ส่วนประกอบอาหาร ของ อาหารกับโรคมะเร็ง

แอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์ (เช่นในสุรา) สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อโรคมะเร็งต่าง ๆ[16]คือ 3.6% ของผู้มีโรคมะเร็งทั้งหมด และ 3.5% ของความตายจากมะเร็งทั้งหมด มีเหตุมาจากการดื่มสุรา[17]มะเร็งเต้านมในหญิงก็สัมพันธ์กับการดื่มแอลกอฮอล์ด้วย[2][18]นอกจากนั้นแล้ว แอลกอฮอล์ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปาก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งคอหอย มะเร็งกล่องเสียง[19]มะเร็งลำไส้ใหญ่[20][21]มะเร็งตับ[22]มะเร็งกระเพาะอาหาร[23]และมะเร็งรังไข่[24]สำนักงานวิจัยมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer) ขององค์การอนามัยโลก ได้จัดแอลกอฮอล์เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 โดยกล่าวว่า "มีหลักฐานเพียงพอสำหรับการก่อมะเร็งในมนุษย์ของแอลกอฮอล์... คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (กลุ่ม 1)"[25]

เนื้อแดงและที่ผ่านกรรมวิธีการผลิต

ในวันที่ 26 ตุลาคม 2558 สำนักงานวิจัยมะเร็งนานาชาติขององค์การอนามัยโลกรายงานว่า การบริโภคเนื้อที่ผ่านกรรมวิธีการผลิต (รวมทั้งเบคอน แฮม ฮอตดอก และไส้กรอก) และเนื้อแดง (เนื้อที่มีสีแดงเมื่อดิบรวมทั้งเนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู ยกเว้นบางส่วนของไก่และเนื้อปลา) สัมพันธ์กับมะเร็งประเภทต่าง ๆ[26][27][28]

ใยอาหาร ผักและผลไม้

ส่วนหลักฐานเกี่ยวกับใยอาหารกับความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ชัดเจน คือ หลักฐานบางอย่างแสดงว่ามีประโยชน์ และบางอย่างแสดงว่าไม่มี[3]การกินผักผลไม้แม้จะมีประโยชน์ แต่ดูเหมือนจะมีประโยชน์ในการลดโรคมะเร็งน้อยกว่าที่เคยคิด[3]คือ งานศึกษาปี 2557 พบว่าผลไม้ แต่ไม่ใช่ผัก มีผลป้องกันโรคมะเร็งทางเดินอาหารส่วนบน[29]แต่ผลไม้ ผัก และใยอาหารล้วนแต่ป้องกันมะเร็งลำไส้ (colorectal cancer) และใยอาหารป้องกันมะเร็งตับ[29]

ฟลาโวนอยด์

ฟลาโวนอยด์ (โดยเฉพาะ catechin) เป็น "สารประกอบโพลิฟีนอล (polyphenolic) กลุ่มที่สามัญที่สุดในอาหารมนุษย์และพบโดยทั่วไปในพืช"[30]แม้ว่าจะมีงานศึกษาที่แสดงว่า ฟลาโวนอยด์อาจมีบทบาทในการป้องกันมะเร็ง แต่งานศึกษาอื่น ๆ ก็ไม่แสดงผลที่ชัดเจนหรือแม้แต่แสดงว่าอาจมีอันตราย[31][32]

เห็ด

ตามองค์กร Cancer Research UK ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลทำการเพื่อลดอัตราความตายจากมะเร็ง "ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่ามีเห็ดหรือสารสกัดจากเห็ดที่สามารถป้องกันหรือรักษาโรคมะเร็งได้" แม้ว่าก็ยังมีงานวิจัยที่กำลังดำเนินการตรวจสอบเห็ดพันธุ์ต่าง ๆ[33]

สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในอาหาร

ตามสมาคมมะเร็งอเมริกัน (American Cancer Society) แม้ว่าจะมีงานวิจัยในแล็บที่แสดงว่าถั่วเหลืองอาจมีความสัมพันธ์กับมะเร็ง แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าถั่วเหลืองมีฤทธิ์ต้านมะเร็งในมนุษย์[34]และก็มีงานในแล็บอีกที่แสดงว่า ขมิ้นอาจมีฤทธิ์ต่อต้านมะเร็ง[35]แม้ว่าจะมีงานทดลองที่ยังเป็นไปอยู่ แต่เพื่อจะให้มีผลก็จะต้องทานเป็นจำนวนมาก โดยปี 2555 ก็ยังไม่รู้ว่า ขมิ้นมีผลบวกอย่างไรกับผู้ป่วยโรคมะเร็งหรือไม่[36]และแม้จะมีการโปรโหมตว่าชาเขียวมีผลต่อต้านมะเร็ง แต่งานศึกษาก็แสดงผลที่ไม่ชัดเจน โดยปี 2555 ก็ยังไม่รู้ว่ามันช่วยป้องกันหรือบำบัดมะเร็งได้หรือไม่[37][38]งานทบทวนปี 2554 ที่ทำโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐสรุปว่า มีโอกาสน้อยที่ชาเขียวจะช่วยป้องกันมะเร็งอะไร ๆ ในมนุษย์ได้[38]ฟีนอล Resveratrol มีฤทธิ์ต่อต้านมะเร็งในการทดลองในแล็บ แต่โดยปี 2552 ก็ยังไม่มีหลักฐานว่ามีผลต่อมะเร็งในมนุษย์[39][40]มีการโฆษณาขายวิตามินดีอย่างกว้างขวางว่า ต่อต้านมะเร็ง[41]แต่ก็ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะแนะนำให้จ่ายวิตามินดีต่อคนไข้ แม้ว่าจะมีหลักฐานบ้างว่า การขาดวิตามินดีสัมพันธ์กับอาการที่แย่ลงสำหรับโรคมะเร็งบางอย่าง[42]การปริทัศน์เป็นระบบปี 2557 ขององค์การความร่วมมือคอเครนพบว่า "ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการบริโภคอาหารเสริมคือวิตามินดี จะเพิ่มหรือจะลดการเกิดขึ้นของมะเร็งในกลุ่มหญิงชราที่อยู่เป็นชุมชน"[43]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อาหารกับโรคมะเร็ง http://www.smw.ch/content/smw-2011-13250/ http://www.nytimes.com/2015/10/27/health/report-li... http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/1097-01... http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/ijc.219... http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1528-... http://epic.iarc.fr/ http://monographs.iarc.fr/ENG/Monographs/vol44/mon... http://monographs.iarc.fr/ENG/Monographs/vol44/mon... http://www.iarc.fr/en/media-centre/pr/2015/pdfs/pr... http://pubs.niaaa.nih.gov/publications/aa21.htm