ยุคสมัยของอาณาจักร ของ อาณาจักรโคตรบูร

อาณาจักรโคตรบูรยุคก่อนพุทธกาล

ในขอบข่ายอำนาจของอาณาจักรอ้ายลาวสมัยสีโคดตะบองได้เกิดความเคลื่อนไหวทางกลุ่มอำนาจของนครรัฐขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา บางครั้งอาจมีการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ หรือมีการแยกอำนาจขาดจากกันอย่างนครรัฐแบบเบ็ดเสร็จ แต่บรรดาอาณาจักรที่มีความเข้มแข็งและสามารถดำรงเอกภาพอยู่ได้ของชนชาติลาวมาจนถึงสมัยก่อนสถาปนาอาณาจักรล้านช้างก็คือ อาณาจักรอ้ายลาวหนองแสและอาณาจักรโคตรบูร พื้นที่ครอบคลุมของอาณาจักรโคตรบูรทั้งในลุ่มแม่น้ำโขง-ชี-มูล ปรากฏซากเมืองโบราณมากกว่า 240 แห่ง บางเมืองได้รับการประเมินว่าสามารถบรรจุคนได้มากถึง 10,000-100,000 คน นักโบราณคดีเชื่อว่ากลุ่มเมืองเหล่านี้มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าถูกสร้างขึ้นก่อนที่อาณาจักรโคตรบูรจะได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดียมากกว่า 1,000 ปี ซึ่งอารยธรรมอินเดียได้เข้าสู่อาณาจักรโคตรบูรในช่วงก่อนที่ศาสนาพุทธ-พราหมณ์จะขยายตัว แลเมืองเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นในยุคก่อนศาสนาพราหมณ์จะขยายตัวเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีพัฒนาการมาจากยุคสัมฤทธิ์และยุคเหล็ก เนื่องจากบริเวณตัวเมืองและรอบตัวเมืองเหล่านี้ได้มีการค้นพบเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากเหล็กและสำริดหลายแห่ง โดยประเมินอายุว่าไม่น่าต่ำกว่า 2,500 ปี มาแล้ว บางเมืองยังมีการพบหลักฐานว่าถูกใช้เป็นพื้นที่ในการทำนาปลูกข้าวเหนียว โดยสร้างเป็นตารางสี่เหลี่ยมขนาดกว้างยาวเท่ากัน นักวิชการบางกลุ่มสันนิษฐานว่าอาจเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ของผู้ปกครองนครรัฐ นอกจากนี้แต่ละเมืองยังค้นพบการสร้างกำแพงเวียงหลายรูปแบบ มีการสร้างประตูเวียง ป้อมปราการ และนอกกำแพงเวียงก็ยังมีการขุดคูน้ำล้อมรอบ หรือขยายกำแพงเวียงซ้อนกันมากกว่า 2 ชั้นด้วย หลายนครรัฐในเครือข่ายอำนาจอาณาจักรโคตรบูรยุคก่อนพุทธกาลได้ปรากฏชื่ออยู่ในตำนานโบราณหลายแห่งของลาวและอีสาน ดังนี้

เมืองตาเนน ในอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

เมืองสามแท (เมืองขามแทบ) ในบริเวณเซบั้งไฟ แขวงคำม่วน

เมืองฟ้าแดด ในจังหวัดกาฬสินธุ์

เมืองสูงยาง (เมืองสงยาง) ในจังหวัดกาฬสินธุ์

เมืองเชียงทอง ในแขวงหลวงพระบาง

เมืองพาน (เมืองสุวัณณภูมิ) ในจังหวัดอุดรธานี

เมืองบัวบาน (เมืองหล้าน้ำ) ในจังหวัดหนองคาย

เมืองลวง ในแขวงเวียงจันทน์

เมืองสีโคด ในเมืองพูวิน (หินบูน) แขวงคำม่วน

เมืองหนองหานหลวง ในจังหวัดสกลนคร

เมืองหนองหานน้อย ในจังหวัดอุดรธานี

เมืองพูกูด ในตอนเหนือแขวงเวียงจันทน์

เมืองสีแก้ว ในจังหวัดมหาสารคาม

เมืองเชียงเหียน ในจังหวัดมหาสารคาม

เมืองฮ้อยเอ็ด (เมืองสาเกด) ในจังหวัดร้อยเอ็ด

การเรืองอำนาจ

อาณาจักรโคตรบูรเรืองอำนาจมากในสมัย 5 รัชกาล คือ สมัยพระยาศรีโคตรบอง พระยานันทเสน พระยาสุมิตตะธัมมะวงศาเอกราชามรุกขนคร และพระยาสุบินราช (ราวก่อนพุทธศตวรรษ-พุทธศตวรรษที่ 8) เอกสารอุรังคธาตุบางสำนวนกล่าวว่ากษัตริย์แห่งศรีโคตรบูรปกครองอาณาจักรมาได้ ๕ พระองค์ บางสำนวนกล่าวว่า ๖ พระองค์ บางสำนวนกล่าวว่า ๗ พระองค์ จากนั้นอาณาจักรโคตรบูรจึงตกอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรเจนละ ส่วนพงศาวดารล้านช้างแสดงให้เห็นว่าหลังจากอาณาจักรโคตรบูรตกอยู่ในอำนาจขอมแล้วได้สืบกษัตริย์มาได้อีก ๘ พระองค์จึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง โดยเฉพาะรัชกาลของพระยาสุมิตตะธัมมวงศาเอกะราชามรุกขนครนั้น ถือเป็นช่วงที่อาณาจักรสาเกตนครหรืออาณาจักรร้อยเอ็ดและอาณาจักรทวาราวดีหรืออาณาจักรกุลุนทนครเริ่มเสื่อมอำนาจลงจากการเมืองภายใน เป็นเหตุให้ชนชั้นสูงและประชาชนจากอาณาจักรทั้งสองแห่งตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรโคตรบูรซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมรุกขนคร จากหลักฐานลายลักษณ์อักษรในคัมภีร์อุรังคธาตุมากกว่า 20 สำนวน แสดงให้เห็นว่า กลุ่มเมืองโบราณแถบลุ่มน้ำชี-น้ำมูล กลุ่มเมืองโบราณแถบแอ่งสกลนคร และกลุ่มเมืองโบราณแถบที่ราบเวียงจันทน์-หนองคาย ได้มีการอพยพผู้คนจำนวนมากเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรโคตรบูร และยังพบว่ากลุ่มเมืองโบราณแถบเทือกเขาดงพระยาเย็น คือ เมืองโบราณเสมา เมืองโบราณทวาราวดี-นครจันทึก เคยตกอยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองของอาณาจักรโคตรบูร นักวิชาการบางกลุ่มเห็นว่าอำนาจของอาณาจักรโคตรบูรแผ่เข้ามาถึงภาคกลางของไทยโดยเฉพาะที่จังหวัดพิจิตรนั้นมีหลักฐานทางความเชื่อเกี่ยวกับกษัตริย์แห่งศรีโคตรบูร ในพงศาวดารเหนือได้แสดงเรื่องราวความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างกษัตริย์แห่งศรีโคตรบูรกับกลุ่มเจ้าเมืองสุโขทัยในราชวงศ์พระร่วงและเจ้าเมืองอยุธยาตอนต้น ส่วนนักวิชาการสายอีสานบางกลุ่มเห็นว่าอาณาจักรโคตรบูรมีอำนาจแผ่ไปจนถึงคาบสมุทรมลายูและบางส่วนของประเทศพม่าทีเดียว

การล่มสลาย

อาณาจักรโคตรบูรเริ่มเสื่อมอำนาจลงในสมัยพระยานิรุฏฐราช อำนาจของอาณาจักรสิ้นสุดลงเมื่อถูกอาณาจักรล้านช้างของลาวซึ่งนำโดยสมเด็จพระเจ้าฟ้างุ้มแถลงหล้าธรณีมหาราชโจมตีและเกิดโรคระบาด พระองค์ได้ส่งนายทหารคนสำคัญมาเป็นเจ้าปกครองอาณาจักรโคตรบูร และมอบอำนาจให้เจ้าเมืองศรีโคตรบูรปกครองหัวเมืองลาวฝ่ายใต้ตั้งแต่ตอนใต้ของเวียงจันทน์ไปจนถึงดินแดนจำปาศักดิ์จรดแดนกัมพูชา จากนั้นพระมหากษัตริย์เวียงจันทน์มักจะส่งพระบรมวงศานุวงศ์ให้มาปกครองเมืองศรีโคตรบูรจนอาณาจักรโคตรบูรได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ในฐานะนครประเทศราชที่ชื่อว่า เมืองละครหรือเมืองนครบุรีราชธานีศรีโคตรบูรหลวง และตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรเวียงจันทน์หลังการสถาปนาราชวงศ์เวียงจันทน์ของสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (พระไชยองค์เว้, ครองราชย์ พ.ศ. 2241-2273) จึงนับว่าพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรลาวทั้ง 3 อาณาจักรในสมัยหลังรัชกาลสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชทุกพระองค์ได้สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองศรีโคตรบูรผ่านทางพระวรปิตาพระยาราชานคร (ครองราชย์ พ.ศ. 2139-2140) อีกด้วย

ใกล้เคียง

อาณาจักรอยุธยา อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์) อาณาจักรล้านนา อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรธนบุรี อาณาจักรพระนคร อาณาจักรปตานี อาณาจักรโคตรบูร อาณาจักรฟูนาน

แหล่งที่มา

WikiPedia: อาณาจักรโคตรบูร http://chuthamas.com/history/thaihis1.htm http://e-shann.com/?p=6057 http://www.khongriverso.com/index.php?option=com_c... http://www.tourinthai.com/sitetravel/travel-detail... http://www.vtetoday.la/%E0%BA%AB%E0%BB%8D%E0%BA% http://www.portfolios.net/forum/topics/2988839:Top... http://lek-prapai.org/home/view.php?id=1052 http://lek-prapai.org/home/view.php?id=717 http://kanchanapisek.or.th/kp8/nkp/nkp202.html http://www.e-learning.sg.or.th/ac4_22/content3.htm...