สังคมและวัฒนธรรม ของ สมองมนุษย์

ประสาทมานุษยวิทยา (neuroanthropology) เป็นสาขาที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกับสมองเป็นการศึกษาว่าสมองก่อวัฒนธรรมได้อย่างไร และวัฒนธรรมมีผลต่อพัฒนาการของสมองอย่างไร[247]แต่ความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับพัฒนาการของสมองและโครงสร้างสมองก็มีการศึกษาวิจัยในสาขาอื่น ๆ ด้วย[248]

จิตใจตามทัศนะตะวันตก

ดูบทความหลักที่: ประชาน และ จิต
กะโหลกศีรษะของชายอเมริกัน ฟิเนียส์ พี. เกจ ซึ่งกะโหลกศีรษะถูกทะลวงด้วยแท่งเหล็กโดยไม่ถึงตาย แต่เปลี่ยนการทำงานทางประชานของสมองกรณีนี้ช่วยทำให้คนบางส่วนเชื่อว่า การทำงานของจิตใจหรือสภาพจิตใจขึ้นอยู่กับสมอง[249]

จิตปรัชญา (philosophy of mind) ศึกษาประเด็นต่าง ๆ เช่น เรื่องความรู้สึกตัว (consciousness) และปัญหาจิต-กาย (mind-body problem)ความสัมพันธ์ระหว่างสมองกับจิตใจเป็นเรื่องท้ายทายทั้งในหลักปรัชญาและหลักวิทยาศาสตร์เพราะอธิบายได้ยากว่า การทำงานทางจิตใจ เช่นความคิดหรืออารมณ์ สามารถเกิดในโครงสร้างทางกายภาพเช่นเซลล์ประสาทและไซแนปส์ หรือแม้แต่กลไกทางกายภาพอื่น ๆ ได้อย่างไรนักปรัชญาชาวเยอรมันก็อทฟรีท ไลบ์นิซ (Gottfried Leibniz ค.ศ. 1646-1716) ได้กล่าวถึงปัญหานี้ในคำอุปมาที่เรียกว่า Leibniz's Mill (โรงสีของไลบ์นิซ)

ใคร ๆ ก็จะต้องยอมรับว่า การรับรู้และสิ่งที่อาศัยมันเป็นเรื่องที่อธิบายไม่ได้อาศัยหลักกลศาสตร์ คือโดยรูปและการเคลื่อนไหวเมื่อจินตนาการว่า มีเครื่องยนตร์ที่วิธีการสร้างมันสามารถทำให้มันคิดได้ รับรู้ทางสัมผัสได้ และเกิดการรับรู้ได้ ก็อาจจินตนาการให้มันใหญ่ขึ้นโดยมีสัดส่วนเหมือนเดิม เพื่อให้เดินเข้าไปดูได้ เหมือนกับเดินเข้าไปในโรงสีลมถ้าคิดได้เช่นนี้ เมื่อเดินเข้าไปตรวจดูมัน ก็จะพบเพียงแค่ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ขับกันและกัน แต่ก็จะไม่พบอะไร ๆ ที่สามารถอธิบายการรับรู้ [ว่าเกิดอย่างไร] ได้

– ก็อทฟรีท ไลบ์นิซ - ในผลงาน Monadology (1714)[250]

ความสงสัยว่าจะมีคำอธิบายเชิงกลศาสตร์เกี่ยวกับความคิดได้หรือไม่ ได้ผลักดันให้นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเรอเน เดการ์ต บวกกับนักปรัชญาอื่น ๆ ให้มีแนวคิดแบบทวินิยม (dualism) คือความเชื่อว่า จิตใจในเป็นอิสระจากสมองโดยระดับหนึ่ง[251]แต่ก็มีเหตุผลที่ดีเป็นฝ่ายคัดค้านมาตลอด

มีหลักฐานเชิงประสบการณ์ที่ชัดเจนว่า การจัดแจงทางกายภาพ (เช่นด้วยยา) หรือการบาดเจ็บที่สมอง (เช่นมีรอยโรค) มีผลต่อจิตใจอย่างมีกำลังและลึกซึ้ง[252][253]ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กรณีของนายฟิเนียส์ พี. เกจ ผู้เป็นคนงานทางรถไฟที่ได้รับบาดเจ็บจากแท่งเหล็กขนาดล่ำ ๆ ที่พุ่งทะลุสมองของเขา ได้ทำให้ทั้งนักวิจัยและคนทั่วไปเชื่อว่า การทำงานทางประชานนั้นเกิดเฉพาะในสมอง[249]ต่อมาโดยตามแนวคิดนี้ หลักฐานเชิงประสบการณ์จำนวนมากที่แสดงว่า การทำงานของสมองสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการทำงานทางใจ ทำให้นักประสาทวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาปัจจุบันโดยมากเป็นนักวัตถุนิยม คือเชื่อว่า ปรากฏการณ์ทางใจจริง ๆ แล้วเป็นผลของ หรือสามารถลดทอนจนเหลือเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางกายภาพ[254]

ขนาดสมอง

ดูบทความหลักที่: ขนาดสมอง

ขนาดสมองกับระดับเชาวน์ปัญญาของบุคคลไม่สัมพันธ์กันอย่างมีกำลัง[255]งานศึกษามักจะแสดงค่าสหสัมพันธ์ระหว่างปริมาตรสมองกับระดับเชาวน์ปัญญา (IQ) ในระดับน้อยจนถึงปานกลาง (โดยเฉลี่ยประมาณ 0.3-0.4)[256]ส่วนที่สัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอที่สุดก็คือสมองกลีบหน้า กลีบขมับ กลีบข้าง ฮิปโปแคมปัส และสมองน้อย ถึงกระนั้นก็ยังอธิบายความแปรปรวน (variance) ของระดับไอคิวได้ค่อนข้างน้อย ระดับไอคิวเองก็สัมพันธ์กับระดับเชาวน์ปัญญาทั่วไปและความชาญฉลาดในชีวิตประจำวันจริง ๆ แค่ส่วนหนึ่ง[257][258]

สัตว์อื่น ๆ รวมทั้งวาฬและช้างมีสมองใหญ่กว่ามนุษย์แต่ถ้าคิดค่าตามสัดส่วนร่างกายแล้ว (คืออัตรามวลสมองต่อร่างกาย) สมองมนุษย์จะใหญ่เกือบเป็นสองเท่าเทียบกับโลมาปากขวด เป็นสามเท่าเทียบกับชิมแปนซีธรรมดาอย่างไรก็ดี ค่าที่สูงกว่าก็ไม่ใช่ว่าฉลาดกว่า เพราะสัตว์เล็กมากก็มีค่าที่สูงมาก โดยกระแตมีค่าสูงสุดในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม[259]

ในวัฒนธรรมนิยม

ผังสรุปบุคลิกภาพตามวิทยาศาสตร์เทียมคือ phrenology (ปี 1883)

งานวิจัยได้พิสูจน์ว่า ความเชื่อความเข้าใจทั่วไปบางอย่างเกี่ยวกับสมองไม่จริงรวมทั้งตำนานที่มีมาตั้งแต่โบราณและที่เกิดในปัจจุบันเช่น ไม่จริงว่า เซลล์ประสาทจะไม่เปลี่ยนใหม่หลังจากอายุถึงสองขวบไม่จริงว่า มนุษย์ใช้สมองเพียงแค่ 10%[260]วัฒนธรรมนิยมยังพูดถึงการแบ่งการทำงานของสมองเป็นซีกซ้ายขวาอย่างง่าย ๆ เกินไป คือระบุว่า หน้าที่บางอย่างเฉพาะเจาะจงต่อสมองข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้นนพ. ชาวญี่ปุ่นอากิโอะ มอริ (森 昭雄) ได้บัญญัติคำว่า สมองเกม (game brain) สำหรับทฤษฎีซึ่งไร้หลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า การเล่นเกมเป็นเวลานาน ๆ มีผลเสียหายต่อสมองส่วน prefrontal cortex และต่อการแสดงออกทางอารมณ์และความคิดสร้างสรรค์[261]

ในประวัติชาวตะวันตก สมองได้ปรากฏในวัฒนธรรมนิยมในเรื่อง phrenology ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์เทียมที่ระบุลักษณะทางบุคลิกภาพว่าจำกัดอยู่ที่ส่วนต่าง ๆ ของเปลือกสมองเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับเปลือกสมองก็ยังปรากฏอย่างสำคัญในวัฒนธรรมนิยมดังที่พบในหนังสือและวรรณกรรมเชิงเสียดสี[262][263]สมองเป็นส่วนของบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ มีธีมเช่นการผ่าตัดเปลี่ยนสมอง ไซบอร์ก (คือ สัตว์/มนุษย์/หุ่นยนตร์ที่มีองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น สมองเทียม)[264]นิยายวิทยาศาสตร์อเมริกันปี 1942 คือ Donovan's Brain (ซึ่งจัดทำเป็นภาพยนตร์ถึง 3 ครั้ง) เป็นเรื่องเกี่ยวกับสมองที่เก็บไว้ในหลอดแก้ว ซึ่งค่อย ๆ เข้าไปครอบครองร่างของพระเอกในหนังสือ[265]

พุทธศาสนาเถรวาท

คัมภีร์พุทธศาสนาได้กล่าวถึงสมองไว้หลายเรื่องรวมทั้ง

  • คัมภีร์สมันตปาสาทิกาซึ่งเป็นอรรถกถาของพระวินัยปิฎก กล่าวถึงความเป็นมาของหมอชีวกโกมารภัจจ์ผู้เป็นแพทย์ประจำของพระพุทธเจ้าและพระเจ้าพิมพิสารไว้ว่า ได้รักษาเศรษฐีชาวพระนครราชคฤห์ผู้ป่วยปวดศีรษะอยู่ 7 ปีโดยแพทย์อื่น ๆ ไม่สามารถรักษาได้ และรักษาโดย "เปิดรอยประสานกะโหลกศีรษะ นำสัตว์มีชีวิตออกมาสองตัว" แล้วให้นอนพัก 3 สัปดาห์ ได้ทรัพย์จากเศรษฐี 100,000 กหาปณะ และให้เศรษฐีทูลถวายทรัพย์แด่พระเจ้าพิมพิสารอีก 100,000 กหาปณะ[266]
  • คัมภีร์วิสุทธิมรรคซึ่งจัดเป็นคัมภีร์หลักในเรื่องการปฏิบัติในพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงสมองในส่วนสมาธินิเทศ (อนุสสติกัมมัฏฐานนิเทศ) กายคตาสติ เพื่อการพิจารณาให้เห็นเป็นสิ่งปฏิกูลไว้ว่า "คำว่า มตฺถลุงฺคํ - มันในสมอง ได้แก่ เนื้อเยื่ออันตั้งอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ มันในสมองนั้น โดยสี ขาวดังสีดอกเห็ด แม้จะกล่าวว่า สีดังนมสดที่ไม่สดแล้ว แต่ยังไม่ถึงเป็นนมส้ม ดังนี้ก็ควร โดยสัณฐาน มีสัณฐานตามโอกาส [ที่ตั้งอยู่] โดยทิศ เกิดในทิศเบื้องบน โดยโอกาส อาศัยแนวประสาน ๔ แนว ตั้งรวมกันอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ เหมือนก้อนแป้ง ๔ ก้อน ที่คนวางรวมกันอยู่ โดยตัดตอน กำหนดตัดด้วยพื้นด้านในกะโหลกศีรษะและด้วยส่วนแห่งมันสมอง นี้เป็นสภาคปริจเฉท ส่วนวิสภาคปริจเฉท ก็เป็นเช่นเดียวกับผมนั่นแล"

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมองมนุษย์ http://www.cerebromente.org.br/n06/historia/bioele... http://www.douglas.qc.ca/page/imagerie-cerebrale?l... http://www.unifr.ch/ifaa/Public/EntryPage/TA98%20T... http://www.anaesthesiamcq.com/FluidBook/fl2_1.php http://etymonline.com/index.php?allowed_in_frame=0... http://www.medcyclopaedia.com/library/topics/volum... http://emedicine.medscape.com/article/326510-overv... http://www.readperiodicals.com/201203/2662763741.h... http://dictionary.reference.com/browse/cerebrum http://www.scientificamerican.com/article/why-does...