ประวัติการค้นพบ ของ สแตติน

การศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดแข็ง

ลำดับการค้นพบยากลุ่มสแตติน[4][13][14]

ในปี ค.ศ. 1575 นายแพทย์และนักกายวิภาคศาสตร์ชาวอิตาลีชื่อ Gabrielle Falloppio ค้นพบการเปลี่ยนแปลงพยาธิสภาพของหลอดเลือดเป็นครั้งแรก โดยพบการสะสมของหินปูนบริเวณผนังหลอดเลือด ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเกิดการเสื่อมสลายของกระดูก (bone degeneration)[15] ส่วนการเกิดคราบพลัคเกาะบริเวณผนังหลอดเลือดนั้นได้ถูกอธิบายไว้เป็นครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 17 โดยนักกายวิภาคศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ 2 คน ชื่อ Johann Conrad Brunner และ Albrecht von Haller[16] และต่อมาในปี ค.ศ. 1799 Caleb Hillier Parry นายแพทย์ชาวอังกฤษพบว่าการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease) อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแข็ง (coronary atherosclerosis)[15][17][18] จากนั้นก็เริ่มมีการใช้ศัพท์ทางการแพทย์ว่า arteriosclerosis เพื่อใช้แทนความผิดปกติของหลอดเลือดในรูปแบบดังกล่าว[19] ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1835 โดยศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศส ชื่อ Jean Lobstein[20], ปี ค.ศ. 1904 โดย Felix Marchand พยาธิแพทย์ชาวเยอรมนี[21] และต่อมาในปี ค.ศ. 1843 Julius Vogel แพทย์ชาวเยอรมนีได้ค้นพบว่าส่วนประกอบหลักของคราบหลักที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดนั้นมักเป็นคอเลสเตอรอล[22] ซึ่งบทบาทของคอเลสเตอรอลต่อการเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในรูปแบบดังกล่าวนั้นถูกค้นพบภายหลังในปี ค.ศ. 1852 และ 1856 โดย Karl von Rokitansky และ Rudolf Virchow ตามลำดับ[16] ในปี ค.ศ. 1913 Nikolai Anichkov พยาธิแพทย์ชาวรัสเซีย ได้ทำการศึกษาถึงความความสัมพันธ์ระหว่างคอเลสเตอรอลกับการเกิดโรคหลอดเลือดแข็งในสัตว์ทดลองที่ได้รับการเหนี่ยวนำให้มีภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ผลการทดลองพบว่าสัตว์ทดลองเหล่านั้นเกิดโรคหลอดเลือดแข็งดังเช่นสมมติฐานที่ตั้งไว้[23]

ในการศึกษาวิจัยในประเด็นที่เชื่อกันว่า การเกิดโรคหลอดเลือดแข็งนั้นถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้จากการเสื่อมถอยตามธรรมชาติของร่างกายมนุษย์เมื่อมีอายุมากขึ้นและไม่มีวิธีการใดที่จะรบกวนการเกิดกระบวนการดังกล่าวได้นั้นยังคงไม่มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม จนกระทั่งในช่วงต้นทศวรรษที่ 40[24] ในปี ค.ศ. 1949 John Gofman ได้ค้นพบไลโปโปรตีนคอเลสเตอรอลชนิดความเข้มข้นต่ำ (low-density lipoprotein; LDL) ในกระแสเลือด จากนั้นอีกไม่กี่ปีถัดมา Gofman ก็ได้ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างการมีระดับ LDL ในกระแสเลือดสูงกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary heart disease)[23] จากนั้นในปี ค.ศ. 1959 สถานบันวิจัยเซลล์ชีววิทยาและพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลมักซ์ พลังค์ (Max Planck Institute of Molecular Cell Biology and Genetics; MPI-CBG) ในเยอรมนีได้ค้นพบว่าเอนไซม์ HMG-CoA reductase นั้นเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลของร่างกายมนุษย์[25] และต่อมาในปี ค.ศ. 1961 จากการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ฉบับหนึ่งที่มีชื่อการศึกษาว่า Framingham study (Framingham Heart Study) ได้ค้นพบว่า การมีระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดที่สูงกว่าปกตินั้นถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ (cardiovascular diseases)[26][27] หลังจากนั้นไม่นาน เอกสารตีพิมพ์ของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) ได้ยืนยันถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการควบคุมอาหารในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจสูง [23] อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ 60 ได้มีการค้นพบในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้จะมีการควบคุมการรับประทานอาหารเป็นอย่างดี ร่างกายก็ยังสามารถสร้างคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นได้ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้โดยผ่านกระบวนการการเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้สังเคราะห์คอเลสเตอรอลในตับ[28] และในช่วงนั้น บทบาทของการใช้ยาลดระดับไขมันในกระแสเลือดเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและอัตราการเกิดความพิการจากโรคหลอดเลือดหัวใจนั้นยังสรุปได้ไม่แน่ชัดและยังคงเป็นเพียงการตั้งสมมติฐานที่ยังไม่มีการพิสูจน์ให้เห็นได้เด่นชัด[29] จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1984 การศึกษาวิจัยที่มีชื่อว่า LRC-CPPT ได้ค้นพบว่า การลดลงของระดับ LDL ในกระแสเลือดนั้นสามารถลดอัตราการเสียชีวิตและอัตราการเกิดความพิการจากโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยชายที่มีระดับ LDL ในกระแสเลือดสูงได้[30]

การค้นพบยากลุ่มสแตติน

เอริกะ เอ็นโดะ (Akira Endo) นักชีวเคมีชาวญี่ปุ่น ผู้คนพบ ML-236B

ในปี ค.ศ. 1973 เอริกะ เอ็นโดะ (Akira Endo) นักชีวเคมีชาวญี่ปุ่น ได้ทำการคัดแยกสารประกอบต่างๆ ที่ได้จากเชื้อจุลชีพมากกว่า 6,000 ชนิด โดยเฉพาะกลุ่มของเชื้อรา และพบว่าสารประกอบ ML-236B (เมวาสแตติน) ที่ถูกสร้างโดยเชื้อ Penicillium citrinum นั้นมีคุณสมบัติในการลดระดับคอเลสเตอรอลและ LDL ในกระแสเลือดทั้งในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ แต่การศึกษาถึงผลของสารดังกล่าวในสัตว์ทดลองต่อมาในภายหลังพบว่ามีความเป็นพิษค่อนข้างสูง[28][31] ในปี ค.ศ. 1976 นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งก็สามารถแยกสารประกอบที่มีชื่อว่า คอมเพคติน (Compactin) ได้จากสารเมทาบอไลต์ของเชื้อรา Penicillium brevicompactum ซึ่งต่อมาทราบว่าสารดังกล่าวนั้นเป็นสารชนิดเดียวกันกับเมวาสแตติน อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์กลุ่มดังกล่าวนั้นมุ่งเน้นศึกษาคุณสมบัติในการต้านเชื้อราของสารที่ค้นพบเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งเน้นศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ HMG-CoA reductase แต่อย่างใด[32] ต่อมาในปี ค.ศ. 1978 คณะศึกษาของ Alfred Alberts ได้ค้นพบสารชนิดหนึ่งที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับสารประกอบ ML-236B ที่ได้จากกระบวนการการหมักของรา Aspergillus terreus ซึ่งต่อมาสารดังกล่าวถูกเรียกชื่อว่า Mevinolin[33][34] และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง เอริกะ เอ็นโดะ ก็สามารถคัดแยกสารประกอบที่มีชื่อว่า Monacolin K ซึ่งมีกลไกออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับสแตติน ได้จากรา Monascus ruber จากนั้นในปี 1979 เอ็นโดะก็ได้รับสิทธิบัตรในการผลิตสารดังกล่าว และในช่วงปลายปีนั้น ก็ได้มีการค้นพบว่า โดยที่จริงแล้ว Monacolin K และ Mevinolin นั้นเป็นสารประกอบชนิดเดียวกัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบันภายใต้ชื่อว่า โลวาสแตติน[34]

การพัฒนายากลุ่มสแตติน

ในปี ค.ศ. 1987 ได้มีการผลิต โลวาสแตติน เพื่อจำหน่ายเชิงการค้าเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อการค้า Mevacor[33] ของบริษัท Merck & Co. (หรือ Merck Sharp & Dohme, MSD สำหรับในประเทศอื่นนอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา) ซึ่งสแตตินชนิดแรกที่ถูกผลิตขึ้นในเชิงอุตสาหกรรมการค้า[35] และต่อมาไม่นานนัก บริษัท ไดอิจิ ซังเคียว (Daiichi Sankyo) ซึ่งเป็นผู้ค้นพบเมวาสแตติน ได้พัฒนาสแตตินชนิดใหม่ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของเมวาสแตตินขึ้นมา มีชื่อว่า ปราวาสแตติน ซึ่งมีความแรงและความจำเพาะในการออกฤทธิ์มากกว่าสารต้นแบบเดิม[36] และถูกนำออกจำหน่ายในญี่ปุ่นภายใต้ชื่อการค้า Mevalotin ในปี ค.ศ. 1988 และปี ค.ศ. 1991 ในสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อการค้า Pravachol[37] และจากนั้นอีก 2 เดือนถัดมา ซิมวาสแตติน ภายใต้ชื่อการค้า Zocor ก็ถูกผลิตออกวางจำหน่ายในท้องตลาด[38] ส่วนสแตตินที่ได้จากการสังเคราะห์ชนิดแรกที่ถูกผลิตออกจำหน่ายเชิงการค้า คือ ฟลูวาสแตติน (ชื่อการค้า Lescol) ของบริษัท โนวาร์ติส (Novartis) ในช่วงปี ค.ศ. 1993 และอีก 3 ปีถัดมา บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ก็ได้ผลิตสแตตินสังเคราะห์อีกชนิดหนึ่งออกจำหน่ายในท้องตลาด คือ อะโทวาสแตติน ภายใต้ชื่อการค้า Lipitor หลังจากนั้นมาเพียงแค่อีก 1 ปี บริษัท เบเยอ่ร์เอจี (Bayer AG) ก็ได้ผลิตสแตตินสังเคราะห์อีกชนิด คือ เซอริวาสแตติน ออกจำหน่ายในท้องตลาด ภายใต้ชื่อการค้า Baycol และ Lipobay [39] ซึ่งต่อมาในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 2001 ตัวยาดังกล่าวถูกถอนทะเบียนออกจากตลาดโดยความสมัครใจของบริษัท (ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา) เนื่องจากการใช้ยาดังกล่าวนั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงคือ การเกิดภาวะกล้ามเนื้อสลายแบบ rhabdomyolysis[39][40] จากนั้น ในปี ค.ศ. 2000 บริษัท โนวาร์ติส (Novartis) ได้มีการวางจำหน่ายยากลุ่มสแตตินชนิดใหม่ คือ ฟลูวาสแตติน ภายใต้ชื่อการค้า Lescol XL[39] และถัดจากนั้นมาอีกแค่ 3 ปี บริษัทโควะ ฟาร์มาซูตคอลส์ (Kowa Pharmaceuticals) ก็ได้มีการผลิตสแตตินตัวใหม่อีก 2 ชนิด ออกจำหน่ายในท้องตลาด คือ พิทาวาสแตติน ภายใต้ชื่อการค้า Livalo และโรสุวาสแตติน ภายใต้ชื่อการค้า Crestor และ AstraZeneca[14]