การกระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา ของ หมูป่า

หมูป่า จัดเป็นสัตว์ที่การกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางมาก ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปยุโรป, ทวีปเอเชียและแอฟริกา และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็สามารถพบเห็นได้ทั่วไป จึงทำให้มีทั้งหมด 10 ชนิดย่อยด้วยกัน (ดูในตาราง)

มีนิเวศวิทยาและพฤติกรรมสามารถอาศัยอยู่ได้ในหลากหลายสภาพแวดล้อม แต่มักเลือกที่จะอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เพราะชอบนอนแช่ปลักโคลนในวันที่มีอากาศร้อน สามารถกินอาหารได้หลากหลายทั้งพืชและสัตว์ขนาดเล็ก เช่น สัตว์เลื้อยคลานหรือแม้แต่ซากสัตว์ด้วย หมูป่าที่อาศัยในป่าที่อยู่ใกล้แหล่งเกษตรกรรมของมนุษย์ อาจจะขโมยกินหัวหรือรากพืชที่ปลูก รวมทั้งถึงนาข้าวด้วย การหาอาหารจะใช้จมูกดุนดินเพื่อขุดหาอาหารใต้ดิน ขณะออกหาอาหารจะส่งเสียงร้องดังอยู่ตลอดเวลา มักหากินในช่วงเวลาเช้าตรู่และยามบ่าย บางครั้งอาจหากินได้ในเวลากลางคืนด้วย มักรวมกันเป็นฝูงใหญ่ ราว 20-100 ตัว โดยจะมีอายุของสมาชิกในฝูงคละเคล้ากันไป เมื่อถึงสภาวะคับขันจะหลบหนีไปตามพุ่มไม้เตี้ย ๆ ตามปกติแล้วหมูป่าเป็นสัตว์ที่ขี้หงุดหงิดและมีอารมณ์ร้าย ศัตรูของหมูป่าได้แก่ เสือโคร่งและเสือดาว เมื่อพบศัตรูตัวผู้จะออกมาทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสมาชิกในฝูง ด้วยการพุ่งชนด้วยเขี้ยวที่ยาวโง้งออกมา ซึ่งในตัวเมียไม่มี

ปัจจุบัน เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีการเพาะเลี้ยงเพื่อรับประทานเนื้อเป็นอาหาร หรืออาจจะเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงตามบ้านของบางคนก็ได้ โดยมีการทำฟาร์มหมูป่า [3]

ในประเทศไทย มีฝูงหมูป่าอาศัยอยู่ท่ามกลางเมืองใหญ่อยู่ 2 แห่ง คือ หมู่บ้านร้างแห่งหนึ่ง ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ มีจำนวนประชากรหมูป่าราว 200 ตัว และหมู่บ้านร้างอีกแห่งหนึ่ง ในเขตสะพานสูง กรุงเทพมหานคร มีประชากรหมูป่าอยู่ราว 50 ตัว ซึ่งทั้งสองแห่งนี้เกิดจากเจ้าของที่ดินเดิมได้นำหมูป่ามาเลี้ยงและทิ้งไว้ จนกระทั่งแพร่ขยายพันธุ์กันเอง[4] [5]