การปฏิรูปทางด้านกฎหมายและด้านการศึกษา ของ สุลัยมานผู้เกรียงไกร

รูปนูนต่ำของสุลต่านสุลัยมานภายในที่ทำการของสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรูปผู้มีความสำคัญในด้านการกฎหมายยี่สิบสามรูป
สมัยคลาสสิค: คณะมนตรีดิวาน (Porte) ● มหาเสนาบดี
สมัยธรรมนูญ: รัฐบาลออตโตมัน

ในขณะที่สุลต่านสุลัยมานทรงเป็นที่รู้จักกันในตะวันตกในพระนามว่า "the Magnificent" พระองค์ก็ทรงเป็นที่รู้จักกันในพระนามว่า "Kanuni Suleiman" หรือ "ผู้พระราชทานกฎหมาย" โดยไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของจักรวรรดิออตโตมันของพระองค์เอง นักประวัติศาสตร์ชาวสกอตลอร์ดคินรอสส์ตั้งข้อสังเกตว่าพระองค์มีพระปรีชาสามารถทางด้านการทหารเช่นเดียวกับพระราชบิดาและพระอัยกา แต่ทรงมีความแตกต่างกันจากทั้งสองพระองค์ตรงที่ไม่แต่จะทรงดาบเท่านั้นแต่ยังทรงปากกาด้วย นอกจากนั้นพระองค์ก็ยังทรงเป็นนักกฎหมายผู้มีความสามารถเป็นอันมาก[35]

กฎหมายสูงสุดของจักรวรรดิออตโตมันคือชะรีอะฮ์ (Shari'ah) หรือ “กฎหมายศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเป็นกฎหมายของศาสนาอิสลามที่อยู่นอกพระราชอำนาจในการเปลี่ยนแปลง แต่ในด้านกฎหมายที่รู้จักกันว่า “กฎหมายคานุน” (Kanun) เป็นกฎบัตรที่ไม่อยู่ในข่ายของกฎหมายชะรีอะฮ์ แต่ขึ้นอยู่กับพระราชประสงค์ของสุลต่านสุลัยมานเท่านั้น คานุนครอบคลุมทั้งกฎหมายอาญา, กฎหมายที่ดิน และกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร[36] พระองค์ทรงเริ่มการปฏิรูป “กฎหมายคานุน” โดยการรวบรวมคำพิพากษาจากสุลต่านออตโตมันเก้าพระองค์ก่อนหน้านั้นเข้าด้วยกัน หลังจากที่ทรงเริ่มด้วยการกำจัดบทบัญญัติที่ซ้ำซ้อน และสะสางบทบัญญัติที่ขัดแย้งกันแล้ว พระองค์ก็ทรงออกเป็นประมวลกฎหมายฉบับเดียว โดยไม่ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของกฎบัตรของศาสนาอิสลามแต่อย่างใด[37] ประมวญกฎหมายคานุนที่ออกมาเป็นทางการเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Kanun‐i Osmani” หรือ “กฎหมายออสมัน” ประมวลกฎหมายฉบับที่ทรงบัญญัติได้รับการใช้ปฏิบัติต่อมาอีกกว่าสามร้อยปีหลังจากนั้น[38]

สุลต่านสุลัยมานทรงมีความสนพระทัยในการต่อสู้ของชนชั้นรายาห์หรือผู้นับถือคริสต์ศาสนาที่ทำงานอยู่ในดินแดนที่เป็นของทหารม้าซิพาฮิ (Sipahi) กฎหมายรายาห์หรือ “บทบัญญัติรายาห์” ปฏิรูปกฎหมายในการเรียกเก็บภาษีจากกลุ่มชนรายาห์และยกฐานะของรายาห์เหนือกว่าการเป็นเพียงทาสที่ดิน (serfdom) ซึ่งเป็นผลทำให้คริสต์ศาสนิกชนผู้เป็นทาสที่ดินย้ายมาเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนที่เป็นของจักรวรรดิออตโตมันเพื่อจะได้รับผลประโยชน์จากกฎหมายปฏิรูปของพระองค์[39]

สุลต่านสุลัยมานทรงมีบทบาทสำคัญในการปกป้องข้าแผ่นดินที่เป็นชาวยิวในจักรวรรดิเป็นเวลาหลายร้อยปีต่อมา ในปลายปี ค.ศ. 1553 หรือปี ค.ศ. 1554 จากการถวายการแนะนำโดยโมเสส ฮามอน (Moses Hamon) ผู้เป็นนายแพทย์ชาวยิวประจำพระองค์สุลต่านสุลัยมานก็ทรงออก “พระราชกฤษฎีกาเฟอร์มัน” ที่ประณามการหมิ่นประมาทเรื่องเลือดซึ่งเป็นกล่าวหาเท็จอย่างเป็นทางการ[40]

นอกจากนั้นสุลต่านสุลัยมานก็ยังทรงออกกฎหมายอาญาและกฎหมายเกี่ยวกับตำรวจใหม่ที่ระบุการปรับสำหรับข้อหาต่าง ๆ ที่ระบุ รวมทั้งลดจำนวนข้อหาที่มีบทลงโทษโดยการประหารชีวิต หรือการตัดชิ้นส่วนของร่างกายของผู้ทำความผิด ในด้านภาษีอากรพระองค์ก็ทรงระบุการเก็บภาษีอากรของสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งสัตว์, เหมือง, กำไรจากการค้าขาย และภาษีขาเข้า-ขาออก และถ้านายภาษีทำไม่ถูกไม่ควร ที่ดินและทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ก็จะถูกยึดเป็นของหลวง

ในด้านการศึกษาก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่เป็นที่สนพระทัยของสุลต่าน จักรวรรดิออตโตมันมีระบบการศึกษาที่ประกอบด้วยสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับมัสยิดและบริหารโดยสถาบันศาสนา สถานศึกษาเหล่านี้เป็นแหล่งให้การศึกษาโดยไม่เสียเงินแก่เด็กชาวมุสลิม ซึ่งที่เป็นสิ่งที่ก้าวหน้ากว่าระบบการศึกษาของเด็กผู้นับถือคริสต์ศาสนาในประเทศอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน[41] ในเมืองหลวงสุลต่านสุลัยมานก็ทรงเพิ่มจำนวน “mektebs” หรือโรงเรียนประถมศึกษาขึ้นเป็นสิบสี่โรงเรียนที่สอนให้เด็กหัดอ่าน เขียน และเรียนรู้เกี่ยวกับหลักเบื้องต้นของศาสนาอิสลาม ผู้ที่ประสงค์จะศึกษาต่อก็สามารถเข้า “มาดราซาห์” (Madrasah) หรือวิทยาลัยหนึ่งในแปดวิทยาลัยที่ให้การศึกษาทางด้านไวยากรณ์ อภิปรัชญา ปรัชญา ดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์[41] วิทยาลัยชั้นสูงให้การศึกษาเท่าเทียมกับมหาวิทยาลัย ผู้จบการศึกษาก็กลายเป็น “อิหม่าม” หรือครู ศูนย์กลางการศึกษาก็มักจะเป็นสิ่งก่อสร้างรอบ ๆ ลานมัสยิดซึ่งประกอบด้วยห้องสมุด, ห้องอาหาร, น้ำพุ, โรงซุป และสถานพยาบาลสำหรับสาธารณชน

แหล่งที่มา

WikiPedia: สุลัยมานผู้เกรียงไกร http://www.bartleby.com/67/794.html http://www.bartleby.com/67/795.html http://www.malta.com/about-malta/history-of-malta.... http://uk.encarta.msn.com/encyclopedia_761575054_2... http://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=9B0... http://www.paradoxplace.com/Perspectives/Genl%20Im... http://www.saudiaramcoworld.com/issue/196402/.sule... http://www.saudiaramcoworld.com/issue/198704/the.g... http://www.sinanasaygi.com/en/eserler.asp?action=e... http://www.womeninworldhistory.com/sample-10.html