ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ของ สิงโตกลอกตา

ลักษณะลำลูกกล้วยของกล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตา

สิงโตกลอกตาเป็นกล้วยไม้ที่มีการเติบโตแบบ Sympodial เช่นเดียวกับ กล้วยไม้สกุลหวาย สกุลคัทลียา มีเหง้าและลำลูกกล้วย ซึ่งต่างกันแล้วแต่ชนิด มีทั้งชนิดที่มีลำลูกกล้วยขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ บางชนิดลำลูกกล้วยตั้งตรง บางชนิดนอนราบไปกับเหง้า มีใบที่ปลายลำลูกกล้วยหนึ่งหรือสองใบแล้วแต่ชนิด มีตั้งแต่ใบเล็กมากจนถึงใบค่อนข้างใหญ่ ดอกมีทั้งดอกเดี่ยวและดอกช่อ ก้านช่อดอกเกิดที่ฐานของลำลูกกล้วย บางชนิดเกิดที่ข้อของเหง้า ดอกมีตั้งแต่ขนาดเล็กมากจนถึงค่อนข้างใหญ่ ลักษณะดอกและสีสันสวยงามแตกต่างกันแล้วแต่ชนิด[4]

เหง้า(rhizome)

คือลำต้นที่แท้จริงของสิงโตกลอกตา ปรากฏข้อและปล้องเด่นชัด ทอดเลิ้อยไปตามกิ่งก้านของต้นไม้ใหญ่หรือก้อนหิน ผลิรากเพื่อดูดซับอาหารและยึดเกาะบนสิ่งที่อาศัย เหง้ามีจุดเจริญที่ปลายยอด(apical meristem) จะทำหน้าที่สร้างหน่อใหม่เมื่อถึงฤดูที่เหมาะสม สามารถเจริญเป็นหน่อใหม่ได้มากว่า 1 หน่อพร้อมๆกันขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นและสภาพภูมิอากาศในแต่ละปี เหง้ายังเป็นส่วนที่ช่วยสร้างลำลูกกล้วย ซึ่งมีระยะห่างแต่ละละแตกต่างกันไป บางชนิดมีเหง้าทอดยาวจนเห็นลำลูกกล้วยยาวต่อกันคล้ายโซ่ บางชนิดเหง้าสั้นๆและมีลำลูกกล้วยขึ้นติดกันเป็นกอ

ลำลูกกล้วย (pseudobulb)

เป็นส่วนที่พองออกมาขึ้นอยู่ระหว่างเหง้ากับใบ มีหลายขนาดมีหน้าที่เก็บน้ำและสร้างอาหาร ลำลูกกล้วยมีอายุได้หลายฤดูกาลแตกต่างกันไปตามชนิด แต่เมื่อผ่านไปหลายปีจะเริ่มเหี่ยวแห้งในที่สุดบางชนิดนั้นอาจมีอายุมากกว่า 10 ปีก่อนที่จะแห้งเหี่ยว

ใบ(leaf)

สิงโตกลอกตาทุกชนิดผลิใบที่ปลายสุดของลำลูกกล้วย บางชนิดลำลูกกล้วยลดรูปผลิใบที่ปลายลำเป็นปมเล็กๆ เช่น สิงโตมรกต(B. xylophyllum) และมีเพียงไม่กี่ชนิดที่ใบปรากฏอยู่บนเหง้า คือ สิงโตแคะภูหลวง จำนวนใบ มีใบเพียง 1 หรือ 2 ใบเท่านั้น ส่วนมากมีเพียงใบเดียว แผ่นใบอวบหนา แข็ง และมีอายุนานหลายฤดูกาลหลุดล่วง ลำลูกกล้วยเกือบทุกลำจึงเห็นใบอยู่ที่ปลายลำซึงพบเห็นได้มาก เช่น สิงโตสยาม สิงโตรวงข้าว สำหรับชนิดที่มีสองใบมีเพียง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสิงโตใบพายและกุ่มสิงโตขนตา (Section Pleiophyllus) ซึงมีแผ่นใบบาง อ่อนนุ่ม และมีอายุเพียงฤดูเดียว โดยผลัดใบเมื่อข้าสู่ฤดูแล้ง ใบแก่ก่อนหลุดล่วงเป็นสีเหลืองหรือแดง จึงไม่พบใบที่ปลายลำใบ เช่น สิงโตเชียงดาว ( B. albibracteum ) สิงโตก้านหลอด ( B. capillipes ) เป็นต้น รูปทรงใบ ส่วนมากเป็นกลุ่มใบรูปรี (elliptic series) ได้แก่ ใบรูปทรงกลม ( globose ) ใบรูปขอบขนาน (oblong) ใบรูปแถบ ( linear) และมีเพียงส่วนน้อยที่เป็นกลุ่มใบรูปไข่(ovate series) และรูปไข่กลับ(obovate) สีสัน จะขึ้นอยู่กับถิ่นอาศัย สิงโตกลอกตาที่อาศัยอยู่ในที่โล่งแจ้งมีแดดจัดจะมีใบสีเหลือง หรือสีเหลืองอมน้ำตาลหรือบางครั้งอาจมีสีม่วงแดง ส่วนชนิดที่อาศัยอยู่ในที่ร่มจะมีใบสีเขียวสด

ช่อดอก (Inflorescence)

ออกที่โคนลำลูกกล้วย หนึ่งลำมีทั้งดอกเดี่ยวและหลายๆดอกในช่อเดียวกัน มีทั้งช่อดอกสั้นและยาว ในประเทศไทยช่อดอกที่มี 4-8 ช่อ พบได้เพียงชนิดเดียวคือ สิงโตทองผาภูมิ ลักษณะของช่อดอกนั้นมีหลายแบบดังนี้

  1. ช่อดอกแบบซี่ร่ม (umbel) พบได้บ่อยอยู่ในกลุ่มสิงโตพัดหรือสิงโตร่ม มีลักษณะคือก้านของช่อดอกเรียวยาวและตรง ออกจากโคนลำลูกกล้วย ปลายช่อมีก้านดอกยื่นออกจากจุดเดียวกันตามจำนวนของดอกปลายก้านมีดอกย่อยเรียงแผ่เป็นรัศมีคล้ายกับซี่ของร่มที่กาง
  2. ช่อดอกแบบกระจะ(raceme) พบมากที่สุด ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของสิงโตรวงข้าว ช่อดอกมักจะมีสองส่วน คือ ก้านช่อดอกและแกนช่อดอก ก้านช่อดอกจะติดกับโคนของลำลูกกล้วยชูตั้งหรือห้อยลง ก้านดอกจะสั้นหรือยาวแตกต่างกัน แกนช่อดอกที่ทีดอกติดอยู่จะยาวตรงออกจากแนวของก้านช่อดอกหรือห้อยลงจากก้านช่อดอก เช่นกลุ่มสิงโตใบพาย

ดอก (flower)

ส่วนประกอบของดอก

มีส่วนประกอบเหมือนกับกล้วยไม้ชนิดอื่น คือมีกลีบเลี้ยง กลีบดอก กลีบปาก และเส้าเกสร แต่เนื่องจากเป็นกล้วยไม้สกุลใหญ่จึงมีรูปทรงของดอกที่หลากหลายและแปลกตากว่ากล้วยไม้สกุลอื่นที่พบในไทย

  1. กลีบเลี้ยง ส่วนมากมีผิวเกลี้ยง หลายชนิดมีขนปกคลุม บางชนิดมีขนเฉพาะขอบกลีบ
  2. กลีบดอก มีขนาดเล็กกว่ากลีบเลี้ยง มี 2 กลีบ รูปทรง ขนาด และสีสันเหมือนกันบางชนิดมีขนที่ขอบกลีบดอก บางชนิดมีรยางค์คล้ายแส้ยาว และที่ปลายมีต่อมเหมือนหนวดแมลง
  3. กลีบปาก อยู่ตรงข้ามกับเส้าเกสร ลักษณะอวบหนา ส่วนมากเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายกลีบมนและโค้งงอลง มีขนปกคลุมแตกต่างกันส่วนมากเป็นร่องลึกตื้นที่กลางกลีบ ที่โคนกลีบมีรยางค์คล้ายเขี้ยว เรียกว่า “หูกลีบปาก”
  4. เส้าเกสร อยู่กลางดอก เกิดจากการเชื่อมเป็นแกนเดียวกันของก้านเกสรเพสผู้(stamen)และก้านเกสรเพศเมีย(style) ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของวงศ์กล้วยไม้ ที่ปลายเส้าเกสรมีฝาครอบเกสรเพศผู้รูปครึ่งวงกลมคล้ายฝาชี ภายในบรรจุละอองเกสรเพศผู้ จำนวน 2-4 กลุ่มใต้ฝาครอบเกสรเพศผู้เป็นแอ่งเกสรเพศเมีย ภายในมีของเหลวใส เป็นตำแหน่งของการเกิดการผสมเกสรโดยมีแมลงเป็นพาหะ สิงโตกลอกตาหลายชนิดมีรยางค์เล็กๆที่ยื่นขึ้นที่ปลายเส้าเกสร ลักษณะเรียวยาวหรืออ้วนสั้น เห็นได้ง่าย เช่น กลุ่มสิงโตรวงข้าว บางชนิดมีรยางค์คล้ายลิ้นยาว เช่น สิงโตอาจารย์เต็มที่มีรยางค์ลิ้นยื่นยาวใต้แอ่งเกสรเพศเมีย

ฝัก(pod)

คือส่วนที่เป็นรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ( Inferior ovary) ถัดจากส่วนที่เป็นก้านดอก ในขณะดอกตูมหรือเริ่มบาน ส่วนของรังไข่จะมองเห็นได้ยากและไม่สามารถแยกออกได้ชัดเจนแต่หลังจากที่ดอกได้รับการผสมเกสรแล้ว ส่วนที่เป็นรังไข่จะพัฒนาและโตขึ้นเป็นฝักที่เห็นได้ชัดเจน ขนาดของฝักจะแตกต่างกันตามขนาดของดอก [5]