บทสรุปและเหตุการณ์สืบเนื่อง ของ สงครามเชียงตุง

ในสงครามตีเมืองเชียงตุงครั้งแรกพ.ศ. 2393 ทางกรุงเทพฯไม่ได้จัดทัพขึ้นไปเองแต่ให้ฝ่ายล้านนาเป็นผู้รับผิดชอบในการตีเมืองเชียงตุง แม้ว่าทางฝ่ายล้านนาจะมีประสบการณ์ในการยกทพไปตีหัวเมืองลื้อเขินทางเหนือหลายครั้ง แต่ความขัดแย้งภายในวงศ์เจ้าเจ็ดตนขณะนั้นทำประกอบกับความเข้มแข็งในการศึกของเจ้ามหาขนานเมืองเชียงตุงทำให้ล้านนาไม่ประสบความสำเร็จในการยึดเมืองเชียงตุง

ในสงครามตีเมืองเชียงตุงพ.ศ. 2395 และพ.ศ. 2396 ทางกรุงเทพฯจัดทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงโดยตรงร่วมกับฝ่ายล้านนา ฝ่ายกรุงเทพไม่คุ้นเคยกับลักษณะภูมิประเทศและเส้นทางประกอบกับปัญหาเรื่องความร่วมมือระหว่างสยามและล้านนา อีกทั้งฝ่ายพม่าแม้กำลังอยู่ในช่วงสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่สองแต่ยังสามารถแบ่งทัพมาป้องกันเมืองเชียงตุงได้ สงครามตีเมืองเชียงตุงจึงไม่สำเร็จในที่สุด

การศึกเชียงตุงนี้พม่าถือว่าไทยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ จน อูบุญ (ဦးပုည/อูโบนญา นายบุญ) มหากวีของพม่านำเรื่องราวสงครามนี้ไปแต่งเป็นวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติพระเจ้ามินดง เรียกว่า ซินเหม่นัยโมโกง (zinnme naing mowgun ဇင်းမယ်နိုင်မော်ကွန်း วรรณกรรมเชียงใหม่พ่าย) ซึ่งภายหลังเรียกว่า โยธยานัยโมโกง (Yodaya Naing Mowgun ယိုးဒယားနိုင်မော်ကွန်း วรรณกรรมอยุทธยาพ่าย)[10]

แต่งตั้งเจ้าล้านนา

พระเจ้ามโหตรประเทศเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ได้ห้าเดือนก็ถึงแก่พิราลัยเมื่อพ.ศ. 2397 พระยาอุปราชพิมพิสารล้มป่วยถึงแก่กรรมในพ.ศ. 2399 ในเดือนเมษายนพ.ศ. 2399 พระยาบุรีรัตน์ (หนานสุริยวงศ์) ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ากาวิละ พร้อมทั้งนายน้อยมหาพรหมบุตรโอรสของพระเจ้ามโหตรประเทศ เดินทางลงมากรุงเทพฯเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมีพระดำริว่าในสมัยก่อนล้านนาเคยมีเจ้าประเทศราชปกครอง ในตอนนั้นตำแหน่งเจ้าเมืองล้านนา อุปราช ราชบุตร ราชวงศ์ เมืองแก้ว หรือเจ้าขันห้าใบ (ดู ฐานันดรศักดิ์เจ้านายฝ่ายเหนือ) นั้น มียศเป็นที่พระยา ในขณะที่หัวเมืองลาวล้านช้างอาญาสี่นั้นมียศเป็นเจ้า จึงมีพระราชโองการให้เลื่อนยศเจ้าเมืองล้านนาตั้งพระยาขึ้นเป็นเจ้าดังนี้;[11]

พระยาอุปราช พระยาราชวงศ์ พระยาบุรีรัตน์ พระยาราชบุตร ของเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และน่าน ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ เจ้าบุรีรัตน์ เจ้าราชบุตร[11]

เชียงตุงตกเป็นของอังกฤษ

หลังจากสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่สามในพ.ศ. 2428 พม่าสูญเสียเอกราชอังกฤษได้เข้าครองครองพม่าทั้งหมด จากนั้นอังกฤษจึงเข้าครอบครองรัฐไทใหญ่และรัฐเชียงตุง เจ้าฟ้าเจ้าเมืองไทใหญ่ต่างๆและเชียงตุงยังคงมีอำนาจปกครองตนเองภายใต้การดูแลของอังกฤษในฐานะรัฐเจ้าชาย (Princely-state) ในพ.ศ. 2465 อังกฤษจัดตั้งสมาพันธรัฐไทใหญ่ (Federated Shan States) ประกอบไปด้วยรัฐเมืองไทใหญ่ต่างๆและเมืองเชียงตุง อังกฤษส่งข้าหลวงมาปกครองใกล้ชิดมากขึ้น