ประวัติศาสตร์ ของ เจียงหนาน

หมู่บ้านในเจียงหนาน

พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เก่าแก่ที่สุดดั้งเดิมในพื้นที่บริเวณเจียงหนาน คือ ชุมชนที่มีวัฒนธรรมหม่าเจียปัง (อังกฤษ: Majiabang culture; จีน: 馬家浜文化; พินอิน: Mǎ jiā bāng wénhuà) และวัฒนธรรมเหอหมู่ตู้ (อังกฤษ: Hemudu cultures; จีน: 河姆渡文化; พินอิน: Hémǔdù wénhuà) ซี่งเป็นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ในเขตตอนปลายแม่น้ำแยงซี ต่อมาในราว 2600-2000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในสมัยวัฒนธรรมเหลียงจู่ (อังกฤษ: Liangzhu culture; จีน: 良渚文化; พินอิน: Liángzhǔ wénhuà) มีชื่อเสียงในด้านการประดิษฐ์งานฝีมืออันสวยงามจากหยก ส่วนด้านเศรษฐกิจพื้นฐานมาจากการทำนาปลูกข้าว ทำการเกษตร การประมง และมีลักษณะการก่อสร้างบ้านเรือนบนเสาสูงเหนือแม่น้ำหรือทะเลสาบ ในสมัยราชวงศ์โจว ชาวอู๋ (Wu; 吴) และชาวไป๋เย่ว์ (Baiyue; 百越) อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้ ได้มีการพัฒนาระบบการเขียนอักษรจีน (Chinese writing system) และผลิตดาบทำด้วยสำริด (หรือ สัมฤทธิ์) ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม

ต่อมาภายหลังแคว้นฉู่ (Chu; 楚) (c. 1030 BC – 223 BC) จากทางตะวันตกของประเทศจีน (ในมณฑลหูเป่ย์) ได้ขยายอำนาจและมีอิทธิพลเหนือแคว้นเย่ว์ ภายหลังเมื่อราชวงศ์ฉินได้รับชัยชนะเหนือแคว้นเย่ว์ ได้มีการรวบรวมประเทศจีนให้เป็นหนึ่งเดียว และเมื่อราชวงศ์จิ้นล่มสลายลงในช่วงต้นของศตวรรษที่ 4 มีประชาชนชาวจีนจำนวนมากจากทางตอนเหนือได้อพยพย้ายมายังพื้นที่บริเวณเจียงหนานแห่งนี้

แม้ว่าอารยธรรมจีนจะเริ่มขึ้นในพื้นที่ราบตอนเหนือของประเทศจีน (North China Plain) ในบริเวณแถบลุ่มแม่น้ำหวง แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศรวมถึงการรุกรานทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทางเหนืออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงสหัสวรรษแรกของคริสต์ศักราช (ช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 1 - ค.ศ. 1000) ทำให้ประชาชนจำนวนมากย้ายมาตั้งถิ่นฐานทางตอนใต้ เช่น ในพื้นที่บริเวณเจียงหนาน เป็นต้น เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีภูมิอากาศที่อบอุ่นและชื้นทำให้เหมาะแก่การเพาะปลูกและทำเกษตรกรรมได้ดี ในช่วงต้นของสมัยราชวงศ์ฮั่น (คริสต์ศตวรรษที่ 2) เจียงหนานกลายเป็นเพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศจีน นอกจากพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวแล้ว ยังมีการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการและสามารถสร้างรายได้สูง ได้แก่ ชา[3] เครื่องภาชนะดินเผา (celadon) เป็นต้น ทั้งยังมีการคมนาคมขนส่งที่สำคัญที่ช่วยให้การค้าและเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น เช่น มีคลองต้ายวิ่นเหอหรือแกรนด์คาแนล (Grand Canal) ที่เป็นเส้นทางคมนาคมสู่ทางตอนเหนือของประเทศ มีแม่น้ำแยงซีเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสู่ทิศตะวันตก และมีท่าเรือเพื่อใช้ในการขนส่งออกสู่ทะเล เช่น หยางโจว เป็นต้น

บริเวณเจียงหนานยังมีความสำคัญด้านที่มีเมืองหลวงของราชวงศ์จีนโบราณอยู่หลายสมัย เช่น ในยุคสามก๊ก เมืองเจียงเย่ (ปัจจุบันคือ เมืองหนานจิง) เป็นเมืองหลวงของง่อก๊ก ในช่วงศตวรรษที่ 3 มีชาวจีนจากตอนเหนือของประเทศย้ายมายังเจียงหนานมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 10 มีการก่อต้งอาณาจักรอู๋เย่ว์ (Wuyue; 吳越) โดยจักรพรรดิเฉียนหลิว (อังกฤษ: Qian Liu; จีนตัวย่อ: 钱镠; พินอิน: Qián Liú) ทำให้บริเวณเจียงหนานได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากยุคนั้นมาจนปัจจุบัน

A stone tortoise with a tablet commemorating the จักรพรรดิคังซี's visit to Nanjing in 1684

ในช่วงปลายรัชสมัยของราชวงศ์หยวน เจียงหนานถูกแย่งชิงโดยกลุ่มกบฏสองฝ่าย คือระหว่างฝ่ายจูหยวนจาง หรือต่อมาคือ หงหวู่ตี้ หรือสมเด็จพระจักรพรรดิหงหวู่ (อังกฤษ: Hongwu Emperor; จีน: 洪武帝; พินอิน: Hóngwǔ หงหวู่ตี้ ) แห่งราชวงศ์หมิง ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองหนานจิง (หรือนานกิง) และกลุ่มของจางซื่อเฉิง (อังกฤษ: Zhang Shicheng; จีน: 张士诚; พินอิน: Zhāng Shìchéng) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในเมืองซูโจวของแคว้นอู๋ หลังจากการต่อสู้แย่งชิงยาวนานนับสิบปี หมิงไท่จู่ (หรือ จูหยวนจาง (朱元璋; เป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระจักรพรรดิหงหวู่)) จึงสามารถเข้าโจมตีและยึดครองเมืองซูโจวจากกลุ่มของจางซื่อเฉิงได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1367 และรวบรวมเจียงหนานเข้าด้วยกัน ในภายหลังจูหยวนจางได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ และทรงใช้พระนามว่า หมิงไท่จู่ (明太祖) หรือสมเด็จพระจักรพรรดิหงหวู่ ในวันปีใหม่จีน (20 มกราคม) ในปี ค.ศ. 1368 เป็นจักรพรรดิพระองค์แรกแห่งราชวงศ์หมิง[4] หลังจากนั้นไม่นานพระองค์ทรงยกทัพขับไล่ชาวมองโกลทางตอนเหนือของจีนได้สำเร็จ เมืองหนานจิงจึงเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์หมิงจากนั้นมา จนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 15 เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิหย่งเล่อ (Yongle) กษัตริย์พระองค์ที่สามแห่งราชวงศ์หมิงมีพระราชดำริให้ย้ายเมืองหลวงจากหนานจิงไปยังเมืองปักกิ่ง

เมือราชวงศ์ชิงเข้าปกครองประเทศจีนในช่วงเริ่มแรก มีการปฏิเสธและต่อต้านการเก็บภาษีของราชสำนักโดยขุนนางและชนชั้นสูงในเจียงหนานในสมัยนั้น[5]

นอกจากนี้ เจียงหนานยังเป็นบริเวณที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียงในด้านการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจทั้งในด้านความสวยงามของสถานที่และด้านประเพณีวัฒนธรรม ในอดีตมีกษัตริย์ของจีนหลายพระองค์เสด็จประพาสพื้นที่บริเวณเจียงหนาน อาทิ สมเด็จพระจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิงทรงเคยเสด็จประพาสเจียงหนาน (จีน: 江南; พินอิน: Qiánlóng Xià Jiāngnán) อยู่หลายครั้งเพื่อชมการแสดงงิ้ว หรืออุปรากรจีน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้น หรือสมเด็จพระจักรพรรดิคังซีก็ทรงเคยเสด็จประพาสแถบนี้เช่นกัน

ช่วงศตวรรษที่ 19 ประชาชนหลายกลุ่มเริ่มรวมตัวกันเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐกลายเป็นกบฏไท่ผิง (Taiping Rebellion) กองทัพไท่ผิงสามารถยึดครองพื้นที่ได้หลายส่วน รวมถึงบริเวณเจียงหนาน โดยหลังจากการบุกยึดเมืองหนานจิงสำเร็จจึงได้สถาปนาให้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรไท่ผิงเทียนกั๋ว และต่อมาเมื่อมีการปราบปรามกบฏจนล่มสลายลง พื้นที่บริเวณนี้ได้จึงถูกทำลายลงอย่างมากจนกระทั่งมีการบูรณะใหม่ในสมัยการปกครองโดยชาวแมนจู

หลังจากการล่มสลายของระบอบกษัตริย์ราชวงศ์ชิงในปี ค.ศ. 1911 และการกรีฑาทัพขึ้นเหนือ (Northern Expedition) ของเจียงไคเชก ร้ฐบาลสาธารณรัฐจีน (จีน: 中華民國; พินอิน: Zhōnghuá Mínguó; อังกฤษ: Republic of China) ได้ตั้งเมืองหนานจิงขึ้นเป็นเมืองหลวงตามความปรารถนาของ ดร. ซุนยัตเซ็น ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1920 จนถึงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง บริเวณเจียงหนานได้กลายเป็นพื้นที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีน โดยมีบุคคลชั้นนำด้านการปกครองของพรรคก๊กมินตั๋งและบุคคลสำคัญในด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลสาธารณรัฐจีนจำนวนมากมาจากพื้นที่เจียงหนาน

เอกลักษณ์ภาษาถิ่น

สวนซือจึ หรือสวนป่าสิงโต (Shizilin)

ภาษาถิ่นถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มชนท้องถิ่นทั้งในบริเวณเจียงเป่ยและเจียงหนาน เช่น เมืองหยางโจวซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขายและเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมากในยุคนั้น ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของเจียงหนานด้วย แม้ว่าจะมีที่ตั้งอยู่ในบริเวณตอนเหนือของแม่น้ำแยงซี หากเมื่อเมืองหยางโจวตกต่ำลง กลับถูกผลักไสให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเจียงเป่ยแทน และเมื่อหยางโจวไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในบริเวณเจียงหนานแล้ว ชาวเมืองจึงตัดสินใจเปลี่ยนภาษาจากเจียงหวยแมนดาริน (Jianghuai Mandarin) มาเป็นใช้ภาษาไท่หูอู๋ (Taihu Wu dialects) แทน เป็นต้น ส่วนพื้นที่บริเวณเจียงหนานเองมีการแย่งชิงของภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ อยู่เสมอเพื่อให้ภาษาถิ่นของตนได้กลายเป็นภาษาจีนอู๋ซึ่งเป็นภาษาหลักประจำพื้นที่แถบเจียงหนานนี้[1]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจียงหนาน http://www.china.org.cn/english/features/watertown... http://books.google.com/books?id=0nNcRiE-TKsC&pg=P... http://books.google.com/books?id=90CN0vtxdY0C&pg=P... http://books.google.com/books?id=AQWyMWVV9IAC&pg=P... http://books.google.com/books?id=BwuSpFiOFfYC&prin... http://books.google.com/books?id=ORBmFSFcJKoC&pg=P... http://www.mildchina.com/east-china-travel/ http://www.zdic.net/c/f/145/318861.htm http://www.chinaculture.org/gb/en_aboutchina/2003-... http://www.wdl.org/en/item/7317/view/1/122/