฝ่ายสมาพันธรัฐจึงพึ่งพาธุรกิจเอกชนทั้งในภาคใต้เองและในอังกฤษเป็นผู้จัดส่งกำลังบำรุง กับทรัพยากรที่ขาดแคลนเกือบทั้งหมด แต่ต่อมากองทัพเรือสมาพันธรัฐเริ่มติดต่อประเทศในยุโรป เพื่อหาเรือเข้าประจำการเอง

เมื่อเรือเร็วหนีการปิดล้อม (blockade runners) ถูกจับได้ ทั้งตัวเรือและสินค้าที่บรรทุกจะถูกศาลสั่งให้เป็นรางวัลอของสงคราม (prize of war) และขายเอาเงินมาแจกจ่ายให้กับลูกเรือของฝ่ายสหภาพ ส่วนลูกเรือที่เป็นคนบริติชก็มักจะถูกปล่อยตัว อย่างไรก็ดีเมื่อขนาดของกองทัพเรือฝ่ายเหนือใหญ่ขึ้นในปีหลังๆของสงคราม การแล่นฝ่าการปิดล้อมก็ทำได้ยากขึ้น เรือใหญ่ๆหมดสิทธิที่จะแล่นฝ่าด่านปิดล้อมไปได้ ต้องอาศัยเรือที่ออกแบบมาเพื่อความเร็วโดยเฉพาะเท่านั้น และโอกาสที่จะถูกฝ่ายข้าศึกจับได้เพิ่มเป็นถึง 1 ใน 3 เมื่อสงครามเข้าสู่ปีที่ 1864[63]

การพัฒนาการของกองทัพเรือสมัยใหม่
ภาพการยิงต่อสู้ระหว่างเรือ USS Monitor และ CSS Virginia ในยุทธนาวีที่แฮมพ์ตันโรดส์ ถือเป็นการปะทะกันครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเรือรบหุ้มเกราะ ซึ่งเพิ่งเข้ามาแทนที่ เรือรบแนวเส้นประจัญบาน (ship of the line).

ถึงแม้จะด้อยกว่ามากในด้านกำลังทางนาวี แต่กองทัพเรือสมาพันธรัฐก็เข็นเอานวัตกรรมด้านการรบทางน้ำออกมาหลายอย่าง ซึ่งมีทั้งการสร้างและดัดแปลงเรือตอปิโดเสากระโดง (Spar Torpedo) และเรือดำนำที่ขับเคลื่อนด้วยมือ ซึ่งออกปฏิบัติการได้สำเร็จแต่กลับมาไม่ถึงฝั่ง เลขาธิการกองทัพเรือสมาพันธรัฐ สตีเฟน มัลลอรี (Stephen Mallory) ตัดสินใจลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ของเรือรบหุ้มเกราะ ไอรอนแคลด เรือรบหุ้มเกราะลำแรกของสงคราม เป็นการเอาเรือเจาะน้ำแข็ง อีน็อค (Enoch) ที่ถูกไปรเวทเทียร์ วี.เอช.ไอวี (V.H. Ivy) ยึดมาได้มาปรับปรุงและดัดแปลงติดตั้งเกราะ แล้วเอาเข้าประจำการในชื่อ ซีเอสเอส. มานาสซัส (CSS Manassas) แต่ลำที่ฝ่ายสมาพันธรัฐสร้างขึ้นเองลำแรก คือ ซีเอสเอส เวอร์จิเนีย (CSS Virginia) โดย สตีเฟน มัลลอรี สร้างขึ้นด้วยการไปกู้เอาเครื่องจักรมาจากเรือ ยูเอสเอส เมอรริแม็ค (USS Merrimack) ที่ถูกจม แล้วตั้งชื่อใหม่ให้ว่า ซีเอสเอส เวอร์จิเนีย มันปฏิบัติหน้าที่วันแรกเมื่อ 8 มีนาคม ปี 1862 เรือ เวอร์จิเนีย สามารถจมเรือฝ่ายสหภาพที่เป็นเรือไม้ได้หลายลำในการรบวันแรก ในยุทธนาวีแฮมพ์ตันโรดส์ แต่ในวันถัดมาก็เจอคู่ปรับสายพันธ์เดียวกัน ได้แก่ เรือ ยูเอสเอส มอนิเตอร์ (USS Monitor) เรือรบหุ้มเกราะฝ่ายสหภาพที่สร้างตามนวัตกรรมการออกแบบของ จอห์น เอริคสัน การปะทะกันครั้งแรกของเรือรบหุ้มเกราะในอ่าว เชสะพีค (Chesapeake) กินเวลาสามชั่วโมงและจบลงโดยไม่มีฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำ แต่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการมาถึงของเทคโนโลยีของยุทธนาวีในยุคต่อไป[64]

เทคโนโลยีเรือรบหุ้มเกราะเป็นความก้าวหน้าสำคัญในเทคโนโลยีการสงครามทางน้ำ สงครามกลางเมืองสหรัฐพิสูจน์ว่าเรือ ไอรอนแคลด ได้เข้ามาแทนที่ เรือรบแนวเส้นประจัญบาน หรือ ship of the line (of battle) ซึ่งครองความเป็นใหญ่ในสงครามทางทะเลมาตลอดสามศตวรรษ เรือที่ถูกสร้างขึ้นในสงครามกลางเมืองสหรัฐ ยังส่งผลกระทบต่อการสงครามในอีกซีกโลกด้วย ตัวอย่างที่มีชื่อเสียงคือ ซีเอสเอส สโตนวอลล์ (CSS Stonewall) ซึ่งต่อขึ้นที่ บอร์โด ประเทศฝรั่งเศส[65] โดยภายหลังถูกขายต่อและส่งมอบให้กับรัฐบาลเมจิของญี่ปุ่น ในชื่อเรือโคเทะสึ และมีบทบาทสำคัญในการยุติสงครามโบะชิงในญี่ปุ่น

แนวปืนของเรือหุ้มเกราะ ไอรอนแคลด 9 ลำของฝ่ายสหภาพ. กองเรือปิดล้อมแอตแลนติกใต้ จากฝั่งท่าเรือชาร์ลสตัน.

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศ

การปิดล้อมทางทะเลโดยฝ่ายเหนือมีประสิทธิภาพมากขึ้น ๆ เมื่อเวลาล่วงไป ผลจากการปิดล้อม ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์จากฝ้ายของฝ่ายใต้แทบเป็นอัมพาต ระดับการส่งออกตกลงถึง 95% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนสงคราม นอกจากนี้ยังทำให้เกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรงเพราะความที่ขาดแคลนสินค้า การขาดแคลนขนมปังทำให้มีการก่อจลาจลโดยประชากรผู้หญิง ในเมืองริชมอนด์ เมืองหลวงของสมาพันธรัฐ นอกจากนี้ การปิดกั้นแม่น้ำมิสซิสซิปปีโดยฝ่ายสหภาพ ยังทำให้การขนส่งม้า และปศุสัตว์ใหญ่ ๆ จากเมืองทางตะวันตกเฉียงใต้ อย่างเท็กซัส และอาร์คันซัส ไปยังเมืองฝั่งตะวันออกของสมาพันธรัฐเป็นไปแทบไม่ได้ จึงกล่าวได้ว่าการปิดล้อมทางน้ำเป็นผลสำเร็จอย่างใหญ่หลวง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฝ่ายสมาพันธรัฐแพ้สงคราม

สงครามกลางเมืองสหรัฐเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ จักรวรรดิอังกฤษกำลังเป็นผู้นำการค้าเสรีโลก นักการทูตอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซอร์ จอห์น เบาว์ริง ได้รับความสำเร็จในการเจรจาเปิดการค้าในประเทศตะวันออกไกล เช่น สยาม และญี่ปุ่น นอกจากนี้ ริชาร์ด ค็อบเดน (Richard Cobden) นักธุรกิจ และศาสดาแห่งการค้าเสรีชาวอังกฤษ ก็เป็นผู้ริเริ่มเผยแพร่ปรัชญาในการสร้างสันติระหว่างประเทศโดยการค้าเสรี ดังนั้นเมื่อสงครามกลางเมืองสหรัฐระเบิดขึ้น และนำไปสู่การปิดล้อมทางทะเลที่ตัดเส้นทางการค้าระหว่างอังกฤษ กับฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกา จึงทำให้คอบเดนหนักใจมากในตอนต้น (แต่ภายหลังก็มาหนุนหลังฝ่ายสหภาพ เมื่อแน่ใจว่าเป้าหมายของสงครามคือการเลิกทาส) หลังสงครามจบลงฝ่ายสหรัฐเรียกร้องให้สหราชอาณาจักรจ่ายค่าเสียหาย โดยกล่าวหาว่าอังกฤษไม่ทำตัวเป็นกลางแถมยังแทรกแทรงความขัดแย้งทางการเมืองภายในของตน ในที่สุดรัฐบาลอังกฤษยอมจ่ายค่าเสียหายให้ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ และค็อบเดนเป็นปากเสียงสำคัญที่สนับสนุนให้รัฐบาลอังกฤษชดใช้ค่าเสียหาย

เขตสงครามตะวันออก

เขตสงครามตะวันออก เป็นเวทีรบของการทัพสำคัญๆ (major campaigns) ของ กองทัพโพโทแม็ค - กองทัพใหญ่ฝ่ายสหภาพ โดยเป้าหมายประสงค์หลักของสหภาพ คือ การยึดให้ได้เมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย อันเป็นเมืองหลวงฝ่ายสมาพันธรัฐ การทัพเหล่านี้เต็มไปด้วยการล้มลุกคลุกคลาน เพราะต้องเผชิญกับการต่อต้านโดยกองทัพเวอร์จิเนีย์เหนือของฝ่ายสมาพันธรัฐ ซึ่งมีนายพลโรเบิร์ต อี. ลี เป็นผู้บัญชาการ, ประธานาธิบดีลินคอล์นพยายามเสาะหานายพลที่กล้าและสามารถเทียบเคียงกับลีได้ โดยลินคอล์นแต่งตั้งและสับเปลี่ยนเอานายพล เออร์วิน แม็คโดเวล, จอร์จ บี. แม็คเคลแลน, จอห์น โป๊ป, แอมโบรส เบิร์นไซด์, โจเซฟ ฮุกเกอร์, และจอร์จ จี. มี้ด มาเป็นเป็นผู้บัญชาการกองกำลังหลักๆในภาคตะวันออก

Left: ยุทธการที่แอนตีแทม, การต่อสู้ที่นองเลือดที่สุดในหนึ่งวันใดๆของสงครามกลางเมือง.
Right: เรือรบหุ้มเกราะของฝ่ายสมาพันธรัฐ ในยุทธนาวีที่แฮมพ์ตันโรดส์ สามารถทำให้กองเรือปิดล้อมของสหภาพแตกกระเจิง จนกระทั่งฝ่ายสหภาพเอาชนะได้ด้วยเรือหุ้มเกราะของตน.

กองทัพของฝ่ายสมาพันธรัฐประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ในช่วงต้นๆของสงคราม โดยสามารถผลักกองกำลังฝ่ายสหภาพภายใต้การนำทัพของ พลตรี เออร์วิน แม็คโดเวล ให้ถอยร่นได้ในยุทธการบูลรัน ณ เมืองมานาสซัส ที่อยู่ห่างจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ไปเพียง 25 ไมล์ ลินคอล์นเรียกตัว พลตรี จอร์จ บี. แม็คเคลแลน มารับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการใหญ่ (general-in-chief) ของกองทัพสหภาพทั้งหมด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1861 แต่เป็นแค่ในช่วงสั้นๆ ก็ถูกถอดให้มาเป็นผู้บัญชาการกองทัพโพโทแม็คของสหภาพเพียงอย่างเดียว แมคเคลแลนเป็นนายพลหนุ่มอายุเพียง 34 ปี มีทักษะที่ยอดเยี่ยมในการฝึกทหาร จัดระเบียบ และเตรียมกองทัพ แต่ว่าเป็นผู้บัญชาการทหารที่สุขุมเกินเหตุ และไม่ชอบตัดสินใจทำอะไรเสี่ยง

สงครามเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในปี 1862 ปธน.ลินคอล์นต้องการให้เริ่มปฏิบัติการเชิงรุกโดยเร็วที่สุด แม็คเคลแลนตอบสนองโดยการนำกองทัพแห่งโพโทแม็คเข้าโจมตีเวอร์จิเนีย ในการทัพคาบสมุทร (Peninsula Campaign) ในฤดูใบไม้ผลิ ปี 1862 โดยทางคาบสมุทรเวอร์จิเนีย ระหว่างแม่น้ำยอร์ก กับแม่น้ำเจมส์ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของริชมอนด์ กองทัพของแม็คเคลแลนไล่ตามกองทัพของโจเซฟ อี. จอห์นสโตน มาจนถึงปากทางเข้าเวอร์จิเนีย[66] แต่ถูกทัพของจอห์นสโตนตรึงสกัดไว้ได้ ในยุทธการเซเว่นไพน์ (Battle of Seven Pines) จากนั้นนายพล โรเบิร์ต อี. ลี และนายทหารคนสำคัญ - เจมส์ ลองสตรีท กับ สโตนวอลล์ แจ็คสัน - เอาชนะกองทัพของแม็คเคลแลนได้ใน ยุทธการเจ็ดวัน บังคับให้ฝ่ายสหภาพถอยทัพไปได้[67]

การทัพเวอร์จิเนียเหนือ จบลงในปลายฤดูร้อนด้วยชัยชนะของฝ่ายสมาพันธรัฐในยุทธการบูลรันครั้งที่สอง[68]แม็คเคลแลนแข็งขืนคำสั่งของผู้บัญชาการทัพใหญ่ เฮนรี ฮัลเล็ค ไม่ยอมส่งกองหนุนไปช่วยกองทัพเวอร์จิเนียของจอห์น โป๊ป ทำให้ฝ่ายสหภาพแพ้กองทัพของลี แม้ว่าจะมีกำลังรบรวมกันมากกว่าฝ่ายสมาพันธรัฐถึงสองเท่า ผลของความพ่ายแพ้ทำให้ นายพลจอห์น โป๊ป ถูกถอดจากการบังคับบัญชา และกองทัพเวอร์จิเนียถูกยุบไปรวมกับทัพใหญ่ ชัยชนะในศึกบูลรันครั้งที่สอง ทำให้ฝ่ายสมาพันธรัฐฮึกเหิมมาก และเตรียมทัพเพื่อขึ้นโจมตีทางเหนือครั้งแรกทันที โดยในวันที่ 5 กันยายน นายพลลีนำกองทัพเวอร์จิเนียเหนือ มีกำลังพล 45,000 นาย ข้ามแม่น้ำโพโทแม็คเข้าสู่แมรีแลนด์ ทางฝ่ายแม็คเคลแลนเมื่อได้คืนกำลังพลมาจากกองทัพของโป๊ปแล้ว ก็ยกทัพใหญ่ของสหภาพ - กองทัพโพโทแม็ค - เข้าสู้รบกับนายพลลี ในศึกแอนตีแทม ใกล้กับเมืองชาร์ปสเบิร์ก รัฐแมรีแลนด์ โดยเป็นการรบกันวันเดียวที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกามาตราบจนทุกวันนี้[67]; แม้แม็คเคลแลนจะพลาดโอกาสที่จะรุกไล่ติดตามเพื่อทำลายกองทัพของลี ศึกแอนตีแทม ก็ถือเป็นชัยชนะของฝ่ายสหภาพ เพราะเป็นยุทธการที่สามารถยับยั้งแผนการบุกขึ้นเหนือของลีเอาไว้ได้ การถอยทัพของลีเปิดโอกาสให้ ปธน. ลินคอล์นประกาศเลิกทาส[69]และถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของสงคราม

การเข้าชาร์จด้วยดาบปลายปืนของกองทัพสหภาพ ในยุทธการแอนตีแทม, 1862

แม้จะทำให้ลีถอยทัพไปได้ แม็คเคลแลนก็ถูกปลดจากตำแหน่งบัญชาการ เพราะลินคอล์นมองว่าเขาสุขุมเกินไป ทำให้พลาดโอกาสทำลายข้าศึก พลตรี แอมโบรส เบิร์นไซด์ เข้ารับตำแหน่งบัญชาการกองทัพโพโทแม็คแทนที่ แต่เบิร์นไซด์ก็เพลี่ยงพล้ำในฤดูหนาวปีนั้นเอง เมื่อทหารของกองทัพสหภาพกว่า 12,000 คน ถูกฆ่า หรือได้รับบาดเจ็บ ในยุทธการที่เฟรดริกสเบิร์ก[70] เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม จากความพยายามโจมตีโดยเปล่าประโยชน์จากทางด้านหน้าซ้ำๆ ต่อฐานที่มั่นบนเนิน Marye's Heights ของกองทัพฝ่ายใต้ เบิร์นไซด์ถูกปลดและ พลตรี โจเซฟ ฮุกเกอร์ ถูกแต่งตั้งเข้าแทนที่

นายพลฮุกเกอร์บัญชาการกองทัพโพโทแม็คที่มีกำลังรบมากกว่า กองทัพเวอร์จิเนียเหนือถึงกว่าสองเท่า แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะกองทัพของลีได้ ฮุกเกอร์พ่ายแพ้อย่างยับเยินในยุทธการที่แชนเซเลอร์สวิลล์ เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1863[71] แต่นายพลลีก็ต้องเสียนายพล สโตนวอลล์ แจ็กสัน ทหารคู่ใจ ซึ่งถูกยิงที่แขน และเสียชีวิตเพราะอาการแทรกซ้อนในเวลาต่อมา[72] ลินคอล์นรับจดหมายขอถอนตัวจากหน้าที่ของฮุกเกอร์ และแทนที่เขาด้วย นายพลจอร์จ มี้ด ในเดือนมิถุนายน; ฝ่ายสมาพันธรัฐตัดสินใจยกทัพบุกขึ้นเหนืออีกครั้ง แต่คราวนี้กองทัพโพโทแม็คของมี้ด สามารถเอาชนะลีได้ในยุทธการเกตตีสเบิร์ก[73] การรบที่เกตตีสเบิร์กเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 มิถุนายน 1863 โดยกินเวลา 3 วันเต็มๆ และเป็นศึกที่เสียเลือดเนื้อกันมากที่สุดในสงคราม โดยกองทัพของลีมีทหารบาดเจ็บล้มตาย 28,000 นาย (ในขณะที่กองทัพแห่งโพโทแม็คมีจำนวนความสูญเสียอยู่ที่ 23,000)[74]

เกตตีสเบิร์กถือเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามกลางเมืองอเมริกา การเข้าชาร์จของพิกเก็ตต์ในวันที่ 3 กรกฎาคม แสดงถึงจุดพีคของศักยภาพของกำลังการรบฝ่ายใต้ ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่อาจกลับมามีแนวโน้มที่จะชนะสงครามได้อีก อย่างไรก็ดี นายพลจอร์จ มี้ด ล้มเหลวในการสกัดกั้นการถอยทัพของลี ปล่อยให้ลีหนีไปได้อีกครั้ง ซึ่งทำให้การทัพในฤดูใบไม่ร่วงยังไม่อาจหาข้อสรุปได้ และทำให้ลินคอล์นไม่พอใจ ลินคอล์นเสาะหาผู้นำทัพคนใหม่ ในแนวรบด้านตะวนตกขณะนั้น กองกำลังป้องกันที่มั่นของฝ่ายใต้ที่ วิคสเบิร์ก ยอมจำนนต่อกองทัพปิดล้อมฝ่ายสหภาพ ทำให้ฝ่ายสหภาพสามารถเข้าควบคุมแม่น้ำมิสซิสซิปปีได้ในที่สุด ส่งผลให้ฝ่ายสมาพันธรัฐฝั่งตะวันตกถูกโดดเดี่ยว และให้กำเนิดผู้นำทัพคนใหม่ที่ลินคอล์นต้องการ: นายพลยูลิสซิส เอส. แกรนต์

เขตสงครามตะวันตก

กองกำลังฝ่ายสมาพันธรัฐในเขตสงครามตะวันตกประสบความปราชัยบ่อยครั้ง กองกำลังป้องกันมิสซูรี (Missouri State Guard) ถูกกองทัพฝ่ายเหนือของนายพล ซามูเอล เคอร์ติส ขับออกจากมิสซูรีในยุทธการที่พีริดจ์ตั้งแต่ช่วงต้นสงคราม[75] การโจมตีเมืองโคลัมบัส (รัฐเคนทักกี) ของแม่ทัพฝ่ายสมาพันธรัฐ, เลออนิดัส พอล์ค, ทำให้เคนทักกีเลิกคงทีท่าความเป็นกลาง และกลายเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายใต้ เมืองแนชวิลล์และศูนย์กลางรัฐเคนทักกีตกเป็นของฝ่ายสหภาพตั้งแต่ช่วงต้นปี 1862 ส่งผลให้เกิดความขาดแคลนอาหาร และปศุสัตว์ และความโกลาหล

Left: The ยุทธการชิคกาเมากา​, ความสูญเสียหนักที่สุดในยุทธการสองวัน ชัยชนะของฝ่ายสมาพัธรัฐ ขับไล่ฝ่ายสหภาพไปได้นาน 2 เดือน.
Right: การเข้ายึดนิวออลีนส์ - เรือหุ้มเกราะของสหภาพฝืนเปิดทาง จมกองเรือฝ่ายสมาพันธรัฐ และทำลายป้อมปืนได้

ฝ่ายสหภาพสามารถเปิดใช้แม่น้ำมิสซิสซิปปีสัญจรลงไปถึงทางใต้ของเทนเนสซี ด้วยการยึดเข้าไอส์แลนด์ No.10 และเมืองนิวแมดริด มลรัฐมิสซูรี, และจากนั้นก็ยึดเมืองเมมฟิสต์ รัฐเทนเนสซี ตามลำดับ กองทัพเรือสหภาพสามารถยึดนิวออร์ลีนส์ได้ในเดือนเมษายน 1862[76] ซึ่งทำให้กองกำลังฝ่ายสหภาพครองมิสซิสซิปปีได้เกือบทั้งหมด มีเพียงเมืองป้อมปราการวิคสเบิร์กของรัฐมิสซิสซิปปีเท่านั้นที่ป้องกันมิให้ฝ่ายเหนือเข้าควบคุมแม่น้ำได้ทั้งสาย

นายพลแบร็กซ์ตัน แบร็กก์ นำฝ่ายสมาพันธรัฐเข้ารุกรานรัฐเคนทักกีครั้งที่สอง แต่จบลงด้วยชัยชนะที่ไม่มีความหมายในยุทธการเพอร์รีวิลล์ โดยแบร็กก์ต้องหยุดการรุกรานเคนทักกีและถอนกำลัง เพราะไม่มีแรงสนับสนุนจากทางสมาพันธรัฐ การทัพสโตนส์ริเวอร์สิ้นสุดลง เมื่อกองทัพของแบร็กก์พ่ายให้กับ พลตรีวิลเลียม โรสครานส์ในยุทธการสโตนส์ริเวอร์รัฐเทนเนสซี[77]

ฝ่ายสมาพันธรัฐได้ชัยชนะเหนือสหภาพแบบชัดเจน ก็เฉพาะที่ยุทธการชิคกะเมากาเท่านั้น; กองทัพของนายพลแบร็กก์ ที่ได้รับกำลังเสริมจากเวอร์จิเนียภายใต้การนำของพลโทเจมล์ ลองสตรีท สามารถเอาชนะโรสครานส์ และบังคับให้โรสครานส์ถอยทัพไปชัตตานูกาได้

นักยุทธศาสตร์คนสำคัญของสหภาพในแนวรบตะวันตก คือ ยูลิสซีส เอส. แกรนต์ ผู้ได้รับชัยชนะในหลายสมรภูมิ ทั้งยุทธการที่ฟอร์ทเฮนรี, ยุทธการที่ฟอร์ทโดเนลสัน (เป็นผลให้ฝ่ายสหภาพเข้าควบคุมแม่น้ำเทนเนสซี และแม่น้ำคัมเบอร์แลนด์ได้), ยุทธการไชโลห์[78], และยุทธการวิคสเบิร์ก[79] ซึ่งเพิ่มความแข็งแกร่งของอำนาจควบคุมแม่น้ำมิซิสซิปปีของฝ่ายสหภาพ แกรนต์เดินทัพเข้ากู้สถานการณ์ของโรสแครนส์ และพิชิตแบร็กก์ลงได้ในศึกชัตตานูกาครั้งที่สาม[80] ขับไล่กองกำลังสมาพันธรัฐออกจากเทนเนสซี และเปิดเส้นทางไปสู่แอตแลนตากับใจกลางของฝ่ายสมาพันธรัฐ

เขตสงครามทรานส์-มิสซิสซิปปี

Left: การสังหารหมู่ลอว์เรนซ์:ควอนทริลเข้ายึดโรงแรมในแคนซัส(รัฐปลอดทาส) นาน 1 วัน, เผาอาคาร 185 หลัง, สังหารผู้ชายและเด็กชายรวม 182 ศพ[81]
Right: เนธาเนียล ลีออนเข้ายึดท่าเรือและคลังแสงในเมือง St. Louis, นำกองกำลังสหภาพเข้าขับไล่รัฐบาลฝ่ายสมาพันธรัฐในมิสซูรี.[82]

การรบแบบกองโจรในวงกว้าง เป็นลักษณะทั่วไปของพื้นที่ทรานส์-มิสซิสซิปปี เนื่องจากฝ่ายสมาพันธรัฐมีความขาดแคลนกำลังพลและลอจิสติกส์ที่มีความจำเป็นต่อการมีกองกำลังถาวรไว้ต่อสู้กับฝ่ายสหภาพ[83][84] กองโจรเคลื่อนที่อย่าง ควอนทริลส เรดเดอร์ส (Qualtrill's Raiders) สร้างความพรั่นพรึงในชนบท โดยโจมตีทั้งที่มั่นทหารและที่อยู่อาศัยพลเรือน[85] กลุ่มติดอาวุธ "Sons of Liberty" และ "Order of the American Knights" เข้าทำร้ายประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายสหภาพ และทหารที่ไม่มีอาวุธ

ปฏิบัติการทางทหารขนาดเล็กมีขึ้นเป็นหย่อมๆ ทางใต้และทางตะวันตกของมิสซูรี โดยฝ่ายสหภาพซึ่งต้องการจะเข้าควบคุม "อาณาเขตอินเดียน" (Indian Territory) และ "อาณาเขตนิวเม็กซิโก" กองกำลังฝ่ายสหภาพขับไล่การเคลื่อนที่เข้าสู่นิวเม็กซิโกของฝ่ายสมาพันธรัฐในปี 1862 รัฐบาลพลัดถิ่นของแอริโซนาถอนตัวเข้ามาอยู่ในเท็กซัส สงครามระหว่างเผ่าชนพื้นเมืองระเบิดขึ้นในอาณาเขตอินเดียน นักรบประมาณ 12,000 คนจากเผ่าอินเดียนต่างๆ เข้าร่วมกับฝ่ายสมาพันธรัฐ ส่วนที่เข้าร่วมกับทางสหภาพมีจำนวนน้อยกว่า[86] นักรบเชโรกีที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ นายพลจัตวาสแตน วาตี (Stand Watie) นายพลคนสุดท้ายที่ยอมจำนนในสงครามนี้[87]

นายพลเอ็ดมันด์ เคอร์บี สมิธ ได้รับมอบหมายให้บัญชาการแผนกทรานส์-มิสซิสซิปปี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่วงกว้าง (ทั้ง อาร์คันซัส, ลุยเซียนาตะวันตก และเท็กซัส) แต่มีกำลังทหารในบังคับบัญชาแค่ประมาณ 30,000 นาย หลังยุทธการปิดล้อมวิคสเบิร์ก และพอร์ตฮัดสันจบลงในเดือนกรกฎาคม ปี 1863 ฝ่ายสหภาพเข้ายึดวิคสเบิร์กและท่าเรือฮัดสันได้ ทำให้หน่วยของนายพลเคอร์บี สมิธ ถูกตัดขาดจากเมืองหลวงที่ริชมอนด์ ต่อมาสมิธได้รับหนังสือแจ้งจาก เจฟเฟอร์สัน เดวิส ว่า จะไม่มีความช่วยเหลือใดๆมาจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปีอีก แต่แม้จะขัดสนทรัพยากร เคอร์บี สมิธ ก็สะสมอาวุธไว้พอสมควรในคลังแสงที่ไทเลอร์ (Tyler) และใช้ระบบเศรษฐกิจแบบขุนศึก (fiefdom) หาเลี้ยงกองทัพในเท็กซัส ซึ่งรู้จักกันในชื่อ "เคอร์บี สมิธดอม" (Kirby Smithdom)[88]ต่อมาในฤดูใบไม้ผลิ ปี 1864 นายพลริชาร์ด เทย์เลอร์ ผู้ใต้บังคับบัญชาของสมิธ นำทัพเอาชนะกองทัพสหภาพได้ในการทัพที่เรดริเวอร์ (Red River Campaign)[89] และทำให้เท็กซัสอยู่ในความควบคุมของฝ่ายสมาพันธรัฐไปจนตลอดสงคราม

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามอ่าว สงครามเกาหลี สงครามเย็น สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามแปซิฟิก สงครามครูเสด

แหล่งที่มา

WikiPedia: สงครามกลางเมืองอเมริกา http://www.civilwarhome.com/foxspref.html http://www.essentialcivilwarcurriculum.com/persona... http://www.history.com/topics/missouri-compromise http://www.history.com/topics/wilmot-proviso http://supreme.justia.com/us/41/539/index.html http://www.nytimes.com/1865/05/10/news/important-p... http://www.wiley.com/WileyCDA/WileyTitle/productCd... http://scholarship.kentlaw.iit.edu/cgi/viewcontent... http://mtw160-198.ippl.jhu.edu/journals/civil_war_... //muse.jhu.edu/journals/civil_war_history/v057/57....