ประวัติ ของ สมองมนุษย์

สมัยโบราณ

ไฮเออโรกลีฟอียิปต์สำหรับ "สมอง" (ราว 1,700 ปีก่อน คศ.)

แผ่นพาไพรัสของเอ็ดวินสมิธ (Edwin Smith Papyrus) เป็นบทความทางการแพทย์เขียนในศตวรรษที่ 17 ก่อน คศ. ซึ่งอ้างอิงสมอง เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบโดยพบตัวไฮเออโรกลีฟอียิปต์ที่ระบุสมองถึง 8 ครั้ง และกล่าวถึงอาการ วินิจฉัยโรค และพยากรณ์โรคสำหรับการบาดเจ็บสองอย่างที่ศีรษะแผ่นพาไพรัสกล่าวถึงผิวภายนอกของสมอง ผลของความบาดเจ็บ (รวมการชักและภาวะเสียการสื่อความ) เยื่อหุ้มสมอง และน้ำหล่อสมองไขสันหลัง[267][268]

ในศตวรรษที่ 5 ก่อน คศ. (ราวพุทธกาล) นักปรัชญาแอลค์มีออนแห่งโครโทน (Alcmaeon of Croton) ในแม็กนากรีเซีย (Magna Grecia) เป็นบุคคลแรกที่พิจารณาสมองว่า เป็นมูลฐานของจิตใจ[268]ในนครเอเธนส์สมัยเดียวกัน ผู้ประพันธ์นิรนามของผลงาน On the Sacred Disease (ในเรื่องโรคศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งเป็นบทความทางการแพทย์โดยเป็นส่วนของผลงาน Hippocratic Corpus และปกติยกเครดิตให้ฮิปพอคราทีส เชื่อว่าสมองเป็นมูลฐานของเชาวน์ปัญญาส่วนแอริสตอเติล (384-322 ปีก่อน ค.ศ.) ดั้งเดิมเชื่อว่า หัวใจเป็นมูลฐานของเชาวน์ปัญญา และเห็นสมองว่า เป็นกลไกทำเลือดให้เย็นลงเขาให้เหตุผลหนึ่งในบรรดาเหตุผลต่าง ๆ ว่า มนุษย์มีเหตุผลมากกว่าสัตว์ดิรัจฉานเพราะมีสมองใหญ่กว่าเพื่อลดความร้อนแรงของเลือด[269]แอริสตอเติลได้พรรณนาถึงเยื่อหุ้มสมอง และแยกแยะระหว่างสมองใหญ่กับสมองน้อย[270]

แพทย์กรีกโบราณฮิรอฟิลัส (Herophilus) แห่งเมืองแคลซีดอน (Chalcedon) ในทศวรรษที่ 4-3 ก่อน คศ. ได้แยกแยกสมองใหญ่กับสมองน้อย และได้ให้คำพรรณนาของระบบโพรงสมองที่ชัดเจนเป็นคนแรกส่วนเอเรซิสเทรทัส (Erasistratus 304-250 ปีก่อน ค.ศ.) แห่งเกาะคี (Kea) ได้ทดลองกับสมองที่ยังเป็นอยู่แต่ผลงานของเขาก็ไม่เหลืออยู่ในปัจจุบัน มีแต่วรรณกรรมอื่น ๆ ที่กล่าวถึงสิ่งที่คนโบราณเหล่านี้ค้นพบ ต้องมาค้นพบใหม่อีกเป็นพันปีหลังจากพวกเขาเสียชีวิต[268]แพทย์นักกายวิภาคชาวกรีกเกเลนในคริสต์ศตวรรษที่ 2 ช่วงจักรวรรดิโรมันได้ผ่าตัดสมองของแกะ ลิง สุนัข และหมูแล้วสรุปว่า เพราะสมองน้อยหนาแน่นกว่าสมอง มันต้องควบคุมกล้ามเนื้อ และเพราะสมองใหญ่อ่อน จึงต้องเป็นส่วนที่แปลผลประสาทสัมผัสแล้วตั้งทฤษฎีเพิ่มว่า สมองทำงานอาศัยวิญญาณสัตว์ที่เคลื่อนที่ไปมาในโพรงสมอง[268][269]

สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา

ในปี 1316 ผลงานของแพทย์ชาวอิตาลีมอนดีโน เดอ ลูซซี่ คือ Anathomia ได้เริ่มการศึกษาทางกายวิภาคปัจจุบันของสมอง[271]นักกายวิภาคชาวอิตาลีนิคอลอ มาซซา (Niccolò Massa) พบในปี 1536 ว่า โพรงสมองมีน้ำเต็ม[272]แพทย์นักกายวิภาคชาวอิตาลีอาคแอนเจโล พิคคอลอมินี (Archangelo Piccolomini) แห่งโรมเป็นบุคคลแรกที่แยกแยะสมองใหญ่กับเปลือกสมอง[273]ในปี 1543 แพทย์นักกายวิภาคชาวเฟลมิชแอนเดรียส เวซาเลียส ได้พิมพ์ผลงาน 7 เล่มมีชื่อว่า De humani corporis fabrica (เรื่องโครงสร้างร่างกายมนุษย์)[273][274][275]เล่มที่ 7 เป็นเรื่องสมองและตา มีภาพรายละเอียดของโพรงสมอง ประสาทสมอง ต่อมใต้สมอง เยื่อหุ้มสมอง โครงสร้างตา เส้นเลือดที่เลี้ยงสมองและไขสันหลัง และเส้นประสาทนอกส่วนกลาง[276]เขาปฏิเสธความเชื่อทั่วไปว่า โพรงสมองทำหน้าที่ของสมอง โดยอ้างว่า สัตว์หลายอย่างมีระบบโพรงสมองคล้ายมนุษย์ แต่ก็ไม่ได้มีปัญญาจริง ๆ[273]

เรอเน เดการ์ตเสนอทฤษฏีทวินิยม (dualism) เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสมองกับจิตใจและเสนอว่า ต่อมใต้สมองเป็นที่ที่จิตใจมีปฏิสัมพันธ์กับกาย[272]ทฤษฎีนี้น่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้นักกายวิภาคต่อ ๆ มาพยายามศึกษาความสัมพันธ์ทางกายวิภาคกับทางหน้าที่ของสมองส่วนต่าง ๆ[277]

แพทย์ชาวอังกฤษโทมัส วิลลิส ถือว่า เป็นผู้บุกเบิกคนที่สองในงานศึกษาประสาทวิทยาและวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมองในงาน Cerebri Anatome (กายวิภาคของสมอง) ปี 1664 ตามด้วย Cerebral Pathology (พยาธิวิทยาในสมอง) ปี 1667หมอได้พรรณนาถึงโครงสร้างของสมองน้อย โพรงสมอง ซีกสมองทั้งสอง ก้านสมอง ประสาทสมอง ได้กล่าวถึงเลือดที่ส่งไปเลี้ยงสมอง และได้เสนอหน้าที่ที่สัมพันธ์กับบริเวณต่าง ๆ ในสมอง[273]โครงสร้างหลอดเลือดที่เรียกว่า circle of Willis ตั้งชื่อตามหมอหลังจากที่เขาตรวจสอบการส่งเลือดไปเลี้ยงในสมอง เป็นคนแรกที่ใช้คำว่า neurology (ประสาทวิทยา)[278]หมอเอาสมองออกจากร่างเพื่อตรวจสอบ และปฏิเสธทัศนคติที่ทั่วไปว่า เปลือกสมองมีแต่หลอดเลือด และทัศนคติที่สืบมาตั้งสองพันปีว่า เปลือกสมองไม่ค่อยสำคัญ[273]

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1820 แพทย์นักสรีรวิทยาชาวฝรั่งเศส Jean Pierre Flourens ได้บุกเบิกใช้วิธีการทดลองที่ทำลายสมองส่วนโดยเฉพาะ ๆ ของสัตว์แล้วระบุผลต่อการเคลื่อนไหวและพฤติกรรม[279]ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แพทย์นักสรีรวิทยาชาวเยอรมัน Emil du Bois-Reymond และแฮร์มัน ฟ็อน เฮ็ล์มฮ็อลทซ์ ดำเนินรอยตามครูของพวกเขาคือ Johannes Peter Müller และได้แสดงว่า กระแสประสาทวิ่งไปตามเส้นประสาทแต่ไม่ได้ถือตามว่า กระแสประสาทเช่นนี้สามารถมองเห็นได้[280]ในปี 1875 แพทย์ชาวอังกฤษริชาร์ด เคทอน (Richard Caton) ได้แสดงว่า มีกระแสประสาทในซีกสมองของกระต่ายและลิง[281]

ภาพวาดของฐานสมอง จากผลงาน De humani corporis fabrica ปี 1543 ของแอนเดรียส เวซาเลียส
ภาพร่างกะโหลกมนุษย์ภาพหนึ่งของเลโอนาร์โด ดา วินชี

สมัยปัจจุบัน

ฮิปโปแคมปัสของกระต่ายเป็นภาพตัดในแนวตั้ง จากผลงาน Sulla fina anatomia degli organi centrali del sistema nervoso ปี 1885 ของคามีลโล กอลจี
ภาพเซลล์ในสมองน้อยของลูกไก่ จากผลงาน Estructura de los centros nerviosos de las aves ปี 1905 ของซานเตียโก รามอน อี กาฮาล

การศึกษาสมองได้ก้าวหน้าขึ้นโดยใช้กล้องจุลทรรศน์และการย้อมสีเงิน (silver stain) ที่พัฒนาขึ้นโดยแพทย์ชาวอิตาลีคามีลโล กอลจี (Camillo Golgi)ซึ่งสามารถแสดงโครงสร้างละเอียดของเซลล์ประสาทเซลล์เดียว[282]ซึ่งต่อมาแพทย์นักประสาทวิทยาศาสตร์ชาวสเปนซานเตียโก รามอน อี กาฮาล ได้ใช้แล้วตั้งหลักเซลล์ประสาท (neuron doctrine) ซึ่งสมัยนั้นเป็นสมมติฐานพลิกแผ่นดินว่า เซลล์ประสาทเป็นหน่วยปฏิบัติงานพื้นฐานของสมองเขาใช้กล้องจุลทรรศน์แล้วค้นพบเซลล์ต่าง ๆ หลายอย่าง แล้วเสนอหน้าที่ของเซลล์ที่เห็น[282]เพราะเหตุนี้ นพ. กอลจีและกาฮาลจึงถือว่าเป็นบิดาแห่งประสาทวิทยาศาสตร์ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 20 ต่อมาทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลร่วมกันในปี 1906 สำหรับงานศึกษาและสิ่งที่ค้นพบในสาขานี้[282]

ในปี 1906 แพทย์นักประสาทสรีรวิทยาชาวอังกฤษเซอร์ ชาลส์ เชอร์ริงตัน (Charles Scott Sherrington) ได้ตีพิมพ์ผลงานทรงอิทธิพลคือ The Integrative Action of the Nervous System (การทำงานประสานของระบบประสาท) ซึ่งตรวจสอบหน้าที่ของรีเฟล็กซ์, พัฒนาการทางวิวัฒนาการของระบบประสาท, การแยกทำหน้าที่ของสมอง, การจัดระเบียบและการทำหน้าที่ในระดับเซลล์ของระบบประสาทกลาง[283]ส่วนนักประสาทสรีรวิทยาชาวอเมริกันจอนห์ ฟุลตัน (John Farquhar Fulton) ได้ตั้งวารสาร Journal of Neurophysiology (วารสารประสาทสรีรวิทยา) และได้ตีพิมพ์ตำราสรีรภาพของระบบประสาทที่ครอบคลุมเป็นเล่มแรกในปี 1938[284]

ประสาทวิทยาศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษนี้ก็ได้กลายเป็นสาขาการศึกษาต่างหากอาศัยบุคคลสำคัญหลายคน[285]นักประสาทกายวิภาคชาวอเมริกันเดวิด รีอ็อก (David Rioch) ได้เริ่มรวมงานวิจัยทางกายวิภาคและสรีรภาพพื้นฐานกับการตรวจรักษาทางจิตเวช ณ สถาบันวิจัยทหารบกวอลเตอร์รีด (WRAIR) เริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1950[286]ในสมัยเดียวกันนักชีววิทยาชาวอเมริกันฟรานซิส ชมิทต์ (Francis O. Schmitt) ได้ตั้งโปรแกรมวิจัยทางประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience Research Program) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างมหาวิทยาลัยและระหว่างนานาชาติที่ศึกษาชีววิทยา เวชศาสตร์ จิตวิทยา และพฤติกรรมศาสตร์ร่วมกันคำว่า ประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscience) เริ่มมาจากโปรแกรมนี้[287]

แพทย์นักกายวิภาคชาวฝรั่งเศสพอล โบรคา (Paul Broca) ได้สัมพันธ์บริเวณสมองกับหน้าที่จำเฉพาะ ๆ โดยเฉพาะที่บริเวณโบรคา (Broca's area) โดยอาศัยงานที่ทำกับคนไข้สมองเสียหาย[288]นักประสาทวิทยาชาวอังกฤษจอห์น แจ็กสัน (John Hughlings Jackson) ได้พรรณนาถึงหน้าที่ของเปลือกสมองส่วนสั่งการ (motor cortex) โดยเฝ้าดูการดำเนินของการชักเหตุโรคลมชักที่กระจายไปทั่วร่างกายส่วนแพทย์นักกายวิภาคชาวเยอรมันคาร์ล แวร์นิเก (Carl Wernicke) ได้พรรณนาบริเวณแวร์นิเก (Wernicke's area) ที่สัมพันธ์กับการเข้าใจภาษาและการก่อสร้างภาษาในสมองนักประสาทวิทยาชาวเยอรมันคอร์บิเนียน บรอดมันน์ (Korbinian Brodmann) ได้แบ่งสมองออกเป็นส่วนต่าง ๆ อาศัยรูปปรากฏของเซลล์[288]

ไม่เกินปี 1950 เชอร์ริงตัน, นักประสาทสรีรวิทยาชายอเมริกันเจมส์ เพเพซ (James Papez) และแพทย์นักประสาทวิทยาศาสตร์พอล แม็กลีน (Paul D. MacLean) ก็ได้ระบุหน้าที่ของก้านสมองและระบบลิมบิกหลายอย่าง[289][290][291]ส่วนสมรรถภาพของสมองในการจัดระเบียบใหม่และการเปลี่ยนแปลงตามอายุ และการมีระยะพัฒนาการวิกฤติ (critical development period) มาจากการศึกษาประเด็นสภาพพลาสติกของประสาท (neuroplasticity) ซึ่งมีผู้บุกเบิกคือนักประสาทวิทยาชาวอมริกันมากาเร็ต เค็นนาร์ด (Margaret Kennard) ผู้ได้ทดลองกับลิงในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930-40[292]

แพทย์ชาวอเมริกันคือฮาร์วีย์ คุชชิง (1869-1939) ได้การยอมรับว่า เป็นประสาทศัลยแพทย์ที่ชำนาญเป็นคนแรกในโลก[293]ในปี 1937 ประสาทศัลยแพทย์วอลเตอร์ แดนดี้ (Walter Dandy) ได้เริ่มทำประสาทศัลยกรรมที่เส้นเลือดโดยได้ตัดหลอดเลือดป่องโพงในกะโหลก (intracranial aneurysm) ออกเป็นรายแรก[294]

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมองมนุษย์ http://www.cerebromente.org.br/n06/historia/bioele... http://www.douglas.qc.ca/page/imagerie-cerebrale?l... http://www.unifr.ch/ifaa/Public/EntryPage/TA98%20T... http://www.anaesthesiamcq.com/FluidBook/fl2_1.php http://etymonline.com/index.php?allowed_in_frame=0... http://www.medcyclopaedia.com/library/topics/volum... http://emedicine.medscape.com/article/326510-overv... http://www.readperiodicals.com/201203/2662763741.h... http://dictionary.reference.com/browse/cerebrum http://www.scientificamerican.com/article/why-does...