ความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม ของ สุลัยมานผู้เกรียงไกร

ตราพระปรมาภิไธยทูกราของสุลต่านสุลัยมานผู้เกีรยงไกรมัสยิดสุลัยมานที่ออกแบบโดยซินาน

ภายใต้การปกครองของสุลต่านสุลัยมานจักรวรรดิออตโตมันก็เข้าสู่ยุคทองทางวัฒนธรรม สมาคมช่างศิลป์หลวงหลายแขนงที่เรียกว่า "Ehl-i Hiref" หรือ "สมาคมผู้มีพรสวรรค์" ก็ได้มีการก่อตั้งขึ้นมาเป็นจำนวนร้อย สมาคมช่างศิลป์เหล่านี้ที่บริหารจากราชสำนักในพระราชวังโทพคาปิ หลังจากการฝึกงานแล้วศิลปินและช่างก็สามารถเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปในแขนงที่ต้องการและได้รับรายได้สี่ครั้งต่อปี รายการการจ่ายเงินประจำปีก็ยังมีเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความมีบทบาทในการอุปถัมภ์ศิลปะของพระองค์ หลักฐานแรกของสมาคมช่างศิลป์มีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1526 ที่เป็นรายชื่อของสมาคม 40 สมาคมพร้อมด้วยสมาชิกกว่า 600 คน “สมาคมผู้มีพรสวรรค์” เป็นสิ่งที่ดึงดูดศิลปินผู้มีฝีมือมายังราชสำนักของสุลต่านสุลัยมานทั้งจากในประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามด้วยกัน และจากดินแดนที่ทรงพิชิตได้ในยุโรปซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการผสมผสานทางศิลปะระหว่างวัฒนธรรมอิสลาม ตุรกี และยุโรป[42] ศิลปินที่เป็นข้าราชสำนักก็มีด้วยกันหลายสาขาที่รวมทั้ง จิตรกร ผู้ประกอบหนังสือ ช่างงานขนสัตว์ ช่างอัญมณี และช่างทองเป็นต้น ขณะที่ศิลปะในสมัยการปกครองก่อนหน้านั้นเป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเปอร์เชีย แต่ศิลปะในรัชสมัยของพระองค์เป็นศิลปะที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของตนเองโดยเฉพาะ[43]

นอกจากการสนับสนุนในด้านศิลปะแล้วสุลต่านสุลัยมานเองก็ยังทรงเป็นกวีผู้มีความสามารถและทรงพระราชนิพนธ์ได้ทั้งในภาษาเปอร์เซียและภาษาตุรกีโดยทรงใช้นามปากกาว่า “Muhibbi” (คนรัก) ข้อเขียนของพระองค์บางข้อกลายมาเป็นสุภาษิตที่เป็นที่รู้จักกัน เช่น “ทุกคนมีความประสงค์ที่จะหมายความอย่างเดียวกัน แต่ต่างคนต่างก็มีเรื่องราวที่ต่างกัน” เมื่อพระราชโอรสของพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1543 สุลต่านสุลัยมานก็ทรงประพันธ์เลขอักษร (chronogram) ที่สะเทือนอารมณ์เพื่อเป็นเกียรติแก่ปีนั้น: “ยุพราชผู้ไม่มีผู้ใดเท่าเทียม สุลต่านเมห์เหม็ดของข้า” พระนิพนธ์ที่ทรงเป็นภาษาตุรกีที่เทียบเท่ากับปี ฮ.ศ. 950 ที่เทียบเท่ากับปี ค.ศ. 1543 อันเป็นปีสิ้นพระชนม์ของพระราชโอรส[44][45] นอกจากงานประพันธ์ของพระองค์แล้วก็ยังมีงานประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของนักประพันธ์อื่น ๆ เช่นฟูซูลิ และ บาคี นักประวัติศาสตร์วรรณกรรม อี. เจ. ดับเบิลยู. กิบบ์ตั้งข้อสังเกตว่า “ไม่มีสมัยใด แม้แต่ในตุรกีเอง ที่มีการส่งเสริมสนับสนุนการกวีเท่ากับในรัชสมัยของสุลต่านพระองค์นี้”[44] บทเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดของพระองค์คือ:


มนุษย์เรามีความคิดว่าความมั่งคั่งและอำนาจคือสิ่งที่เป็นที่เลิศที่สุดที่เกิดขึ้นได้,

แต่ในโลกนี้ความมีสุขภาพดีเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด
ที่เรียกกันว่ารัฏฐาธิปัตย์นั้นก็คือความขัดแย้งทางโลกและสงครามที่ต่อเนื่องกัน;
ความศรัทธาในพระเจ้าเท่านั้นที่เป็นสิ่งที่สูงที่สุด สิ่งที่นำมาซึ่งความสุขอันเป็นที่สุดเหนือสิ่งใด[46]

ในทางสถาปัตยกรรมสุลต่านสุลัยมานก็ทรงเป็นผู้มีชื่อเสียงในการเป็นผู้อุปถัมภ์สิ่งก่อสร้างใหญ่โตหลายแห่งภายในจักรวรรดิ พระองค์ทรงทำให้อิสตันบุลกลายเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมอิสลามโดยการทรงอุปถัมภ์โครงการต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างสะพาน มัสยิด พระราชวัง และสิ่งก่อสร้างอื่น สิ่งก่อสร้างชิ้นเอกหลายชิ้นสร้างโดยมิมาร์ ซินานสถาปนิกประจำราชสำนักผู้มีอิทธิพลที่ทำให้สถาปัตยกรรมของจักรวรรดิออตโตมันเจริญถึงจุดสุดยอด ซินานรับผิดชอบในการสร้างสิ่งก่อสร้างกว่าสามร้อยแห่งทั่วจักรวรรดิรวมทั้งงานชิ้นเอกสองชิ้น มัสยิดสุลัยมาน และมัสยิดเซลิม—มัสยิดสร้างในเอเดร์เนในรัชสมัยของสุลต่านเซลิมที่ 2 พระราชโอรสของพระองค์ นอกจากนั้นสุลต่านสุลัยมานก็ยังทรงบูรณปฏิสังขรณ์โดมทองแห่งเยรูซาเลมในกรุงเยรูซาเลม, กำแพงเมืองเยรูซาเลมซึ่งเป็นกำแพงเมืองเก่าเยรูซาเลมในปัจจุบัน กะอ์บะฮ์ในมักกะฮ์ และทรงสร้างสิ่งก่อสร้างชุดในดามัสกัส[47]

แหล่งที่มา

WikiPedia: สุลัยมานผู้เกรียงไกร http://www.bartleby.com/67/794.html http://www.bartleby.com/67/795.html http://www.malta.com/about-malta/history-of-malta.... http://uk.encarta.msn.com/encyclopedia_761575054_2... http://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=9B0... http://www.paradoxplace.com/Perspectives/Genl%20Im... http://www.saudiaramcoworld.com/issue/196402/.sule... http://www.saudiaramcoworld.com/issue/198704/the.g... http://www.sinanasaygi.com/en/eserler.asp?action=e... http://www.womeninworldhistory.com/sample-10.html