มูลเหตุในการก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์ ของ อนาคาริก_ธรรมปาละ

ก่อนหน้าที่ท่านธรรมปาละจะเดินทางมาที่พุทธคยานั้น ท่านได้อ่านบทความของท่านเซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์ (Sir Edwin Arnold) ผู้เรียบเรียงหนังสือพุทธประวัติภาษาอังกฤษ ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และกล่าวกันว่า เป็นพุทธประวัติฉบับภาษาอังกฤษ ที่มีความไพเราะ และน่าเลื่อมใสมาก คือ ประทีบแห่งเอเชีย (The Light of Asia) ซึ่งท่านเซอร์ ได้เดินทางไปที่พุทธคยา ได้พบกับความน่าเศร้าสลดใจหลายประการ ท่านได้เขียนบทความไว้ตอนหนึ่งว่า (แปลจากภาษาอังกฤษ)

เซอร์ เอดวิน อาโนลด์

ตะวันตกและวันออก โอกาสแจ่มจรัส โอกาสแห่งความรุ่งโรจน์

( EAST and West ; A Splendid Opportunity)

เขียนโดย ท่านเซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์

ในความเป็นจริง ไม่มีข้อกังขาสงสัยใดๆ ในความเป็นจริง ของสถานที่ สังเวชนียสถาน 4 ตำบลของชาวพุทธ คือ กบิลพัสดุ์ (ปัจจุบัน Bhuila) ซึ่ง เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ, ป่าอิสิปตนะ ภายนอกเมืองพาราณสี ซึ่งพระพุทธองค์ได้แสดงธรรมเทศนา กุสินารา ที่พระองค์ได้ปรินิพพาน และสถานที่ตรัสรู้ซึ่งมี ต้นโพธิ์เป็นเครื่องหมาย ในวันเพ็ญเดือน 6 เมื่อ 2383 ปี มาแล้ว พระองค์ได้บำเพ็ญเพียรทางจิตและมีศรัทธาเป็นอย่างมาก ซึ่งพระองค์ได้นำ ความเจริญทางอาารยธรรม มาสู่เอเชีย บรรดาสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา คือสิ่งที่มีค่าและศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธทั่วทั้งเอเชีย ทำไมหรือ เพราะว่า ปัจจุบันตกอยู่ในมือของนักบวชพราหมณ์ ผู้ไม่ได้ดูแลวัดเลย นอกจากว่าจะถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์เท่านั้น และพวกเขา ได้ตักตวงเอาผลประโยชน์ เป็นอย่างมาก

ความจริงในเรื่องนี้ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 กล่าวคือ 1400 ปีมาแล้ว สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พิเศษสุดและชาวพุทธรักษาไว้ แต่ได้ทรุดโทรมลงและถูกปล่อยปละละเลย เหมือนกับวัดพุทธศาสนาแห่งอื่น ๆ จากการอันตรธานสูญหายของพุทธศาสนาจากอินเดีย 300 ปีต่อมา นักบวชศาสนาพราหมณ์ที่ นับถือพระศิวะมาถึงที่นี้ และตั้งหลักปักฐาน ณ ที่ตรงนี้ ได้เริ่มครอบครองสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ซึ่งได้เห็นและก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาขึ้นมา พวกเขามีกำลังมากจึงเข้ายึดครองเป็นเจ้าของวัดพุทธคยา ซึ่งรัฐบาลเบงกอลได้เข้ามาบูรณะ และพื้นที่รอบพุทธคยา ในปี พ.ศ. 2423 (ค.ศ. 1880) และได้ขอส่วนหนึ่งของรั้วเสาหินสมัยพระเจ้าอโศก จากพวกมหันต์ ซึ่งพวกเขาได้นำไปสร้างบ้าน เพื่อนำกลับมาตั้งไว้ ณ ที่เดิม แต่พวกมหันต์ไม่ได้คืนมา และท่านเซอร์ อาชเลย์ เอเดน (Sir Ashley Eden) ก็ไม่สามารถผลักดันการบูรณะให้แล้วเสร็จได้

ชาวพุทธทั่วโลกได้ลืมคืนที่ดี และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นศูนย์กลางที่ยิ่งใหญ่ของศรัทธา ดังเช่นนครเมกกะ และเยรูซาเลม (Mecca and Jeruzaiem) เป็นศูนย์กลางศรัทธาของผู้ศรัทธานับล้านคน-เมื่อข้าพเจ้าได้พักที่โรงแรมที่พุทธคยาปีสองปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจที่เห็นเครื่องบูชา สาร์ท (Shraddh) ของพวกฮินดูในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ และวัตถุโบราณที่มีค่าจำนวนมากหลายพันชิ้น ซึ่งจารึกด้วยภาษาสันสกฤตได้ถูกทิ้งจมอยู่ในดิน ข้าพเจ้าได้ถามนักบวชฮินดูว่า

“ข้าพเจ้าจะขอใบโพธิ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ได้หรือไม่”

“เจ้านาย จงหักเอาเท่าที่คุณชอบ มันไม่มีค่าอะไรสำหรับเรา” นี้เป็นคำตอบจากพวกเขา

ภาพเขียนศรีมหาโพธิเจดีย์ โดย ชาร์ลส์ ดอยล์ พ.ศ. 2370 บ่งบอกว่าสภาพมหาโพธิ์เจดีย์ในสมัยนั้นไม่ได้รับการดูแล

ไม่มีความละอายจากอาการที่พวกเขาไม่สนใจใยดี ข้าพเจ้าเก็บใบโพธิ์ 3-4 ใบอย่างเงียบ ๆ ซึ่งพวกมหันต์ได้หักมาจากกิ่งบนหัวของพวกเขา และข้าพเจ้าได้นำใบโพธิ์ไปยังศรีลังกา เมื่อได้คัดลอกจารึกที่เป็นภาษาสันสกฤต ที่นั้น (ศรีลังกา) ข้าพเจ้าได้พบว่า ใบโพธิ์เป็นสิ่งมีค่าสำหรับชาวพุทธที่ศรีลังกา ซึ่งต้อนรับด้วยความกระตือรือร้นและศรัทธา ใบโพธิ์ที่ข้าพเจ้าถวาย ได้ถูกนำไปที่เมืองแคนดี้ และได้ใส่ไว้ในผอบที่มีค่าและได้รับการบูชาทุก ๆ วัน”

(และอีกตอนหนึ่งที่ท่านเซอร์อาร์โนลด์เขียนถึงพวกมหันต์ที่พุทธคยา มีดังต่อไปนี้)

“แต่ 2-3 ปีผ่านไป ในขณะที่ความคิดไปแผ่ขยายไปทั่วเอเชีย และสมาคมอย่างมากมายได้ก่อตั้งขึ้น ด้วยจุดประสงค์พิเศษ เพื่อเรียกร้องดินแดนศักดิ์สิทธิ์คืนมา พวกมหันต์ได้เรียกร้องเอาทรัพย์สินมากเกินไป และเข้ายึดครองวัดมากขึ้นทุกที จดหมายที่ข้าพเจ้าได้รับจากทางตะวันออก แสดงว่า พวกรัฐบาลได้นึกถึงคำขู่ของพวกพราหมณ์และผู้บริหารท้องถิ่น ได้มีท่าทีเปลี่ยนไปในการเจรจา

ข้าพเจ้าคิดว่า พวกมหันต์เป็นคนดี ข้าพเจ้าไม่ได้ปรารถนาอย่างนี้มาก่อนเลย แต่มิตรภาพและความพอใจที่พวกเขามีให้ ถ้าคุณเดินเข้าไปในสถานที่ซึ่งผู้คนที่ศรัทธานับล้านเลื่อมใสศรัทธาอยู่ คุณอาจสังเกตเห็นสิ่งที่น่าอดสูและระทมใจในสวนมะม่วง ด้านตะวันออกของแม่น้ำ ลิลาจัน (Lilajan) พระพุทธรูปสมัยโบราณได้ถูกนำมาติดไว้ที่คลองชลประทานใหล้กับหมู่บ้านมุจลินท์ คือ สระมุจลินท์ และได้เห็น พระพุทธรูปใช้เป็นฐานรองรับบันไดที่ท่าตักน้ำ

ข้าพเจ้าได้พบชาวนาในหมู่บ้านรอบ ๆ วิหารพุทธคยา พวกเขาใช้แผ่นสลักที่มีความงดงามจากวิหาร มาทำเป็นขั้นบันไดของพวกเขา ข้าพเจ้าได้พบภาพสลักสูง 3 ฟุต ซึ่งมีสภาพดีเยี่ยม จมอยู่ใต้กองขยะด้านตะวันออกของวังมหันต์ อีกส่วนหนึ่ง ติดอยู่กับผนังด้านตะวันออกของสวนมะม่วงริมแม่น้ำ และรั้วเสาหินพระเจ้าอโศกซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุดของอินเดีย ซึ่งล้อมวิหาร แต่ปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของห้องครัวพวกมหันต์”

ทันทีที่บทความของท่านเซอร์เอดวินด์ อาโนลด์ ได้ตีพิมพ์ ท่านธรรมปาละได้มีโอกาสอ่าน ก็เกิดแรงบันดาลใจยิ่งขึ้น ที่จะมาดูพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เมื่อท่านเดินทางมาถึงพุทธคยา พร้อมกับพระโกเซน คุณรัตนะ วันที่ท่านมาถึงพุทธคยานั้น เป็นวันที่ 22 มกราคม 2434 ท่านธรรมปาละได้บันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้เองว่า

อนาคาริก ธรรมปาละ เมื่อครั้งเดินทางมาพุทธคยา

“หลังจากขับรถออกมาจากคยา 6 ไมล์ (ประมาณ 10 กม.) พวกเราได้มาถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ภายในระยะทาง 1 ไมล์ ท่านสามารถเห็นซากปรักหักพังและภาพสลักที่เสียหายเป็นจำนวนมาก ที่ประตู ทางเข้าวัดของพวกมหันต์ ตรงหน้ามุข ทั้งสองด้าน มีพระพุทธรูปปางสมาธิและปฐมเทศนาติดอยู่ จะแกะออกได้อย่างไร พระวิหารที่ศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่บนบัลลังก์ งดงามมาก ซึ่งแผ่ไปในใจของพุทธศาสนิกชนสามารถทำให้หยุดนิ่งได้ ช่างอัศจรรย์จริงๆ ทันใดนั้นเอง ข้าพเจ้าได้มานมัสการพระพุทธรูป ช่างน่าปลื้มอะไรเช่นนี้ เมื่อข้าพเจ้าจดหน้าผาก ณ แท่นวัรชอาสน์ แรงกระตุ้นอย่างฉับพลันก็เกิดขึ้นในใจ แรงกระตุ้นดังกล่าวนั้นกระตุ้นให้ข้าพเจ้าหยุดอยู่ที่นี่ และ ดูแลรักษาพุทธสถานอันศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นสถานที่ตั้งแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเจ้าชายศากยะสิงหะ (พระสิทธัตถะ) ได้ประทับตรัสรู้ และเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์อย่างไม่มีที่แห่งใดในโลกมาเทียมเท่านี้ ( As soon as I touched with my forehead the Vajrasana a sudden impulse came to my mind to stop here and take care of this sacred spot, so sacred that nothing in the world is equal to this place where Prince Sakya Sinha attained enlightenment under the Bodhi Tree ) เมื่อมีแรงบันดาลใจ ข้าพเจ้าถามท่านโกเซน คุรุรัตนะ ว่า ท่านจะร่วมมือกับข้าพเจ้าหรือไม่ และท่านได้ตอบตกลงอย่างเต็มใจ และมากไปกว่านั้นท่านเองก็มีความคิด เช่นเดียวกัน เราทั้งสองสัญญากันอย่างลูกผู้ชายว่า พวกเราจะพักอยู่ที่นี้ จนกระทั่งมีพระสงฆ์บางรูปมาดูแล สถานที่แห่งนี้”

ท่านธรรมปาละและพระโกเซน ได้พักอยุ่ที่พุทธคยาชั่วคราว ที่ศาลาพักของพม่า ซึ่งคณะทูตของพระเจ้ามินดงมิน ได้สร้าง ไว้เป็นที่พัก เรียกเสียง่าย ๆ ว่า วัดพม่า จากนั้นท่านธรรมปาละก็เริ่มงานของท่าน โดยการเขียนจดหมายบอกเล่าสภาพของพุทธคยา ส่งไปยังบุคลลแทบทุกวงการของพม่า ลังกา อินเดีย และเรียกร้อง ชักชวนให้ร่วมมือกัน เพื่องานฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และพุทธสถาน

การก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์

ท่านได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของจังหวัดคยาเพื่อจุดประสงค์ที่จะฟื้นฟูพุทธคยา ได้รับการชี้แจง ว่าพระวิหารมหาโพธิพร้อมกับ รายได้ที่เกิดขึ้นนั้น ตอนนี้กลายเป็นของมหันต์ แต่ว่าด้วยความช่วยเหลือของรัฐบาลก็อาจมีทางเป็นไปได้ที่จะขอซื้อพระวิหาร และบริเวณดังกล่าวจากมหันต์ (น่าแปลกอยู่เหมือนกัน ที่ว่าเราต้องขอซื้อ ขอมีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ที่ควรจะเป็นของพวกเราชาวพุทธเอง)

ท่านธรรมปาละได้เดินทางกลับมายังโคลัมโบ เพื่อที่จะไปจัดตั้งสมาคมขึ้น เพื่อการนำ พุทธคยากลับคืนมาสู่ชาวพุทธ และในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2434 พุทธสมาคม เพื่อจุดประสงค์ดังกล่าว ในชื่อว่า "พุทธคยามหาโพธิโซไซเอตี้" ก็ได้รับการตั้งขึ้น ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศลังกา มีท่านประธานนายกะ เอช. สุมังคลมหาเถระ เป็นนายกสมาคม พันเอกโอลคอตต์เป็นผู้อำนวยการ ท่านธัมมปาละเป็นเลขาธิการ นอกนี้ก็มีผู้แทนจากประเทศและกลุ่มชาวพุทธต่างๆ เข้าร่วม ในการก่อตั้งด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีผู้แทนจากประเทศไทยเข้าร่วมด้วย คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า จันทรทัตจุฑาธร (His Royal Highness Prince Chandradat Chudhadharn) ชื่อของสมาคมนี้ ต่อมาได้ตัดคำว่า พุทธคยาออก คงไว้แต่ มหาโพธิโซไซเอตี้ ดังในปัจจุบัน

'จุดประสงค์ของสมาคมมหาโพธิ ที่ได้จัดตั้งขึ้นในคราวนั้น คือ

" เพื่อสร้างวัดพระพุทธศาสนาและก่อตั้งพุทธวิทยาลัย กับส่งคณะพระภิกษุซึ่งเป็นผู้แทนของประเทศพระพุทธศาสนา คือ จีน ญี่ปุ่น ไทย เขมร พม่า ลังกา จิตตะกอง เนปาล ธิเบต และอารกัน ไปประจำอยู่ ณ พุทธคยา "

" เพื่อจัดพิมพ์วรรณคดีพระพุทธศาสนาขึ้นในภาษาอังกฤษ และภาษาท้องถิ่นของอินเดีย "

หลังจากนั้น ในวันอาสาฬหปุรณมี ท่านอนาคาริกธรรมปาละได้กลับไปยังพุทธคยา พร้อมกับพระภิกษุลังกาอีก 4 รูป ที่พร้อมจะมาร่วมด้วยกับท่าน และท่านได้ขอติดต่อกับมหันต์ อย่างยากลำบาก จนกระทั่งพวกมหันต์ ซึ่งขณะนั้นเป็นยุคของ เหมนารยันคี มหันต์ ยอมตกลงให้เช่าที่แปลงเล็กๆ ส่วนหนึ่งในพุทธคยา เพื่อทำเป็นที่พัก ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2434 ท่านธัมมปาละได้จัดให้มีการประชุมชาวพุทธระหว่างชาติขึ้นที่พุทธคยา โดยมีผู้แทนชาวพุทธจากลังกา จีน ญี่ปุ่น และจิตตะกอง เข้าร่วมประชุม ซึ่งได้มีการประชุมกันในวันที่ 31 ของเดือนตุลาคม ผู้แทนจากญี่ปุ่นกล่าวว่า ชาวพุทธญี่ปุ่นยินดีที่จะสละทรัพย์ เพื่อขอซื้อพุทธคยาคืนจากมหันต์ คำกล่าวนี้เป็นที่อนุโมทนาในที่ประชุมอย่างมาก ท่านธัมมปาละได้ให้มีการประดับ ธงชาติญี่ปุ่นไว้ข้าง ๆ ธงพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นเกียรติแก่ชาวพุทธญี่ปุ่น แต่กลับไม่เป็นผลดี อย่างที่คิด เมื่อข้าหลวงเบงกอล เดินทางมา ถัดจากวันที่มีการประชุม เพื่อจะมาเยี่ยมชมพุทธคยา แต่เมื่อเห็นธงชาติญี่ปุ่น ก็เกิดระแวงขึ้นมาทันที เพราะขณะนั้นอินเดีย และอังกฤษที่ปกครองอินเดีย ยังวิตกกับท่าทีทางการเมืองของญี่ปุ่นอยู่ ทำให้ข้าหลวงเบงกอล เดินทางกลับทันที และปฏิเสธที่จะพบกับผู้แทนชาวพุทธอย่างไม่มีข้อแม้ และยังบอกผ่านเจ้าหน้าที่ ไปยังท่านธัมมปาละอีกว่า พุทธคยาเป็นของมหันต์ รัฐบาลจึงไม่ประสงค์จะไปยุ่งเกี่ยวใดๆกับเรื่องนี้ ในการที่ชาวพุทธ ได้เรียกร้องนั้น สรุปว่าหนทาง ที่จะได้พุทธคยาคืนมาเป็นของชาวพุทธ ก็กลับมืดมนไปอีก

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2435 สมาคมมหาโพธิ ก็ได้ย้ายจากโคลัมโบมาอยู่ที่กัลกัตตา ที่อินเดีย และได้ออกวารสารสมาคมมหาโพธิ (Mahabodhi Review) ซึ่งยังคงอยู่จนปัจจุบันนี้ ถึง 111 ปี แล้ว และเป็นวารสารที่โด่งดังในทั้งตะวันออก และตะวันตก ในช่วงแรกๆ ว่ากันว่าท่านธรรมปาละและทีมงานต้องอดมื้อกินมื้อเพื่อนำเงินไปซื้อแสตมป์มาส่งหนังสือกันทีเดียว

อุปสรรคจากพวกมหันต์

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2436 ท่านธัมมปาละและพันเอกโอลคอตต์ เดินทางจากศรีลังกามาที่พุทธคยา ก็ได้รับข่าวทันที่ว่า พระภิกษุที่จำพรรษาประจำอยู่ที่พุทธคยา ขณะกำลังนั่งสนทนาธรรมกันอย่างสงบในที่พักวัดพม่า ก็ถูก พวกมหันต์ยกพวกมารุมทุบตี รูปหนึ่งอาการสาหัสต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล พันเอกโอลคอตต์เข้าพบมหันต์ทันที เพื่อเจรจาและขอเหตุผลกับเรื่องที่เกิดขึ้น ปรากฏว่าพวกมหันต์ไม่ยอมรับการเจรจาใดๆ และยังปฏิเสธไม่ยอมขายที่ ไม่ยอม ให้เช่า ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ ไม่ยอมให้สร้างแม้แต่ที่พักสำหรับชาวพุทธผู้มาแสวงบุญ เป็นอันว่าเรื่องของพุทธคยา ก็ยังตก อยู่ในภาวะยุ่งยากลำบากเช่นเคย

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2436 ท่านธัมมปาละได้รับเชิญในฐานะผู้แทนชาวพุทธ ให้เข้าร่วมการประชุมสภาศาสนา (parliament religion) ที่เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา การที่ท่านธัมมปาละได้เดินทางไปครั้งนี้ นับว่าเกิดผลอย่างมาก ต่อพระพุทธศาสนา และต่อศาสนาทั้งหลาย ท่านธัมมปาละได้กล่าวปราศัยในหลายๆเรื่อง ทำให้ที่ประชุมรู้สึกทึ่ง ในคำสอนของ พระพุทธศาสนา ถึงกับมีนักการศาสนา และปรัชญาท่านหนึ่ง คือ มิสเตอร์ ซี. ที. เสตราส์ ประกาศปฏิญาณตนเป็น พุทธมามกะ นับถือพระพุทธศาสนา ท่านธัมมปาละจึงได้จัดให้มีการปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะที่ สมาคมธีออสโซฟี่ แห่งชิคาโก นับว่าเป็นอุบาสกคนแรก ในประเทศอเมริกาทีเดียว

เมื่อท่านธรรมปาละ เดินทางกลับจากการประชุมสภาศาสนาครั้งนี้ ท่านได้ผ่าน ฮอนโนลูลู และสมาชิกสมาคมธีออสโซฟี่ แห่งฮอนโนลูลู ได้มาต้อนรับท่าน ซึ่งท่านได้พบกับ นางแมรี่ มิกาฮาลา ฟอสเตอร์ นางเป็นเชื้อสาย เจ้าผู้ครองฮาวาย นางเป็นคนโทสะจริต มีอารมณ์ขุ่นมัวเสมอ มักทำให้ทั้งเธอ และคนรอบข้างเกิดความเดือดร้อน จะเอาหลักศาสนา ไหนๆ มาปฏิบัติก็ไม่หาย ได้มาปรึกษาท่านธรรมปาละ ท่านธรรมปาละจึงแนะนำหลักธรรม ทางพระพุทธศาสนาอย่างง่ายๆ ให้เธอนำไปปฏิบัติ ปรากฏว่า เธอนำไปปฏิบัติได้ไม่นาน ก็หายจากอาการเจ้าโทสะ อารมณ์ร้าย เธอจึงเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา และท่านธรรมปาละมาก นางแมรี่ ฟอสเตอร์นี่เอง ที่เป็นผู้อุปถัมภ์ท่านธรรมปาละ ด้าน ทุนทรัพย์ ในการฟื้นฟูพุทธคยา ด้วยจำนวนเงินรวมๆแล้ว กว่าล้านรูปี มีคนถึงกับขนานนามเธอว่า " วิสาขาที่ 2 " ทีเดียว

หลังจากนั้นท่านได้เดินทางผ่านประเทศญี่ปุ่น จีน ไทย สิงคโปร์ และลังกา เพื่อพบปะ กับผู้นำฝ่ายศาสนาและบ้านเมือง ขอความร่วมมือด้านกิจกรรมฟื้นฟู พระพุทธศาสนา ที่ท่าน กำลังทำอยู่ ที่เมืองไทยเรา ท่านได้เฝ้า กรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ ซึ่งทรงเป็นเสนาบดี กระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น และพบกับเจ้านายอีกหลายพระองค์ ท่านอยู่ใน เมืองไทย 3 อาทิตย์ จึงเดินทางกลับ (หลังจากนั้นท่านได้เดินทางมาอีก เพื่อมาขอรับ ส่วนแบ่งพระบรมธาตุ ซึ่งพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับ ทูลถวายจากรัฐบาลอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนพระบรมธาตุที่ขุดได้จากบริเวณกรุงกบิลพัสดุ์ แถบเนปาล พระองค์ทรงประกาศ ไปยังประเทศพระพุทธศาสนาอื่นๆ ว่าพระองค์ทรงยินดี จะแบ่งพระบรมธาตุให้กับชาวพุทธ ในประเทศอื่นๆ ท่านธรรมปาละ ได้เดินทางมาขอรับพระราชทานส่วนแบ่งพระบรมธาตุ ในฐานะตัวแทนชาวพุทธลังกา ในปี 2443)

หลังจากนั้นท่านได้เดินทางผ่านประเทศญี่ปุ่น ได้รับพระพุทธรูปเก่าแก่ ถึง 700 ปี จากชาวพุทธญี่ปุ่น ซึ่งมีความประสงค์ จะขอให้ท่านนำพระพุทธรูปนี้ ไปประดิษฐาน ที่พุทธคยาด้วย และพระพุทธรูปนี้เอง ต่อมาเป็นชนวนการขัดแย้ง ครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างท่านธรรมปาละ และมหันต์

ท่านธรรมปาละได้เดินทางกลับมายังอินเดีย ได้ติดต่อขอนำพระพุทธรูปที่ได้รับมาจาก ชาวญี่ปุ่น มาประดิษฐานยังพุทธคยา ซึ่งคงไม่ต้องบอกว่า มหันต์ไม่ยอมอย่างแน่นอน ทาง มิสเตอร์แมคเฟอร์สัน เจ้าหน้าที่ ฝ่ายปกครองของอังกฤษประจำคยา ได้ขอให้ท่านธรรมปาละ ลองหาเสียงสนับสนุนจากชาวฮินดูทั่วๆไปก่อน แต่ท่านก็ได้รับ คำตอบจากพราหมณ์ชั้นบัณฑิตที่พาราณสี อย่างข้างๆคูๆ ก็คือ พระพุทธเจ้าเป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์ ดังนั้นพระวิหาร พุทธคยาจึงเป็นของฮินดู ชาวพุทธไม่มีสิทธิอะไร ในวิหารนั้น พวกมหันต์เอง ก็ยืนยันว่าจะไม่ยอมให้นำพระพุทธรูป เข้าไปยัง วิหารพุทธคยาเป็นอันขาด และยังประกาศว่า หากยังขืนดึงดันจะนำเข้ามา ก็จะจ้างคนห้าพันคน มาคอยดักฆ่า และได้เตรียม เงิน ไว้ถึงแสนรูปีเพื่อการนี้แล้วด้วย เป็นอันว่า เรื่องการนำพระพุทธรูป มาประดิษฐาน ยังวิหารพุทธคยา ก็ยังต้องพักไว้ก่อน

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2438 ท่านธรรมปาละก็ได้นำพระพุทธรูปมายังวิหารพุทธคยา โดยไม่กลัวการขู่จากพวกมหันต์

แต่ผลก็คือว่า เมื่อท่านได้นำพระพุทธรูปญี่ปุ่นองค์นั้นไปถึงองค์พระเจดีย์พุทธคยา พร้อมกับพระภิกษุ อีก 4 รูป ซึ่งประจำอยู่ที่นั่น กำลังจะยกพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐาน ปรากฏว่าพวกมหันต์ หลายสิบคนกรูกันเข้ามาบังคับ สั่งให้ท่านธรรมปาละเอาพระพุทธรูป ออก และทำการทุบตีทำร้ายอีกด้วย ท่านธรรมปาละกล่าวไว้ในบันทึกของท่าน ว่า “มันช่างเจ็บปวดเหลือแสน ชาวพุทธถูกห้ามไม่ให้บูชาในวิหารที่เป็นสิทธิ์ของตนเอง”

ศาลประจำจังหวัดคยา ได้ตัดสินความผิดกับพวกมหันต์ ในขณะที่ศาลสูงของกัลกัตตา กลับตัดสินให้พวกมหันต์ชนะคดี แต่ทางศาลสงของกัลกัตตาก็มีความเห็๋นใจชาวพุทธ ได้ พิจารณาว่าอย่างไรก็ตาม พุทธคยานั้นเป็นพุทธสถานและสมบัติของชาวพุทธ อย่างชัดเจน

ความสำเร็จ

หลังจากนั้นท่านก็ได้เดินทางไปยังจังหวัด เขต ตำบลต่าง ๆ ในอินเดีย เพื่อชี้แจงเรื่องปัญหาของชาวพุทธกับกรรมสิทธิ์ของชาวพุทธในพระเจดีย์พุทธคยา ชาวอินเดียที่มีการศึกษา และประเทศใกล้เคียง ต่างก็ให้ความสนใจ หลายฝ่ายเทคะแนนให้กับชาวพุทธ และเห็นว่า พุทธคยานั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวพุทธอย่างไม่ต้องสงสัย แม้แต่นักปราชญ์ที่ได้รับการยกย่องในอินเดีย เช่น ท่านรพินทรนาถ ฐากูร กวีและนักวรรณคดีชาวอินเดียก็เห็นว่า พระวิหารพุทธคยานั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของชาวพุทธอย่างแน่นอน

ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ปี 2437 เป็นต้นมา ท่านก็ได้ดำเนินการเรียกร้องทั้งในอินเดียและลังกา เรื่องของพุทธคยา ก็เป็นประเด็นที่ชาวอินเดียต่างให้ความสนใจ เรียกว่าเป็น Talk of The Town เลยทีเดียว

ท่านธรรมปาละได้เดินทางไปยังประเทศอื่น ๆ อีก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อไปเปิดสาขามหาโพธิสมาคมขึ้นที่นั่น เนื่องจากการตรากตรำทำงานอย่างไม่หยุดหย่อน สุขภาพท่านจึงไม่ค่อยดีนัก

ในปี พ.ศ. 2458 ท่านธรรมปาละได้ทำงานที่ปรารถนาจะทำให้สำเร็จมานานได้เรียบร้อย คือการที่จะให้มีพุทธวิหาร หรือวัดแห่งแรกในอินเดีย หลังจากพระพุทธศาสนาถูกทำลายไปกว่า 700 ปี ที่กัลกัตตา และการจดทะเบียน สมาคมมหาโพธิ เป็นสมาคมที่ถูกต้องสมบูรณ์ด้วย

การสร้างพระวิหารนั้น ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2461 และสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2463 รัฐบาลอินเดียได้มอบพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระธาตุของพระพุทธองค์ ซึ่งขุดค้นพบในอินเดีย ให้ประดิษฐานในพระวิหาร ส่วนตึกอาคารสมาคมมหาโพธินั้น สร้างเสร็จและเปิดในเดือนกันยายน 2463 สิ้นเงินการสร้างทั้งสองแห่ง ราว ๆ 2 แสนรูปี พุทธวิหารที่จัดสร้างขึ้นนี้ ให้ชื่อว่า "ศรีธรรมราชิกเจติยวิหาร"

ในปี 2469 ท่านธรรมปาละได้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษ และร่วมจัดงานวิสาขบูชาขึ้นที่กรุงลอนดอนด้วย

ในเดือนธันวาคม ปี 2473 มิสซิสฟอสเตอร์ ซึ่งคอยช่วยเหลือท่านธรรมปาละในด้านเงินทุนตลอดมา ได้ถึงแก่กรรมลง ซึ่งเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตาม นางได้ฝากมรดกเป็นเงินก้อนสุดท้าย จำนวน 5 หมื่นดอลลาร์ ให้กับ ท่านธรรมปาละ