การสงครามและการขยายดินแดน ของ สุลัยมานผู้เกรียงไกร

ยุทธการในยุโรป

สุลต่านสุลัยมานเมื่อยังหนุ่มพระเจ้าหลุยส์ที่ 2 แห่งฮังการี

หลังจากสุลต่านสุลัยมานขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาแล้วพระองค์ก็ทรงเริ่มดำเนินการแผ่ขยายอำนาจของจักรวรรดิออตโตมันโดยการทำการทัพต่าง ๆ ที่รวมทั้งการที่ทรงสามารถปราบการแข็งข้อที่นำโดยข้าหลวงแห่งดามัสกัสผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งไปจากจักรวรรดิออตโตมันเองใน ค.ศ. 1521 ต่อจากนั้นพระองค์ก็ทรงเตรียมการยึดเมืองเบลเกรดจากราชอาณาจักรฮังการีซึ่งพระอัยกาสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ได้ทรงพยายามในปี ค.ศ. 1456 แต่ไม่ทรงประสบความสำเร็จ เจ็ดสิบปีต่อมาสุลต่านสุลัยมานก็ทรงนำกองทัพเข้าล้อมเบลเกรดและทรงโจมตีโดยการยิงลูกระเบิดจากเกาะกลางแม่น้ำดานูบเข้าไปยังตัวเมือง เมื่อมีกองทหารป้องกันอยู่เพียง 700 คนและปราศจากความช่วยเหลือจากราชอาณาจักรฮังการี เบลเกรดก็เสียเมืองในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1521[12] หลังจากที่ทรงยึดเมืองได้แล้วพระองค์ก็มีพระบรมราชโองการให้เผาเมือง และเนรเทศประชากรที่เป็นคริสเตียนทั้งหมดที่รวมทั้งชาวฮังการี กรีก และอาร์เมเนียออกจากเมืองไปยังอิสตันบูล การยึดเบลเกรดได้เป็นสิ่งสำคัญในการกำจัดฮังการี ผู้ที่หลังจากได้รับชัยชนะต่อเซอร์เบีย บัลแกเรีย และไบแซนไทน์แล้วก็กลายเป็นมหาอำนาจที่แข็งแกร่งพอที่จะหยุดยั้งการขยายตัวของจักรวรรดิออตโตมันเข้าไปในยุโรปได้

ข่าวการเสียเมืองเบลเกรดอันที่เป็นที่มั่นสำคัญที่มั่นหนึ่งของคริสตจักรทำให้ยุโรปเสียขวัญ และกระจายความหวั่นกลัวในอำนาจของจักรวรรดิออตโตมันกันไปทั่วยุโรป ราชทูตของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในอิสตันบูลบันทึกว่า “การยึดเมืองเบลเกรดเป็นต้นกำเนิดของเหตุการณ์อันสำคัญต่าง ๆ ที่ท่วมท้นราชอาณาจักรฮังการี และเป็นเหตุการณ์ที่ในที่สุดก็นำมาซึ่งการสวรรคตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 2, การยึดเมืองบูดา การยึดครองทรานซิลเวเนีย, การทำลายราชอาณาจักรที่รุ่งเรือง และความหวาดกลัวของประเทศเพื่อนบ้านที่ต่างก็มีความหวาดกลัวว่าจะประสบความหายนะเช่นเดียวกัน[กับที่เบลเกรดประสบ]”[13]

เมื่อทรงยึดเบลเกรดได้แล้วก็ดูเหมือนว่าหนทางที่จะเอาชนะราชอาณาจักรฮังการีและออสเตรียก็เปิดโล่ง แต่สุลต่านสุลัยมานกลับทรงหันไปสนพระทัยกับเกาะโรดส์ทางตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งขณะนั้นเป็นที่ตั้งมั่นของอัศวินแห่งโรดส์มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 โรดส์เป็นจุดยุทธศาสตร์อันสำคัญที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากอานาโตเลีย และบริเวณลว้าน ที่อัศวินแห่งโรดส์หรือฝ่ายคริสเตียนใช้เป็นฐานในการสร้างความคลอนแคลนให้แก่จักรวรรดิออตโตมันในบริเวณนั้นมาโดยตลอด ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1522 สุลต่านสุลัยมานก็ทรงส่งกองทัพเรือจำนวน 400 ลำไปล้อมโรดส์ ส่วนพระองค์เองก็เสด็จนำทัพจำนวนอีก 100,000 คนเดินทางทางบกไปสมทบ ข้ามอานาโตเลียไปยังฝั่งตรงข้ามกับเกาะโรดส์[14] หลังจากการล้อมเมืองโรดส์อยู่เป็นเวลาห้าเดือนโดยการปิดอ่าว ระเบิดทำลายกำแพงเมือง และเข้าโจมตีต่อเนื่องกันอย่างรุนแรงหลายครั้ง ในปลายปี ค.ศ. 1522 ทั้งสองฝ่ายต่างก็หมดแรงและตกลงทำการเจรจาหาทางสงบศึก สุลต่านสุลัยมานทรงเสนอว่าจะทรงยุติการโจมตี จะไม่ทรงทำลายชีวิตประชากร และจะทรงประทานอาหารถ้าชาวโรดส์ยอมแพ้ แต่เมื่อฝ่ายโรดส์เรียกร้องให้พระองค์ทรงยืนยันคำมั่นสัญญาที่หนักแน่นกว่าที่ประทานพระองค์ก็พิโรธและมีพระราชโองการให้เริ่มการโจมตีเมืองขึ้นอีกครั้ง กำแพงเมืองโรดส์เกือบทั้งหมดถูกทำลาย เมื่อเห็นท่าว่าจะแพ้แกรนด์มาสเตอร์ของอัศวินแห่งโรดส์ก็ยื่นข้อเสนอขอเจรจาสงบศึกอีกครั้ง และเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1522 ประชากรชาวโรดส์ก็ยอมรับข้อแม้ของสุลต่านสุลัยมาน พระองค์พระราชทานเวลาสิบวันแก่อัศวินในการอพยพออกจากโรดส์ แต่พระราชทานเวลาสามปีให้แก่ประชากรผู้ประสงค์ที่จะย้ายออกจากเกาะ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1523 อัศวินแห่งโรดส์ก็เดินทางออกเดินทางจากเกาะพร้อมกับเรือ 50 ลำไปยังครีต

เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 2 แห่งฮังการีเสกสมรสกับแมรีแห่งออสเตรียในปี ค.ศ. 1522 ความสัมพันธ์ของฮังการีกับออสเตรียทำให้ฝ่ายออตโตมันเห็นว่าเป็นการสร้างความไม่มั่นคงต่ออำนาจในคาบสมุทรบอลข่าน ที่ในที่สุดก็เป็นสาเหตุที่ทำให้สุลต่านสุลัยมานทรงกลับเข้ามาเริ่มการรณรงค์ทางทหารในยุโรปตะวันออกใหม่ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1526 พระองค์ก็ทรงได้รับชัยชนะต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 2 แห่งฮังการีในยุทธการที่โมฮาก พระเจ้าหลุยส์เองเสด็จสวรรคตในสนามรบ เมื่อทรงพบร่างที่ปราศจากชีวิตของพระเจ้าหลุยส์ ก็เชื่อกันว่าสุลต่านสุลัยมานทรงมีความโทมนัสและทรงรำพึงถึงการเสียชีวิตว่าเป็นการเสียชีวิตอันไม่สมควรแก่เวลาของพระเจ้าหลุยส์ผู้มีพระชนมายุเพียง 20 พรรษา[15][16] หลังจากชัยชนะในยุทธการที่โมฮากแล้วการต่อต้านของฮังการีก็สิ้นสุดลง จักรวรรดิออตโตมันจึงกลายเป็นมหาอำนาจอันสำคัญของยุโรปตะวันออกแทนที่[17]

แต่ในปี ค.ศ. 1529 จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และแฟร์ดีนันด์ อาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย พระอนุชาก็ยึดบูดาและราชอาณาจักรฮังการีคืนได้ ซึ่งเป็นผลให้สุลต่านสุลัยมานต้องทรงนำทัพกลับเข้ามาในยุโรปอีกครั้งในปี ค.ศ. 1529 โดยทรงเดินทัพทางหุบเขาแม่น้ำดานูบและทรงยึดบูดาคืนในฤดูใบไม้ร่วง หลังจากนั้นก็ทรงเดินทัพต่อไปล้อมเมืองเวียนนาซึ่งเป็นความทะเยอทะยานอันสูงสุดของจักรวรรดิออตโตมันในการขยายอำนาจเข้ามาทางยุโรปตะวันตก โดยมีจำนวนกองหนุนด้วยกันทั้งสิ้น 16,000 คน[18] แต่ออสเตรียก็สามารถเอาชนะสุลต่านสุลัยมานได้ ซึ่งเป็นความพ่ายแพ้ครั้งแรกของพระองค์ ที่เป็นผลให้ทั้งสองจักรวรรดิมีความความขัดแย้งกันต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20[19]

การพยายามเข้ายึดเวียนนาครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1532 ก็ประสบความล้มเหลวอีกเช่นกัน เมื่อสุลต่านสุลัยมานทรงถอยทัพก่อนที่จะเข้าถึงตัวเมือง ในการล้อมเมืองทั้งสองครั้งกองทัพของจักรวรรดิออตโตมันเสียเปรียบตรงที่ต้องเผชิญกับสภาวะอากาศที่ไม่อำนวย ที่ทำให้จำต้องทิ้งอาวุธและเครื่องไม้เครื่องมือในการล้อมเมืองไว้ข้างหลังก่อนที่จะถอยทัพ นอกจากนั้นกองเสบียงก็ไม่สามารถส่งเสบียงได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะระยะทางที่ไกล[20]

ภายในคริสต์ทศวรรษ 1540 ความขัดแย้งกันภายในราชอาณาจักรฮังการีก็เป็นการเปิดโอกาสให้สุลต่านสุลัยมานได้แก้ตัวจากการที่ทรงได้รับความพ่ายแพ้ที่เวียนนาก่อนหน้านั้น ขุนนางฮังการีบางกลุ่มเสนอให้แฟร์ดีนันด์ อาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย ผู้สัมพันธ์กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 2 แห่งฮังการีโดยทางการเสกสมรสเป็นพระเจ้าแผ่นดินของราชอาณาจักรฮังการีต่อจากพระองค์ โดยอ้างข้อตกลงก่อนหน้านั้นที่ว่าราชวงศ์ฮับส์บูร์กมิสิทธิที่จะขึ้นครองราชบัลลังก์ฮังการีในกรณีที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 2 เสด็จสวรรคตโดยไม่มีรัชทายาท[21] แต่ขุนนางอีกกลุ่มหนึ่งสนับสนุนขุนพลทรานซิลเวเนียจอห์น ซาโพลยา (John Zápolya) ผู้ที่สุลต่านสุลัยมานทรงหนุนหลังแต่ไม่เป็นที่ยอมรับกันโดยกลุ่มผู้นับถือคริสต์ศาสนาผู้มีอำนาจในยุโรป ในปี ค.ศ. 1541 ราชวงศ์ฮับส์บูร์กก็เข้าสู่ความขัดแย้งกับจักรวรรดิออตโตมันอีกครั้งโดยการเข้าล้อมเมืองบูดา แต่ไม่ประสบความสำเร็จและนอกจากนั้นก็ยังเสียป้อมปราการไปอีกหลายแห่ง[22] แฟร์ดีนันด์และจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 พระเชษฐาจำต้องทรงยอมจำนนต่อสุลต่านสุลัยมานในการลงพระนามในสนธิสัญญาห้าปีโดยเฟอร์ดินานด์ทรงประกาศสละสิทธิในการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฮังการี และทรงต้องจ่ายเงินประจำปีสำหรับดินแดนฮังการีที่ยังทรงปกครองอยู่ให้แก่สุลต่านสุลัยมาน นอกจากนั้นสนธิสัญญาก็ยังไม่ยอมรับฐานะของคาร์ลว่าเป็น “จักรพรรดิ” โดยกล่าวถึงพระองค์เพียงว่าเป็น “พระมหากษัตริย์สเปน” ซึ่งเป็นการทำให้สุลต่านสุลัยมานเปรียบเทียบพระองค์เองว่าเป็น “จักรพรรดิ” ที่แท้จริงแต่เพียงพระองค์เดียว[23]

การปราบปรามศัตรูทางยุโรปได้ทำให้เป็นการสร้างเสริมความมั่นคงทางอำนาจทางการเมืองของจักรวรรดิออตโตมันในยุโรป

ยุทธการที่เปอร์เชีย

จุลจิตรกรรมแสดงภาพสุลต่านสุลัยมานมหาราชเสด็จนำทัพใน Nakhchivan ในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1554

เมื่อสุลต่านสุลัยมานทรงจัดการเรื่องอำนาจเกี่ยวกับเขตแดนการปกครองในยุโรปได้แล้ว พระองค์ก็ทรงหันไปสนพระทัยต่อความไม่สงบที่เกิดจากราชวงศ์ชีอะฮ์ซาฟาวิยะห์ของจักรวรรดิเปอร์เซีย ซึ่งมีเหตุการณ์สองเหตุการณ์ที่สำคัญต่อการก่อให้เกิดความตึงเครียด เหตุการณ์แรกก็ได้แก่เมื่อชาห์ทาห์มาสพ์ที่ 1 ทรงสั่งให้สังหารข้าหลวงเมืองแบกแดดที่จงรักภักดีต่อสุลต่านสุลัยมานและแต่งตั้นคนของตนเองขึ้นแทนที่ และเหตุการณ์ที่สองข้าหลวงของบิทลิสหันไปสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายซาฟาวิยะห์[24] ซึ่งเป็นผลให้สุลต่านสุลัยมานมีพระราชโองการให้มหาเสนาบดีปาร์กาลิ อิบราฮิม ปาชานำกองทัพไปยังทวีปเอเชียในปี ค.ศ. 1533 อิบราฮิม ปาชาสามารถยึดบิทลิสคืนมาได้ และเข้ายึดครองทาบริซ โดยปราศจากการต่อต้าน ในปี ค.ศ. 1534 กองทัพของสุลต่านสุลัยมานก็เดินทางมาสมทบกับกองทัพของอิบราฮิม ปาชาและเดินทางต่อไปยังจักรวรรดิเปอร์เชีย แต่แทนที่จะประสบกับการสงครามแบบประจันหน้าแบบต่อสู้กันตัวต่อตัว ฝ่ายเปอร์เซียหันไปใช้วิธีรังควานกองทัพของจักรวรรดิออตโตมันระหว่างการเดินทัพระหว่างที่ออตโตมันต้องเผชิญกับภูมิประเทศที่ลำบากต่อการเดินทาง[25] เมื่อสุลต่านสุลัยมานและอิบรอฮิมเข้าเมืองแบกแดดในปีต่อมา แม่ทัพของแบกแดดก็ยอมแพ้ซึ่งเป็นการทำให้พระองค์ทรงกลายเป็นผู้นำในบรรดาประเทศกลุ่มอิสลามและเป็นผู้สืบการปกครองต่อจากจักรวรรดิอับบาซียะห์[26]

ระหว่างปี ค.ศ. 1548 ถึงปี ค.ศ. 1549 สุลต่านสุลัยมานก็ทรงเริ่มการรณรงค์เป็นครั้งที่สองในการพยายามที่จะทรงปราบปรามชาห์แห่งเปอร์เชียได้อย่างเด็ดขาด แต่ก็เช่นเดียวกับครั้งแรกทาห์มาสพ์เลี่ยงการต่อสู้แบบเผชิญหน้ากับกองทัพของจักรวรรดิออตโตมัน และทำทีถอยทัพ ระหว่างทางก็เผาบริเวณอาเซอร์ไบจานที่เป็นผลให้กองทัพของจักรวรรดิออตโตมันต้องเผชิญกับความทารุณของฤดูหนาวในบริเวณคอเคซัส[25] สุลต่านสุลัยมานจึงทรงจำต้องละทิ้งการรณรงค์เป็นการชั่วคราวหลังจากที่ได้ทาบริซและบริเวณอาเซอร์ไบจาน แคว้นวาน และป้อมปราการบางแห่งในจอร์เจียแล้ว[27]

ในปี ค.ศ. 1553 สุลต่านสุลัยมานทรงเริ่มการรณรงค์ในเอเชียเป็นครั้งที่สามและครั้งสุดท้ายในการพยายามปราบปรามชาห์ทาห์มาสพ์ เมื่อเริ่มการรณรงค์พระองค์ก็เสียดินแดนในเอร์ซูรุมแก่พระโอรสของชาห์ แต่ก็ทรงตอบโต้โดยการยึดเอร์ซูรุมคืนได้ และเสด็จข้ามด้านเหนือของแม่น้ำยูเฟรทีสไปทำลายดินแดนบางส่วนของจักรวรรดิเปอร์เซีย กองทัพของชาห์ก็ยังคงใช้ยุทธการเดิมในการเลี่ยงการประจันหน้าที่เป็นผลทำให้ไม่มีฝ่ายที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ในปี ค.ศ. 1554 ทั้งสองฝ่ายก็ลงนามตกลงยุติความขัดแย้ง ซึ่งเป็นการทำให้การรณรงค์ในทวีปเอเชียของสุลต่านสุลัยมานมายุติลง ในการยุติความขัดแย้งสุลต่านสุลัยมานทรงคืนทาบริซให้กับชาห์ทาห์มาสพ์ แต่ทรงได้แบกแดด, ด้านใต้ของเมโสโปเตเมีย ปากแม่น้ำยูเฟรทีสและแม่น้ำไทกริส และบางส่วนของอ่าวเปอร์เซียมาเป็นการตอบแทน[28] นอกจากนั้นชาห์ทาห์มาสพ์ก็ทรงสัญญายุติการก่อกวนเข้าไปในอาณาบริเวณที่อยู่ในการปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน[29]

ยุทธการที่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและแอฟริกาเหนือ

บาร์บารอสซา เฮย์เรดดิน ปาชาได้รับชัยชนะต่อสันนิบาตคริสเตียนภายใต้การนำของผู้บังคับบัญชาการกองเรืออันเดรีย ดอเรียชาวเจนัวในยุทธการพรีเวซา ในปี ค.ศ. 1538การล้อมเมืองมอลตาใน ค.ศ. 1565 เมื่อกองเรือตุรกีมาถึงมอลตา

หลังจากได้รับชัยชนะในการต่อสู้บนแผ่นดินใหญ่ยุโรปแล้วสุลต่านสุลัยมานก็ทรงได้รับข่าวว่าป้อมที่โคโรนิบนแหลมโมเรีย (คาบสมุทรเพโลพอนนีสในกรีซปัจจุบัน) เสียให้แก่นายพลเรืออันเดรีย ดอเรียทหารรับจ้างชาวเจนัวในจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 การขยายอำนาจของสเปนมาทางด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสร้างความวิตกให้แก่สุลต่านสุลัยมาน ผู้ทรงมีความเห็นว่าเป็นแนวโน้มที่แสดงการขยายอำนาจของจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 มาทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียนในบริเวณที่จักรวรรดิออตโตมันยังมีอำนาจเหนืออยู่ พระองค์จึงทรงเห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มความมั่นคงทางทะเลในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อมีพระราชดำริเช่นนั้นแล้วพระองค์ก็ทรงแต่งตั้งให้คาเอียร์ อัด ดินผู้เป็นที่รู้จักกันในยุโรปในนามว่า “บาร์บารอสซา เฮย์เรดดิน” หรือ “เฮย์เรดดินหนวดแดง” ให้เป็นผู้บัญชาการราชนาวีแห่งจักรวรรดิออตโตมัน เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชากองเรือสูงสุดแล้วคาเอียร์ อัด ดินก็ได้รับมอบหมายให้เสริมสร้างกองทัพเรือของจักรวรรดิออตโตมันใหม่ การขยายตัวของราชนาวีเป็นผลให้กองทัพเรือของจักรวรรดิออตโตมันมีขนาดใหญ่เท่ากองทัพเรือของประเทศต่าง ๆ ในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งหมดรวมกัน[30] ในปี ค.ศ. 1535 เมื่อจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ได้รับชัยชนะครั้งสำคัญต่อจักรวรรดิออตโตมันที่เมืองทูนิสและในการสงครามต่อต้านสาธารณรัฐเวนิสในปีต่อมา เป็นผลทำให้สุลต่านสุลัยมานทรงหันไปยอมรับข้อเสนอของพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 แห่งฝรั่งเศสในการเป็นพันธมิตรร่วมกันในการต่อต้านการขยายอำนาจของจักรพรรดิคาร์ลที่ 5[24] ในปี ค.ศ. 1538 กองทัพเรือสเปนก็พ่ายแพ้ต่อบาร์บารอสซา เฮย์เรดดินในยุทธการที่พรีเวซา ซึ่งทำให้ตุรกีมีที่มั่นทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเวลา 33 ปีจนกระทั่งมาเสียไปในยุทธการที่เลปันโตในปี ค.ศ. 1571

จากนั้นจักรวรรดิออตโตมันก็ผนวกทางตะวันออกของโมรอกโกและอาณาบริเวณส่วนใหญ่ของแอฟริกาเหนือ ดินแดนในกลุ่มรัฐบาร์บารีที่ประกอบด้วยทริโพลิทาเนีย ตูนิเซีย และแอลจีเรียก็กลายเป็นจังหวัดภายใต้การปกครองของจักรวรรดิ ซึ่งกลายเป็นข้อขัดแย้งหลักระหว่างสุลต่านสุลัยมานและจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ผู้พยายามขับตุรกีออกจากบริเวณฝั่งทะเลบาร์บารีในปี ค.ศ. 1541 แต่ไม่สำเร็จ[31] จากนั้นโจรสลัดบาร์บารีก็เที่ยวรังควานอยู่ในบริเวณแอฟริกาเหนือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านสเปน การขยายอำนาจของจักรวรรดิออตโตมันในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมีความมั่นคงอยู่ชั่วระยะหนึ่ง นอกจากจะมีอำนาจในบริเวณนั้นแล้วออตโตมันก็ยังมีอำนาจในบริเวณทะเลแดงและอ่าวเปอร์เซียอยู่จนกระทั่ง ค.ศ. 1554 เมื่อมาพ่ายแพ้ต่อกองทัพเรือของจักรวรรดิโปรตุเกส โปรตุเกสยึดออร์มุซ (ในช่องแคบฮอร์มุซ) ในปี ค.ศ. 1515 และยังคงแข่งขันกันกับจักรวรรดิออตโตมันในการมีอำนาจในการครอบครองเอเดนในเยเมนปัจจุบัน

ในปี ค.ศ. 1542 เมื่อต่างก็ต้องเผชิญกับอันตรายจากการขยายอำนาจของราชวงศ์ฮับส์บวร์กพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 แห่งฝรั่งเศสก็ทรงรื้อฟื้นข้อตกลงพันธมิตรฝรั่งเศส-ออตโตมัน ซึ่งเป็นผลทำให้สุลต่านสุลัยมานทรงส่งกองเรือ 100 ลำ[32] ภายใต้การนำของบาร์บารอสซา เฮย์เรดดิน ปาชาไปช่วยฝรั่งเศสทางด้านตะวันตกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน บาร์บารอสซาปล้นสดมฝั่งทะเลเนเปิลส์และซิซิลีก่อนที่จะไปถึงฝรั่งเศส พระเจ้าฟรองซัวส์ทรงตั้งตูลองให้เป็นกองบัญชาการของกองทัพเรือของจักรวรรดิออตโตมัน การรณงค์ครั้งนี้เป็นครั้งเดียวกับที่บาร์บารอสซาโจมตีและยึดนีซ ในปี ค.ศ. 1543 ภายในปี ค.ศ. 1544 ก็ได้มีการสงบศึกระหว่างพระเจ้าฟร็องซัวกับจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ซึ่งก็เท่ากับเป็นการยุติการเป็นพันธมิตรระหว่างฝรั่งเศสและจักรวรรดิออตโตมัน

ทางด้านอื่นของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเมื่ออัศวินแห่งโรดส์ไปตั้งหลักแหล่งใหม่ที่มอลตาเป็นอัศวินฮอสปิทัลเลอร์ในปี ค.ศ. 1530 การเป็นศัตรูต่อกองเรือมุสลิมของอัศวินในบริเวณนั้นสร้างความไม่พึงพอใจให้แก่จักรวรรดิออตโตมันผู้รวบรวมกองกำลังใหญ่เพื่อจะไปกำหราบอัศวินฮอสปิทัลเลอร์ให้เสร็จสิ้น จักรวรรดิออตโตมันยกทัพไปรุกรานมอลตาในปี ค.ศ. 1565 และเริ่มเข้าล้อมเมืองเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม และไม่ได้สิ้นสุดลงจนกระทั่งถึงวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1565 เมื่อเริ่มแรกสถานะการณ์ก็คล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นที่โรดส์ เมื่อเมืองต่าง ๆ ถูกทำลายไปเป็นส่วนมากและครึ่งหนึ่งของอัศวินถูกสังหาร แต่มอลตาได้รับความช่วยเหลือจากสเปนซึ่งเป็นผลให้ฝ่ายออตโตมันต้องสูญเสียกองกำลังไปถึง 30,000 คนก่อนที่จะพ่ายแพ้[33] การล้อมมอลตาเป็นยุทธการที่ยุโรปถือว่าเป็นยุทธการที่สำคัญที่สุดยุทธการหนึ่งของยุโรปที่วอลแตร์ถึงกับกล่าวว่า “ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นที่รู้จักกันมากเท่ากับการล้อมมอลตา” และเป็นยุทธการครั้งแรกที่ทำให้ยุโรปยุติความเชื่อในความคงกระพันของจักรวรรดิออตโตมัน และเป็นการเริ่มต้นของความมีอิทธิพลของสเปนในบริเวณเมดิเตอเรเนียน[34]

แหล่งที่มา

WikiPedia: สุลัยมานผู้เกรียงไกร http://www.bartleby.com/67/794.html http://www.bartleby.com/67/795.html http://www.malta.com/about-malta/history-of-malta.... http://uk.encarta.msn.com/encyclopedia_761575054_2... http://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=9B0... http://www.paradoxplace.com/Perspectives/Genl%20Im... http://www.saudiaramcoworld.com/issue/196402/.sule... http://www.saudiaramcoworld.com/issue/198704/the.g... http://www.sinanasaygi.com/en/eserler.asp?action=e... http://www.womeninworldhistory.com/sample-10.html