การคุกคามของอิตาลี ของ สงครามอิตาลี-อะบิสซิเนียครั้งที่สอง

สนธิสัญญาอิตาลี-เอธิโอเปีย ฉบับ ค.ศ. 1928 กำหนดให้พรมแดนระหว่างโซมาลีแลนด์ของอิตาลีกับเอธิโอเปียมีความยาว 21 ลีก (ราว 73.5 ไมล์) โดยขนานไปตามชายฝั่งเบนาดีร์ (Benadir) ในปี ค.ศ. 1930 อิตาลีได้สร้างป้อมขึ้นที่โอเอซิสเวลเวล (Welwel) ในบริเวณเขตโอกาเดน (Ogaden) และส่งทหารนอกประจำการชาวโซมาลีที่เรียกว่าดูบัต (dubat) เข้ามาประจำการ ป้อมที่สร้างขึ้นที่เวลเวลนั้นอยู่นอกเหนือเขตจำกัด 21 ลีกและรุกร้ำเข้ามาในเขตแดนของเอธิโอเปีย

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1934 กองกำลังรักษาดินแดนของเอธิโอเปียซึ่งคุ้มครองคณะกรรมการปักปันชายแดนแดนอังกฤษ-เอธิโอเปีย ได้ประท้วงการละเมิดอธิปไตยของอิตาลี สมาชิกคณะกรรมการฝ่ายอังกฤษได้ถอนตัวไปทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้อิตาลีเสียหน้า โดยที่กองกำลังทั้งฝ่ายอิตาลีและเอธิโอเปียยังคงตั้งค่ายเผชิญหน้ากันในระยะใกล้

การปะทะบริเวณชายแดนที่เวลเวล

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

ต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 1934 ความตึงเครียดของทั้งสองฝ่ายได้ปะทุขึ้นจากเหตุการณ์ที่รู้จักกันในชื่อ "กรณีเวลเวล" ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีทหารเอธิโอเปียเสียชีวิตประมาณ 150 นาย ฝ่ายอิตาลีตาย 50 นาย และนำไปสู่ "วิกฤตการณ์อะบิสซิเนีย" ในที่ประชุมสันนิบาตชาติ

วันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1935 สันนิบาตชาติได้ประกาศปลดเปลื้องความผิดของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายจากกรณีเวลเวล [8] สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสพยายามอย่างอย่างที่จะดึงอิตาลีไว้เป็นพันธมิตรต่อต้านเยอรมนี จึงไม่ได้ขัดขวางการเสริมสร้างกำลังทางทหารของอิตาลี ในไม่ช้าอิตาลีจึงเสริมกองทัพของตนในบริเวณชายแดนของเอธิโอเปียด้านที่ต่อกับเอริเทรียและโซมาลีแลนด์ของอิตาลี

อิตาลีสามารถเปิดฉากการรุกโดยปราศจากการขัดขวางอย่างจริงจัง เนื่องจากสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสให้ความสำคัญแก่การดึงเอาอิตาลีเป็นพันธมิตรในการต่อต้านนาซีเยอรมนี ด้วยเหตุนี้ในวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1935 ฝรั่งเศสจึงได้ลงนามในข้อตกลงกับอิตาลี โดยยกให้อิตาลีจัดการกับทวีปแอฟริกาได้โดยอิสระ เพื่อเป็นการประกันความมั่นคงในความร่วมมือกับอิตาลี [9] ถัดจากนั้นมาในเดือนเมษายน อิตาลีก็ได้ใจยิ่งขึ้นจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงแนวสเตรซา ซึ่งเป็นข้อตกลงในการกำหนดทิศทางการขยายอำนาจของเยอรมนี[10] ถึงเดือนมิถุนายน แผนการของอิตาลีดำเนินไปได้โดยสะดวกมากขึ้น จากการแตกร้าวทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหราชอาณาจักรกับฝรั่งเศสอันมีมูลเหตุจากข้อตกลงทางนาวีของทั้งสองประเทศ [11]|group=nb}}

จากการประเมินโดยฝ่ายอิตาลี ช่วงก่อนหน้าการเปิดสงครามนั้นเอธิโอเปียมีกองทัพซึ่งมีกำลังพลราว 350,000-760,000 คน แต่มีเพียง 1 ใน 4 ของกำลังพลดังกล่าวที่ได้รับการฝึกฝนตามวินัยทหาร และมีปืนไรเฟิลเพียง 400,000 กระบอกเท่านั้น โดยนับรวมจากปืนไรเฟิลทุกชนิดและอยู่ในทุกสถานะ[12]

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว กองทัพเอธิโอเปียมีอาวุธประจำการในระดับย่ำแย่มาก กองทัพดังกล่าวมีเพียงปืนใหญ่สนามที่ล้าสมัยราว 200 กระบอก ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานทั้งชนิดเบาและชนิดหนักประมาณ 50 กระบอก (ประกอบด้วยปืน Oerlikon ขนาด 20 มม., ปืนใหญ่ชไนเดอร์ และปืนใหญ่วิคเกอร์ส ขนาดกระสุน 75 มม.) สำหรับยานพาหนะประกอบด้วยรถรบหุ้มเกราะยี่ห้อฟอร์ดและรถถังเฟียต 3000 ซึ่งเป็นรุ่นที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเพียงจำนวนเล็กน้อย[12]

สำหรับขีดความสามารถของกองทัพอากาศเอธิโอเปียก็อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกัน เครื่องบินรบที่ใช้ได้มีเพียงเครื่องบินล้าสมัยปีกสองชั้นรุ่นโปเตซ 25 เพียง 3 ลำ[13] นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินขนส่งอีกจำนวนเล็กน้อยที่รวบรวมได้ในช่วงปี ค.ศ. 1934 - 1935 เพื่อใช้เป็นเครื่องบินพยาบาล โดยรวมแล้ว กองทัพอากาศเอธิโอเปียมีเครื่องบินประจำการเพียง 13 ลำ และมีนักบิน 4 คน เมื่อสงครามปะทุขึ้น [14] กองทัพดังกล่าวนี้อยู่ภายใต้การบัญชาการของอังเดร มายแย็ต นายทหารอากาศชาวฝรั่งเศส

หน่วยรบที่ดีที่สุดคือกองทหารรักษาพระองค์ของจักรพรรดิ ("Kebur Zabangna") กองกำลังดังกล่าวนี้เป็นหน่วยที่ได้รับการฝึกและมีอาวุธประจำการที่ดียิ่งกว่าหน่วยทหารใดๆ ในประเทศ อย่างไรก็ตาม เครื่องแบบของกองทหารรักษาพระองค์นั้นใช้เครื่องแบบสีเขียวกากีตามแบบของกองทัพบกเบลเยี่ยม ทำให้ดูแตกต่างต่างไปจากทหารหน่วยอื่นที่ใช้เครื่องแบบผ้าสีขาวที่เรียกว่า "ชัมมา" ("shamma") ซึ่งเครื่องแบบสีขาวข้างต้นนั้น สำหรับผู้สวมใส่แล้วนับเป็นเรื่องที่โชคไม่ดีนักที่ชุดนี้เป็นเป้าสังหารอย่างดีของฝ่ายศัตรู [12] ด้านความสามารถของผู้บัญชาการทัพที่ดำรงตำแหน่ง "ราส" ก็มีแตกต่างกันไปตั้งแต่ดีที่สุดไปจนถึงแย่ที่สุด

ฝ่ายอิตาลี

มุสโสลินี และยุวชนกองกำลังเชิ้ตดำของพรรคฟาสซิสต์ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อ ค.ศ. 1935

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1935 กองทัพบก (Regio Esercito) และกองทัพอากาศ (Regia Aeronautica) แห่งราชอาณาจักรอิตาลีในแอฟริกาตะวันออก ได้เริ่มการสะสมกำลังขึ้นอย่างจริงจัง ในไม่กี่เดือนถัดมาได้มีการเคลื่อนกำลังทหารราบปกติ ทหารราบภูเขา และหน่วยเชิ้ตดำ รวม 8 หน่วย เข้ามาในเอริเทรีย และส่งกำลังทหารราบปกติ 4 หน่วยเข้ามาประจำการในโซมาลีแลนด์ของอิตาลี ตัวเลขของทหารชุดดังกล่าวมีรวม 680,000 คน โดยยังไม่ได้นับรวมกับทหารอิตาลีที่ประจำการในแอฟริกาตะวันออก กองทหารอาณานิคม และจำนวนทหารที่เสริมกำลังเข้ามาระหว่างสงคราม เช่น ในเอริเทรียมีทหารอิตาลีอยู่แล้ว 400,000 คน และในโซมาลีแลนด์ของอิตาลี 220,000 คน ก่อนหน้าจะมีการส่งกำลังเสริมเข้ามา เป็นต้น กองทัพขนาดใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นในแอฟริกาตะวันออกนี้ยังมีหน่วยลำเลียงและหน่วยสนับสนุนจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีนักข่าวสงครามของอิตาลีรวมอยู่ในกองทัพด้วยอีก 200 คน[15]

ยุทธภัณฑ์ที่อิตาลีได้ส่งเข้ามาเสริมกำลังพลประกอบด้วย ปืนกล 6,000 กระบอก ปืนใหญ่สนาม 2,000 กระบอก รถถัง 595 คัน อากาศยาน 390 ลำ ในช่วงก่อนหน้าการเสริมกำลังอิตาลีมีปืนกล 3,300 กระบอก ปืนใหญ่สนาม 275 กระบอก รถถังขนาดย่อม 200 คัน และอากาศยาน 205 ลำ การส่งกำลังบำรุงจำนวนมหาศาลดังกล่าวรวมทั้งอาหาร กระสุนปืน และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ได้รับการสนับสนุนจากราชนาวีอิตาลี (Regia Marina) เป็นหลัก นอกจากนี้การลำเลียงยุทธภัณฑ์และเคลื่อนย้ายกำลังพลในสมรภูมิ อิตาลียังได้เปรียบจากการใช้ยานยนต์เป็นพาหนะ ต่างจากฝ่ายเอธิโอเปียซึ่งใช้ม้าต่างเป็นพาหนะ[1]

ในระหว่างสงครามนั้นชาวอิตาลีได้มอบความไว้วางใจของตนให้แก่กองทัพน้อยอาณานิคม (Regio Corpo Truppe Coloniali หรือ RCTC) ซึ่งเป็นหน่วยทหารชนพื้นเมืองที่เกณฑ์มาจากเอริเทรีย โซมาเลีย และลิเบีย อันเป็นอาณานิคมในความปกครองของอิตาลี หน่วยทหารที่ทรงประสิทธิภาพที่สุ่ดของกองทัพน้อยนี้ได้แก่หน่วยทหารราบชาวเอริเทรียที่เรียกว่า "อัสคารี" ("askaris") ซึ่งมักถูกใช้เป็นหน่วยรุกเป็นประจำ การที่เป็นหน่วยรุกเช่นนี้จึงปรากฏว่าทหารเอริเทรียต้องสูญเสียอย่างหนักอยู่เสมอ ทั้งนี้นอกจากหน่วยทหารราบแล้ว เอริเทรียก็มีกองทหารม้าและกองทหารปืนใหญ่ด้วย เช่น กองทหารม้าเปนเนดีฟัลโก ("Penne di Falco" - "ขนนกอินทรี") ของเอริเทรีย ซึ่งเป็นหน่วยหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากการปฏิบัติการในสงครามครั้งนี้ เป็นต้น กองทัพน้อยอาณานิคมยังใช้หน่วยรบอื่นที่ในการรุกสู่เอธิโอเปีย ซึ่งรวมไปถึงกองกำลังชายแดนนอกประจำการชาวโซมาลีที่เรียกว่า "ดูบัต" ("dubat") ทหารราบและทหารปืนใหญ่ชาวอาหรับ-โซมาลี และทหารราบชาวลิเบีย[16]

นอกเหนือไปจากกองทัพที่อิตาลีเกณฑ์มาจากโซมาเลีย เอริเทรีย และลิเบียของตนเองแล้ว อิตาลียังมีกองกำลังท้องถิ่นกึ่งอิสระที่เป็นศัตรูกับเอธิโอเปียเข้าร่วมรบด้วยในฐานะ "พันธมิตร" ในแนวรบทางเหนือ ชาวโอโรโมที่รวมกลุ่มกันในชื่อกลุ่มอาเซบู กัลลา (Azebu Galla) เป็นหนึ่งในหลายกลุ่มที่อิตาลีได้ชักชวนให้เข้าร่วมรบ เพราะชนกลุ่มนี้มีสาเหตุหลายประการที่ต้องการจะกวาดล้างชาวเอธิโอเปียที่ลี้ภัยมา ส่วนทางด้านทิศใต้ สุลต่านโอลโอล ดีนเล (Sultan Olol Diinle) ได้ควบคุมกองทัพส่วนตัวเข้ารกยังตอนเหนือของโอกาเดนร่วมกับกองทัพอิตาลีภายใต้การบัญชาการของพันเอกลุยจี ฟรุสชี (Luigi Frusci) แรงผลักดันที่ทำให้สุลต่านเข้าร่วมรบคือต้องการทวงเอาดินแดนที่เอธิโอเปียแย่งชิงไปกลับคืนมา อนึ่ง กองทัพอาณานิคมของอิตาลียังได้เกณฑ์พลเพิ่มเติมมาจากเยเมน โดยลำเลียงพลข้ามมาทางอ่าวเอเดนด้วยอีกทางหนึ่ง[17]

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามแปซิฟิก สงครามเกาหลี สงครามอ่าว สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามครูเสด สงครามกัมพูชา–เวียดนาม

แหล่งที่มา

WikiPedia: สงครามอิตาลี-อะบิสซิเนียครั้งที่สอง http://www.angelfire.com/ny/ethiocrown/HaileII.htm... http://users.erols.com/mwhite28/warstat3.htm http://www.onwar.com/aced/nation/ink/italy/fitalye... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,7... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,8... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,8... http://www.workmall.com/wfb2001/ethiopia/ethiopia_... http://www.mtholyoke.edu/acad/intrel/selassie.htm http://blog.libero.it/wrnzla/ http://www.regioesercito.it/campagne/etiopia/index...